ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เชียงใหม่ ส่งเสริมปลูกอะโวกาโดอินทรีย์

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้างปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2521 อยู่ท่ามกลางหุบเขา ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตพื้นที่อำเภอหางดง เมื่อก่อนพื้นที่ศูนย์ฯ ถือเป็นแหล่งทดลองไม้เมืองหนาวที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบที่มีกลิ่นหอม แต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนงานส่งเสริม โดยเน้นการปลูกพืชผักอินทรีย์ และไม้ผล ที่สำคัญ คือ อะโวกาโด ที่สามารถรับประทานสด มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ประมาณ 8-20 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดปริมาณคลอเลสเตอรอลที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิตามินสูง นอกจากให้คุณค่าทางอาหารแล้ว ยังให้เป็นวัตถุดิบเพื่อการสกัดน้ำมันในอุตสาหกรรม

ต้นกล้าอะโวกาโด

โครงการหลวงได้นำอะโวกาโดมาทดลองปลูกที่พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2526 ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี จึงเป็นแนวทางที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้ผล เนื่องจากว่าความเหมาะสมของภูมิอากาศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ขึ้นไป

สำหรับพันธุ์อะโวกาโดที่นำมาปลูก มี 7 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) เป็นเผ่าเวสต์อินเดียน ลักษณะเป็นผลค่อนข้างกลม มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองอมเขียว รสดี เมล็ดใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น เป็นพันธุ์เบาเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

ผลอะโวกาโดพันธุ์ปีเตอร์สัน

พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccaneer) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ลักษณะค่อนข้างกลมรี ขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระ สีเขียน เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ เก็บเกี่ยวผลได้เร็วปานกลาง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

พันธุ์บูท 7 (Booth-7) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ผลลักษณะค่อนข้างกลม ขนาดกลาง น้ำหนัก 300-500 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสดี เมล็ดขนาดกลาง มีไขมัน 7-14 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเก็บเกี่ยวผลประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

ผลอะโวกาโดพันธุ์บัคคาเนียร์

พันธุ์บูท 8 ( Booth-8) ลักษณะผลรูปไข่ ขนาดเล็กถึงกลาง น้ำหนักประมาณ 270-400 กรัม ผิวผลขรุขระเล็กน้อย สีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีครีมอ่อน รสชาติพอใช้ มีไขมัน 6-12 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดกลางถึงใหญ่ อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

พันธุ์ฮอลล์ (Hall) เป็นลูกผสมระหว่างเผ่ากัวเตมาลันและเวสต์อินเดียน ลักษณะผลคล้ายหลอดไฟ น้ำหนัก 400-500 กรัม ผลผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวเข้ม เปลือกหนาพอใช้ เนื้อสีเหลืองเข้ม เมล็ดขนาดกลางถึงใหญ่ ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

ผลอะโวกาโดพันธุ์บูท 8

และพันธุ์แฮสส์ (Hass) เป็นพันธุ์เผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะผลรูปไข่ ผิวผลขรุขระมาก ผิวสีเขียวเข้ม เมื่อสุกอาจเป็นสีเขียวเข้มหรือม่วงเข้ม ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลือง มีไขมันประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนพันธุ์แฮสส์ มีปัญหาเรื่องความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตไม่ค่อยดี

คุณอาย เตจ๊ะ เกษตรกรบ้านแม่ขนิลเหนือ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวไร่ ปลูกกล้วย ทำสวนลิ้นจี่ มาโดยตลอดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไม่ค่อยดี และไม่มีตลาดที่แน่นอน พร้อมทั้งต้องใช้หนี้ค่าปุ๋ย สารฆ่าแมลง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ประกอบกับสุขภาพก็ไม่ค่อยดี จึงมีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน พอมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการหลวงเข้ามาแนะนำและส่งเสริมให้ปลูกอะโวกาโดอินทรีย์ จึงสนใจหันมาปลูกอะโวกาโด พร้อมทั้งปลูกพืชผักแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา

ผลอะโวกาโดพันธุ์ฮอลล์

“ช่วงที่เริ่มปลูกอะโวกาโด จะปลูกต้นอะโวกาโดที่มีความต้านทานต่อโรคไว้ประมาณ 6 เดือน แล้วนำยอดพันธุ์ที่ทางโครงการหลวงส่งเสริมมาเสียบยอด หลังจากการเสียบยอดแล้ว ประมาณ 3 ปี ต้นอะโวกาโดจะให้ผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้ ส่วนพืชผักที่ปลูก มียอดซาโยเต ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ชะอม มะนาว สมุนไพรไทย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก ใช้สารชีวภาพที่ผลิตเองในการดูแลพืชผัก นอกจากนี้ ยังได้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำ และเลี้ยงปลาในบ่อ ถือได้ว่าเป็นผลไม้ พืชผักอินทรีย์ และสัตว์เลี้ยงอินทรีย์ โดยได้รับรองจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และ AVA ประเทศสิงคโปร์ ส่วนผลผลิตอะโวกาโด จะส่งให้กับร้านโครงการหลวง พืชผักอินทรีย์ และสัตว์เลี้ยง ปลูกไว้บริโภคเอง ที่เหลือจำหน่ายให้กับตลาดภายในหมู่บ้าน”

สำหรับทางโครงการหลวงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยมี 2 วิธี วิธีแรกมีการปลูกต้นตอต้นอะโวกาโดที่มีความทนทานต่อโรคไว้ประมาณ 6 เดือน แล้วนำกิ่งพันธุ์มาเสียบ และอีกวิธี นำต้นกล้าพันธุ์ที่ต้องการปลูกมาลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ที่มีความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร และสูง 80 เซนติเมตร แต่ละต้นห่างกันประมาณ 8 เมตร ผสมปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาแล้วใส่ลงไปในหลุม ให้รอยต่อกิ่งหรือรอยแผลติดตาอยู่เหนือระดับดิน กลบดินรอบๆ โคนต้นให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมผิวหน้าดินด้วยวัตถุคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อรักษาความชื้น ปักไม้หลักผูกเชือกยึดติดไว้ป้องกันลมโยก รดน้ำให้สม่ำเสมอจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้

ผลอะโวกาโดพันธุ์แฮสส์

การให้น้ำแต่ละครั้ง ประมาณ 20-30 ลิตร ต่อต้น ทุก 3-4 วัน ในช่วงระยะเวลา 1 เดือนแรก สำหรับในช่วงฤดูฝนของปีแรกหลังจากฤดูฝนแล้วจะให้น้ำต้นอะโวกาโดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 40-60 ลิตร ต่อต้น จนกว่าต้นอะโวกาโดจะมีอายุ 1 ปี หลังจากปลูก ในช่วงที่ต้นอะโวกาโดออกดอกจะงดให้น้ำ พออะโวกาโดเกิดตาดอกที่ยอด และช่อดอกเริ่มออกให้น้ำใหม่ โดยช่วงดอกออกประมาณเดือนธันวาคม หลังจากนั้นประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เริ่มติดผลเล็ก ช่วงระยะเวลาตั้งแต่การติดดอกจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณ 7-10 เดือน

การเก็บเกี่ยวผลผลิต จะมีการตรวจสอบก่อนว่า ผลแก่พอเก็บได้ โดยใช้วิธีการเก็บผลอะโวกาโด ระดับที่ต่างกันบนต้นมาผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดสามารถเก็บเกี่ยวได้ นอกจากนี้ ยังต้องสังเกตลักษณะภายนอกของผลโดยการเปลี่ยนแปลงของสีผล การเก็บเกี่ยวผลอะโวกาโดจะไม่ให้ขั้วผลหลุด เพราะจะทำให้ผลเสียหายได้ง่ายขณะบ่มให้สุก

ลักษณะต้นอะโวกาโด

สำหรับผู้สนใจซื้ออะโวกาโดได้ที่ร้านค้าโครงการหลวง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่