ผักกูด ศิลปะธรรมชาติรังสรรค์

คนเขาเรียกกันว่า “ผักกูด” หลายคนได้ยินชื่อคงอาจหลับตานึกเห็นภาพ รูปพรรณสัณฐานที่น่าอัปลักษณ์เป็นแน่ แท้ที่จริงแล้ว ต้นผักกูดเป็นพืชที่มีความงดงามตามธรรมชาติยิ่งนัก งามยิ่งกว่าพืชอื่นอีกหลายๆ อย่าง ในมิติมุมมองอย่างศิลปะ เชื่อว่าผักกูด มีความเป็นเลิศในเชิงศิลป์ ที่ธรรมชาติรังสรรค์มา หลายท่านคงอยากรู้จักผักกูดอย่างลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะอยากรู้คุณสมบัติพิเศษของผักกูดนอกเหนือจากความงดงามแล้ว น้อยคนจะรู้ว่าเขาคือ พืชตัวชี้วัดระดับคุณภาพ ความบริสุทธิ์สะอาดของ ดิน น้ำ ลม ฟ้า สภาวะทางธรรมชาติ ที่ทำกินของชาวบ้านเรา

ชาวบ้านที่ออกหาเก็บ “ผักกูด” ตามแหล่งธรรมชาติ เพื่อเอามาบริโภค หรือจำหน่ายเป็นรายได้ ผักกูดเป็นพืชที่เป็นที่นิยมกันมากอันดับต้นๆ คนเข้าป่าก็หาผักง่ายๆ เอามาประกอบอาหารกินกัน พืชพื้นบ้าน พืชตามป่าเขา ต้นพืชไหนที่พวกเขารู้ว่านำมากินได้ ก็จะได้รับคัดเลือกมาปรุงแต่งเป็นอาหารกิน เรียกพืชที่เอามากินว่า “ผัก” ก็คงมียกเว้นพืชป่าบางอย่าง เช่น ต้นอ่อนไผ่เรียก “หน่อไม้” ไม่เรียกว่าผักไผ่ ดอกกล้วยเรียก “หัวปลี” ความนิยมชมชอบขึ้นอยู่กับคนกิน ที่แน่นอนชัดเจนที่สุด คือความผูกพันที่ชาวบ้านมีกับพืชป่า ผักป่า ผักพื้นบ้าน ที่ผูกพัน ลึกซึ้ง ซึมลึกกันมาแต่เนิ่นนาน เกินกว่าจะสืบค้นหาหลักฐานความเป็นมาได้ สันนิษฐานว่า จะมีสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยโน่นละ

“ผักกูด” ไม่ใช่พืชตระกูลพืชผักทั่วไป แต่เป็นพืชตระกูลเฟิร์น (Fern) มีชื่อเรียกต่างๆ มากมายหลายชื่อ เช่น ผักอีงอ ผักกูดกิน ผักกูดครึ ผักกูดขาว อาจเรียกตามชนิดสายพันธุ์ เช่น กูดก๊อง กูดน้ำ กูดลาน กูดดอย กูดเครือ แต่ผักกูดที่นิยมนำมากินคือ “กูดน้ำ” เป็นพืชอยู่ในวงศ์ PARKERIACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceratopteris thalictroides (Linn.) Brongn. ซึ่งจะขึ้นเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่ง มีน้ำชื้นแฉะ ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นน้ำดี สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสารพิษเจือปน ก้านใบจะยาวได้ถึง 4 ฟุต ยอดเป็นมันวาวเลื่อมแสง ใบสีเขียว เมื่อเด็ดยอดจะมียางใส เหนียว บริเวณโคนต้นมีขนสีขาวเทา ถ้าขนแก่มีสีน้ำตาล

นอกจากนี้ ยังมีผักกูดเกลี้ยง ผักกูดซาง ผักกูดขน ผักกูดแดง ผักกูดนกยูง มักพบบริเวณลำห้วย หนองน้ำ ลำธาร ต้นน้ำ ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าผลัดใบผสม ชะง่อนหินที่มีความชันสูงของป่าดิบชื้นก็มี ในประเทศไทยมีมากกว่าร้อยชนิด มีหลายชนิดที่ไม่ถือว่าเป็นผัก ก็เรียกกันว่า “เฟิร์น” หรือ “เฟิน” ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับจัดสวนสวยงาม เช่น เฟินหางกระรอก เฟินใบมะขาม เป็นต้น ลักษณะของผักกูด จะมีความแตกต่างกันไปแต่ละชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุก ในช่วงแล้งต้นจะแห้ง ใบจะเฉาแห้ง และแตกหน่อแตกใบใหม่ในฤดูฝน  ต้นผักกูดเป็นไม้ที่ออกจากเหง้าโดยตรง อาจจะเป็นไม้เลื้อย ใบมีสีเขียว มีรูปร่างแตกต่างกัน ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ และต้นอ่อนที่แตกจากปลายรากที่โผล่พ้นดิน มักจะเลื้อยออกห่าง รอบๆ ต้นแม่

มีชาวบ้านหลายพื้นที่ มีอาชีพเก็บผักกูดขาย บางแห่งรับจ้างเก็บส่งให้พ่อค้าผักส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น บางพื้นที่หาเก็บตามแหล่งธรรมชาติ ไม่พอขาย ก็หันมาเพาะปลูกเป็นแปลงเกษตร รอเก็บจากธรรมชาติก็เก็บ 2 สัปดาห์ครั้ง ไม่พอต่อความต้องการของตลาด ตอนนี้ผักกูดเป็นสินค้าขึ้นห้างสรรพสินค้า เป็นอาหารเมนูพิเศษตามร้านอาหาร ภัตตาคาร เมื่อจำเป็นต้องปลูกเอง ก็ควรทำการดูแลรักษา หาวิธีการเพาะขยายเหมือนการดูแลผลิตผักเศรษฐกิจทั่วไป

เริ่มตั้งแต่การไถเตรียมแปลง ใส่ปุ๋ยคอกรองหลุม หรือผสมดินทั้งแปลง ขุดหลุมปลูกระยะ 50×50 เซนติเมตร วางหัวไหล กลบโคน เมื่อตั้งตัวได้แล้ว ใส่ปุ๋ย ยูเรีย ผสมปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 75 กิโลกรัม ต่อไร่ ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ต้นผักกูดที่ปลูกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว เก็บไปเรื่อยๆ 3 วันเก็บยอดครั้ง เมื่อนานเข้า ผักกูดก็จะแก่ตัวให้ผลผลิตลดลง ยอดจะเล็กลง โคนกอจะยกสูงขึ้น ก็ทำการล้มแปลงหรือล้มกอปลูกใหม่แทนที่

ผลผลิตผักกูด จะเก็บและนำมาขายเป็นกำ กำหนึ่งหนักประมาณ 250 กรัม หรือ 1 กิโลกรัม ได้ 4 กำ  ขายกำละ 10 บาท แปลงปลูกปีแรกใหม่ๆ จะได้ 800 กำ ต่อไร่ หรือ 200 กิโลกรัม ต่อไร่ ปีต่อมาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึง 3,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการปลูกผักกูดเพื่อการค้าจะสูง เกี่ยวกับปุ๋ยและค่าแรงเก็บเกี่ยว อาจจะศึกษาหาความรู้จากแหล่งปลูก เช่น ที่จังหวัดพัทลุง ที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หรือจะศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งธรรมชาติ ที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หรือธรรมชาติที่ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์

คุณประโยชน์ของผักกูด เป็นผักอาหารคนที่อุดมด้วยโปรตีน ช่วยเสริมสร้างบำรุงร่างกายให้แข็งแรง มีพลัง มีภูมิคุ้มกัน มีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ธาตุเหล็กมีสูง เมื่อกินร่วมกับเนื้อสัตว์ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุอาหารได้ดี บำรุงโลหิต แก้โรคโลหิตจาง เป็นผักเย็นกินดับร้อนแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยบำรุงสายตา ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน มีเส้นใยอาหาร (Fiber) สูงมาก ช่วยระบบการย่อยอาหารและการขับถ่าย มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะอย่างดีเยี่ยม

ที่สำคัญ ผักกูดจะสามารถดูดซับเอาสารพิษที่ติดค้างในร่างกายในอาหาร และขับออกทิ้งจากร่างกาย นั่นคือกระบวนการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ หรือมะเร็งภัยร้ายที่ใครๆ ก็ไม่อยากได้ ไม่อยากพานพบ ในผักกูด 100 กรัม ให้พลังงาน 19 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม เหล็ก 36.3 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม แคลเซียม 5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 17,167 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม ไนอะซีน 0.5 มิลลิกรัม

การนำผักกูดมาทำอาหาร อย่ากินแบบสดๆ เพราะมี สารออกซาเลต จะทำให้เป็นนิ่วและไตอักเสบได้ ผักกูดเป็นพืชที่มีรสชาติจืดอมหวานและกรอบ นิยมนำเอายอดอ่อนที่มีลักษณะม้วนงอ และใบอ่อนมากินเป็นอาหาร โดยปรุงแต่งเป็นแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิใส่ปลาย่าง แกงรวมกับผักอื่นๆ หลามผักกูด หรือจะใช้เป็นผักต้ม ผักฉาบน้ำมัน ผักกูดราดกะทิ เป็นผักจิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือปรุงเป็นยำผักกูด ไข่เจียวผักกูด ผัดผักกูดใส่แหนม ผักกูดฤดูแล้งจะกรอบอร่อยกว่าฤดูอื่น แต่ยอดไม่ค่อยสวยอวบสักเท่าไร

ผักกูด เป็นสุดยอดพืชนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นหมอคัดกรองพิสูจน์ธรรมชาติ โดยปกติแล้วพื้นที่ที่ผักกูดจะขึ้นเจริญเติบโตได้ดี ต้องเป็นที่มีสภาพบริสุทธิ์ ถ้าบริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่ดี น้ำไม่ดี มีสารเคมีเจือปน ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นต้นเจริญเติบโต แตกยอดอ่อนเด็ดขาด อาจจะตายเลย เป็นสุดยอดพืชที่จะเป็นดัชนีตัวชี้วัด ว่าพื้นที่นั้นสมบูรณ์ดี บริสุทธิ์ เหมาะสมแก่การจะใช้เป็นที่ผลิตพืชที่ดี เพื่อให้แก่คนดี กินอยู่แบบสังคมดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จะอยู่บนโลกดีดีใบนี้ได้ อยู่อย่างมากความดี และอยู่ดีมีสุขนั่นเอง