มะพร้าวไทย ปลูกมากที่ไหน ผลผลิตเท่าไร มีการ นำเข้า-ส่งออก อะไรบ้าง

พื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศของไทย มีจำนวน 1,299,799 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 419,833 ไร่ (ร้อยละ 32) จังหวัดชุมพร 205,764 ไร่ (ร้อยละ 15) จังหวัดสุราษฎร์ธานี 198,714 ไร่ (ร้อยละ 15) จังหวัดนครศรีธรรมราช 97,137 ไร่ (ร้อยละ 7) จังหวัดปัตตานี 78,529 ไร่ (ร้อยละ 6) จังหวัดชลบุรี 62,336 ไร่ (ร้อยละ 5) จังหวัดนราธิวาส 50,637 ไร่ (ร้อยละ 4) จังหวัดสมุทรสงคราม 47,639 ไร่ (ร้อยละ 3) เป็นต้น

ช่วงปี 2553-2557 เนื้อที่ให้ผลและผลผลิตมะพร้าวลดลงจาก 1.446 ล้านไร่ และ 1.249 ล้านตัน ในปี 2553 เป็น 1.295 ล้านไร่ และ 1.000 ล้านตัน ในปี 2557 หรือลดลง ร้อยละ 2.53 ต่อปี และ 4.76 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับ ปี 2558 มีเนื้อที่ให้ผล 1.268 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 2.08 และผลผลิต 1.012 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 1.12 สภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลสำคัญต่อผลผลิตต่อไร่ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง จาก 863 กิโลกรัม ต่อไร่ ในปี 2553 เป็น 773 กิโลกรัม ต่อไร่ ในปี 2557 หรือลดลง ร้อยละ 2.27 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้น เป็น 798 กิโลกรัม ในปี 2558

              ความต้องการใช้…ช่วงปี 2553-2557 ความต้องการใช้มะพร้าวผลในประเทศลดลง โดยในปี 2557 มีปริมาณ 1.158 ล้านตัน ลดลงจาก 1.528 ล้านตัน ในปี 2553 หรือลดลง ร้อยละ 7.22 ต่อปี โดยเป็นความต้องการใช้เพื่อการบริโภคโดยตรง ร้อยละ 60 ใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมกะทิสำเร็จรูป ร้อยละ 35 และใช้เพื่อการแปรรูปในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันมะพร้าว ร้อยละ 5 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด (ความต้องการใช้มะพร้าวผลนี้ไม่นับรวมความต้องการใช้มะพร้าวเพื่อนำไปผลิตกะทิสำเร็จรูป)

               การส่งออก…ในรูปมะพร้าวผลอ่อนสด มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้น และเนื้อมะพร้าวแห้งมีปริมาณไม่มากนัก

การนำเข้า…มะพร้าวผลแห้ง ในปี 2557 มีปริมาณ 89,270 ตัน มูลค่า 656.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2556 ซึ่งมีปริมาณ 37,555 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 137.70 สาเหตุที่การนำเข้ามะพร้าวผลเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศลดลง ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 97.84 นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย โดยนำเข้ามาผลิตกะทิสำเร็จรูปเพื่อส่งออก ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 26,127 ตัน มูลค่า 199.33 ล้านบาท

                    การนำเข้ามะพร้าวฝอย…ในปี 2557 มีปริมาณ 2,783 ตัน มูลค่า 211.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2556 ซึ่งมีปริมาณ 2,614 ตัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.32 สาเหตุที่การนำเข้ามะพร้าวฝอยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ร้อยละ 47.18 เวียดนาม ร้อยละ 34.00 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 18.05 ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 353 ตัน มูลค่า 30.17 ล้านบาท

การนำเข้าน้ำมันมะพร้าว…(รวมทุกรหัส) ในปี 2557 มีปริมาณ 6,873 ตัน มูลค่า 298.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีปริมาณ 2,785 ตัน มูลค่า 98.45 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 146.79 และ 193.69 ตามลำดับ สาเหตุที่การนำเข้าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้มะพร้าวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ภายในประเทศ ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 3,303 ตัน มูลค่า 128.24 ล้านบาท

การนำเข้ากะทิสำเร็จรูป ในปี 2557 มีปริมาณ 27,793 ตัน มูลค่า 1,054.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีปริมาณ 19,818 ตัน มูลค่า 566.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 40.24 และ 86.08 ตามลำดับ ปี 2558 (มกราคม-มีนาคม) มีปริมาณ 7,946 ตัน มูลค่า 283.71 ล้านบาท