องค์อร พิพัฒธาดา เกษตรกรดีเด่น ทำข้าวอินทรีย์ ตลาดตอบรับดี ที่แพร่

คุณองค์อร พิพัฒธาดา อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 65/1 หมู่ที่ 13 บ้านนาไผ่ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร. (089) 501-3332 เป็นหญิงแกร่งผู้ต่อสู้กับชีวิตด้วยความมุ่งมั่น จัดระบบนาข้าวอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด และเป็นผู้สร้างเครือข่ายช่วยเหลือเพื่อนๆ เกษตรกรอาชีพเดียวกันให้รวมกลุ่มได้อย่างเข้มแข็ง จนได้รับรางวัลเป็นแรงหนุน นับเป็นเกษตรกรดีเด่นและเกษตรกรต้นแบบ (Smart Farmer) ที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรชาวนาไทย

จุดหักเหชีวิต จากมนุษย์เงินเดือน

มุ่งสู่บ้านเกิด ทำนาข้าวอินทรีย์

คุณองค์อร พิพัฒธาดา เล่าถึงอดีตให้ฟังว่า เธอเคยทำงานเป็นพนักงานหลายหน่วยงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก็หลายปี สามี คุณไพวัลย์ พิพัฒธาดา เคยทำงานด้านครีเอทีฟ โฆษณา มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานโฆษณาและการตลาด เป็นคนแข็งแรงมาก ก็มาเป็นโรคไตวาย จนต้องปลูกถ่ายไตใหม่ เธอมีลูก 2 คน ลูกสาวคนโตศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่เป็นโรคเลือดธาลัสซีเมีย ลูกชายคนเล็กเป็นดาวน์ซินโดรม เธอกับสามีได้เก็บหอมรอมริบได้เงินก้อนหนึ่งกลับบ้านเกิด ช่วงเวลาและจังหวะมีโอกาสที่ดีได้ซื้อที่นาที่พ่อแม่ของเธอเคยเช่าเขาทำนา ด้วยความที่ครอบครัวมีสุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์มากนัก จึงดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ต้องถูกหลักอนามัยกับสภาพของร่างกายคนในครอบครัว อาทิ กินข้าวกล้อง ตนเองจึงต้องมาฟื้นฟู พัฒนาผืนนาเป็นนาข้าวอินทรีย์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัว

ปลูกข้าวอินทรีย์ ด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง

ทุ่งนาอินทรีย์

คุณองค์อร บอกว่า บ้านเกิดของตนเองที่ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งมิใช่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงไม่ได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตรเท่าที่ควร ไม่มีระบบชลประทาน ทำนาก็ได้เพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น จึงต้องพยายามช่วยตนเองและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก กอปรกับสภาพพื้นที่ของอำเภอลองเป็นแอ่งกระทะ มีเทือกเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน ถูกล้อมรอบด้วยภูเขา มีทุ่งราบเพียงเล็กน้อย และเป็นที่ราบแบบขั้นบันได หรือพื้นที่สูงสลับกับพื้นที่ต่ำในนาผืนเดียวกัน แต่ก็มีจุดแข็งที่มีสภาพอากาศที่เย็นสบายแทบจะไม่มีมลภาวะใดๆ จึงมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อยมาก ข้าวที่ปลูกจึงเจริญงอกงามดี มีความนุ่มและหอมมากเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อแล้วกลับมาซื้ออีก

ต้นกล้า

คุณองค์อร บอกว่า ปีก่อนๆ ทำนาข้าวอินทรีย์ในเนื้อที่ 16 ไร่ ได้ผลผลิตแต่ละปี 9.00-9.20 ตัน ข้าวเปลือก  ผลผลิตต่อไร่ 580 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตที่ได้ไม่มีความแตกต่างกับการทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี แต่สามารถลดต้นทุน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า

“ปลูกข้าวอินทรีย์หลายสายพันธุ์ มีทั้ง ข้าวหอมมะลิ หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวก่ำ โดยเปลี่ยนสายพันธุ์ตามการคาดการณ์ตลาดแต่ละปี” เจ้าของบอก

สำหรับปีการผลิต 2561 คุณองค์อร บอกว่า ปลูกข้าวอินทรีย์ ในเนื้อที่เท่าเดิม คือ 16 ไร่ ใช้สายพันธุ์ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ได้แก่ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวเหนียวก่ำ ข้าวธัญสิริน คาดว่าจะได้ผลผลิตเป็นข้าวเปลือก 9-10 ตัน

ให้ความสำคัญกับการปรับปรุง

พื้นนาก่อนปลูกข้าวอินทรีย์

ปลูกพืชบนคันนา

คุณองค์อร เล่าว่า ทุกๆ ปี หลังการเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว จะไม่มีการเผาตอซัง ฟางข้าว ก็จะนำมาเกลี่ยไว้ในแปลงนา แล้วไถกลบตอซังและฟางข้าว ระหว่างที่พื้นนาว่างเปล่ารอฤดูกาลใหม่ก็จะปลูกพืชอย่าง ถั่วลิสง หรือพืชที่มีประโยชน์และขายได้ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่พืชถือเป็นการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินไปในตัว เมื่อเข้าสู่ฤดูทำนา ก็จะไถดะ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้ง จากนั้นทิ้งหรือตากพื้นนาไว้ 2-3 สัปดาห์ ช่วงนั้นจะมีวัชพืชพวกหญ้าขึ้นมา ก็จะไถแปร เพื่อให้หญ้าตายและกลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ แล้วก็ไถคราดตีดินเป็นการปรับระดับของพื้นนาให้เรียบเสมอกัน รวมไถนา 3 ครั้ง คือ ไถดะ ไถแปร คราดดินและทำเทือก จนเมื่อดูสภาพดินมีความพร้อมแล้วก็จะลงมือปลูกข้าว

ระหว่างที่เตรียมดินก็จะเพาะกล้าข้าวในถาดเพาะกล้าที่เป็นหลุม ซึ่งจะใช้เวลาตั้งแต่ข้าวงอกจนถึงพร้อมปลูก 15 วัน ก็จะพอดีกับที่เตรียมพื้นนาเสร็จ

เป็นวิทยากรเรื่องข้าว

คันนาข้าวของคุณองค์อร มีความกว้างมาก 1.5-2.0 เมตร คุณองค์อร บอกว่า มันมีประโยชน์ เพราะระหว่างคันนาจะปลูกพืชเป็นแนวกันชน เช่น หญ้าแฝก ตะไคร้หอม ดอกทานตะวัน เป็นต้น และปลูกพืชที่ขายได้ เช่น ตะไคร้ กล้วย มะละกอ มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว ถั่วพู เป็นต้น

ทำนาโยนแบบประณีต เหมาะสมที่สุด

คุณองค์อร อธิบายถึงเหตุผลว่า ใช้วิธีการทำนาโยน เพราะพื้นนาข้าวจะมีความโปร่ง โล่งดี จะมีแมลงฝ่ายดีมาอาศัยเต็มผืนนาไว้คอยต่อสู้กับแมลงร้ายให้ต้นข้าว เป็นการงดการใช้สารเคมีไปในตัว เธอบอกถึงเคล็ดลับว่า ให้มีน้ำในแปลงนา ประมาณ 1 เซนติเมตร หรือปล่อยให้น้ำในแปลงนาน้อยที่สุดก่อนโยน จะทำให้ต้นกล้าไม่ลอย

คุณองค์กร อธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการทำนาข้าวอินทรีย์ของเธอเป็นการทำนาแบบประณีต ใช้วิธีการทำนาโยน ซึ่งวิธีการโยนกล้าข้าว จะโยนกล้าให้เป็นแถวคล้ายกับการปักดำ จึงเกิดเป็นนวัตกรรมการผลิตข้าว วิธีการใหม่ที่สามารถเข้าจัดการวัชพืชได้ง่ายกว่าวิธีการโยนกล้าข้าวทั่วๆ ไป แต่การโยนกล้าต้องใช้ความชำนาญในการโยนเป็นพิเศษในการกะระยะ มิฉะนั้นกล้าข้าวจะไม่เป็นแถวเป็นแนว ยากต่อการปฏิบัติงานในแปลงนา ระหว่างต้นข้าวเจริญเติบโต จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ ส่วนการป้องกันโรคและแมลงศัตรูข้าว คุณองค์อรจะใช้น้ำสกัดสมุนไพรที่ใช้วัตถุดิบจากยาสูบ บอระเพ็ด ใบและเมล็ดสะเดา มะรุม ข่า ตะไคร้หอม ใบมะกรูด และใช้สารชีวภัณฑ์ ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) ที่ผลิตขึ้นเองโดยการขยายเชื้อ

พิถีพิถันดูแลข้าวในแปลงนา

  1. เดินสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสังเกตโรคแมลงที่อาจจะเข้ามาในแปลง
  2. กำจัดวัชพืชในแปลงอย่างสม่ำเสมอ ใช้แรงงานคนและประยุกต์ใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับพื้นที่
  3. ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และให้น้ำตามระยะเวลาและความต้องการในแต่ละช่วงการเติบโตของต้นข้าว
  4. ใช้สารชีวภัณฑ์ วิธีกล และน้ำสกัดสมุนไพรที่ผลิตขึ้นเอง

ข้อดี ของการทำนาข้าวอินทรีย์แบบประณีต

– ลดต้นทุนการผลิตข้าว

– ง่ายต่อการจัดการดูแลป้องกันโรค แมลง และการจัดการวัชพืชในแปลง

– เป็นวิธีการผลิตที่รักษาระบบนิเวศทางด้านการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– เป็นการผลิตมุ่งสู่การพัฒนาทางด้านการเกษตรแบบยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

– ขั้นตอนการผลิตข้าวมีความปลอดภัยต่อคุณองค์อรเอง ผลผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

คุณองค์อร กล่าวว่า การปลูกข้าว การดูแลข้าว การเก็บเกี่ยวข้าวของเธอ มีการรักษาข้าวด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) อย่างแท้จริง

  1. ไม่ใช้สารเคมีในทุกกระบวนการ
  2. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโต หรือเร่งผลผลิต
  3. ไม่ใช้การรมควันในการเก็บรักษาข้าวและกำจัดมอด
  4. ไม่เผาตอซังข้าวให้เกิดควัน แต่ใช้วิธีไถกลบให้เป็นปุ๋ยในดิน

ได้รับ GAP จาก กรมการข้าว

คุณองค์อร กล่าวว่า ข้าวอินทรีย์ของเธอได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) จากกรมการข้าว เมื่อปี พ.ศ. 2559 จากการปฏิบัติตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม ซึ่ง คุณองค์อร ได้ปฏิบัติดังนี้

  1. แหล่งน้ำที่ใช้ในแปลง เป็นน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ไหลมาตามลำธารรอบๆ แปลงนาของคุณองค์อร
  2. แปลงนาที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไม่มีสารตกค้าง รอบๆ แปลงนามีพรรณไม้หลากหลายชนิดปลูกเป็นแนวกันชน และไม่ใช้เครื่องจักรกล
  3. ไม่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่เป็นอันตราย
  4. มีระบบการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ไม่มีข้าวพันธุ์อื่นปะปน มีการดูแลสำรวจแปลงสม่ำเสมอ และมีการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงไม่มีโรคแมลง
  5. มีการจัดการเก็บเกี่ยวข้าวและลดความชื้นของข้าวเปลือกอย่างถูกต้องเหมาะสม
  6. มีการเก็บรักษาและรวบรวมข้าวเปลือกในสถานที่ที่ป้องกันการปนเปื้อน
  7. มีการบันทึกและจัดการข้อมูลการปฏิบัติการและการจัดการในการผลิตทุกขั้นตอน และได้รับมาตรฐานการรับรอง มาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ จากกรมการข้าว เมื่อปี พ.ศ. 2561

แปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ด้วยเครื่องสีข้าวของตนเอง

บรรจุหีบห่อ

ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแปรรูปข้าวเปลือกและการควบคุมคุณภาพจากเครื่องสีข้าวเครื่องเดียวในปีแรกที่ผลิต มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเพิ่มเครื่องคัดแยกข้าวเปลือกกับข้าวกล้อง และเพิ่มเครื่องคัดเปอร์เซ็นต์เมล็ดข้าว เพื่อให้ได้คุณภาพข้าวที่เต็มเมล็ดและคงความสด สามารถป้องกันมอดได้เป็นอย่างดี และได้นำเครื่องแพ็กสุญญากาศและถุงแพ็กสุญญากาศมาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าข้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวที่คุณองค์อรได้ผลิตอยู่ มีหลายรายการตามที่เธอกล่าวให้ฟัง ได้แก่

– จมูกข้าว + ปลายข้าวกล้อง

– ข้าวกล้องงอกหอมมะลิ

– ข้าวกล้องงอกหอมมะลิแดง

– ข้าวกล้องงอกหอมนิล

– ข้าวกล้องงอกหอม 3 สี

– ชุดของขวัญข้าวกล้องอินทรีย์

– ชุดของขวัญข้าวกล้องงอกอินทรีย์

– ชุดของขวัญออร์แกนิกพรีเมี่ยม

ก้าวต่อไปเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า

คุณองค์อร กล่าวว่า แม้ผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ที่แปรรูปออกมาจะมีหลากหลายประเภท แต่ในอนาคตตั้งใจจะเพิ่มมูลค่า ได้แก่

  1. พัฒนาระบบการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย.
  2. พัฒนาระบบการปลูก ผลิต และบรรจุ ให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับโลก
  3. พัฒนาต่อยอดแปรรูปข้าวออร์แกนิกเป็นเครื่องสำอางออร์แกนิก
  4. พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้

“บ้านไร่ต้นฝัน ออร์แกนิกฟาร์ม”

ใช้การตลาดนำการผลิต

คุณองค์อร กล่าวว่า เธอและสามีได้คิดค้นสร้างแบรนด์ (brand) เป็นของตนเอง ชื่อ “ข้าวกล้องอินทรีย์ บ้านไร่ต้นฝัน” และเป็นแบรนด์ของคนอำเภอลอง ส่งไปขายให้กับคนรักสุขภาพที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่หลายจังหวัด ด้วยสื่อทางการตลาดหลากหลายช่องทาง ได้แก่

– ตลาดออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ www.baanraitonfun.com

– ผ่านทาง facebook แฟนเพจ “บ้านไร่ต้นฝัน” url. คือ www.facebook.com/baanraitonfun

– ลงในเว็บไซต์ขายฟรี www.kaidee.com รวมถึง www.pantipmarket.com และ www.market.onlineoops.com

– ผ่าน application Line shopee, weloveshopping

– IG : baanraitonfun, twitter : baanraitonfun

นอกจากการขายผ่านสื่อออนไลน์แล้ว คุณองค์อร ยังได้คิดค้นพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดทั้งกลยุทธ์พื้นฐาน และกลยุทธ์ส่งเสริมการขายทางด้านกลยุทธ์พื้นฐาน คุณองค์อร บอกว่า ใช้กลยุทธ์ส่งตรงถึงบ้าน-ข้าวคุณภาพดีเยี่ยมราคาไม่แพง-แพ็กเกจ (package) ดี โดดเด่น มีมาตฐานสูง-เพิ่มช่องทางจำหน่ายในโลกออนไลน์ ส่วนกลยุทธ์ส่งเสริมการขายนั้น เธอกล่าวว่า มีโปรโมชั่น (promotion) ซื้อข้าว 5 กิโลกรัม แถม 1 กิโลกรัม-ซื้อข้าว 10 กิโลกรัม แถมทัพพีไม้-จัดทำชุดของขวัญ (Gift Set) สำหรับปีใหม่-ออกร้านจำหน่ายและประชาสัมพันธ์-ให้ลิ้มชิมรสของข้าว -จัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์-เล่นเกมใน facebook ชิงรางวัล ทั้งนี้ คุณองค์อร กล่าวเสริมว่า โปรโมชั่นดังกล่าวจัดขึ้นให้เหมาะกับสถานการณ์แต่ละช่วงปี

บริหารเวลาช่วยเหลือเกษตรกร

สร้างเครือข่ายและชุมชน

คุณองค์อร นอกจากเป็นเกษตรกรต้นแบบนาข้าวอินทรีย์แล้ว ยังเป็นผู้นำในการรวบรวมเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ยื่นจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องอินทรีย์บ้านนาไผ่ โดยเธอรับตำแหน่งประธาน นอกจากนี้ คุณองค์อร ยังสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วม สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนต่างๆ เช่น เครือข่ายสานตะกร้าของขวัญ เครือข่ายผลิตข้าวกล้องงอก เครือข่ายปลูกข้าวอินทรีย์แบบประณีต เป็นต้น และยังสละเวลาออกช่วยงานพัฒนาชุมชนเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เป็นผู้นำกลุ่ม Smart Farmer และเป็นผู้สร้างกลุ่ม Line เพื่อพัฒนา Smart Farmer ของอำเภอลองให้เข้มแข็ง

คุณองค์อร ได้รับรางวัลชนะเลิศเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำนา ระดับจังหวัดแพร่ และรองชนะเลิศระดับศูนย์ภาคเหนือ ในปี 2561

เธอกล่าวถึงแนวคิดในการประกอบอาชีพการเกษตรของเธอ “มุ่งมั่น ขยัน และอดทน มีใจรักในงานที่ทำ”

ท่านใดสนใจที่จะสอบถามหรือสั่งซื้อข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์ ติดต่อได้ตามช่องทางที่แจ้งไว้ข้างต้น

ขอขอบคุณ ผู้ให้ข้อมูล คุณกัลยาณี ประเสริฐขรวงค์ สำนักงานเกษตรอำเภอลอง จังหวัดแพร่