“ไก่ดำภูพาน” สัตว์เศรษฐกิจทำเงิน สร้างอาชีพให้คนตรัง

ไก่ดำภูพาน เกิดจากการคิดค้นและพัฒนาสายพันธุ์ โดย อาจารย์ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นผู้พัฒนาไก่ดำ KU-ภูพาน

ไก่ดำ KU-ภูพาน มี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 1 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีดำ สายพันธุ์ 2 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีขาว และสายพันธุ์ 3 จะมีลักษณะเด่นคือ ขนสีเหลืองทอง ทั้ง 3 สายพันธุ์ จะมีเนื้อสีดำ, ปาก, ลิ้น, หงอน, เล็บ, แข้งขา, กระดูก, เครื่องใน เป็นสีดำหมด

การพัฒนาไก่ดำ KU-ภูพาน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ดำ KU-ภูพาน เพื่อบริโภคในครัวเรือนและแบ่งจำหน่ายสร้างรายได้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง แต่หลังจากมีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ออกไป ไก่ดำเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้ทราบได้ว่า ความต้องการของไก่ดำทั้งการเลี้ยง และการบริโภคสูงมาก

จังหวัดตรัง โดย คุณถาวร เลี้ยงสกุล เป็นคนแรกที่นำพ่อแม่พันธุ์ไก่ดำ KU-ภูพาน มาเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม “ดวงใจฟาร์มไก่ดำอารมณ์ดี” ตั้งอยู่เลขที่ 419/2 ถนนเพชรเกษม ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เพาะเลี้ยงไก่เพื่อบริโภคและจำหน่ายลูกไก่ดำในราคาถูกแก่เกษตรกรที่สนใจนำไปเลี้ยง เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลสำเร็จ สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ได้หลายรุ่น รุ่นละ 50-100 ตัว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตร

คุณถาวร จะเน้นให้เกษตรกรเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ด้วยการนำข้าวเปลือกงอก หยวกกล้วยสับ ใบเตยหั่นฝอย มาเป็นอาหาร และปล่อยให้หากิน มด แมลงในสวนยางพารา จะทำให้ไก่สุขภาพดี โตเร็ว อัตราแลกเนื้อสูง ที่สำคัญในข้าวเปลือกงอกจะมีโปรตีนสูง ย่อยง่าย แถมมีสาร Gaba (กาบา) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำดี และลดการสะสมของไขมัน หยวกกล้วยหมัก จะช่วยในการย่อยอาหาร มีโปรตีนสูง และใบเตยจะทำให้ไก่มีกลิ่นหอม ลดการสะสมของกรดยูริก และเพรียวรีน ปัจจุบัน ไก่ดำ KU-ภูพาน เลี้ยงเพียง 3 เดือน ก็สามารถนำมาบริโภคหรือจำหน่ายได้แล้ว ราคาจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150-200 บาท

ไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเยอะมาก เพราะในไก่ดำ KU-ภูพาน จะมีสารเมลานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือน อีกทั้งมีสารคาร์โนซีน (Carnosine) ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่า ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอความแก่ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น โลหิตจาง ได้อีกด้วย

ซึ่งคุณถาวร  ได้จัดตั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม โดยมีสำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนต่อไป สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณถาวร เลี้ยงสกุล โทร. (087) 386-0022

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2561