การปลูก และการจัดการสวนมะม่วง แบบประสบการณ์

การปลูกมะม่วงแบบประสบการณ์จริง เป็นการรวบรวมเอาเทคนิคและวิธีการจากชาวสวนมะม่วงที่ประสบความสำเร็จ นำมาเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่านอ่านง่าย และนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติได้จริง

มะม่วง เป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกสภาพ แต่หากจะปลูกมะม่วงในเชิงพาณิชย์และเพื่อการส่งออกจะต้องเลือกพื้นที่ที่ค่อนข้างดอน น้ำไม่ท่วมขัง กรณีพื้นที่เป็นที่ลุ่มจะต้องยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เพราะนิสัยของมะม่วงแม้จะทนต่อสภาพน้ำท่วมขังแต่หากน้ำท่วมนานๆ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิต อีกประการที่สำคัญคือแปลงมะม่วงที่มีน้ำท่วมขังมักเกิดปัญหาโรคเข้าทำลายได้ง่ายกว่าแปลงปลูกที่มีการระบายน้ำดี

ฉีดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่เป็นใบอ่อน

การเตรียมพื้นที่ปลูก “พื้นที่ดอน” การปลูกมะม่วงในพื้นที่ดอนจะต้องปรับพื้นที่ให้ค่อนข้างเรียบเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เก็บเศษไม้และก้อนหินออกให้หมด จากนั้นให้ไถดินตากไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์

การวัดระยะปลูก ก่อนอื่นจะต้องดูสภาพพื้นที่เป็นหลัก นักวิชาการหลายท่านต่างแนะนำให้วัดระยะแถวในแนวเหนือ-ใต้ หรือปลูกมะม่วงแบบขวางตะวันเพื่อให้ต้นมะม่วงได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึงทุกต้น แต่บางครั้งสภาพพื้นที่ของเราไม่อำนวยก็สามารถดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ได้

ระยะปลูกที่เหมาะสมโดยทั่วไปแล้ว จะใช้ระยะระหว่างต้น 6 เมตร และระหว่างแถว 6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 45 ต้น แต่อาจมีเกษตรกรบางรายปรับระยะปลูกใหม่ให้ชิดกว่าเดิม เป็นระหว่างต้น 5 เมตร และระหว่างแถว 6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 52 ต้น ได้จำนวนต้นมะม่วงเพิ่มจากเดิม 7 ต้น ต่อไร่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย แต่การปลูกระบบนี้ชาวสวนจะต้องควบคุมทรงต้นให้ดี

แปลงปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ในสภาพพื้นที่ดอน

“พื้นที่ลุ่ม” สำหรับในพื้นที่ลุ่มอาจจะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มที่มีประวัติน้ำท่วมขังสูง ถ้าระดับน้ำเคยท่วมสูงมากจะต้องทำคันกั้นน้ำให้สูงกว่าระดับที่น้ำเคยท่วมมาก่อนประมาณ 0.5-1 เมตร ก่อนแล้วจึงยกร่อง แต่หากน้ำขังไม่มากให้ใช้วิธีการยกร่องอย่างเดียวก็พอ การขุดร่องโดยทั่วไปแล้วควรจะต้องให้สันร่องมีความกว้างประมาณ 5 เมตร ตัวร่องน้ำกว้างประมาณ 1.50-2 เมตร ส่วนความลึกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแปลง ที่ต้องกำหนดให้มีสันร่องกว้างๆ ก็เพื่อความสะดวกของผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในระยะห่อผลและเก็บผลผลิต ผู้เขียนเคยไปพบแปลงมะม่วงแปลงหนึ่งที่ปลูกแบบยกร่อง แต่มีสันร่องที่ค่อนข้างแคบมากทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติงาน คนงานไม่สามารถห่อผลผลิตได้ เพราะไม่มีพื้นที่ในการตั้งบันได ทำให้เสียโอกาสในการผลิตมะม่วงคุณภาพดีๆ เพราะไม่ได้ห่อผล

มะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพส่งออก

การเตรียมหลุมปลูก หากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แนะนำให้ใช้เครื่องเจาะหลุมช่วยจะเป็นการประหยัดเวลาและช่วยประหยัดค่าแรงงานไปได้มาก เครื่องเจาะที่นิยมใช้โดยทั่วไป จะมีขนาดหลุมกว้าง 50-75 เซนติเมตร เจาะลึกลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร แต่หากเป็นการปลูกไว้ตามสวนหลังบ้าน แบบบ้านละ 1-2 ต้น ให้ใช้จอบขุดหลุมกว้าง, ยาวและลึก 50 เซนติเมตร ก็พอ หลังขุดหลุมเสร็จให้หาปุ๋ยคอกเก่ามาผสมกับดินที่ขุดขึ้นมา ต้นละ 1-2 บุ้งกี๋ พยายามใช้จอบผสมคลุกเคล้าดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากันดี เพราะหากผสมไม่ดีอาจมีปัญหาทำให้มะม่วงที่ปลูกใหม่ตายเพราะปุ๋ยคอกได้

เมื่อผสมเสร็จให้โกยดินที่ผสมลงในหลุมเหมือนเดิม โดยพูนดินให้เป็นในลักษณะหลังเต่า ทิ้งเวลาไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงเริ่มปลูกมะม่วงได้ แต่บางครั้งพบเกษตรกรบางรายใช้วิธีขุดหลุมแล้วปลูกเลย ปุ๋ยคอกจะนำมาใส่ทีหลัง วิธีนี้ก็สามารถทำได้โดยเฉพาะคนที่ปลูกในพื้นที่มากๆ และไม่สามารถหาแรงงานในการเตรียมหลุมได้

พันธุ์มะม่วงที่น่าปลูก เกษตรกรหลายรายมักตั้งคำถามว่า “จะปลูกมะม่วงพันธุ์อะไรดี” คำถามนี้ยังไม่มีใครกล้าตอบแบบฟันธงได้ เพียงแต่สามารถให้คำแนะนำเพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะเลือกปลูกพันธุ์อะไรดี แต่จากข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชนต่างยอมรับว่าพันธุ์มะม่วงที่มีผู้นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุดของบ้านเราในปัจจุบันนี้ ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้ (ทั้งพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งทั้งสองพันธุ์เป็นมะม่วงบริโภคผลสุก) เพราะเป็นพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง ขายได้ราคา มีตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองตลาดต่างประเทศเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมะม่วงในกลุ่มบริโภคผลดิบหรือมะม่วงมัน เช่น เขียวเสวย, แรด, ฟ้าลั่น, เพชรบ้านลาด, มันขุนศรี ฯลฯ พื้นที่ปลูกมีไม่มากนักและกำลังลดลงเรื่อยๆ เพราะขายได้ราคาต่ำกว่าพันธุ์น้ำดอกไม้ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการน้อย

สภาพร่องปลูกมะม่วงในพื้นที่ดอน

การเตรียมกิ่งพันธุ์ มีปราชญ์หลายท่านพูดว่า “การเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” การทำสวนมะม่วงก็เช่นกัน ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อกิ่งพันธุ์จะต้องแน่ใจว่ากิ่งพันธุ์ที่เราจะซื้อมาปลูกนั้นดีจริง เกษตรกรสวนมะม่วงหลายรายมีวิธีในการเลือกซื้อกิ่งพันธุ์ดังนี้

1.จะต้องเป็นกิ่งพันธุ์แท้ตรงตามพันธุ์ที่เราต้องการ ปัญหาเรื่องการซื้อมะม่วงพันธุ์หนึ่งแล้วได้อีกพันธุ์หนึ่งไปแทนเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะกิ่งพันธุ์ที่ออกมาขายกันใหม่ๆ ราคาแพงๆ หากซื้อไปแล้วเป็นพันธุ์ปลอมนอกจากจะเสียเงินเสียเวลาแล้วยังช้ำใจไปอีกนาน ในเรื่องนี้ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในช่วงที่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกขายใหม่ๆ คนแห่กันปลูกกันมาก ปลูกไปได้ไม่นานมะม่วงที่ออกมากลับไม่เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง แต่เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 แทน ดังนั้น ก่อนซื้อจะต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้

  1. เป็นกิ่งแข็งแรงสมบูรณ์ กิ่งมะม่วงที่จะนำมาทำพันธุ์จะต้องเป็นกิ่งที่แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงรบกวน ถ้าเป็นกิ่งใหญ่จะต้องมีขนาดสมดุลกับต้นตอ ไม่ใช่กิ่งใหญ่แต่ต้นตอเล็กมาก จะพบปัญหาด้านการเจริญเติบโต การเลือกกิ่งพันธุ์จะต้องเป็นกิ่งที่ตัดชำมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ใบไม่เหี่ยวแห้ง กิ่งที่ดีใบจะต้องเขียวเป็นมัน แสดงว่าระบบรากขยายดีพร้อมปลูก
  2. ต้องขยายพันธุ์จากต้นที่ไม่เคยราดสารแพคโคลบิวทราโซลมาก่อน เพราะหากเราใช้กิ่งพันธุ์ที่ผ่านการราดสารฯมาปลูกมักพบปัญหากิ่งเลื้อยและต้นไม่ค่อยเจริญเติบโต เวลาซื้อให้สังเกตง่ายๆ หากพบว่ากิ่งพันธุ์ที่ซื้อมามีลักษณะเลื้อยยอดไม่ตั้งเหมือนมะม่วงปกติแสดงว่าขยายพันธุ์มาจากต้นที่ผ่านการราดสารมาแล้วควรหลีกเลี่ยง

การปลูก เมื่อเราได้กิ่งพันธุ์มาแล้ว ก่อนปลูกประมาณ 1-2 วัน ต้องงดน้ำเพื่อให้ดินในถุงแห้ง ป้องกันดินแตกเวลาปลูก (ดูว่าให้แค่พอแห้ง ไม่ใช่ปล่อยจนมะม่วงเหี่ยว) ก่อนปลูกอาจรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 16 – 16 – 16 ต้นละประมาณ 1 ช้อน ถ้าปลูกแปลงใหญ่ แนะนำให้ขุดหลุมให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยปลูกทีหลัง เพื่อความสะดวกในการเล็งต้นให้เป็นแนวตรงกัน ที่สำคัญก่อนปลูกเวลาวางกิ่งพันธุ์ ห้ามให้กิ่งพันธุ์ล้มหรือนอนเพราะกิ่งพันธุ์จะตายได้ง่าย ต้องวางกิ่งพันธุ์ให้ตั้งเท่านั้น

เครื่องเจาะหลุมปลูกมะม่วง

การให้น้ำมะม่วงที่ปลูกใหม่ การปลูกมะม่วงในระยะแรกจะต้องให้น้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ มีหลายท่านสอบถามว่าจะต้องรดน้ำกี่วันต่อครั้ง คำตอบคือ ให้ดูจากความชื้นของดินเป็นหลัก กรณีปลูกมะม่วงหน้าฝนอาจจะไม่ต้องรดน้ำเลยก็ได้ แต่หากเป็นช่วงฤดูแล้งอาจจะต้องรดน้ำ 5-7 วัน ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและอากาศ ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรหลายท่านใช้ฟางข้าวมาคลุมที่โคนต้นมะม่วงเพื่อลดการระเหยของน้ำ ทำให้ดินมีความชื้นได้นานขึ้นเว้นระยะเวลาในการรดน้ำนานออกไปได้

สิ่งที่ต้องจำไว้เสมอสำหรับมะม่วงปลูกใหม่ก็คือ ห้ามขาดน้ำโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแตกใบอ่อนหากขาดน้ำต้นมะม่วงอาจตายได้และต้นมะม่วงที่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าต้นมะม่วงที่ขาดน้ำอย่างเห็นได้ชัด

การใส่ปุ๋ย หลังจากปลูกมะม่วงไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน หรือสังเกตเห็นว่ามะม่วงเริ่มแตกใบอ่อน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 อัตราต้นละประมาณ 1 ช้อนแกง โดยใส่กระจายให้ทั่วต้นแล้วรดน้ำจนปุ๋ยละลายและให้ใส่ซ้ำทุก 2 เดือน เพื่อให้ต้นมะม่วงมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่วนปุ๋ยคอกนั้นให้ใส่อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จากประสบการณ์ผู้เขียนเคยพบแปลงมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ได้รับการใส่ปุ๋ยดูแลอย่างดี อายุต้นประมาณ 3 ปี แต่มีขนาดทรงต้นใหญ่กว่ามะม่วงทั่วไป สามารถให้ผลผลิตได้เร็วกว่า

ใช้มีดคมๆ กรีดถุง ระวังอย่าให้ตุ้มดินแตก

การฉีดพ่นสารเคมี เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับการปลูกมะม่วงแบบการค้าคือ การใช้สารเคมี เพราะโรคแมลงนั้นร้ายกาจรุนแรงกว่าที่จะใช้วิธีทางชีวภาพ ดังนั้น การใช้สารเคมีจึงเป็นทางเลือกที่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงส่วนใหญ่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูของมะม่วง มะม่วงปลูกใหม่ชาวสวนจะฉีดพ่นโคนต้นด้วยสารฟิโปรนิลเพื่อป้องกันปลวกมากัดกินขุยมะพร้าวที่อยู่บริเวณราก ซึ่งจะทำให้รากมะม่วงไม่มีที่ยึดเกาะ กิ่งจะแห้งตายได้ ที่สำคัญปลวกยังชอบเข้ามากัดทำลายหลักค้ำยันต้นทำให้ต้นมะม่วงโค่นล้มได้ง่าย

ใบอ่อนแตกใหม่ ถ้าจะให้เจริญเติบโตดีต้องฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันโรคแมลงโดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะยึดหลักดังนี้

1.ฉีดปุ๋ยทางใบ เพื่อให้ใบอ่อนสมบูรณ์ ที่ใช้กันมากคือ ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 21-21-21 หรือ 20-20-20 หรือ 18-6-6 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก

2.ฉีดยาฆ่าแมลง เพราะช่วงใบอ่อนมักมีแมลงมาทำลายที่พบบ่อยๆ ก็คือ เพลี้ยไฟ, หนอนกัดกินใบ, แมลงค่อมทอง, ด้วงกรีดใบ ฯลฯ ศัตรูเหล่านี้กำจัดไม่ยากหากเราหมั่นตรวจแปลงบ่อยๆ จะสามารถแก้ไขได้ทัน

แมลงค่อมทอง กัดกินใบอ่อนมะม่วง

 

แต่สำหรับเกษตรกรแล้วจะใช้วิธีฉีดป้องกันดีกว่า เรียกได้ว่ายังไม่เห็นตัวแมลงก็ฉีดกันแล้ว ยากลุ่มที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ไซเปอร์เมทริน (เช่นโกลน็อค), เซฟวิน-85 ฯลฯ หลายครั้งที่เกษตรกรลืมดูแลมะม่วงช่วงแตกใบอ่อนแมลงเหล่านี้ก็จะเข้ามาทำลายทำให้ต้นมะม่วงโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

3.ฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อรา ในช่วงใบอ่อน นอกจากแมลงจะเข้าทำลายแล้ว โรคที่พบมากที่สุดก็คือ โรคแอนแทรคโนสทำลายใบอ่อน ทำให้ใบเสียหายต้นชะงักการเจริญเติบโต ควรป้องกันโดยการฉีดพ่นยาเชื้อรา เช่น อโรไซด์, แอนทราโคล ฯลฯ