“3 ดำ มหัศจรรย์ภูพาน” ตอบโจทย์ เลี้ยงง่าย ทนต่อโรค ขายไม่ขาดทุน คุณภาพเทียบต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าวิจัยทดลองงานพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น และนำออกเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2527

เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงเยี่ยมศูนย์
เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จฯ ทรงเยี่ยมศูนย์

“กรมปศุสัตว์” เป็นอีกหนึ่งในหลายหน่วยงานสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานศึกษาและทดลองการเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ การจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ และวิธีแก้ปัญหา ทั้งนี้ผลการศึกษาวิจัยที่มีความโดดเด่นในงานรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ของศูนย์การศึกษาการพัฒนาภูพานฯ แห่งนี้คือ สิ่งที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 3 ดำ มหัศจรรย์” อันได้แก่ วัวเนื้อทาจิมะภูพาน ไก่ดำภูพาน และหมูดำภูพาน

ในปัจจุบัน สัตว์ทั้ง 3 ชนิด จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมกับขยายผลสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศนำไปเลี้ยงประกอบอาชีพกันมากมาย

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร
นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ 3 ดำ มหัศจรรย์ ได้บอกกล่าวถึงความสำเร็จว่า

b-1-%e0%b8%9b%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%b9%e0%b8%99%e0%b8%a2%e0%b9%8c%e0%b8%af

“สัตว์ทั้ง 3 ชนิด ที่เกิดขึ้นในศูนย์แห่งนี้เป็นความตั้งใจของทีมงานปศุสัตว์ ซึ่งทำงานภายใต้แนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ศูนย์แห่งนี้จะต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีความเคลื่อนไหว และมีความน่าสนใจ ตลอดจนจะต้องเป็นศูนย์ที่ให้บริการได้อย่างครบวงจร แล้วที่พระองค์ท่านเน้นย้ำมากที่สุดคือ ต้องตอบโจทย์ชาวบ้านเท่านั้น ห้ามตอบโจทย์นักวิชาการ อะไรที่ชาวบ้านต้องการจะต้องแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้จนได้สำเร็จ”

สำหรับการเริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ดำทั้ง 3 ชนิด นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ บอกว่า หลักการสำคัญที่ยึดเป็นแนวทางในการทำงานคือ พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ไว้ว่า การทำงานด้านปศุสัตว์จะต้องผ่านเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ต้องเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย
  2. ควรใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ
  3. ใช้อาหารสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น
  4. สัตว์ที่มีการพัฒนาขึ้นมาต้องมีความทนทานต่อโรคระบาด รวมถึงสภาพพื้นที่เลี้ยงด้วย และ
  5. สัตว์ที่พัฒนาขึ้นมาต้องบริโภคได้ด้วย เพราะต้องการให้เป็นแหล่งโปรตีนของชาวบ้าน อีกทั้งเมื่อทำเป็นอาชีพขายแล้วต้องไม่ขาดทุน

“ดังนั้น ถึงตอนนี้สัตว์ทั้ง 3 ชนิด จึงตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้อ ผ่านอย่างสบาย และในปัจจุบันตั้งแต่ทำงานมากว่า 10 ปีถือว่าชาวบ้านได้นำสัตว์ดำทั้ง 3 ชนิด ไปเลี้ยง เพื่อการบริโภคแล้วยังสร้างอาชีพได้ในเวลาเดียวกัน”

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ ชี้ว่าในเรื่องการเลี้ยงและการดูแลสัตว์เหล่านั้นคงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากโดยสภาพความเป็นจริงชาวบ้านรู้จักวิธีเลี้ยงกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจแนะนำความรู้และเทคนิคการเลี้ยงบางอย่างเสริมเข้าไป แต่สิ่งที่นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์กังวลคือ เรื่องการขายและการตลาด เนื่องจากชาวบ้านส่วนมากยังไม่คุ้นเคย เพราะพระองค์เคยตรัสไว้ว่า ศูนย์แห่งนี้ทำขึ้นเพื่อต้องการให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง คือได้ให้ความรู้แบบพอเพียงและยั่งยืน ซึ่งหมายถึงว่าต้องเลี้ยงเองแล้วขายเอง อีกทั้งควรจะผลิตออกมาให้ได้จำนวนที่เหมาะสมกับความต้องการ ไม่ใช่ผลิตจนล้น แล้วต้องหาวิธีเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขอีก

“ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ทางทีมงานต้องเข้าไปชี้ช่องทางและประสานงานด้านการตลาดและการขายให้แก่ชาวบ้านเท่านั้น แล้วไปติดต่อเจรจากันเอง”

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ ระบุว่า ชาวบ้านทุกคนต้องปรับตัวให้เป็นคนขายมืออาชีพ จะต้องเรียนรู้วิธีการเจรจา แล้วจะเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม แล้วจากนั้นมีการสร้างเครือข่ายขึ้น มีการช่วยเหลือระหว่างกัน ผลที่เกิดขึ้นคือ จะเกิดความเข้มแข็งของกลุ่มตามมา

“ขณะเดียวกันเป็นการสอดรับกับนโยบายของทางรัฐบาลในเรื่องประชารัฐ ที่จะเข้ามาจัดระบบการผลิตและจำหน่ายให้แก่ชาวบ้าน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านให้คำแนะนำการเลี้ยงอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตอย่างมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด แล้วช่วยลดต้นทุน”

ในบรรดาสัตว์ 3 ดำ ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงกันมากที่สุดคือ ไก่ดำ ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ บอกว่า อาจเป็นเพราะลงทุนน้อย เพียงมีแม่พันธุ์ 3 ตัว พ่อพันธุ์ตัวเดียว ใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน สามารถได้ผลผลิตรุ่นแรก ทำให้เกษตรกรได้เงินเร็ว ลงทุนต่ำ โดยใช้อาหารตามธรรมชาติหรืออาหารสำเร็จได้ ทนโรค เลี้ยงง่าย

 

ความแตกต่าง ของ ไก่ดำภูพาน 1, 2 และ 3 หมายถึงอะไร??

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เผยว่า จากพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ต้องการให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มีลักษณะการทำงานที่ให้บริการแบบครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จ แล้วต้องตอบโจทย์ชาวบ้านได้ทุกเรื่อง ฉะนั้น ไก่ดำภูพาน ก็คือ คำตอบที่ชัดเจน

ไก่ดำภูพาน 1
ไก่ดำภูพาน 1

แต่ต่อมาพบว่า ไก่ดำ คงตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านได้เพียงบางกลุ่ม เนื่องจากชาวบ้านบางแห่งเลี้ยงไก่ประเภทนี้ไม่ได้ เพราะมีความเชื่อว่า สีดำ เป็นสิ่งไม่ดี เป็นอัปมงคล และด้วยความเชื่อเช่นนี้จึงต้องมีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีขนสีขาว จึงตั้งชื่อให้เป็น ไก่ดำภูพาน 2

ไก่ภูพาน 2 ที่มีขนสีขาว
ไก่ภูพาน 2 ที่มีขนสีขาว

กระทั่งเมื่อผ่านมาระยะหนึ่ง ได้รับข้อมูลจากชาวบ้านบางแห่งอีกว่า ทั้งไก่ดำและไก่ขาว ไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในพิธีที่เป็นมงคล จึงต้องมีการคัดพันธุ์ พัฒนาพันธุ์เพื่อเปลี่ยนสีขนให้มาเป็นสีทอง แล้วประสบความสำเร็จ เมื่อปี 2559 จึงตั้งชื่อให้เป็นไก่ดำภูพาน 3 อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ไก่ดำภูพาน 1, 2 และ 3 ล้วนมีคุณสมบัติเด่นเหมือนกันทุกอย่าง ทั้งการเลี้ยง การดูแล และความทนทานต่อสภาพการเลี้ยงและโรค

ไก่ภูพาน 3 ที่มีขนสีเหลืองทอง
ไก่ภูพาน 3 ที่มีขนสีเหลืองทอง

“วัวดำภูพาน”  ขุนส่งตลาดราคาสูง คุณภาพเนื้อเทียบต่างประเทศ

จากไก่ดำ ชาวบ้านต่อด้วยการเลี้ยงวัวดำ เพราะวัวเลี้ยงง่าย ยิ่งถ้ารายไหนมีแม่วัวอยู่แล้ว สามารถนำมาผสมเทียมที่ศูนย์ได้ พอมีลูกวัว ถ้าเป็นตัวผู้ก็เข้าสู่กระบวนการขุน ซึ่งทางศูนย์ก็จะสอนแนะนำให้ ส่วนตัวเมียก็อาจใช้เป็นแม่พันธุ์ต่อไป

วัวดำภูพาน
วัวดำภูพาน

“ภายหลังที่ได้ใช้น้ำเชื้อภูพานผสมเข้ากับแม่วัวพันธุ์ดีก็จะเป็นการสร้างมูลค่าราคาของวัวเพิ่มขึ้น เพราะจากวัวที่มีอายุ 8 เดือน ขายได้เพียงหมื่นบาท เมื่อเป็นวัวเนื้อภูพานแล้ว จะได้ราคาสูงถึง 30,000 บาท จากเพียงแค่ใช้น้ำเชื้อภูพานเท่านั้นราคาต่างกันทันที

ในตอนนี้วัวเนื้อดำภูพานมีกระแสมาแรงมาก เพราะวัวตัวผู้เมื่อเข้าสู่กระบวนการขุนแล้วสามารถสร้างเนื้อให้มีคุณภาพไขมันแทรกในระดับคะแนน 4.5-5 ที่ถือว่าสูงมาก อีกทั้งเป็นความนิยมต่อผู้บริโภคมาก โดยลูกค้าไม่สนใจว่าราคาเท่าไร ขอให้มีคุณภาพเท่านั้น”

 

หมูดำภูพาน เลี้ยงได้ทั่วประเทศ

มาที่ หมูดำ กันบ้าง นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ กล่าวว่า พันธุ์เดิมต้นทางคือ หมูพันธุ์เหมยซาน ที่ทางประเทศจีนได้น้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในราวปี 2527-2528 ลักษณะและคุณสมบัติเด่นของหมูพันธุ์นี้คือ มีขนาดใหญ่ กับมีลูกดก แต่มีไขมันมาก

ดังนั้น ทางศูนย์จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ โดยใช้พันธุ์พื้นเมืองของเกษตรกรกับพันทางยุโรปผสมเข้าไปด้วยกัน จึงได้ออกมาเป็นหมูดำภูพาน ซึ่งมีลักษณะสีดำ ให้ลูกดก ดั่งเช่นพันธุ์เดิม มีใบหน้าคล้ายหมูพื้นเมือง มีเนื้อสีแดงเหมือนหมูดูร็อกเจอร์ซี่ แล้วที่สำคัญสามารถเลี้ยงได้ง่าย ทนต่อสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติทั่วไป

ลูกหมูดำภูพาน
ลูกหมูดำภูพาน

ปัจจุบัน หมูดำภูพาน ได้รับความนิยมเลี้ยงไม่เพียงพื้นที่ทางภาคอีสาน แต่ยังมีการนำไปเลี้ยงในพื้นที่สูงทางภาคเหนือหรือแม้กระทั่งทางภาคใต้อย่างในสวนยางพาราก็พบว่าสามารถเลี้ยงได้ แถมยังมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ตัวใหญ่ เนื่องจากกินลูกยางและหญ้าเป็นอาหาร

“เพราะฉะนั้น หมูดำ เลยตอบโจทย์ชาวบ้านได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นสัตว์ที่สามารถเลี้ยงง่าย ไม่ว่าจะเลี้ยงในคอก เลี้ยงปล่อย เลี้ยงเป็นหมูหลุม ได้ทุกรูปแบบ”

ในขณะที่กระแสการบริโภคเนื้อหมูแบบไฮโซฯ มีความนิยมรับประทานเนื้อหมูคุโรบุตะกันมาก มีการแนะนำให้ทางศูนย์หาพันธุ์มาเลี้ยงเพื่อเพาะขยาย แต่เมื่อมาพิจารณาจากความหมายของ คำว่า คุโรบุตะแล้ว พบว่า ก็คือ หมูดำนั่นเอง ดังนั้น เพียงแค่นำหมูดำภูพานที่เลี้ยงอยู่มาปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการเลี้ยงเพื่อให้มีคุณภาพเนื้อเช่นเดียวกับหมูคุโรบุตะของญี่ปุ่น ปรากฏว่าออกมาได้ใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้หมูดำภูพานมีชื่อต่อท้ายว่า หมูดำภูพานคุโรบุตะ เป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดระดับบนได้เหมือนกัน

 

ข่าวดี!! ดำที่ 4 กำลังทำสำเร็จ

เนื่องจากศูนย์ได้รับมอบ กระต่าย เพื่อนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม แล้วใช้เป็นแม่เหล็กสำหรับดึงดูดผู้เข้ามาเยี่ยมชม ทั้งนี้ทางทีมงานมองว่าน่าจะเปลี่ยนจากความน่ารักให้เป็นความแปลกที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันพบว่ามีชาวบ้านลักลอบยิงกระต่ายป่าเพื่อนำมาขายในตลาด แล้วเกรงว่าถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตประชากรกระต่ายป่าอาจไม่เหลือ ด้วยเหตุนี้จึงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการหันมาพัฒนาสายพันธุ์กระต่ายเพื่อใช้เป็นการบริโภค ภายใต้หลักคิดเดิมคือ ต้องมีสีดำ แล้วประสบความสำเร็จเป็น “กระต่ายดำภูพาน”

กระต่ายดำภูพาน เกิดจากการพัฒนา ปรับปรุงสายพันธุ์ของกระต่ายป่ากับกระต่ายบ้าน รวมถึงกระต่ายเนื้อจากต่างประเทศ ซึ่งแม้จะอยู่ระหว่างโครงการ แต่ขณะนี้ได้ต้นแบบกระต่ายดำภูพานเรียบร้อยแล้ว

กระต่ายดำภูพาน ผลงานล่าสุด
กระต่ายดำภูพาน ผลงานล่าสุด

อย่างไรก็ตาม นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ บอกว่า จุดประสงค์ของกระต่ายดำภูพานเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ดังนั้น จะสลัดคราบของกระต่ายเลี้ยงสวยงามออกไป เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เพียงมีหญ้าและน้ำเป็นอาหารก็อยู่ได้ สามารถขยายพันธุ์ออกลูกหลานได้ง่าย ปีละ 6 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว

ดังนั้น จะได้ลูกปีละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว ขายได้ราคาตัวละ 200-300 บาท จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งสัตว์ดำที่จะตอบโจทย์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีพระราชดำรัสไว้เป็นหลักคิดว่า “เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินง่าย แล้วใช้เทคโนโลยีแบบง่ายๆ”

“ผลงานทุกชนิดที่พวกเราคิดแล้วทำสำเร็จ ล้วนเป็นความภูมิใจอย่างสูง เป็นความสุขอย่างหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองและวงศ์ตระกูลที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้พระองค์ท่าน สิ่งเหล่านี้กำหนดออกมาเป็นมูลค่าไม่ได้ แต่เป็นความสุขที่สุดที่ได้เป็นข้ารองบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9” นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ กล่าวด้วยความภูมิใจ

สนใจต้องการเข้าเยี่ยมชมศึกษาและดูงานกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โทร. (042) 712-975 โทรสาร (042) 712-945