มทร. อีสาน วข. สกลนคร ทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นล้นพ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ขึ้น เมื่อ 32 ปีที่ผ่านมา

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เปรียบเสมือนศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรทุกด้านให้กับประชาชนนำไปพัฒนาอาชีพในพื้นที่ทำกินของตนเอง ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจังหวัดสกลนครก่อตั้งสถานศึกษาอันเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะพาประเทศชาติก้าวไปสู่ความมั่นคงในอนาคต ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของประชาชนในจังหวัดสกลนคร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ประกาศจัดตั้งมหาวิทยาลัยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 และมีคณะที่เปิดสอนเพียง 2 คณะ ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี

แม้ว่าจะมีเพียง 2 คณะ ก็ตาม แต่การจัดการศึกษาภายในคณะไม่ได้น้อยตามไปด้วย งานชิ้นหนึ่งที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของคณะทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นงานด้านเกษตรที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้อย่างดี คือ โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมี อาจารย์วีรยุทธ สีหานู ทำหน้าที่เป็นทั้งนักวิจัยและผู้ดูแลโครงการ

อาจารย์วีรยุทธ สีหานู
อาจารย์วีรยุทธ สีหานู

“ผมเรียนจบมาทางด้านปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นว่า การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวจะช่วยเกื้อหนุนให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเป้าหมายหลักของโครงการคือ การเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เนื่องจากพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยส่วนมากเป็นพื้นที่ลุ่ม”

แม้ว่าโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง จะเป็นการเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเป็นหลักก็ตาม แต่อาจารย์วีรยุทธ ก็ยังคงให้ความสนใจ และเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่ไว้ในโครงการด้วย

โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง ก่อตั้งประมาณ 3 ปี เก็บรวบรวมสายพันธุ์ข้าวได้ทั้งสิ้น 283 สายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ที่สามารถคัดแยกสายพันธุ์ได้จริง เพียง 200 สายพันธุ์เศษ ด้วยการคัดแยกดีเอ็นเอ และลักษณะทางสัณฐานวิทยา

Advertisement

12

อาจารย์วีรยุทธ ให้ความสำคัญในการเก็บสายพันธุ์ข้าวมาก โดยระบุว่า เมื่อเรามีสายพันธุ์ข้าวจำนวนมาก จะทำให้มีฐานพันธุกรรมข้าวมาก สามารถคัดพันธุกรรมข้าวที่ดีนำมาพัฒนาสายพันธุ์ โอกาสได้ข้าวสายพันธุ์ที่ดี ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนไปในปัจจุบันและอนาคตก็มีมากขึ้น

Advertisement

“ตอนนี้มีผสมและคัดโดยตัวของมันเองบ้าง เพราะบางพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงตัวของมันเองตามสภาพแวดล้อม เช่น ข้าวพื้นเมืองจากภาคเหนือที่มีหางข้าวยื่นออกมายาวๆ เมื่อนำมาปลูกในภาคอีสาน หางข้าวจะสั้นลง จึงต้องเข้าใจว่า ข้าวมีพันธุกรรมในตัวเองส่วนหนึ่ง และสิ่งที่แสดงออกมาอีกส่วนหนึ่ง เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเป็นตัวทำให้เปลี่ยน เช่น ข้าวลืมผัว หากปลูกในสภาพข้าวไร่หรือนาที่ไม่มีน้ำขัง จะแตกกอปกติ ที่ 10-15 ต้น แต่เมื่อนำมาทดลองปลูกที่นาทั่วไป จะแตกกอสูงสุดเพียง 2 ต้น เท่านั้น”

11

9

การเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากอาจารย์วีรยุทธไม่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ

“เริ่มแรกๆ ผมขี่รถเก็บตามพื้นที่ ถามชาวบ้าน แวะไปตามกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าว เราเองก็ต้องหาพันธุ์ข้าวไปแลกเปลี่ยนกับเขา ไม่อย่างนั้นจะเอาพันธุ์ข้าวเขามาเฉยๆ คงไม่ได้”

งานหลักของโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง กล่าวโดยสรุป คือ

  1. อนุรักษ์พันธุกรรมข้าว
  2. พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์
  3. สนับสนุนและบริการทางวิชาการ

เมื่อสกลนคร เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อของงานพัฒนาปศุสัตว์ 3 ดำ แห่งภูพาน อันได้แก่ สุกรภูพาน ไก่ดำภูพาน และโคเนื้อภูพาน อาจารย์วีรยุทธ จึงมองการณ์ไกลคิดพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวดำ ให้เป็นข้าว GI (Geographical Indication) หรือ ข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้เป็นข้าวพันธุ์สกลนคร GI ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ และคาดว่าในอนาคตจะต้องมีข้าวพันธุ์สกลนคร GI อย่างแน่นอน

อาจารย์วีรยุทธ ยอมรับว่า การริเริ่มโครงการแม้จะดำเนินมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี แต่ก็ถือว่าเริ่มต้นช้า เพราะปัจจุบันข้าวพื้นเมืองเริ่มหายากทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองในแถบภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะแท้จริงแล้ว ข้าวพื้นเมืองมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณข้าวทั้งหมดของประเทศ และข้าว จำนวน 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 6 ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกกันมารุ่นต่อรุ่นพบน้อยมาก

อาจารย์วีรยุทธ วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าวพื้นเมืองลดน้อยไปมากขนาดนี้ เพราะเกษตรกรไม่ได้ปลูกเชิงบริโภค แต่ปลูกเชิงพาณิชย์ หากพันธุ์ไหนทำราคาได้ดีก็จะเลือกปลูกพันธุ์นั้น และถูกกำหนดด้วยราคาตลาด

8

ข้าวเจ้าดำพื้นเมือง
ข้าวเจ้าดำพื้นเมือง
วิธีการปลูก กระถางละสายพันธุ์
วิธีการปลูก กระถางละสายพันธุ์

7

“เมล็ดข้าวเมล็ดใหญ่ๆ เขาไม่ชอบ ต้องการเมล็ดเรียวๆ เพราะเมล็ดใหญ่เข้าโรงสีไม่ได้ โรงสีไม่ยอมปรับเพื่อมาสีข้าวเมล็ดใหญ่ ถ้าเกษตรกรปลูกก็ขายไม่ได้ เกษตรกรจึงเลือกที่จะอยู่รอด ทั้งที่จริงแล้ว หากเกษตรกรรู้จักตลาดทางเลือกเกษตรกรก็จะอยู่ได้ เพราะชุมชนมีโรงสีอยู่แล้ว การสีข้าวเพื่อตลาดทางเลือกก็ไม่น่าจะมีปัญหา”

ปัจจุบัน โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองกับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือ สภาวะแล้ง ดังนั้น อาจารย์วีรยุทธ จึงคัดสายพันธุ์ข้าวที่ออกดอกเร็ว เหมาะสำหรับปลูกพื้นที่ดอน และเป็นข้าวนา เพื่อให้เป็นข้าวที่เหมาะสำหรับปลูกพื้นที่ดอน หรือพื้นที่ที่มีน้ำน้อย อาศัยเฉพาะน้ำฝนตามธรรมชาติ แม้จะเป็นข้าวนา เมื่อออกดอกเร็วก็ให้ผลผลิตเร็วและเก็บเกี่ยวได้เร็ว สามารถทำนาปรังได้โดยเกษตรกรไม่เสียต้นทุนหรือเสียเวลาในการหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร

การผสมพันธุ์ข้าว
การผสมพันธุ์ข้าว

เมื่อถามว่า สิ่งที่โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองดำเนินการอยู่ เกษตรกรหรือชาวบ้าน ได้ประโยชน์อะไร อาจารย์วีรยุทธ กล่าวว่า กลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์คือ กลุ่มข้าวฮางภายในจังหวัดสกลนคร เพราะเป็นกลุ่มตลาดทางเลือกที่มีความเข้มแข็ง แต่มีสินค้าเพียง 3 ชนิด คือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพันธุ์ กข 6 และข้าวดอกมะลิ 105 เท่านั้น หากโครงการพัฒนาปรับปรุงได้สายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะกับพื้นที่ เช่นเดียวกับข้าว GI ก็จะนำข้าวนั้นมาแปรรูปในลักษณะเดียวกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างให้กับกลุ่ม สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร

5
แปลงพันธุกรรมข้าว

10

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เห็นความสำคัญในการจัดทำโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองดังกล่าว จึงแบ่งพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง ไว้สำหรับให้โครงการทำแปลงปลูกทดลอง แปลงสาธิต เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ข้อมูลให้กับเกษตรกรที่ต้องการ ซึ่งที่ผ่านมา เปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อาจารย์วีรยุทธ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองนี้ จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวต่อไป เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณลักษณะเหมาะแก่สภาพแวดล้อมที่กำลังผันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะข้าวที่มีความทนต่อสภาวะแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม และโรค อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง จะไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ก็ยินดีเปิดให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาเยี่ยมชม และพร้อมเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกรเสมอ

สอบถามเพิ่มเติม หรือให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้ที่ อาจารย์วีรยุทธ สีหานู โครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมือง คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร โทรศัพท์ (098) 584-0621