“ชานนท์ฟาร์ม” ที่เพชรบูรณ์ เลี้ยงปลาลดต้นทุนแนวออร์แกนิก แปรรูปสร้างมูลค่า

“ปลา” เป็นอาหารประเภทเนื้อที่ดูจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากที่สุด แม้คุณสมบัติของเนื้อปลาจะเอื้อประโยชน์ต่อสุขภาพก็ตาม แต่ผู้บริโภคบางรายหรืออาจจะเริ่มเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้นที่แสวงหาแหล่งผลิตปลาที่มีคุณภาพด้วยอีกทาง

คุณชานนท์ คะชานันท์ กับคุณพ่อ

“ชานนท์ฟาร์ม” ตั้งอยู่ เลขที่ 29 หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยสะแก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นอีกแห่งที่ผลิตปลาคุณภาพออกขาย ที่ว่าคุณภาพเพราะฟาร์มปลาแห่งนี้เน้นเลี้ยงปลาตามแนวทางธรรมชาติหลายชนิดมาเนิ่นนานจวบจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตอาหารเองจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ การบริหารจัดการบ่อปลาอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้ปลาที่มีคุณภาพ สมบูรณ์ แล้วไม่เคยประสบปัญหาปลาติดโรคจนตาย อีกทั้งแนวทางนี้ยังช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาได้มาก

ขณะเดียวกันยังเพิ่มมูลค่าปลาด้วยการนำมาแปรรูปอีกหลายชนิด สร้างความสนใจต่อตลาดผู้บริโภค โดยมี คุณชานนท์ คะชานันท์ หรือ คุณโบ้ ทายาทที่ตั้งใจร่ำเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ประมง เพื่อหวังเข้ามาสานอาชีพเลี้ยงปลาต่อจากพ่อที่เลี้ยงปลาขายมานานกว่า 20 ปี มีปลาที่เลี้ยง อาทิ ปลานิล ปลาตะเพียน และปลายี่สก ฯลฯ เป็นการเลี้ยงตามแบบวิถีชาวบ้าน ด้วยการให้อาหารจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว โดยคุณโบ้มีเป้าหมายว่าจะต่อยอดอาชีพเลี้ยงปลาให้ครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยง เพาะพันธุ์ การจัดจำหน่าย และการแปรรูป

หญ้าหวาน

คุณโบ้ นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาพัฒนาคุณภาพปลา ปรับและหาแนวทางผลิตอาหารปลาที่มีคุณภาพจากวัตถุดิบตามธรรมชาติเพื่อให้เกิดคุณค่าทางโภชนาการสูง แล้วต้องลดต้นทุนโดยไม่พึ่งอาหารเม็ด รวมถึงยังวางแผนบุกตลาดเอง พร้อมกับการคิดค้นวิธีและประเภทสินค้าแปรรูปที่มาจากปลาให้ตรงตามความต้องการของตลาด 

เลี้ยงปลารวมในบ่อเดียว หวังให้อยู่แบบเกื้อกูล

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลามี จำนวน 3 บ่อ แต่ละบ่อมีพื้นที่ จำนวน 5 ไร่ จะเลี้ยงปลาทุกชนิดรวมในบ่อเดียวกัน เพราะต้องการให้ปลาแต่ละชนิดอยู่แบบเกื้อกูลกัน โดยอาศัยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยการเรียนรู้ธรรมชาติของปลาแต่ละอย่างก่อนที่จะปล่อยลงบ่อ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้อาหารปลาไม่มีเหลือตกค้างสร้างปัญหาการเน่าเสีย

ข้าวโพด

อีกทั้งยังช่วยบำบัดน้ำให้มีความสะอาดกว่าเดิม ส่งผลให้ปลาทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง มีขนาดใหญ่ เพราะไม่แย่งอาหาร พร้อมจับขายได้ในราคารับซื้อที่สูง ที่สำคัญสามารถช่วยลดต้นทุนได้จำนวนมาก ทั้งนี้ การเลี้ยงปลาเพียงชนิดเดียวในแต่ละบ่อจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แล้วทำให้ปลาขาดคุณภาพ เนื่องจากอาหารปลาที่เหลือในบ่อจะก่อให้เกิดน้ำเน่าเสีย อันส่งผลต่อสุขภาพปลาได้ง่าย

สำหรับอัตราการปล่อยปลาลงในแต่ละบ่อ ต้องกำหนดสัดส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดขายปลาสดและแปรรูปดังนี้ ปลานิล ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ปลายี่สก ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปลาตะเพียนหรือปลาสลิด จะแบ่งปล่อย ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ตามความเหมาะสม

จัดระบบวางแผนการเลี้ยง ลดต้นทุน สร้างคุณภาพปลา

คุณโบ้ บอกว่า การเลี้ยงปลาแต่ละรุ่นต้องมีการวางแผนแต่ละขั้นตอนให้รอบคอบ ทั้งนี้ภายหลังวิดปลาหมดแล้ว จะต้องตากบ่อทิ้งไว้ ประมาณ 7 วัน แล้วจึงหว่านปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วทิ้งไว้สัก 4 วัน จากนั้นจึงปล่อยน้ำเข้าบ่อสัก 40 เปอร์เซ็นต์ก่อน เพื่อสร้างแพลงตอนในน้ำ พร้อมกับการสร้างอาหารทางธรรมชาติอย่างไรแดงด้วยการใช้ฟางหมักผสมกับมูลสัตว์เพื่อให้มีการสร้างอาหารตามธรรมชาติ ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน หรือจนกระทั่งเห็นว่าน้ำมีสีเขียวจึงทยอยปล่อยปลาแต่ละชนิดลงบ่อตามช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาแนวทางนี้จะช่วยให้ปลามีอัตราการเติบโตเร็วและแข็งแรงกว่าเดิม แถมยังช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากด้วย

“ระหว่างนั้นลูกพันธุ์ปลาที่ซื้อมาจะนำไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลไว้ก่อน โดยใช้อาหารที่มีโปรตีนสูง ให้เลี้ยงลูกปลามีขนาดประมาณนิ้วโป้ง หรือขนาดปลาไซซ์นิ้ว แล้วเป็นจังหวะเดียวกับความพร้อมของบ่อที่เตรียมไว้ จึงนำลูกปลาไปปล่อยลงบ่อใหญ่ได้พอดี และลูกปลาที่จะปล่อยเลี้ยงในรอบต่อไปจะคำนวณจำนวนที่จะปล่อยก่อนวิดปลาแต่ละรอบขาย ทั้งนี้ ภายหลังใช้เวลาในกระบวนการเตรียมบ่อก็จะครบอายุลูกปลาที่กำหนดจะปล่อยลงในบ่อใหญ่ได้พอดี”

ลูกปลาที่ถูกปล่อยในบ่อใหญ่จะให้อาหารที่ผลิตเองที่มาจากข้าวโพดต้ม นำมาบดละเอียดกับหญ้าหวานผสมปลาป่นเพื่อเพิ่มโปรตีน ทั้งนี้ในแต่ละครั้งที่ผลิตอาหารปลาจะได้คุณค่าครบถ้วนตามหลักวิชาการ โดยมีอัตราส่วน หญ้าหวาน 5 กิโลกรัม ข้าวโพด 2 กิโลกรัม และปลาป่น 2 กิโลกรัม (ใช้ปลาก้นบ่อที่วิดแต่ละครั้ง) โดยอาหารปลาที่ผลิตเองจะช่วยลดต้นทุนการซื้ออาหารเม็ดได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญกว่านั้นคือ ได้ปลาที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค

อาหารลูกปลา ให้วันละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องตักอาหารใส่ในกระชังเล็กในปริมาณไม่มาก เพราะไม่ต้องการให้กินมาก แต่จะให้บ่อย เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้อาหารเหลือเกินความจำเป็น จนเมื่อปลามีอายุ 3 เดือน ซึ่งจะมีขนาดประมาณ 3 นิ้ว หรือ 10-11 ตัว ต่อกิโลกรัม จะปรับสูตรอาหารโดยไม่จำเป็นต้องบดให้ละเอียด ขณะเดียวกันจะเปลี่ยนอัตราส่วนของอาหารด้วยการลดจำนวนปลาป่นแล้วเพิ่มจำนวนหญ้าหวานกับข้าวโพด

จากนั้นเมื่อปลามีอายุได้ 5 เดือน หรือ 6-7 ตัว ต่อกิโลกรัม ก็จะต้องปรับสูตรอาหารอีกเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเพิ่มกากถั่วเหลืองเข้ามาถือเป็นการเพิ่มไขมันในตัวปลาเพื่อเพิ่มน้ำหนัก แล้วให้ใช้สูตรอาหารนี้ไปจนจับปลาขายในเดือนที่ 8-9 หรือขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด โดยในช่วงนั้นปลาจะมีน้ำหนัก 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ หากเลี้ยงต่อไปถึงเดือนที่ 9 ปลาจะมีน้ำหนัก ตัวละ 1 กิโลกรัม

คุณโบ้ บอกว่า ตั้งแต่คุณพ่อเลี้ยงปลาขายยังไม่เคยพบว่า ปลาเป็นโรคตายเลย เพราะคุณพ่อนำวิธีการป้องกันปลาไม่ให้เป็นโรคแบบดั้งเดิมด้วยการใช้จุลินทรีย์ที่ผลิตเองจากสับปะรดสาดลงไปในบ่อปลา เพื่อช่วยไม่ให้น้ำเน่าเสียและลดต้นทุน หรืออาจใช้ ปม.1 ของทางประมงร่วมด้วยในบางคราว ซึ่งในปัจจุบันยังใช้วิธีนี้อยู่ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด จึงนับว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

การจับปลาขายแต่ละช่วง ทางเจ้าของบ่อจะต้องไปตรวจสอบขนาดน้ำหนักปลาที่ตลาดต้องการก่อน เพื่อจะได้นำมาประเมินราคาขายที่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติขนาดปลาที่ตลาดต้องการคือ ไม่เกิน 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ราคาขายปลาแต่ละครั้งไม่เท่ากัน เกิดจากหลายปัจจัยที่มีผลต่อกลไกราคาปลา แต่โดยเฉลี่ยถ้าเป็นปลานิล ขนาด 5 ตัว ต่อกิโลกรัม หรือขนาดที่ทอดขาย ราคากิโลกรัมละ 33 บาท หรือขนาด 2-3 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 36-38 บาท ส่วนขนาดใหญ่ ราคา 42 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับปลายี่สก ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ปลาตะเพียนตัวใหญ่ ราคากิโลกรัมละ 40 บาท

ไม่หวังราคาขายปลาสดอย่างเดียว
เพิ่มช่องการแปรรูปสร้างมูลค่า

ปลากระดี่แดดเดียว

คุณโบ้ ชี้ว่าตลาดขายปลามักมีการผันผวนของราคาซื้อ-ขาย ทั้งนี้ เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการของลูกค้าในพื้นที่หรือปริมาณปลาที่ล้นหรือขาดตลาด รวมถึงการต่อรองแล้วการสร้างเงื่อนไขของพ่อค้าด้วย ดังนั้น การจะรอขายปลาสดเพียงอย่างเดียวคงเป็นการเสี่ยง จึงมีแนวคิดที่จะแปรรูปปลาเพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วไม่ต้องง้อตลาดปลาสดเพียงอย่างเดียว เพราะสินค้าแปรรูปจากปลาที่เลี้ยงแบบอินทรีย์จะมีมูลค่าในตัวเอง แล้วยังเป็นที่ต้องการของตลาดสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบแล่เป็นเนื้อปลาสดล้วนในถุงสุญญากาศที่สะอาด ปลอดภัย โดยผู้บริโภคสามารถนำไปปรุงอาหารได้ทันที ช่วยทำให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเมนูต้มยำ ทำแกงหรือผัดปลา หรือแม้แต่สเต๊กปลา โดยมีขนาดบรรจุแพ็กละ 2 ขีด ราคา 60 บาท ทั้งนี้ คุณโบ้ บอกว่า ราคาขายอาจจะดูว่าสูงเมื่อเทียบกับปลาเป็นตัว แต่การแปรรูปมีต้นทุนหลายอย่าง ที่สำคัญช่วยให้คุณสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลากับการทำปลาก่อนปรุงอาหาร

หรือแม้แต่ปลาเกลือหรือปลาตากแห้งแดดเดียวโดยใช้ปลานิล มีจำหน่ายขนาด 4-5 ตัว ต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นแพ็กขาย 2 ขีด 50 บาท แล้วยังมีปลาส้มที่ผลิตจากปลายี่สกและปลาตะเพียน ปลาสลิดแดดเดียว ปลากระดี่แดดเดียว โดยในอนาคตมีแผนว่าจะผลิตปลาหวาน เพราะเก็บไว้ได้นาน

คุณโบ้ บอกว่า หากผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปได้รับการตอบรับอย่างดี ก็จะค่อยๆ พัฒนาปรับปรุงสถานที่ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว พร้อมไปกับชักชวนเครือญาติที่มีอาชีพเลี้ยงปลาอยู่แล้วในพื้นที่เดียวกันขยายกำลังการผลิตโดยหวังว่าจะสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงปลาแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถผลิตได้จำนวนมากตามความต้องการของตลาด

ผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาจากชานนท์ฟาร์มนำไปขายที่ตลาดสุขภาพในจังหวัดเพชรบูรณ์หลายแห่ง โดยเฉพาะที่ตลาดกรีนมาร์เก็ตซึ่งเป็นตลาดสุขภาพแห่งใหญ่ การนำสินค้าแปรรูปปลาที่เลี้ยงแบบอินทรีย์ถือว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งช่วยทำให้มีราคาขายสูงกว่าการนำไปขายตามตลาดทั่วไป ท่านที่สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปของ “ชานนท์ฟาร์ม” ได้ที่ คุณชานนท์ คะชานันท์ โทรศัพท์ (088) 428-7485

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2561