“ปลูกอ้อยข้ามแล้ง” แบบผู้เชี่ยวชาญ ใช้ระบบน้ำหยด อ้อยเจริญเติบโตดีมีคุณภาพ ได้ผลผลิตและความหวานสูง

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานวันอาหารโลก ปี 2559 (World Food Day 2016) ภายใต้ธีม “Climate is changing : food and agriculture must too” พร้อมทั้งได้พระราชทานประกาศนียบัตรและเงินรางวัลแก่เกษตรกร ซึ่งในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือก คุณดิลก ภิญโญศรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 สาขาอาชีพทำไร่ จากจังหวัดชัยภูมิ เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรและเงินรางวัล

คุณดิลก ภิญโญศรี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 สาขาอาชีพทำไร่ ปัจจุบัน อายุ 38 ปี เป็นเกษตรกรจากอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่รุ่นบิดา โดยเมื่อ ปี 2532 บิดาเริ่มทำอาชีพปลูกอ้อย ในพื้นที่เช่า จำนวน 10 ไร่ ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในการทำไร่อ้อย ต่อมามีการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยเป็นของตนเองเพิ่มขึ้น และเปิดโควต้ากับโรงงานน้ำตาลมิตรผล ซึ่งในปี 2545 สามารถส่งอ้อยให้กับโรงงานได้ถึง 20,000 ตัน

รางวัลที่ได้รับ
รางวัลที่ได้รับ

จากการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว บิดาจึงตัดสินใจซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 100 คน ต่อวัน ด้วยเหตุนี้เองทำให้นายดิลกเห็นว่าจะต้องช่วยบริหารจัดการไร่อ้อยของครอบครัว ที่มีการขยายกิจการมากขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเรียนรู้และบริหารจัดการกิจการของครอบครัวอย่างจริงจัง และได้มีโอกาสศึกษาดูงานการผลิตอ้อยทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาไร่อ้อยของตนเองให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเน้นการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดสภาวะโลกร้อน โดยการลดการเผาใบอ้อยก่อนการตัด ซึ่งมีการใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคน นำพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำเข้าบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ อีกทั้งยังขยายผลสู่ชุมชน ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 900 ไร่ เป็นพื้นที่ของตนเอง 250 ไร่ พื้นที่เช่า จำนวน 650 ไร่

แปลงปลูกอ้อย
แปลงปลูกอ้อย

แนวคิดการทำไร่อ้อยให้มีคุณภาพที่ดีและมีความยั่งยืน โดยใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทำงานเพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน หายากและราคาสูง, นำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต, รักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่เสมอ และน้ำคือปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของอ้อยที่สุด

เทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในการผลิต

  1. ไถสับกลบเศษซากใบ ในการเตรียมดินสำหรับปลูกอ้อยจะใช้การสับคลุกอ้อยลงในดิน โดยไม่ต้องเผาใบ ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
  2. ไถระเบิดดินดาน เพื่อทำลายชั้นดิน โดยไถลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ทำให้รากอ้อยสามารถลงไปหาอาหารและน้ำได้ลึกขึ้น อ้อยเจริญเติบโตได้ดี และทนแล้ง
  3. ใช้เครื่องพรวนดินแนวตั้งตีดินให้ละเอียด ทำให้ปลูกอ้อยได้ง่ายขึ้น ดินกลบอ้อยได้ดี ไม่มีการบดอัดดิน
  4. ใช้เครื่องปรับดินในการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน ช่วยให้น้ำไม่ขังในแปลงเมื่อมีฝนตก และเตรียมแปลงรองรับรถตัดอ้อย
  5. ปรับระบบการปลูกอ้อยต้นฝนมาเป็นการปลูกอ้อยข้ามแล้ง (ปลายเดือนตุลาคมถึงมกราคม) ซึ่งการปลูกอ้อยข้ามแล้งจะได้อ้อยที่มีคุณภาพดีกว่าและเหมาะสมต่อการตัดส่งโรงงานและสามารถใช้เครื่องจักรกลเข้าไปกำจัดวัชพืชได้สะดวก เพราะไม่มีฝนตก
  6. ปรับระยะร่องปลูกอ้อยให้กว้างขึ้นจากเดิม 1-1.5 เมตร เป็น 1.85 เมตร ทำให้สามารถนำเครื่องจักรขนาดเล็กไปบริหารจัดการในไร่อ้อยได้ ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดี เพราะได้รับแสงแดดและอาหารเต็มที่ ระยะร่องที่กว้างขึ้นช่วยประหยัดท่อนพันธุ์และประหยัดการทำงานของเครื่องจักร
  7. ใช้ระบบน้ำหยดในการผลิตอ้อย, นำพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการสูบน้ำเข้าบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมัน และประหยัดแรงงานในการดูแล

    ระบบน้ำ
    ระบบน้ำ
  8. พื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย จะมีการพักดินเพื่อตัดวงจรโรคพืชและแมลง แล้วปลูกถั่วเหลืองเพื่อปรับปรุงดิน
  9. ใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคน ช่วยแก้ปัญหาการเผาอ้อยก่อนตัด เน้นการรักษาคุณภาพการสูญเสียน้ำหนักอ้อยและคุณภาพความหวาน
  10. พื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำต้องอาศัยน้ำฝน จะขุดสระเพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับการปลูกอ้อยข้ามแล้ง, นำระบบ GPS มาใช้จับพิกัดในการขนส่งอ้อยของตนและเกษตรกรรายอื่นๆ ในการขนส่งเข้าโรงงานน้ำตาล จากการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตจากเฉลี่ยไร่ละ 12 ตัน เป็นเฉลี่ยไร่ละ 20 ตัน อ้อยตอเฉลี่ยไร่ละ 18 ตัน ลดต้นทุนการผลิตจากไร่ละ 10,300 บาท เหลือไร่ละ 7,552 บาท สามารถไว้ตออ้อยได้ถึง 8 ตอ (8 รุ่น1)

 

เครื่องจักรทุ่นแรงได้ดี
เครื่องจักรทุ่นแรงได้ดี

ผลงานและความสำเร็จ

มีการวางแผนการผลิต โดยการปลูกอ้อยจากเดิมมาเป็นปลูกอ้อยข้ามแล้งและใช้ระบบน้ำหยด ช่วยให้อ้อยมีการเจริญเติบโตที่ดีมีคุณภาพ ได้ผลผลิตและความหวานสูง, ตัดอ้อยด้วยรถตัดขนาดใหญ่ สามารถตัดอ้อยสดได้รวดเร็ว ส่งโรงงานได้ทันเวลา ได้ใบอ้อยคลุมดินหลังจากตัดเก็บความชื้นในดินได้ดี อ้อยตองอกดีสม่ำเสมอ อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย แรงงานมีค่าแรงสูง และเพื่อเป็นการลดการเผาใบอ้อยก่อนการตัดซึ่งเป็นการช่วยลดมลพิษและช่วยลดสภาวะโลกร้อน มีการเตรียมแปลงรองรับรถตัดอ้อย โดยปรับพื้นที่ให้มีความเรียบมากที่สุด ทำให้ตัดอ้อยได้สะดวกมากขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดน้ำมัน ประหยัดต้นทุน

ได้พลังงานจากแสงอาทิตย์
ได้พลังงานจากแสงอาทิตย์

มีการนำโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้การสูบน้ำแทนเครื่องปั่นไฟ ได้น้ำประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง เพียงพอต่อการให้น้ำอ้อย ลดน้ำมันในการสูบน้ำวันละ 200 บาท ลดคนงานลง คนงาน 1 คน สามารถดูแลการให้น้ำได้หลายจุดพร้อมกัน ขยายร่องปลูกจากเดิม 1.15 เมตร มาเป็น 1.85 เมตร ทำให้ประหยัดท่อนพันธุ์จากเดิม 1.5 ตัน ต่อไร่ มาเป็น 1.2 ตัน ต่อไร่ และสามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปทำงานได้สะดวกมากขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ทำให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดี เพราะได้รับแสงแดดและอาหารเต็มที่ นำรถแทรกเตอร์ขนาดเล็กเข้ามาทำงานในแปลงอ้อย โดยติดตั้งอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ได้แก่ เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องฉีดพ่นสารเคมี จอบหมุนและคราดสปริง ลดการใช้สารเคมี ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานใส่ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชและสามารถปลูกอ้อยไว้ตอได้ถึง 8 ตอ (8 รุ่น)

ดูแลรักษาอ้อยอย่างดี
ดูแลรักษาอ้อยอย่างดี
เก็บเกี่ยวผลผลิต
เก็บเกี่ยวผลผลิต

นอกจากนี้ แปลงปลูกอ้อย ยังเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่องการใช้เครื่องจักรกลในไร่อ้อยให้กับเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งคุณดิลกเองยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้เรื่องการผลิตอ้อยคุณภาพให้กับเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ มากมาย มีการเตรียมแปลงรองรับรถตัดอ้อยที่ดีและมีการขยายผลไปยังกลุ่มชาวไร่และลูกไร่รายอื่นๆ นำระบบ GPS มาใช้ในการช่วยควบคุมการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานให้กับชาวไร่อ้อย นำความรู้ที่ได้ศึกษาดูงานจากต่างประเทศมาปรับใช้กับการผลิตอ้อยของตนเอง และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนและคนอื่นๆ ที่มาศึกษา นำโซลาร์เซลล์มาทดลองใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำเข้าบ่อ โดยให้เป็นที่ศึกษาดูงานของชาวไร่ทั่วไป มีชาวไร่ทำมาแล้ว 17 ชุด และจะขยายผลในปีต่อไปอีก 40 ชุด

คุณดิลก กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผมและครอบครัว ที่นอกจากได้รับพระราชทานโล่รางวัลในฐานะเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำไร่ ประจำปี 2559 จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงแล้ว ยังได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรและเงินรางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานวันอาหารโลก ปี 2559 (World Food Day 2016) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ณ สำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ อีกด้วย