นรินทร์ วัฒนะอนุรักษ์ เพาะ-จำหน่าย “เห็ดโคนญี่ปุ่น”

หากคุณยังพอจำผลไม้เหล่านี้ได้ดีเช่น ชมพู่พันธุ์ทับทิมบ้านแพ้ว ขนุนพันธุ์จำปาบ้านแพ้ว ละมุดพันธุ์เมฮิโก หรือที่โด่งดังและคุ้นกับคอผลไม้มากที่สุดตั้งแต่ในห้างยันรถเร่จนถึงปัจจุบันคือฝรั่งเวียดนาม

คิดว่าหลายคนคงยังไม่ลืม…

ความมีรสชาติอร่อยและแปลกของผลไม้เช่นว่านี้ได้มาจากพรสวรรค์ และความสามารถของบุคคลท่านหนึ่งที่ชื่อคุณนรินทร์ วัฒนะอนุรักษ์ ที่ว่ามีพรสวรรค์นั้นคงมิได้กล่าวอ้างเกินความเป็นจริงแต่ประการใดเพราะท่านถือเป็นหนึ่งในเซียนนักพัฒนาไม้ผลเพียงไม่กี่คนที่สร้างความฮือฮาในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ผลจากประเทศเพื่อนบ้านหลายชนิดจนประสบความสำเร็จ สร้างความเอร็ดอร่อยให้กับคนไทย และที่ดูจะทำมากคือผลไม้จากประเทศอินโดนีเซีย เหตุเพราะท่านได้ไปปักหลักอยู่นานถึง 32 ปี เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาด้านการปลูกไม้ผลให้กับบริษัทเอกชนที่นั่นและปัจจุบันยังคงทำอยู่หลายแห่ง

นักพัฒนาผลไม้ท่านนี้ยังเปิดเผยว่าพอได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองการาวัง มานานแสนงานจึงหาอาชีพที่ถนัดทำหลังเกษียณ โดยทำเป็นแหล่งขยายพันธุ์ไม้ผลที่มีชื่อหลายประเภทบนเนื้อที่ 10 ไร่ อันได้แก่มะม่วง ฝรั่ง และ ลำไย เป็นต้น

ครั้นพอเวลาผ่านไป ผลไม้ของท่านกลับกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนอินโดนีเซียไปโดยปริยาย เพราะมีรสชาติแสนอร่อยกว่าผลไม้เจ้าของประเทศเสียด้วยซ้ำ จนทำให้พ่อค้าที่มารับจะต้องติดต่อสั่งจองล่วงหน้าเพื่อประกันความผิดหวัง เคล็ดลับของการผลิตผลไม้ที่เอร็ดอร่อยเช่นนี้คุณนรินทร์บอกว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย เพียงแต่ใช้หลักการปลูกแบบไทยที่ให้น้ำกับปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

คุณนรินทร์ เป็นชาวตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันท่านอายุ 72 ปี ที่อำเภอบ้านแพ้วท่านก็มีสวนที่ปลูกผลไม้ไว้หลายชนิด บนเนื้อที่ 7 ไร่แล้วตั้งชื่อสวนตัวเองว่า “สวนนรินทร์พันธุ์ไม้ ตั้งอยู่เลขที่ 41 หมู่ 2 ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร แต่ที่ปลูกมากและเป็นหลักคือมะพร้าวน้ำหอมมีอยู่พันกว่าต้น นอกนั้นมีมะเฟือง ขนุน ละมุด แล้วท่านยังมีพันธุ์ทุเรียนแขกอินโดฯ จำหน่ายมาได้ราวปีเศษ

หรือไม่นานนี้ท่านได้พัฒนาพันธุ์มะม่วงเวียดนามที่มีชื่อว่าก๊ากฮัวล็อคได้สำเร็จขณะนี้มีผลผลิตบ้างแล้ว แต่ยังไม่มาก มีอยู่ประมาณ 50 ต้น

คุณลุงบอกว่ารสชาติต้องรับประทานช่วงสุกจึงอร่อย เนื้อไม่มีเสี้ยน ใช้ช้อนตักทานได้สบาย ถือเป็นมะม่วงชั้นหนึ่งของเวียดนาม ขนาดใหญ่กว่ามะม่วงอกร่องเล็กน้อย ลักษณะผลทรงป้อมไม่ยาวเหมือนฟ้าลั่น

ล่าสุดได้นำกิ่งมะม่วงจากประเทศอินโดนีเซียมาเสียบยอด มะม่วงชนิดนี้มีชื่อแปลเป็นไทยว่า “น้ำผึ้งในวัง” ซึ่งพันธุ์นี้ถือว่าแปลกและน่าสนใจตรงที่ เมื่อออกลูกจะเป็นพวงจำนวน 20 กว่าผล มีผลขนาดกลาง ถือเป็นพันธุ์ที่มีลูกดกและออกผลทั้งปี

นอกจากความเป็นสวนที่มีพันธุ์ไม้ผลทั้งไทยและเทศ อีกด้านที่ติดกันกับสวนแลเห็นป้ายจำหน่ายเห็ดสดและก้อนเห็ดโคนญี่ปุ่นติดไว้ด้านหน้า ถามไป-มาได้ความว่าเป็นงานเล็กๆของลูกชายสองคน แต่เท่าที่ดูจากภายนอกแล้วมีโรงเรือนจำนวน 3-4 หลัง โรงทำก้อนเห็ดขนาดใหญ่ งานนี้คงไม่เล็กตามที่คุณลุงนรินทร์กล่าว

ได้พูดคุยกับทายาทของคุณลุงนรินทร์สองท่าน ที่เป็นพี่น้องอายุห่างกันเพียงปีเดียว เกี่ยวกับธุรกิจการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นคือ คุณพนมกร วัฒนะอนุรักษ์ ผู้เป็นพี่ชาย โทรศัพท์ 081-1992209 เรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง อายุ 41 ปี และคุณวิวัฒน์  วัฒนะอนุรักษ์ น้องชาย โทรศัพท์ 081-4456588 จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อายุ 40 ปี ทั้งคู่พักอยู่ที่บ้านเลขที่ 41 ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นผืนเดียวกับบ้านคุณลุงนรินทร์

สำรวจตลาด ราคาไม่ตก

ต้นทุนคงที่ หมดปัญหาแรงงาน

คุณพนมกร บอกว่า ทำเห็ดโคนญี่ปุ่นมาประมาณ 2 ปี ก่อนหน้านี้เขาและน้องชายทำงานที่เดียวกันงานที่ทำเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หนังของค่ายหนังชื่อดัง ทำมาประมาณ 5 ปี

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจในครั้งนี้คุณวิวัฒน์เผยว่าได้สำรวจตลาดไว้ก่อนล่วงหน้า รวมไปถึงศึกษาเรื่องราคาที่ผ่านมาเห็นว่ามีราคาดีและราคาไม่ตก ไม่แกว่ง พอมาดูเรื่องผลิตก็ไม่มีความสลับซับซ้อน วัตถุดิบเครื่องมือหรือแรงงานก็สามารถหาได้ง่าย

“ที่สนใจทำเห็ดโดยเฉพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นเพราะเป็นเห็ดที่มีราคาขายที่น่าสนใจ เพราะเป็นราคายืนแน่นอนไม่แกว่งที่ 120 บาท แบบไม่ตัดแต่ง คือเก็บหน้าฟาร์มให้ลูกค้าใส่เป็นถุงๆละหนึ่งกิโลกรัม แต่หากมีการตัดแต่งให้ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 140 บาท จะเห็นว่าราคาของเห็ดชนิดนี้โดนใจคนทำมาก และเป็นราคาที่ดีกว่าเห็ดชนิดอื่นที่มีราคาแกว่งไปมาไม่แน่นอน และอายุการเก็บสั้น อีกเหตุผลที่ลงมือทำแล้วน่าสนใจคือใช้แรงงานน้อย ไม่พึ่งพาสารเคมี รวมไปถึงกระแสการบริโภคเห็ดมาแรง คนใส่ใจเรื่องสุขภาพ ดังนั้นจึงปรึกษากับพี่ชายแล้วเริ่มลุยกันเลย”

ตั้งใจทำแค่เห็ดก้อน

ภายหลังอบรม ตัดสินใจทำครบวงจร

ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ได้ไปเรียนการเพาะเห็ดมาจากอาจารย์ชัยชาญ ที่นครชัยศรี ซึ่งท่านผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดโคนญี่ปุ่น 1 ใน 9 ของเซียนเห็ด และมีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 20 ปี

“ครั้งแรกตั้งใจว่าจะซื้อแค่ก้อนเชื้อมาอย่างเดียว แต่ภายหลังที่มีการศึกษาอย่างละเอียดในเชิงลึกรวมถึงไปอบรมมาด้วย จึงพบว่าเป็นอะไรที่ไม่ยุ่งยากส่วนหนึ่งเป็นความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่ดั้งเดิม จึงตัดสินใจทำทั้งระบบทุกกระบวนการจนถึงการขายดอกเห็ดเลยดีกว่า แล้วจากนั้นจึงค่อยๆ ลงทุนทำให้เป็นระบบ”

ตอนแรกที่ทำมีเพียงกองขี้เลื่อยอย่างเดียว ความที่เป็นมือใหม่อ่อนประสบการณ์จึงไม่รู้ว่าควรจะพักขี้เลื่อยไว้ก่อนสัก 20 วัน

วัตถุดิบที่ใช้เป็นขี้เลื่อยยางพารา ภูไมท์ ปูนขาว ดีเกลือ กากน้ำตาล เป็นต้น สำหรับขี้เลื่อยสั่งโดยตรงมาจากที่ยะลา ส่วนอุปกรณ์ตัวอื่นสามารถหาได้ไม่ยากในตลาดขายอุปกรณ์เห็ด

คุณวิวัฒน์ บอกว่าในอนาคตหากธุรกิจมีความก้าวหน้าไปอีกระดับ คงมีการสั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าที่เป็นสมาชิกทั้งเก่าและใหม่

ยิ่งผลิต ลูกค้ายิ่งเพิ่ม

เน้นผลิตตามจำนวนสั่งซื้อเท่านั้น

คุณพนมกรเผยว่า ขณะนี้กำลังการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นเต็มที่ตกวันละ 3 พันก้อน และเคยผลิตได้แบบจัดหนักถึงวันละ 5 พันก้อนในช่วงฤดูฝนต่อหนาว เนื่องจากเกี่ยวกับอากาศ เพราะถ้าเป็นช่วงร้อนจะเสี่ยงต่อการเสียหายสูง

ยอดที่ลูกค้าสั่งซื้อหากเป็นเห็ดก้อนมีครั้งละไม่ต่ำกว่า 5 พันก้อน และเคยมียอดสั่งสูงสุดเป็นหลายหมื่น กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ละแวกแถวนี้ ส่วนที่ไกลก็มีเช่นที่เพชรบุรีหรือที่หัวหิน

เอาใจใส่เรื่องอุณหภูมิ

อย่าละเลย มิฉะนั้นจะเสียหาย

ปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นตัวแปรต่อการผลิตเห็ดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องอุณหภูมิและความชื้น คุณคุณพนมกร กล่าวว่ามีการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิเพื่อเป็นการตรวจวัดให้เหมาะสมกับสภาพอยู่ตลอดเวลา เขาอธิบายว่าถ้ามีความชื้นน้อยจะต้องปล่อยน้ำช่วยด้วยระบบสปริงเกอร์ หากวันใดมีฝนตกมากและเผอิญอยู่ช่วงเปิดดอกก็จะต้องงดน้ำทันที

“ก่อนที่จะเปิดดอกเพื่อให้ลูกค้า ทางเราจะจัดการเขี่ยหน้าออกก่อน จากนั้นมีการให้น้ำทั้งเช้า-เย็น แล้วจะใช้ระบบสปริงเกอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิเป็นเวลา 4 วัน ระหว่างนั้นต้องคอยหมั่นดูอุณหภูมิภายนอกด้วยว่ามีสภาพเป็นอย่างไร หากมีฝนมาก มีความชื้นสูงจะหยุดให้น้ำ จากนั้นไม่เกิน 10 วัน ที่ก้อนจะออกลักษณะเป็นฝ้าขาวรอบๆ”

คุณวิวัฒน์แนะว่า สำหรับผู้ที่เริ่มทำใหม่ควรซื้อก้อนไปทดลองเปิดดูก่อนสัก 5 พันก้อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดสอบความพร้อมของตัวเองว่าหากทำจริงจะไหวหรือไม่ แล้วจะสู้ต่อไปหรือไม่ แล้วยังบอกต่ออีกว่าความจริงการทำเห็ดสมัยใหม่มีเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยให้สะดวกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากพอมีทุนรอนก็อาจใช้เทคโนโลยีช่วยเพื่อเป็นการลดการใช้แรงงานให้น้อยที่สุด เขาบอกว่าธุรกิจแบบนี้อาจทำขนาดไม่ต้องใหญ่มากก็ได้ ขณะเดียวกันอาจทำงานอย่างอื่นที่หารายได้ควบคู่ไปด้วย

จำหน่ายทั้งแบบก้อนและดอกเห็ด

เห็ดโคนญี่ปุ่นมีจำหน่ายทั้งแบบเป็นก้อนและดอกเห็ด การผลิตแบบเป็นก้อนจะขายดีกว่าแบบเป็นดอก ราคาจำหน่ายดอกเห็ดหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 120 บาท และหากขายปลีกคิดกิโลกรัมละ 180 บาทส่วนรายได้ที่ขายดอกจะมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน ด้านราคาจำหน่ายก้อนเห็ดกำหนดราคาก้อนละ 8-9บาท เห็ดหูหนูก้อนละ 7 บาท เห็ดนางฟ้าก้อนละ 6 บาท

การขยับตัวของราคาเห็ดโคนญี่ปุ่นนั้นคุณพนมกรเผยว่าเป็นราคาที่มีการกำหนดไว้ทั้งปี ส่วนมากเป็นราคาคงที่ นอกจากเกิดเหตุการณ์สำคัญบางอย่างขึ้นเท่านั้น การคงที่ของราคาเห็ดโคนญี่ปุ่นถือเป็นข้อดีในการควบคุมต้นทุน ซึ่งต่างกับเห็ดชนิดอื่นที่ราคาแกว่งไป-มา จนทำให้ยากแก่การควบคุมค่าใช้จ่าย

การจำหน่ายเห็ดโคนญี่ปุ่นถือเป็นตัวหลักของรายได้ ส่วนเห็ดชนิดอื่นอาจเป็นตัวเสริมเข้ามาในบางจังหวะเท่านั้น

พื้นที่จะไม่ใหญ่

แต่โรงเรือนได้ตามมาตรฐาน

สำหรับโรงเรือนที่ทำมีสองแบบ ตอนแรกที่เริ่มทำจะเป็นโรงเรือนแบที่เรียกว่าตัวเอ แล้วต่อมาพบว่าโรงเรือนแบบตัวเอ.นี้เก็บก้อนเห็ดลำบาก ถ้าหากเก็บไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา จึงปรับแก้ไขโรงเอนรุ่นใหม่ให้เป็นแบบแนวตั้งหรือแบบคอนโด

ขนาดโรงเรือนตามแบบมาตรฐานนั้นคุณพนมกรบอกว่าอยู่ที่ 5คูณ 8 เมตร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ในปัจจุบันมีขนาดเล็ก และต้องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่เลยมีการปรับขนาดโรงเรือนให้มีความเหมาะสมเหลือประมาณ 4.5 คูณ 8 เมตร

เล็กหรือใหญ่ อยู่ที่การเอาใจใส่

สร้างรายได้ดี ไม่นานคืนทุน

ถ้าถามถึงการลงทุนคุณพนมกรบอกว่าเรื่องนี้อยู่ที่ตัวเรา เพราะสามารถทำได้ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ซึ่งขนาดเล็กจะทำให้อยู่บนระบบที่ได้มาตรฐาน เพียงแต่กำลังการผลิตอาจต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม ทำได้ทั้งผู้มีทุนน้อยและทุนมาก

“หากคุณซื้อจากหน้าฟาร์มไปสัก 8 บาท ใช้เวลา 5 เดือนก็ได้ทุนคืนแล้ว จากนั้นเป็นเรื่องของกำไร ทั้งหมดฟังดูง่าย แต่ความจริงเจ้าของต้องเอาใจใส่ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย มิเช่นนั้นคงไม่เกิดรายได้อย่างที่บอกไปแน่”

พ่อค้าที่มารับซื้อเห็ดทุกวันคือคำตอบที่บอกถึงคุณภาพเห็ด คุณวิวัฒน์กล่าวว่าถ้าสินค้าไม่ดีจริง พ่อค้าคนเดิมคงไม่กลับมาหาเราอีก ดังนั้นการการันตีของคนมารับซื้อคือเครื่องยืนยันถึงคุณภาพของเห็ดที่ทำอยู่ และทุกวันนี้มีแต่คนรับซื้อโทรศัพท์มาทวงสินค้าตลอด

ถือแม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 ปี แต่ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นที่พี่น้องคู่นี้ต้องเรียนรู้ ศึกษาปรับปรุงแก้ไข ให้มีความเหมาะสมและดีตามหลักวิธีที่ถูกต้อง แต่ทุกวันนี้เขาทั้งสองทำไปทีละขั้นตอนก่อน แต่ว่าทุกขั้นตอนที่ดำเนินไปจะอยู่บนรากฐานของความถูกต้องตามหลักวิชาการ

เล็งอนาคต

ส่งขายต่างประเทศ

“คิดว่าอีกไม่นานคงจะเริ่มปรับหลายอย่างได้ตามมาตรฐาน เพราะต้องรองรับกับอัตราการขยายตัวของยอดการสั่งซื้อ ปัจจุบันมีโรงเปิดดอกอยู่จำนวน 4 หลังและมีโครงการจะขยายเพิ่มอีก เพราะขณะนี้มีลูกค้าที่สั่งยอดเข้ามามาก ผลิตไม่ทัน”

ส่วนแผนอนาคตทั้งคู่มีการวางไว้ว่าอาจจะส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชา และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมองว่าอาจจะไปปักหลักทำเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายที่อินโดนีเซียเพราะที่นั่นมีวัตถุดิบที่ใช้เหมือนในบ้านเราทุกอย่าง ส่วนตลาดเห็ดที่อินโดนีเซียมีเพียงเห็ดบางประเทศที่สั่งนำเข้า ดังนั้นเมื่อมองดูช่องทางแล้วน่าจะเจาะตลาดได้ไม่ยาก

ถึงแม้ทั้งสองคนพี่น้องจะเป็นลูกชาวสวนผลไม้ และมีทำเลที่เอื้อในการทำเกี่ยวกับเกษตรกรรม ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในเชิงต้นทุน แต่การนำประสบการณ์จากที่เคยทำงานแบบต้องผจญกับความเสี่ยงหลายอย่างในอดีตจะเป็นครูสอนชั้นเชิงกลยุทธ์ให้คอยระมัดระวัง และเพิ่มความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

สำหรับท่านที่สนใจต้องการสั่งซื้อก้อนเห็ดหรือเห็ดสด สด จากฟาร์มสองพี่น้องตระกูลวัฒนะอนุรักษ์ เชิญโทรศัพท์ติดต่อได้ตามหมายเลขด้านบน แล้วพี่น้องคู่นี้ยังบอกอีกว่าถ้าหากสนใจเรื่องการเพาะเห็ดเป็นอาชีพ ยินดีให้คำแนะนำเต็มที่เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ อนึ่งหากมีท่านใดสนใจกิ่งพันธุ์ไม้ผลของคุณนรินทร์สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขเดียวกัน