ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | กฤตวรรณ ทิพย์ไชย |
เผยแพร่ |
จากประสบการณ์ของเกษตรกร ผู้ได้รับการยอมรับด้านการเกษตร ผู้ผลิตผลไม้ “ลองกอง” ที่มีชื่อเสียงในแถบพื้นที่ภาคตะวันออก อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี กับเทคนิคการกำจัด “ราดำ” บนผิวผลของผลไม้ ประเภท “ลองกอง” ให้หมดไป
“ราดำ” ตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกผลของลองกองไม่สวย ไม่น่ารับประทาน และไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกลองกองท่านนี้ คิดหาหนทางที่จะไม่ใช้สารเคมีที่ก่อผลกระทบต่อผู้บริโภค และประหยัดต้นทุนในการกำจัด “ราดำ” บนผลลองกองโดยปลอดสารเคมี
คุณธีรเชษฐ์ บำรุงรักษ์ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลฉมัน ผู้ถือได้ว่ามีประสบการณ์และมีเทคนิคในการดูแลพืชผลทางการเกษตรให้เป็นผลไม้ที่ปลอดภัย อีกทั้งเพื่อประหยัดต้นทุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอีกทางหนึ่ง
ด้วยประสบการณ์ด้านการเกษตร มากว่า 20 ปี ครูธีรเชษฐ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูแดง” อดีตข้าราชการครู ที่ผันตัวเองมาทำสวนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ขณะนี้ชาวสวนผลไม้ตระหนักดีถึงการผลิตผลไม้ปลอดภัยหรือที่เรียกกันว่า “ผลไม้อินทรีย์” ที่ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญกับผู้บริโภค ที่จะได้รับประทานผลไม้ที่ปลอดภัย ห่างไกลจากสารพิษ เนื่องจากในอดีตพี่น้องชาวสวนเรามุ่งเน้นการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ประกอบในการทำการเกษตรกันอย่างมาก แต่เมื่อกระแสของการใส่ใจสุขภาพเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น ชาวสวนเราก็ต้องตระหนักถึงผลที่จะกระทบกับผู้บริโภคให้มากขึ้นเช่นกัน
หากจะพูดถึงการทำสวนผลไม้ “ลองกอง” กับการใช้สารเคมีแล้วนั้น ต้องบอกว่า สิ่งสำคัญที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การใช้สารเคมี ฆ่าแมลง “ราดำ” ที่มักจะมาเกาะที่ผิวของผลลองกอง ทำให้ผิวลองกองมีสีดำคล้ำ ไม่สวย ไม่ได้ราคา ที่สำคัญเมื่อผู้บริโภคเห็นจะไม่เลือกซื้อ ทำให้ชาวสวน ต้องทำการกำจัด “ราดำ” ให้มีน้อยที่สุดหรือให้หมดไปจากผิวผลของลองกอง โดยต้องเริ่มกำจัดตั้งแต่ระยะที่ลองกองเริ่มเป็นลูกอ่อน จนกระทั่งแก่เต็มที่
เชื้อราดำนี้จะเข้ามาเกาะทั่วผิวของผลลองกอง ตั้งแต่ลองกองเริ่มเป็นลูกอ่อนกระทั่งระยะที่ผลแก่จัดถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวสวนต้องใช้สารเคมีในการกำจัดไม่น้อยกว่า 3-4 ครั้ง ต่อช่วงฤดูกาลออกผล ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จะกำจัด “ราดำ” จะสะสมในผิวของผลลองกอง และอาจซึมสู่เนื้อ กลายเป็นสารพิษตกค้างกระทบต่อผู้บริโภคไม่น้อยเช่นกัน ที่สำคัญเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซื้อยากำจัด “ราดำ” ให้หมดสิ้นไป
แต่ครูแดง เกษตรกรผู้คิดค้น วิธีการกำจัด “ราดำ” บนผิวลองกอง ที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมี เริ่มจากการสังเกตว่า “ราดำ” ที่มาเกาะผิวลองกองนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร
“ราดำมาเกาะผิวลองกองเพราะต้องการมาหากินน้ำหวาน หรือมาเพราะความหอมหวานที่ก่อเกิดขึ้น เมื่อลองกองเริ่มเป็นผลอ่อนและจะเข้ามาเกาะกินน้ำหวานที่ผิวลองกอง มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลลองกองเริ่มโตเต็มที่ จนกระทั่งถึงระยะที่ผลแก่จัด ถือได้ว่า “ราดำ” เข้ามาตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นลูกอ่อนขนาดเท่าหัวไม้ขีด และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อผลลองกองเริ่มมีเนื้อ มีน้ำหวานออกจากผล
ดังนั้นจึงมีการทดลองนำน้ำมาฉีดที่ผลลองกองในระยะที่ “ราดำ” เริ่มเกาะตั้งแต่ในระยะแรก ผลปรากฏว่า “ราดำ” หลุดออกจากเปลือกผลลองกอง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความคิดที่จะใช้แรงของน้ำ ช่วยในการชะล้างเจ้า “ราดำ” ที่ทำลายความสวยงามของผิวลองกองให้สิ้นไปโดยไม่พึ่งพาสารเคมี
ครูแดง จึงเริ่มกระบวนการคิดประดิษฐ์เครื่องมือ โดยต่อระบบน้ำด้วยท่อพีวีซีไว้บริเวณกลางลำต้น โดยใช้ความสูงของท่อ เกือบเท่ากับความสูงของต้นลองกอง หรือสูงเกือบถึงปลายต้น ในการกะระยะต้องให้สูงกว่าช่อดอก ช่อผล ที่อยู่สูงที่สุดของต้นลองกองในต้นนั้นๆ แล้วเริ่มใช้วิธีการให้น้ำในระบบนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการติดลูกอ่อนจนกระทั่งเก็บผลผลิตได้
วิธีนี้ทดลองแล้วได้ผลจริง แรงดันของน้ำที่ออกตามหัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์ จะกระทบผิวผลของลองกองในแต่ละช่อพวงและจะชะล้าง “ราดำ” ตัวร้ายให้หลุดไปอย่างน่ามหัศจรรย์ อีกทั้งถือได้ว่าเป็นให้น้ำแก่ต้นไม้ด้วยอีกทาง
ครูแดง กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ที่สำคัญต้องประเมินจำนวนการติดตั้งหัวน้ำเหวี่ยงสปริงเกลอร์ ว่าจะต้องใช้กี่หัวเหวี่ยงต่อ 1 ต้น โดยต้องคำนึงถึงขนาดทรงพุ่มของต้นลองกอง เพื่อให้การกระจายของน้ำไปโดยรอบทิศทางที่มีการออกลูกผลของลองกอง หากต้นลองกอง ขนาดเล็ก – ปานกลาง ควรติด 1-2 หัวเหวี่ยงสปิงเกลอร์ แต่หากต้นลองกองใหญ่ อาจต้องติดถึง 3 หัวเหวี่ยงสปิงเกลอร์ เพียงเท่านี้เกษตรกรก็จะประหยัดต้นทุน ไม่ทำลายธรรมชาติ ปลอดสารเคมี ผลผลิตลองกอง ของท่านก็จะปลอดภัยด้วย “อินทรีย์ ออแกนิค (Organic Organic)” อย่างแน่นอน
วัสดุอุปกรณ์
1.ท่อPVC ขนาด 6 หุน ความยาวเท่ากับเศษ 3 ส่วน 4 ของความสูงของต้นลองกอง
2.ข้องอ ขนาด 90 องศา
3.ต่อตรง
4.ข้อต่อแยก 3 หัว
5.หัวเหวี่ยงสปริงเกลอร์ 3 อัน