จังหวัดปราจีนบุรี-ปศุสัตว์-อภัยภูเบศร จับมือทำโครงการผลิตไข่สมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกพืชสมุนไพรสำคัญหลายชนิด เกิดการตื่นตัวนำสมุนไพรที่ได้รับการรับรองแล้วมาแปรรูปเป็นยาขายกันแพร่หลาย จนได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองสมุนไพร โดยมีบ้านดงบัง เป็นชุมชนหมู่บ้านที่เป็นศูนย์รวมแหล่งปลูกสมุนไพรและแปรรูปแห่งใหญ่เพื่อป้อนให้กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ลาดตะเคียน

ขณะเดียวกัน พืชสมุนไพรเหล่านั้นยังเป็นอาหารชั้นเยี่ยมของเป็ด/ไก่ ที่ชาวบ้านเลี้ยง แล้วพบว่ามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดเลย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้มีโอกาสบริโภคเป็ด/ไก่ และไข่ที่ปลอดภัย มีส่วนช่วยให้พวกเขามีสุขภาพแข็งแรง

จึงทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้เกิดแนวคิดที่จะใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบของอาหารไก่ เพราะตั้งข้อสังเกตว่าผลผลิตไข่น่าจะเป็นไข่สมุนไพรด้วย แล้วหากเป็นเช่นนั้นจริงจะช่วยเพิ่มมูลค่าพร้อมสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในโอกาสต่อไป

จนในที่สุดเกิดเป็นที่มาของงานวิจัย ภายใต้ “โครงการพัฒนาและสนับสนุนวัตถุดิบสมุนไพรและสิ่งอำนวยความสะดวก” โดยเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ อาทิ ทางจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรบ้านดงบัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก และศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออก เพื่อร่วมทำงานในครั้งนี้

คุณวรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี

คุณวรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี หนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ กล่าวว่า ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมีหน้าที่ให้คำแนะนำส่งเสริมและช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพที่มั่นคง ตามแนวทางที่ถูกต้อง ช่วยลดต้นทุนทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยได้รับงบพัฒนาจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ว่าจะเป็นโรงเรือน รั้ว อุปกรณ์เทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ โดยชาวบ้านกลุ่มนี้ใช้วิธีเลี้ยงไก่ตามวิถีทางธรรมชาติดั้งเดิม เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ให้อาหารธรรมชาติอย่างหยวกกล้วยกับอาหารเม็ดที่ไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ

“อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไข่ที่นำมาบริโภคคงยังฟันธงไม่ได้ว่าเป็นอินทรีย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง แต่อาจเรียกได้เพียงว่าเป็นไข่ปลอดภัย เพราะเป็ด/ไก่ ได้กินสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่นำมาทดสอบอย่างสมอภิเภก กำแพงเจ็ดชั้น หรือไพล”

ทั้งนี้ กรรมวิธีระหว่างหาข้อมูลจะต้องมีการแบ่งกลุ่มไก่/เป็ด แล้วแบ่งให้กินสมุนไพรชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลผลผลิตไข่ที่ได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างดำเนินโครงการแล้วยังไม่สามารถสรุปชัดเจนได้

คุณชัชชาย เต็งหงษ์เจริญ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ และสารสนเทศการปศุสัตว์

ดังนั้น ผลผลิตไข่ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินโครงการถูกนำไปขายเพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ โดยกำหนดราคาขายให้สูงกว่าไข่ทั่วไป กับไข่อีกส่วนหนึ่งส่งให้ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนำไปใช้ปรุงเป็นเมนูอาหารแก่ผู้ป่วย

นอกจากนั้น ในระหว่างดำเนินโครงการได้กำหนดกลุ่มให้ทำเป็นตัวอย่างนำร่องจำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งเดิมชาวบ้านทั้งสองแห่งเลี้ยงไก่แบบธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ได้นำโครงการเข้าไปปรับให้ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยชาวบ้านกลุ่มนี้จะนำร่องเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่กลุ่มอื่นในช่วงเวลาต่อไป

“ทางปศุสัตว์มีเป้าหมายและจุดประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าไข่เป็ดและไข่ไก่ ตลอดจนเป็นการพัฒนาสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรอันเป็นพืชเศรษฐกิจของปราจีนบุรี รวมทั้งยังต้องการให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ อีกทั้งต้องการหาแนวทางการเลี้ยงไก่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” คุณวรากร กล่าว

ลุงยุทธไข่ไก่สมุนไพร ผลิตไข่คุณภาพ

คุณชัชชาย เต็งหงษ์เจริญ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ และสารสนเทศการปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดการผลิตไข่สมุนไพร เกิดขึ้นเนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรที่สำคัญแห่งใหญ่ของประเทศ จึงมีการรวมตัวกันของชาวบ้านจัดตั้งเป็นกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังที่มีอายุเก่าแก่ยาวนาน

ขณะเดียวกัน สมาชิกในกลุ่มยังมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองอยู่เป็นจำนวนมาก เลี้ยงแบบธรรมชาติด้วยการปล่อยให้ไก่กินพืชสมุนไพรที่ปลูกอย่าง ฟ้าทลายโจร จึงทำให้ไก่ที่เลี้ยงในกลุ่มนี้มีความสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรค และที่ผ่านมาจึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับไก่กลุ่มนี้

ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าจากไข่โดยใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบของอาหารไก่ผลิตเป็นไข่สมุนไพรเพื่อจำหน่าย แล้วเสนอเพื่อให้ทางจังหวัดพิจารณา โดยเรื่องดังกล่าวไปสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ที่ทางจังหวัดกำหนดไว้แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงระดมความคิดจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นแผนแล้วกำหนดชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาและสนับสนุนวัตถุดิบสมุนไพรและสิ่งอำนวยความสะดวก” แบ่งงานและความรับผิดชอบออกเป็นประเภทกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปศุสัตว์ กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรบ้านดงบัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก และศูนย์ชันสูตรโรคสัตว์ภาคตะวันออก เพื่อร่วมทำงานวิจัยในครั้งนี้

กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว

โครงการนี้เริ่มด้วยการคัดเลือกเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร 2 กลุ่ม คือที่บ้านดงบัง และกลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์เขาไม้แก้วกบินทร์บุรีก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มชาวบ้านเกษตรอินทรีย์ที่เลี้ยงไก่วิถีดั้งเดิมในรูปแบบอิสระอยู่แล้ว จากนั้นจัดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 อำเภอ มาอบรมให้ความรู้ตลอดจนทำความเข้าใจโครงการให้ชัดเจน อีกทั้งต้องการปูพื้นฐานความรู้ให้คนเหล่านี้เพื่อเตรียมต่อยอดจัดทำโครงการต่อเนื่องในปีถัดไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ จำนวน 4 ปี

ต่อจากนั้นให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีกที่กบินทร์บุรีเพาะพันธุ์ลูกไก่ เพื่อมอบให้แก่กลุ่มที่ถูกเลือกขึ้นมาจำนวน 20 ราย นำไปเลี้ยง รายละ 50 ตัว แล้วให้ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ สระแก้ว ทำหน้าที่ผสมอาหารจากสมุนไพรที่กำหนดไว้ในเบื้องต้น จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ไพล สมอพิเภก และกำแพงเจ็ดชั้น

“สมุนไพรดังกล่าวจะมีสรรพคุณเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ โดยใช้ร่วมกับอาหารสำเร็จที่ไม่ผสมยาปฏิชีวนะ แล้วกำหนดอัตราการผสมสมุนไพรที่ใช้ครั้งแรกไว้ จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับอาหารสำเร็จ ตัวอย่าง ถ้าใช้อาหาร จำนวน 100 กิโลกรัม จะใส่สมุนไพร จำนวน 30 กิโลกรัม โดยเป็นการเลือกใส่สมุนไพรแต่ละชนิดในจำนวนเท่าๆ กัน เพื่อเก็บข้อมูลแล้วให้จัดเก็บข้อมูลในเรื่องน้ำหนัก การผลิตไข่ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ ภายหลังจากที่ไก่กินอาหารดังกล่าวแล้ว”

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลดงบัง

นอกจากนั้น ยังต้องเก็บข้อมูลทางกายภาพที่มาจากเลือดไก่ ซากไก่ที่ผ่าพิสูจน์ หรือจากสีของกล้ามเนื้อ อวัยวะต่างๆ ภายใน ตลอดจนยังเก็บตัวเลขผลผลิตไข่ด้วยการดูจากสีผิว ไข่ขาว-แดง เปลือก และขนาดหลังจากที่ไก่กินสมุนไพรแล้ว ภายหลังเมื่อทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว จึงนำมาประมวลผลหาข้อสรุป โดยไก่ที่เริ่มในโครงการนี้กำหนดไว้เมื่ออายุ 16 สัปดาห์

หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ฯ เผยว่า ในช่วงปีแรกของโครงการนี้ได้ผลผลิตไข่พอสมควร จึงทดลองนำบางส่วนออกจำหน่ายตามงานต่างๆ หรือแม้แต่ตามตลาดสด ในราคาฟองละ 5-6 บาท เพื่อต้องการดูกระแสตอบรับ จนพบว่า ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้รักสุขภาพ

“แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ คงทำได้เพียงรวบรวมข้อมูลและแนวทางดำเนินการของกิจกรรมในช่วงปีแรกมาจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทราบ ขณะเดียวกัน ยังต้องประเมินผลเพื่อเตรียมวางแผนดำเนินโครงการนี้ในปีต่อไป”

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด พร้อมกับกลุ่มชาวบ้านในโครงการผลิตไข่สมุนไพร

ทางด้านลักษณะของไข่สมุนไพร เนื้อไข่มีสีแดงสดใส ผิวเปลือกเนียนเรียบนวล แล้วยังได้กลิ่นจากสมุนไพรที่ชัดเจน แต่สำหรับทางด้านโภชนาการคงยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นเพียงปีแรกของโครงการ คงต้องรออีก 3 ปี ให้จบโครงการ

คุณชัชชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ทางปศุสัตว์จังหวัดได้มอบปัจจัยการผลิตเป็นโรงเรือนมาตรฐาน ที่ออกแบบเป็นช่องจำนวน 4 ช่อง แต่ละช่องให้มีไก่จำนวน 10 ตัว แล้วทดสอบหาข้อมูลการกินอาหารของไก่ในแต่ละช่อง โดยกำหนดว่าช่องแรกเป็นอาหารธรรมดา ส่วนอีก 3 ช่อง จะใส่สมุนไพรแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไพล สมอพิเภก กำแพงเจ็ดชั้น จากนั้นจึงเก็บข้อมูลเป็นระยะแล้วค่อยนำมาวิเคราะห์

“ตามแผนโครงการทั้งหมด 4 ปี แต่เพิ่งทำได้เพียงปีแรก ส่วนที่เหลือทางคณะกรรมการดูแลโครงการมองว่าผลสรุปจากการทำงานที่ผ่านมา 1 ปี มีสิ่งที่ต้องปรับปรุง มีสิ่งใดที่ต้องตัดออก มีสิ่งใดที่ต้องเพิ่มเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพต่อโครงการมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะต้องยึดโครงการเป็นเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ต่อสังคม และประเทศ” หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ฯ กล่าวในที่สุด

แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีผลวิจัยจากโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน ว่าไข่ที่เกิดจากการให้สมุนไพรเป็นอาหารไก่จะมีผลลัพธ์อย่างไร แต่การรับประทานสมุนไพรที่ผสมในไข่ถือเป็นคุณค่าจากโภชนาการที่ได้ประโยชน์ที่เกิดจากไข่และสมุนไพรไปพร้อมกัน เพราะไข่เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย การที่รับประทานสมุนไพรล้วนอาจยากลำบากต่อบางคนและบางวัย แต่ถ้าได้รับประทานสมุนไพรที่ผสมในไข่อาจเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภคได้อย่างดี

สอบถามรายละเอียดโครงการไข่สมุนไพรเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์ปราจีนบุรี โทรศัพท์ (037) 216-670 กด 2 หรือที่ คุณชัชชาย เต็งหงส์เจริญ โทรศัพท์ (081) 757-4115