เกษตรกรต้นแบบพริกอินทรีย์ ที่ม่วงสามสิบ

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 14,257 ไร่ มีรายงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2550 ได้ผลผลิตรวม 27,574 ตัน คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านบาท/ปี

แหล่งปลูกพริกที่ปลูกกันในจังหวัดอุบลราชธานี คือที่อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเมือง และอำเภอเขื่องใน  ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกพริก ได้แก่ ไส้เดือนฝอยรากปม โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส และโรคแอนแทรกโนส แมลงวันเจาะผลพริก เพลี้ยไฟ ไรขาว และต้นกล้าเหี่ยวยุบ เมื่อปี 2552 มีรายงานผลการตรวจสารพิษตกค้างในตัวอย่างพริกจากแหล่งผลิต GAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด เมื่อปี 2549-2552 จำนวน 1,863 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 830 ตัวอย่าง เกินค่าความปลอดภัย (MRLs) 365 ตัวอย่าง ปรากฏว่าพบมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี

สารพิษที่พบเกินค่าความปลอดภัยมากขึ้นทุกปี ได้แก่ สารไซเปอร์เมทริน โปรวิโนฟอส คลอไพรีฟอส เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีโดยขาดความระมัดระวัง ใช้ในกลุ่มที่มีพิษร้ายแรง และใช้ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ มีการเก็บเกี่ยวก่อนระยะปลอดภัยซึ่งเสี่ยงต่อการตกค้างของสารพิษในผลผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงและใส่โดยไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ธาตุอาหารสะสมในดิน ทำให้สภาพดินเสื่อม

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า ประเทศไทยเคยมีปัญหาการส่งออกพริกที่มีสารเคมีตกค้างในผลผลิต ในยุคการค้าเสรีทุกประเทศใช้คุณภาพของผลผลิตเป็นข้อกำหนดในการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ในปัจจุบันกระแสความต้องการอาหารจากระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตในตลาดโลกของอาหารเกษตรอินทรีย์โดยเฉลี่ย ร้อยละ 25 ต่อปี แต่เรายังขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตพริกอินทรีย์ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตพริกเพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ ทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี (สวพ. 4) จึงได้ทำการศึกษาโดยใช้แนวทางระบบการทำฟาร์ม และพัฒนาเทคโนโลยีแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี อธิบายว่า คำว่า พริกอินทรีย์ คือการผลิตพริกที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่นำมาปรับปรุงบำรุงดิน ต้องใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร คือ ใช้ปัจจัยการผลิตพริกอินทรีย์ทดแทนการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมี และเพื่อให้เกษตรกรปรับใช้เทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัยสามารถเชื่อมโยงกับตลาดพริกคุณภาพได้

โครงการผลิตพริกอินทรีย์เกษตรกรมีส่วนร่วม

โครงการผลิตพริกอินทรีย์ของ สวพ. 4 เป็นการทำงานร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบบูรณาการในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรปรับใช้เปรียบเทียบกับวิธีการดั้งเดิม โดยใช้แนวทางการวิจัยระบบการทำฟาร์มและการพัฒนาเทคโนโลยีแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม

คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายผลิตพริกอินทรีย์

เริ่มต้นโดยการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีการปลูกพริกฤดูแล้ง และประสบปัญหาในการผลิต และเกษตรกรมีความต้องการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตพริกจากใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีไปใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ เลือกพื้นที่ได้ที่บ้านเดือยไก่ ต.หนองเหล่า และ ต.หนองฮาง อ.ม่วงสามสิบ ซึ่งปลูกพริกทุกหมู่บ้าน  รวมพื้นที่แล้วประมาณ 800 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กก./ไร่ มีการใช้สารเคมีมากกว่าร้อยละ 80-90 ดินมีอินทรียวัตถุร้อยละ 0.43-1.23 มีค่า pH 4.73-5.43 มีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 292-507 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีปริมาณโพแตสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 52.71 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

เกษตรกรปลูกพริกโดยไม่มีการวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน ใส่ปูนขาวพร้อมกับปลูก ใช้ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก ปัญหาการปลูกพริกของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ใช้สารเคมีตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงระยะเก็บเกี่ยว และใช้โดยขาดความรู้และความระมัดระวัง มีการเก็บเกี่ยวก่อนระยะความปลอดภัย  ทำให้มีผลการตกค้างของสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนั้น การระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม ทำให้ผลผลิตลดลง 50-100 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินร่วนปนทรายจึงเหมาะสมต่อการระบาดของโรค

คัดเลือกเกษตรกรต้นแบบผลิตพริกอินทรีย์

หลังจากการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายแล้ว ต่อไปก็ค้นหาเกษตรกรต้นแบบผลิตพริกอินทรีย์ ต้องเป็นเกษตรกรที่ตั้งใจจะปลูกพริกอินทรีย์อย่างจริงจัง คือมีความตั้งใจจริงที่จะงดใช้สารเคมี

เริ่มต้นคัดเกษตรกรเข้าร่วมโครงการผลิตพริกอินทรีย์ได้ 5 ราย ที่ อ.ม่วงสามสิบ โครงการเริ่มในปี 2551 สิ้นสุดโครงการในปี 2552 เมื่อสิ้นสุดโครงการและเข้าสู่ระบบการตรวจรับรอง เราได้เกษตรกรต้นแบบการผลิตพริกอินทรีย์ คือ คุณวิเชียร ชีช้าง ที่บ้านก่อฮาง ต.หนองฮาง อ.ม่วงสามสิบ เป็นเกษตรกรต้นแบบ และได้รับการรับรองระบบการผลิตพืชอินทรีย์ ตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ปี 2553

ความสำคัญของแนวกันชน

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คุณวิเชียร มีความตั้งใจที่จะปลูกพริกอินทรีย์โดยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ปลูกพริกของนายวิเชียรห่างไกลจากแปลงพริกของเกษตรกรรายอื่น  การผลิตพริกอินทรีย์จะต้องมีความสามารถในการป้องกัน สารปนเปื้อน คุณวิเชียรได้ทำแนวกันชน โดยปลูกต้นไผ่เป็นแนวกันชน อาจจะปลูกพืชยืนต้นอื่นเป็นแนวกันชนสามารถป้องกันสารเคมี ที่มีการฉีดพ่น มาจากฟาร์มหรือแปลงอื่น ไม่ให้ฟุ้งมากับอากาศ การทำแปลงพืชอินทรีย์จะต้องไม่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตพืชอื่นที่มีการใช้สารเคมี หรืออยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะจะมีโลหะหนักปะปนมากับน้ำไหลสู่แปลงเกษตรอินทรีย์ได้ แต่ถ้าจะปลูกพืชในแหล่งหรือพื้นที่เคยใช้สารเคมีมาก่อน ก็จะต้องหยุดการใช้สารเคมีอย่างน้อย 1 ปี สิ่งเหล่านี้คุณวิเชียรได้ทำอย่างถูกต้อง

เข้าไปร่วมดำเนินการ กับเกษตรกร

เริ่มต้นจากการเตรียมแปลงปลูก โดยการเก็บตัวอย่างดินก่อนเริ่มทำการทดลอง วิเคราะห์หาความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ความต้องการปูน ปริมาณอินทรียวัตถุ ปริมาณไนโตรเจน ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้  การใช้ปุ๋ยพืชสด โดยใช้ปอเทืองหว่าน ก่อนปลูกพริก 50 วัน แล้วไถกลบ ไถพรวนทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน แล้วจึงลงมือปลูกพริกและใช้ปุ๋ยมูลไก่หมัก 3 ตัน/ไร่

สำหรับปุ๋ย ใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และน้ำหมักสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย ปุ๋ยคอก รำละเอียด แกลบดิบ เศษผัก ปลา กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด ส่วนน้ำหมักสมุนไพร ได้แก่ ใบสะเดาทั้งใบและก้าน ใบยูคาลิปตัส  ข่าแก่ เครือบอระเพ็ด และกากน้ำตาล ปุ๋ยน้ำหมักต้องให้อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความขยันและความเอาใจใส่ของเกษตรกรที่ต้องตรวจและมีการบันทึกข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ

การกำจัดศัตรูพืช ได้ให้เกษตรกรใช้เชื้อชีวินทรีย์ ได้เชื้อ BT (บาซิลลัส  ทรูรินเอนซิส) เชื้อไตรโคเดอร์มาเข้าไปฉีดพ่น ใช้ทั้งสมุนไพรและเครื่องมือดักแมลงหรือเหยื่อล่อแมลง โดยใช้หลายวิธีผสมผสานกัน

“วิเชียร ชีช้าง” คือ เกษตรกรต้นแบบ ของพริกอินทรีย์

คุณวิเชียร ชีช้าง เป็นเกษตรกรต้นแบบการผลิตพริกอินทรีย์ ได้รับการรับรองระบบการผลิตพริกอินทรีย์ตามาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร ปี 2553 และในปี 2553 คุณวิเชียร สามารถจำหน่ายผลผลิตพริกสดไปประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 ตัน จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาท้องตลาด 5 เท่า ปกติราคาท้องตลาดจะอยู่ในราคา กิโลกรัมละ 15-20 บาท เท่านั้น ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการได้เข้าไปติดต่อขอซื้อถึงแปลงพริกของเกษตรกรรายนี้ นอกจากนี้ แปลงพริกของคุณวิเชียร ชีช้าง ที่บ้านก่อฮาง ตำบลหนองฮาง อำเภอม่วงสามสิบ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นที่ศึกษาดูงานการผลิตพริกอินทรีย์ และสารมารถปรับใช้ในการผลิตพืชชนิดอื่นๆ ได้

การนำผลงานวิจัยไปสู่เกษตรกร

การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ทั้งวัสดุในการปรับปรุงบำรุงดิน และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชสามารถให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงกว่าวิธีของเกษตรกร ร้อยละ 4 ได้ผลผลิต 2,491 กก./ไร่ ซึ่งวิธีของเกษตรกรให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,401 กก./ไร่  การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ ใช้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าวิธีของเกษตรกร ร้อยละ 8 และให้ค่าผลตอบแทนหรือต้นทุนผันแปรสูงกว่าร้อยละ 23 การผลิตพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตพริกอินทรีย์ สามารถใช้เป็นทางเลือกการผลิตได้โดยใช้ปุ๋ยคอก สมุนไพร และสารชีวินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก จึงลดสารพิษตกค้างในผลผลิต ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีในการค้าพริก ซึ่งต่างประเทศใช้เป็นมาตรการในการกีดกันทางการค้า

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี โทรศัพท์  045-202-190, 086-465-7595