“ข่อย” ไม้สารพัดประโยชน์ ผสมเกลือเป็นน้ำยาบ้วนปาก

กลิ่นปากเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก และเป็นปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน เป็นเรื่องที่ถ้าไม่สนิทกันจริง ก็ยากที่จะบอกกันได้ จึงทำให้ทุกวันนี้ น้ำยาบ้วนปาก ขายดีพอๆ กับยาสีฟัน ความเป็นจริงสมุนไพรของไทยหลายชนิด สามารถแก้ปัญหากลิ่นอันไม่พึงประสงค์ แต่ยังไม่เป็นที่นิยม ประกอบกับด้านวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามากขึ้น สังเคราะห์และผลผลิตยาจากสารเคมี ในรูปที่ใช้ประโยชน์ได้ง่าย สะดวกสบายในการใช้มากกว่าสมุนไพร

แต่ที่โรงเรียนบ้านค้างปินใจ จังหวัดแพร่ กลุ่มนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษา สวนกระแสในเรื่องนี้เพราะเห็นว่า สมุนไพรที่อยู่ในท้องถิ่น นำมาแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นปากได้อย่างสบาย จึงจัดทำโครงงาน น้ำยาบ้วนปาก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีครูผู้ช่วย ครูณชนก แปงอินเต๊ะ ให้คำปรึกษาโครงงาน

เนื่องจากกลุ่มนักเรียนที่ทำโครงงานอาศัยอยู่ในท้องถิ่นชนบทที่มีพืชสมุนไพรธรรมชาติมากพอสมควร และได้รับความรู้จากการบอกเล่าผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ถ่ายทอดเรื่องราวสมุนไพรที่อยู่รอบบ้าน เริ่มจากต้นข่อยที่มีอยู่ไปทั่วในหมู่บ้าน ใช้ประโยชน์ตั้งแต่รากถึงต้น และใบ เช่น การทำความสะอาดฟันจะใช้กิ่งข่อย ทุบให้นิ่มใช้แปรงฟัน เปลือกของข่อยสามารถรักษาแผล แก้ท้องร่วง ดับพิษภายใน ทาริดสีดวงแก้พยาธิ ผิวหนัง และเมื่อต้มกับเกลือจะได้เป็นยาอมแก้รำมะนาด จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะนำเปลือกข่อยมาเป็นตัวเอก

และหวังว่าเมื่อทำออกมาสำเร็จแล้ว สามารถนำมาใช้ในครอบครัว ประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไม่เสี่ยงต่อการเจือปนของสารเคมีเพราะทำจากสมุนไพร อาจพัฒนาเป็นรายได้เสริม สิ่งที่สำคัญคือฝึกการทำงานเป็นทีม และใช้เวลาให้เกิดประโยชน์

สูตรการทำน้ำยาบ้วนปากสมุนไพร

ส่วนผสม

1.เปลือกข่อย 3-4 กิโลกรัม

2.เกลือแกง 0.2 กิโลกรัม

3.ดอกกานพลูแห้ง 50 กรัม

4.การบูร 10 กรัม

5.น้ำสะอาด 4-6 ลิตร

6.น้ำมันเปปเปอร์มิ้น 15 ซีซี.

วิธีทำ

1.นำน้ำสะอาดต้มกับเปลือกข่อย ดอกกานพลูและเกลือแกง ในอัตราส่วนที่กำหนด

2.คนให้เข้ากัน ต้มจมน้ำเดือดร้อนจัด ยกลงจากเตากรองเอาแต่น้ำ เติมน้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์ และการบูรในอัตราส่วนที่กำหนด คนให้เข้ากันกรองน้ำจนไม่มีตะกอนบรรจุผลิต

วิธีใช้ ใช้ผสมกับน้ำใช้บ้วนปาก ความเข้มข้นตามความต้องการ

สรรพคุณ เปลือกข่อย สามารถรักษาแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ กิ่งสด ทำให้ฟันทนทาน ไม่ปวดฟัน ฟันแข็งแรง และเมื่อต้มกับเกลือจะเป็นยาอมแก้โรครำมะนาด, เกลือแกง ฆ่าจุลินทรีย์ ดับกลิ่น, ดอกกานพลู รสเผ็ดร้อน ฆ่าเชื้อ ดับกลิ่นปาก, น้ำมันเปปเปอร์มินต์ ดับกลิ่นปาก ส่วนการบูร มีกลิ่นหอม ช่วยลดอาการคัดจมูก ดับกลิ่น

นอกจากนี้นักเรียนยังเก็บใบย่านาง มาบรรจุใส่ถุงจำหน่าย ย่านาง มีอยู่มากในพื้นที่ นักเรียนจึงเก็บมาล้างน้ำ 3 ครั้ง แล้วตัดใบให้ได้ขนาดพอดี นำตากแห้งพลิกกลับอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ใบแห้งดี แล้วนำไปปั่นให้ละเอียด ก่อนบรรจุใส่ถุงกระดาษเล็กๆ เป็นชาใบย่านาง

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ครูณชนก แปงอินต๊ะ ครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านค้างปินใจ ตำบลแม่พุง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โทร. 0-5461-9272