ชัยภูมิ เมืองหม่ำ ที่บ้านช่อระกา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำได้ ขายดี

ตั้งแต่เก่าก่อน สมัยปู่สังกระสา ย่าสังกระสี บ้านเมืองไม่ได้เจริญอย่างทุกวันนี้ จัดเป็นสังคมบรุพกาล ผู้คนต่างก็พึ่งพาตนเอง

โดยเฉพาะการดำรงชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอยู่กับบ้าน ถักทอเสื้อผ้า หาฟืนตำข้าว ส่วนผู้ชายต้องออกป่าล่าสัตว์ อยากกินหมูก็ออกไปล่า อยากกินปลาก็ลงไปงมไปจับเอง ไม่มีซื้อไม่มีขาย สกุลเงินตราเป็นอย่างไร ไม่ทราบ

การออกล่าสัตว์ เดิมทีหาดักสัตว์ได้ตามหัวกระไดบ้าน ต่อมาก็ขยับห่างออกไปเรื่อย ของหายากขึ้น คนกินก็มีไม่น้อย

มีพรานป่าผู้รักครอบครัวคนหนึ่ง ออกล่าสัตว์อยู่เป็นประจำ บางคราวเขาต้องออกจากบ้านไกล ถึงขนาดค้างคืนก็มี ด้วยเหตุนี้ เมื่อได้เนื้อสัตว์ ทำให้เกิดการเน่าเสีย นายพรานอยากให้คนรักที่บ้านคือลูกและเมียได้กินของดีๆที่ตนเองล่าได้ เมื่อมีเนื้อสัตว์ เครื่องใน ก็จัดแจงสับผสมกับเกลือ กระเทียม และเครื่องเทศอื่นๆที่พอหาได้ แล้วยัดเข้าไปในใส้ในกระเพาะของสัตว์ เมื่อกลับถึงบ้าน นำสิ่งที่ตนเองทำไว้ออกมาให้ครอบครัวกิน บางคราวพบว่า สิ่งที่ทำอร่อย ก็จดจำวิธีการไว้ นานเข้าจึงได้สูตรคงที่ ก็ทำเรื่อยมา เพื่อนๆนายพราน ได้ชิมก็ทำตามกัน เป็นวิธีการถนอมอาหาร ที่ต่อมาเรียกกันว่า “หม่ำ”

เนื่องจากทำแล้วรสชาติดี การทำหม่ำแทนที่จะจำกัดอยู่เฉพาะเนื้อสัตว์ที่ได้จากป่า ก็ใช้สัตว์เลี้ยง เช่นเนื้อวัว เนื้อหมูมาผลิตกัน

ยุคเก่าก่อนจริงๆ การทำหม่ำ ทำเพื่อกินในครัวเรือน ต่อมาคนในท้องถิ่นไปทำงานต่างจังหวัด เมื่อกลับมาเยี่ยมถิ่นฐานของตน ก็ซื้อติดไม้ติดมือกลับเมืองหลวง นานเข้ามีการผลิตเป็นการค้า ซื้อ-ขายกันจริงจัง

ชัยภูมิ เมืองหม่ำ

เคยนั่งรถบขส.ผ่านจังหวัดชัยภูมิ หลายครั้งหลายหน ครั้งแรกสุดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ตลาดภูเขียว ชัยภูมิ เห็นหม่ำแขวนโชว์รอผู้ไปซื้อ

ขนาดของหม่ำที่เห็นเท่าแขนเท่าขา น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

เมื่อถึงคราวต้องไปสืบเสาะหาข้อมูล คุณทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์ นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ จากเมืองเกษตรสมบูรณ์ แนะนำว่า หม่ำที่ภูเขียวมีอร่อยหลายเจ้า แต่อยากให้ไปดูหม่ำป้าบัว ทางเข้าโรงพยาบาล เสียดายที่เวลามีน้อย ไม่ได้ไปตามคำแนะนำ

หม่ำ เป็นการถนอมอาหารคล้ายๆ ไส้กรอก แต่ผู้ผลิตได้เติมตับและม้ามเข้าไป หม่ำจึงต่างจากไส้กรอกตรงนี้

ที่ชัยภูมิมีการผลิตและบริโภคหม่ำกันไม่น้อย สังเกตุได้จากร้านค้าแถวห้าแยกในเมือง มีร้านขายหม่ำอยู่เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นสินค้าแปรรูปที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ใครมาแวะจังหวัดนี้แล้วต้องซื้อ หากใครมาแล้วไม่ซื้อไม่ได้ชิม เหมือนมาไม่ถึงชัยภูมิ ดูไปก็คล้ายๆที่เชียงใหม่มีแคบหมูน้ำพริกหนุ่ม หนองมน ชลบุรี มีข้าวหลาม เมืองตรังมีหมูย่าง เป็นต้น

ชุมชนผลิตหม่ำ “ช่อระกา”

“อยากทำเรื่องหม่ำหรือ ไปที่ช่อระกา มะม่วงแก้ว แถวช่อระกาก็มี” เป็นคำแนะนำจากคุณสมพร แสนสระ เพื่อเก่าเพื่อนแก่คนเกษตรสมบูรณ์ ปัจจุบันเป็นนักวิชาการ อยู่โรงงานน้ำตาลที่ภูเขียว เมื่อทำการประสานไปยังท้องถิ่น ก็พบว่า หมู่บ้านช่อระกา เป็นชุมชนที่ผลิตหม่ำ ที่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะไปตามซอกซอยไหน ส่วนใหญ่ต่างก็ผลิตหม่ำกัน

คุณสุระพงค์ อีกตำแหน่งหนึ่ง คือผู้สื่อข่าวพิเศษ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ประจำจังหวัดชัยภูมิ ได้พาไปดูงานผลิตหม่ำของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตหม่ำบ้านช่อระกาหมู่ที่ 18 ต.นาฝาย อ.เมือง  ซึ่งมีคุณวิไลวรรณ แพชัยภูมิ เป็นประธาน

ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตหม่ำบ้านช่อระกาหมู่ที่ 18 มีพื้นที่ราวไร่เศษๆ ประกอบด้วยศาลาเอนกประสงค์ อาคารที่ทำการกลุ่ม รวมทั้งซุ้มอาหาร ราว 5-6 ซุ้ม

ที่นี่เขาผลิตหม่ำจำหน่าย อย่างอื่นมีเนื้อแดดเดียว เนื้อสวรรค์ รวมทั้งขายอาหาร ประเภทลาบ ต้ม

คุณวิไลวรรณ เล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตหม่ำบ้านช่อระกาหมู่ที่ 18 ก่อตั้งเมื่อปี 2551 สมาชิกครั้งแรก 82 คน ต่อมาทางการให้ลดจำนวนลง ตามจำนวนครัวเรือน จึงเหลือสมาชิก 60 คน เงินทุนในการดำเนินการนั้น กลุ่มเรียกเก็บจากสมาชิกรายละ 100 บาท นอกจากนี้ ยังได้เงินสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งสหกรณ์

รายได้ของกลุ่ม ได้จากการแปรรูปอาหาร คือหม่ำ เนื้อแดดเดียว เนื้อสวรรค์ แล้วก็อาหาร ซึ่งขายทุกวัน

แต่ละวัน จะมีสมาชิกมาทำงานที่กลุ่มทุกวัน จำนวน 7 คน ทำแบบถาวร ไม่เปลี่ยนไปมา คนมาทำงาน จะได้เงินไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อวัน ทุกวัน

คุณวิไลวรรณ เล่าถึงการทำหม่ำว่า ทางกลุ่มทำทุกวัน บางวันทำ 5 กิโลกรัม บางวันทำ 10 กิโลกรัม

ประธานแนะนำสูตรทำหม่ำ จำนวน 10 กิโลกรัมให้เป็นวิทยาทาน ประกอบไปด้วยเนื้อวัว 9 กิโลกรัม ตับและม้าม 1 กิโลกรัม(อย่างละครึ่ง) เกลือ 3 ขีด ข้าวเหนียวนึ่งแล้ว 2 ขีด กระเทียม 1 กิโลกรัม

ทุกวันนี้ ทำกันทั้งหม่ำเนื้อและหม่ำหมู  หากใช้เนื้อหมู ก็ใช้ตับและม้ามหมู

วิธีทำเริ่มจากสับเนื้อ ตับ ม้าม ให้ละเอียด คลุกเคล้ากับกระเทียม เกลือ ข้าวเหนียว แล้วจึงยัดไส้ เป็นไส้เทียมหรือไส้จริงก็ได้ ขนาด 1 ขีด

“คนที่ไม่ชอบเปรี้ยววันเดียวก็กินได้ แต่หากชอบเปรี้ยวต้องปล่อยทิ้งไว้ 1-2 คืน วิธีการกิน จะกินดิบก็ได้ หากไม่กินดิบก็ทำให้สุก โดยการทอด ย่าง หรืออบ ราคาขายหม่ำ ขีดละ 30 บาท หรือชิ้นละ 30 บาท มีบางรายที่ทำขนาดใหญ่ ชิ้นละ 200-300 บาท รูปทรงที่เห็นแตกต่างกันไป นอกจากทรงยาวเหมือนหมอนข้างแล้วมีทรงกลม หม่ำที่นี่อร่อยเพราะใช้เนื้อก้อน เนื้อแดงอย่างดีจากส่วนขาทำ ปัญหาที่พบอยู่หน้าฝนมีความชื้น…ปริมาณที่ทำ บางวันทำมากกว่า 10 กิโลกรัม เพราะมีคนสั่ง ผู้สนใจส่งทางไปรษณีย์ได้ อยู่ไกลถึงกรุงเทพฯก็ส่ง “คุณวิไลวรรณเล่า

มีอาหารท้องถิ่นเลิศรส

คุณวิไลวรรณ บอกว่า รายได้จากการขายอาหารและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ยังไม่หักต้นทุน อยู่ที่ 3,000-7,000 บาทต่อวัน มากบ้างน้อยมาก

สำหรับอาหาร ทางกลุ่มแนะนำไว้ในเมนู ประกอบด้วย

1.ลาบกินดอง เนื้อ-หมู

2.ซอยห่าง

3.ต้มแซ่บ

4.อ่อมเนื้อ-หมู

5.คั่วเนื้อ-หมู

6.น้ำตก เนื้อ-หมู

7.ตับหวาน

8.ผัดกระเพราเนื้อ-หมู

9.ข้าวผัด หมู-ไข่

10.แจ่วฮ้อน เนื้อ-หมู

11.ตำส้ม-ตำซั่ว

ทางประธานขยายความให้ทราบว่า “ลาบกินดอง” คือลาบดิบ ส่วน “ซอยห่าง”คือก้อยนั่นเอง

ถามว่า อะไรอร่อยที่สุด

“อร่อยทุกอย่าง ลองดูไหมล่ะ” ประธานกลุ่มตอบ

เสียดายมากเพราะรับประทานอาหารเช้าไปแล้ว จึงอดชิม ส่วนสนนราคานั้น ทางกลุ่มบอกว่า 50 บาททุกอย่าง ยกเว้นผัดกระเพราะ ข้าวผัด และส้มตำ ไม่ถึง 50 บาท

คุณวิไลวรรณบอกว่า อาหารขายทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงมืด ส่วนหนึ่งคนมานั่งกิน มีไม่น้อยที่ซื้อไปกินที่บ้าน

ใครไปเที่ยวชัยภูมิ อยากชิมอาหารท้องถิ่นก็แวะเวียไปได้ อยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง อาจจะพักในเมืองแล้วกินอาหารในบรรยากาศแบบท้องถิ่น ถือว่าหาได้ยาก

“สมาชิก 60 คน ที่ลงหุ้นแล้วมาซื้ออาหารทางกลุ่มแบ่งให้ร้อยละ 3 ต่อปี ผู้ลงหุ้นแต่ไม่ได้ซื้ออาหารจะได้แค่ค่าลงหุ้นๆละ 25 บาท ทางกลุ่มเราเคยได้รางวัลที่ 2 ในการประกวดหม่ำ ใครจะมาที่นี่ มาตามถนนสายตาดโตน บ้านช่อระกาอยู่ซ้ายมือ โทร.เข้ามาก่อนก็ได้ 087-8797799 มีที่นั่งกินอาหาร มาเป็นกลุ่มนั่งได้ 80 คน แม่ครัวที่นี่ล้วนมืออาชีพ มาแล้วรับรองประทับใจ ไม่มีคาราโอเกะ มีแต่แม่บ้านเป็นหางเครื่อง”คุณวิไลวรรณกล่าวแนะนำ

ที่ยโสธร “หม่ำ จ๊กมก” มีชื่อเสียงมาก

ที่ชัยภูมิ “หม่ำเนื้อและหม่ำหมู” เขาอร่อยจริง

…………………………………………………………………………………………………………………………………..

ผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาฟรี โดยผ่านการลงทะเบียน 2 ช่องทาง คือ https://www.eventpassinsight.co/…/regist…/create/ifn/… หรือโทรศัพท์แจ้งความจำนงได้ที่ (02) 580-0021 ต่อ 2335, 2339, 2342 และ 2343 ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมมนาล่วงหน้า จะได้รับกล้ามะละกอเสียบยอดจากคุณทวีศักดิ์ กลิ่งคง และต้นกล้าดอกดาวเรืองจาก บริษัท East-West seed (ศรแดง) ฟรี