เลี้ยงปลานิลในสายน้ำไหล ที่เบตง กลบกลิ่นโคลน เนื้อแน่น ราคาดี

เมื่อครั้งที่ลงใต้สุดแดนสยามไปที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในใจคือไกลสุดไกล แต่เมื่อไปแล้วใจบอกเลยว่า คุ้มที่ได้มาเยือนอำเภอเบตงแห่งนี้ เพราะมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ น่าติดตาม น่าศึกษา และอีกหลายๆ ประการที่บรรยายออกมาได้ไม่หมด ว่าเหตุผลใดที่ควรมายังอำเภอนี้

พื้นที่อำเภอเบตง มีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้เบตงมีอากาศดีและมีหมอกตลอดปี

ข้อดีส่วนนี้นี่เอง ที่ทำให้พื้นที่อำเภอเบตง มีเรื่องของการทำเกษตรกรรมที่มีลักษณะพิเศษ

คุณศักดิ์ศรี สง่าราศรี ชายหนุ่มวัยเหมาะแก่การทำงานหนัก เจ้าของสวนทุเรียนมูซังคิง และผลไม้อีกหลายชนิดในพื้นที่อำเภอเบตง นัดพบกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงปลานิลในสายน้ำไหล ที่คุณศักดิ์ศรีช่วยกันกับคุณพ่อ เพื่อทำเป็นรายได้เสริมกึ่งรายได้หลัก ที่ต้องบอกเช่นนี้ เพราะเริ่มแรก การเลี้ยงปลานิล เป็นแนวคิดที่ต้องการใช้เวลาที่เหลือสร้างรายได้เสริม แต่เมื่อดำเนินมาได้สักระยะ รายได้เสริมที่คาดการณ์ไว้ กลับกลายเป็นรายได้หลักที่ดีตัวหนึ่ง

“ผมเริ่มเลี้ยงปลานิล เมื่อ 12-13 ปีก่อน ตอนนั้นปลานิลยังไม่มีราคา ผมกับพ่อคุยกันว่า เราน่าจะหาอาชีพเสริมจากการทำสวนผลไม้ เพราะสวนผลไม้เป็นรายได้หลักที่ได้เมื่อถึงฤดูกาล แต่ระหว่างนั้น เราน่าจะมีรายได้เสริมที่สร้างจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว”

ยุคที่คุณศักดิ์ศรีเริ่มเลี้ยงปลานิล คนในพื้นที่อำเภอเบตงที่ทำการประมง จะเลี้ยงปลาจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่คุณศักดิ์ศรีเริ่มเลี้ยงปลานิล เพราะไม่มีความรู้เรื่องการประมงแม้แต่น้อย แต่เห็นว่าปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย จึงศึกษาการเลี้ยงปลานิล และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยากหากจะเลี้ยงปลาชนิดนี้

สิ่งที่จุดประกายให้เริ่มเลี้ยงปลานิล คือ แท็งก์น้ำขนาดใหญ่ที่ใช้พักน้ำก่อนปล่อยน้ำไปใช้ในสวนผลไม้ ถูกทิ้งว่างไว้ แล้วจึงคิดใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ จึงนำปลานิลมาเลี้ยงในแท็งก์น้ำ ซื้อปลานิลไซซ์ขนาดใบมะขามมาปล่อยไว้ 200-300 ตัวต่อแท็งก์น้ำ เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป และแท็งก์น้ำนั้นมีพื้นที่เก็บน้ำปริมาณหนึ่ง และหากเกินปริมาณที่แท็งก์น้ำเก็บได้ น้ำจะไหลออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยไม่ต้องถ่ายน้ำให้สิ้นเปลือง ซึ่งระบบการถ่ายน้ำด้วยวิธีธรรมชาติเช่นนี้ ช่วยให้ออกซิเจนในน้ำสูงกว่าปกติ แม้อัตรารอดจากการปล่อยจะเหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่คุณศักดิ์ศรีเห็นว่า ทุกอย่างเป็นประสบการณ์จึงไม่ให้ความสำคัญกับการสูญเสียส่วนนั้นมากนัก

ในช่วงนั้น คุณศักดิ์ศรีเริ่มทำการตลาดไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงปลานิล ด้วยความที่เป็นเกษตรกรชาวสวนมาก่อน การทำการตลาดต้องควบคู่ไป เมื่อเริ่มเลี้ยงปลานิล คุณศักดิ์ศรีจึงเดินเข้าหาตลาด ด้วยการเข้าไปสอบถามยังร้านอาหารในตัวอำเภอเบตง ทำให้มีลูกค้าเป็นร้านอาหารหลายร้าน

เมื่อมีลูกค้ารองรับในตลาดอำเภอเบตง ปลานิลของคุณศักดิ์ศรีเริ่มมีราคา คุณศักดิ์ศรีจึงเริ่มขยายพื้นที่เลี้ยง

เพราะพื้นที่อำเภอเบตงเป็นพื้นที่ลาดชันและภูเขา การทำประมงจึงมีไม่มากนัก และด้วยสภาพพื้นที่เช่นนี้ คุณศักดิ์ศรีมองว่าเป็นเรื่องดี ที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาในสายน้ำไหล

จากภาพที่เห็น เราเห็นบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ เรียงรายไล่ระดับมาเป็นทางยาวจากสูงไปต่ำ น้ำล้นจากบ่อแรกมายังบ่อที่สองและบ่อต่อๆ ไป จนถึงบ่อสุดท้าย และมีท่อน้ำปล่อยน้ำจากบ่อแรกมายังบ่อต่อๆ ไปเช่นกัน มีเสียงน้ำไหลตลอดเวลา ฟังแล้วให้รู้สึกได้ทันทีว่า ปลานิลที่อยู่ในบ่อต้องมีความสุขจากการว่ายน้ำที่มีออกซิเจนและพื้นที่มากพอ

“ปลานิลเบตง มีข้อดีคือ หากเลี้ยงด้วยระบบสายน้ำไหลจะไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น เพราะปลาแข็งแรง ว่ายน้ำตลอดเวลา หลายคนที่มีโอกาสรับประทานเนื้อปลานิลเบตง บอกได้เลยว่า ไม่เหมือนใคร และติดใจทุกคน”

คุณศักดิ์ศรีทำบ่อปลาไว้ทั้งสิ้น 8 บ่อ เป็นบ่อซีเมนต์และบ่อปูผ้าใบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเศษโคลนตกอยู่ก้นบ่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่คุณศักดิ์ศรีเห็นว่า ต้องทำความสะอาดเลนให้หมด หรือฉีดทิ้งไปกับสายน้ำไหลก่อนปล่อยปลารอบต่อไป เพื่อลดกลิ่นโคลน เพราะหากปล่อยโคลนไว้ ปลานิลอาจลงไปเล่นโคลน แม้จะเลี้ยงด้วยระบบสายน้ำไหล ก็อาจมีกลิ่นโคลนที่เนื้อปลาได้

พื้นที่บ่อแต่ละบ่อสามารถจุน้ำได้ ประมาณ 200-400 คิวบิกเมตร แต่ละบ่อจับปลาเมื่อน้ำหนักปลารวมต่อบ่อได้ประมาณ 1 ตัน

จำนวนปลาที่ปล่อยแต่ละบ่อ คุณศักดิ์ศรีคำนวณว่าไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะโอกาสที่ปลาแน่นมากจะทำให้เกิดการสูญเสียตามมา ดังประสบการณ์ก่อนหน้านี้ในฤดูน้ำหลาก เมื่อเกิดฝนตกหนักหรือมีน้ำป่า น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาในระบบสายน้ำไหลเป็นน้ำจากภูเขา เกิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อน้ำจากธรรมชาติมีมากเกินจำเป็นถือเป็นเรื่องดี แต่หากมีมากและมาพร้อมกับพายุ ซึ่งก่อให้เกิดเศษใบไม้ ซากดิน โคลน ที่มาอุดตันท่อส่งน้ำจากบ่อมายังอีกบ่อ ผลที่ตามมาคือ น้ำไม่มีการระบาย น้ำไม่ไหล และออกซิเจนลดน้อยลง หากความหนาแน่นของปลามาก โอกาสปลาตายสูง และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงเป็นบทเรียนที่ควรระวัง

อาหารปลายังคงเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูป และให้อาหารปลา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ให้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากน้ำหนักปลา การให้อาหารจะให้ 4-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาแต่ละบ่อ

เมื่อถามว่า การเลี้ยงด้วยระบบสายน้ำไหลเป็นการใช้น้ำธรรมชาติเลี้ยง โดยไม่ได้วัดค่า พีเอช ในน้ำหรือเติมออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ เหตุใดจึงไม่ใช้อาหารจากธรรมชาติ

คุณศักดิ์ศรี บอกว่า เคยทดลองทำอาหารจากธรรมชาติแล้ว ลดต้นทุนได้ดีมาก แต่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพปลาได้ จึงเลือกใช้อาหารสำเร็จรูปตามเดิมดีกว่า

แต่ละบ่อจะปล่อยปลาไม่พร้อมกัน เพื่อสามารถจับปลาขายได้ตลอดทั้งปี

ปลานิลมีระยะเวลาการเลี้ยงก่อนจับขายอยู่ที่ 6 เดือน การจับปลาจะนำขึ้นมาทั้งหมด และทยอยนำส่งยังร้านค้าในอำเภอเบตงทุกวัน วันละประมาณ 200 กิโลกรัม ใน 1 บ่อ เมื่อนำปลาขึ้นมาขาย ระยะเวลา 5 วัน ก็ขายหมด จากนั้นทำความสะอาดบ่อด้วยการฉีดไล่โคลน แล้วปล่อยปลาลงต่อได้เลย ไม่จำเป็นต้องพักบ่อเหมือนการเลี้ยงปลาในบ่อขุดทั่วไป

ปลาที่จับขายยังตลาดเบตง ระยะเวลาเลี้ยง 6 เดือน มีขนาดน้ำหนักตัวละประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ แต่ความพิเศษของการเลี้ยงปลานิลที่นี่คือ การทำปลาไซซ์ใหญ่เกินมาตรฐานที่ขายประจำ ทุกครั้งที่นำไปส่งยังร้านค้าจะมีปลาไซซ์พิเศษ น้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปกติ คือใช้เวลาเลี้ยง 1 ปีเศษ จึงจับขาย และตอนนี้ปลาไซซ์พิเศษเป็นปลาที่ตลาดต้องการมาก โดยเฉพาะตลาดชาวต่างชาติที่มาเที่ยวในอำเภอเบตง

ปัจจุบัน มีเกษตรกรหลายครัวเรือนในพื้นที่อำเภอเบตง เริ่มทำการประมงด้วยการเลี้ยงปลานิลในสายน้ำไหลเช่นเดียวกับคุณศักดิ์ศรี แต่คุณศักดิ์ศรีก็ไม่กังวล เพราะถือว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยกัน เนื่องจากปลานิลเบตงที่เลี้ยงในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในอำเภอเบตงด้วยซ้ำ หากจะมีจำนวนผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นเรื่องดีที่ปลานิลเบตงจะส่งออกไปขายนอกพื้นที่ได้

ราคาขายปลานิลในปัจจุบัน อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 90 บาท

ต้นทุนการผลิต คุณศักดิ์ศรี บอกว่า มีเพียงอาหารเม็ดสำเร็จรูป ค่าไฟนิดหน่อย และการจัดการอีกไม่มาก หากคิดเป็นต้นทุนแล้ว อยู่ที่ครึ่งหนึ่งของราคาขายปลาต่อกิโลกรัม

การเลี้ยงปลานิลในสายน้ำไหล ไม่ได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่อำเภอเบตง คุณศักดิ์ศรี มองว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นที่มีสภาพพื้นที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีข้อดีหลายประการ และการจัดการไม่ยุ่งยาก หากเกษตรกรรายใดสนใจ ต้องการสอบถามหรือปรึกษา คุณศักดิ์ศรียินดีให้คำปรึกษาได้ที่ โทรศัพท์ 098-016-2806 หรือเดินทางไปดูด้วยตนเองที่ บ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา คุณศักดิ์ศรี สง่าราศรี ยินดีต้อนรับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561