เทคนิคลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยการเสริมรากและทำปุ๋ยเอง

สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ในช่วงที่ราคายางและปาล์มสูง เกษตรกรมีความสุข การกรีดยางในชั้นแรกๆ ชาวสวนก็กรีดกันเองในครอบครัว หลังจากนั้นก็มีคนรับจ้างที่เป็นชาวอีสานหลั่งไหลไปเป็นกรรมกรเหมืองแร่และรับจ้างกรีดยาง ข้อตกลงในการกรีดยาง อยู่ระหว่าง 60 40 คือเจ้าของสวนได้ 60% คนกรีดได้ 40% ถือเป็นมาตรฐาน อาจมีแตกต่างกว่านั้นก็เป็นข้อตกลงเฉพาะ      

ในช่วงต่อจากนั้นเมื่อชาวอีสานเริ่มปลูกยางได้ ก็พากันกลับบ้าน คนงานชาวต่างด้าวซึ่งเป็นชาวพม่าได้เข้ามาแทนที่ จังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ราคายางสูงลิบ ทั้งคนงานและเจ้าของสวนต่างมีความสุขดี ต่อเมื่อยางราคาตก ชาวพม่าค่อยๆ หนีไปทำงานก่อสร้างในเมือง ทิ้งให้ชาวสวนยางกรีดกันเอง เมื่อเจ้าของสวนลงมือกรีดยางเอง จึงพบว่า ช่วงที่ราคายางแพงนั้น ลูกจ้างชาวพม่าเอายาเร่งน้ำยางทามีดกรีดเพื่อให้ได้น้ำยางเยอะๆ ต้นยางจึงโทรมเร็ว ไม่สามารถกรีดได้ตามจำนวน 25 ปี ตามปกติ จึงเกิดวลีคำหนึ่งว่า “พม่ากรีด ไทยตัด” คือหลังพม่ากรีดยางแล้ว ไทยต้องโค่นยางทิ้งปลูกใหม่ เพราะต้นยางโทรมมาก

ช่วงฝนที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปทำข่าว คุณชาตรี แสงทอง เกษตรกรชาวสวนยาง ที่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 3 ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โทรศัพท์ (086) 497-7665 ตามคำแนะนำของ คุณชฏารัตน์ กุดหอม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ แห่งสำนักงานเกษตรอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งคุณชาตรีเป็นเกษตรกรชาวสวนยางโดยกำเนิด เพราะตั้งแต่ลืมตามาก็เห็นพ่อทำสวนยางพารา

ในสมัยเด็กได้มีโอกาสช่วยพ่อแม่ทำสวนยาง จึงซึมซับความเป็นเกษตรกรมาโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบัน จึงยังคงมีอาชีพทำสวนยางตามบรรพบุรุษ โดยที่ตัวเองเป็นผู้ดูแลสวนและกรีดยางเองทั้งหมด ในเนื้อที่ 17 ไร่ ที่มี ไม่ใช่อาชีพผู้จัดการสวนยางที่มีแรงงานต่างด้าวมากรีด ความจริงแล้ว 1 ครอบครัว ดูแลพื้นที่สวนยางได้ประมาณ 15 ไร่ กำลังพอดี ไม่น้อยและมากเกินไป ในช่วงที่ราคายางกิโลกรัมละ 100 ชาวสวนยางยิ้มแย้มได้ เศรษฐกิจภาคใต้เฟื่องฟู พอมาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคายางลดลง คุณชาตรีก็ไม่ได้มีผลกระทบมากเหมือนคนอื่นเขา เพราะน้ำยางที่ได้ราคาเท่าไรก็ได้เองทั้งหมด แต่สถานการณ์ก็ไม่สู้ดีนัก

จากความรู้ที่ได้ไปอบรมและดูงานตามที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดพังงาเอง รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง และได้มีโอกาสมาดูงานในบางจังหวัดของภาคกลาง จึงเรียนรู้การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตที่สูงเหมือนกัน จึงคิดที่จะทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้ในสวน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและทำอย่างไรที่จะทำให้ผลผลิตเพิ่ม

จากสวนยางที่หมดอายุจำเป็นต้องโค่นทิ้งเมื่อ 3 ปีก่อน จำเป็นต้องปลูกพืชใหม่ คุณชาตรีจึงคิดที่จะเหลือยางพาราเพียงแค่ 7 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จะปลูกพืชอย่างอื่น แต่ในส่วนของยางสวนนี้มีปัญหาว่าเป็นพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำ รากจะไม่ค่อยแข็งแรงในช่วงหน้าฝนที่มีลมแรง ต้นยางมักโค่นล้มจนต้องปลูกแซมกันบ่อยครั้ง โจทย์ในที่นี้คือ ทำอย่างไร ให้รากแข็งแรง คุณชาตรีมีโอกาสได้ไปเห็นทุเรียนเสริมราก จึงมีความคิดว่า ยางพาราก็น่าจะเสริมรากได้เช่นกัน

เสริมรากกันยางล้ม

3 ปีก่อน คุณชาตรี จึงเริ่มเสริมรากให้ยางพารา คุณชาตรี บอกว่า “พื้นที่สวนเป็นพื้นที่ยกร่อง ต้นยางพาราโค่นล้มง่าย จึงคิดจะเสริมให้เป็น 3 ราก วิธีทำก็คือ เวลาที่เราปลูกพันธุ์ยาง เบอร์ 600 หรือ 251 ซึ่งเป็นต้นยางติดตาที่เหมาะสำหรับภาคใต้แล้ว เราก็จะถอนเอาต้นยางพันธุ์พื้นบ้านที่ขึ้นมาเองหรือเราอาจจะเพาะใส่ถุงไว้ ขนาดต้นประมาณนิ้วชี้ หรือมีอายุประมาณ 1 ปี มาอีก 2 ต้น ปลูกลงใกล้ๆ กับต้นยางพันธุ์ รอเวลาประมาณ 6 เดือน ให้ต้นยางทั้ง 3 ต้น เติบโตดี ก็จะใช้มีดคมๆ ปาดต้นยางพันธุ์และต้นยางที่จะเป็นต้นเสริมเป็นแผลกว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 1 นิ้ว แล้วเอาช่วงรอยแผลของต้นยางเสริมมาทาบตรงรอยแผลของต้นยางพันธุ์ ซึ่งหมายถึงต้นยางพันธุ์จะถูกปาด 2 รอย เพราะเราจะต้องเอายางเสริมมาทาบ 2 ต้น แล้วเอาผ้าเทปสำหรับตอนกิ่งพันให้แน่น ไม่ให้น้ำเข้า ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ในช่วงนั้นอาจจะเอาเชือกมาผูกรวบโคนยางทั้ง 3 ต้น โน้มเข้าหากัน เพื่อกระชับไม่ให้แผลเปิดอ้า เมื่อเห็นว่าแผลประสานติดกันดีแล้ว ก็ให้ตัดยอดต้นยางเสริมจากรอยแผลขึ้นมา 1 นิ้ว และหมั่นปลิดยอดยางเสริมออก ถ้ามียอดแตกออกมา”

ยางที่เสริมรากจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี แผลก็จะเชื่อมติดกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ต้นยางที่เสริมรากนี้นอกจากจะทำให้ระบบรากแข็งแรงโค่นล้มยากแล้ว ต้นก็จะเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นยางที่มีรากเดียว ในช่วงดังกล่าวคุณชาตรีได้ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 27-6-6 เพื่อบำรุงต้น ประมาณ ต้นละ 100 กรัม ปีละ 3 ครั้ง ในช่วงก่อนฝน กลางฝน และปลายฝน ส่วนปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวิภาพที่ทำเองจะให้ในช่วงที่มีเวลาว่างจากงานประจำ

น้ำหมักชีวภาพ

สูตรของคุณชาตรี เป็นการหมักจำนวนถึง 200 ลิตร ใช้ถังสีฟ้า ขนาด 200 ลิตร โดยมีวัสดุหมักดังนี้ ปลา หรือไส้ปลา หรือหอยเชอรี่ (สับหรือบด) จำนวน 30 กิโลกรัม ไข่ไก่หรือไข่เป็ด 50 ฟอง นมสดให้ซื้อตามห้างที่หมดอายุแล้วจะได้ของราคาถูก หรือเอานมโรงเรียนเด็กมาก็ได้ แล้วหาอย่างอื่นให้เด็กกินแทน จำนวน 20 ลิตร กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม กรณีมีกลิ่นเพิ่มกากน้ำตาลได้ และผลไม้ที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น ฝรั่ง มะละกอ กล้วย หน่อกล้วย ไส้กล้วย ส่วนผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สับปะรด มะม่วง มะยม ใช้ไม่ได้ จำนวน 50 กิโลกรัม พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน 2 ซอง หั่นวัสดุทั้งหมดเอาแค่หยาบๆ ก็พอ ใส่ลงในถังหมักปากกว้าง แต่ควรมีฝาปิด ส่วนไข่ต่อยให้แตกใส่ลงไปทั้งเปลือก ใส่น้ำประมาณ 30 ลิตร หรือพอท่วมวัสดุ สำหรับของคุณชาตรีทำไว้ใช้ในสวน ใช้น้ำหมักจากต้นกล้วยมาแทนน้ำเปล่า จะทำให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น แล้วคนให้เข้ากัน 2 หรือ 3 วัน ค่อยมาคนกลับวัสดุในถัง ส่วนฝาจะปิดไว้อย่าให้มิด เพื่อเป็นการระบายแก๊ส ถังหมักน้ำชีวภาพควรเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแดด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือสังเกตว่าฟองอากาศที่เคยขึ้นมาตอนคนจะหายไป ก็กรองแล้วนำมาใช้ได้ ส่วนเศษวัสดุที่เป็นส่วนผสมยังคงย่อยไม่หมด แต่จะค่อยๆ ย่อยไปได้เรื่อยๆ น้ำหมักชีวภาพจะจำหน่ายลิตรละ 50 บาท

การใช้น้ำหมักชีวภาพของสวนยางคุณชาตรี จะใช้เป็น 2 แบบ อันแรกจะใช้รดที่โคนต้น จะใช้อัตราส่วนครึ่งลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ด้วยเครื่องพ่นสะพายหลัง อันที่สอง ถ้าฉีดพ่นทางใบเป็นฮอร์โมนพืชก็จะใช้อัตราส่วนที่เจือจางกว่าลงครึ่งหนึ่ง ในส่วนนี้สามารถใช้ปรับสภาพในบ่อปลา ผสมน้ำให้สัตว์เลี้ยงกินก็ได้ ได้ลองให้น้ำหมักชีวภาพแก่เกษตรกรที่ปลูกเมล่อน ปรากฏว่าใช้ได้ผลจึงมาซื้อไปใช้ในการปลูกคราวละหลายสิบลิตร นอกจากนี้สามารถนำไปคลุกกับขุยมะพร้าวที่ใช้ในการตอนพืชจะทำให้รากพืชเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรงมาก และน้ำหมักนี้คุณชาตรีก็ใช้ในสวนยางอย่างสม่ำเสมอ

เครื่องบดปุ๋ย
เครื่องบดปุ๋ย
2-%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%a8%e0%b8%a9%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%a7%e0%b8%99
หมักด้วยเศษผลไม้ในสวน
3-%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b8%97%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%a7%e0%b9%89%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a8
มีท่อไว้ระบายอากาศ
4-%e0%b8%9b%e0%b8%b8%e0%b9%8b%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7
4. ปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้ว
5-%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%aa%e0%b9%89%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2
น้ำจากไส้กล้วย
6-%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7
หมักได้ที่แล้ว

ปุ๋ยหมักในสวน

ปุ๋ยหมักเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้หมัก คือมูลวัวหรือมูลสัตว์อื่นๆ ประมาณ 500 กิโลกรัม เศษพืชผักหรือผลไม้ต่างๆ ในสวน ในกรณีนี้ผลไม้เปรี้ยวใช้ได้ จำนวน 500 กิโลกรัม เช่นกัน น้ำหมักชีวภาพที่ทำไว้แล้ว 30 ลิตร กระดูกวัวเผา 200 กิโลกรัม ถ้าไม่มีใช้แร่ฟอสเฟสแทนก็ได้ พด.1 จำนวน 1-2 ซอง การหมักปุ๋ยจะต้องอยู่ในโรงเรือน แบ่งวัสดุหลักคือ มูลสัตว์และพืชผักเป็นอย่างละ 3 ส่วน ครั้งแรกโรยมูลสัตว์ลงไปก่อนแล้วทับด้วยเศษพืชผัก ใส่กระดูกวัวเผาหรือแร่ฟอสเฟสลงไป รดด้วยน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้นไม่ต้องผสมน้ำ 10 ลิตร ผสม พด.1 ลงไปด้วย ทำแบบนี้อีก 4 ชั้น เราก็จะมีกองปุ๋ยหมักที่มีพืชผักอยู่บนสุด แต่อย่าลืมใส่ท่อพีวีซี หรือใช้ไม้ไผ่มาทะลวงเป็นท่อก็ได้ สัก 9 อัน 10 อัน ประมาณ 15 วัน ควรกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานอย่างทั่วถึง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือหมดกลิ่น หรือกองปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิปกติก็ใช้ได้ แต่ก่อนที่จะนำมาใช้จะนำมาบดให้ละเอียดก่อน ปัจจุบัน คุณชาตรีได้ใช้ปุ๋ยภายในสวนเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย จะมีเหลือขายอยู่จำนวนไม่มากนัก

สรุปความ สวนยางของคุณชาตรีใช้วิธีการเสริมราก จะทำให้ต้นยางพาราเติบโตได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะรวมถึงการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่ทำใช้เองเสริมเข้าไปด้วย จึงทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น เป็นวิธีที่ไม่ยากสำหรับเกษตรกรอาชีพโดยทั่วไป เนื่องจากได้มีโอกาสไปดูงานในที่ต่างๆ จึงนำความคิดนั้นมาต่อยอดหรือดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559