ข้าวก่ำดอยสะเก็ด ผลผลิตงานวิจัย มช. มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หนุนเกษตรกรปลูก

ข้าวเหนียวดำ หรือเรียกตามภาษาพื้นเมืองของภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือว่า “ข้าวก่ำ” เป็นการเรียกตามลักษณะสีของเมล็ดที่มีสีแดงเข้ม หรือ “แดงก่ำ” ซึ่งข้าวก่ำนั้นถือได้ว่ามีคุณค่าทางสมุนไพรหรือความเป็นยาของข้าวก่ำที่ชาวเหนือดั้งเดิมหรือชาวล้านนาได้คิดค้นปรากฏชัดเจนในวัฒนธรรมข้าวชาวเหนือ โดยเฉพาะในนวัตกรรมการเพาะปลูกในพิธีกรรมการเซ่นไหว้ การโภชนาการ การเสริมสวย และยารักษาโรค นับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของโภชนศาสตร์เกษตรและเภสัชรักษาพื้นบ้านล้านนา โดยทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ก่ำดอยสะเก็ด ซึ่งได้รับใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรในการรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518

รศ.ดร. ดำเนิน กาละดี ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ คณะเกษตรศาสตร์ หน่วยวิจัยข้าวก่ำ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ข้าวพันธุ์ก่ำดอยสะเก็ดเป็นข้าวเหนียวที่มีประวัติการปรับปรุงพันธุ์ ในปี 2538 ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวจาก คุณพินิจ คำยอดใจ อาชีพทำนา อยู่บ้านเลขที่ 31/1 บ้านสันปูเลย ตำบลสันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และอีกพันธุ์ เป็นข้าวเหนียวดำ เรียกว่า “ข้าวก่ำ”

จากนั้นได้เริ่มรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้นเมืองของไทย ตั้งแต่ปี 2539 ทำงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์เกษตรมาโดยตลอด และประสบผลสำเร็จ มีผลงานวิจัยเผยแพร่เป็นองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เกษตรเป็นที่น่าสนใจจนกระทั่งได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้จัดตั้งเป็น “หน่วยวิจัยข้าวก่ำ” หรือ Purple Rice Research Unit (PRRU) อยู่ภายใต้การดูแลของ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันทางคณะวิจัยสามารถรวบรวมพันธุกรรมข้าวก่ำพื้นเมืองได้ 42 พันธุกรรม จากแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศไทย ทั้งในสภาพของข้าวนาดำ และข้าวไร่ โดยมีพันธุ์ข้าวปรับปรุงที่ได้รับการรับรองพันธุ์ตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 จากกองคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 จำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ข้าวก่ำดอยสะเก็ด และข้าวก่ำอมก๋อย

รศ.ดร.ดำเนิน กล่าวเพิ่มว่า สำหรับพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ข้าวก่ำดอยสะเก็ด เนื่องจากมีสารที่เป็นประโยชน์ คือ แกมมาโดไรซานอลสูงกว่าข้าวขาว 2-3 เท่า และยังมีสารสีที่พบในข้าวก่ำ คือ โปรแอนโทไซยานิดิน และสารแอนโทไซยานิน และมีวิตามินอี ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในระดับที่สูง ซึ่งสารกลุ่มนี้มีสูงกว่าในข้าวทั่วไป งานวิจัยยังพบอีกว่าเมื่อแกมมาโอไรซานอลได้ทำงานร่วมกับแอนโทไซยานินจะมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารชะลอความแก่ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดมะเร็ง โรคอ้วน ความดัน โรคหัวใจ และความจำเสื่อม จึงเหมาะแก่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย

สำหรับลักษณะพันธุ์ข้าวเหนียวดำ เป็นพืชล้มลุกวงศ์หญ้าเป็นข้าวเหนียวตอบสนองต่อช่วงไวแสง ระบบรากแบบ Fibrous Root System ลักษณะการเจริญเติบโตทางลำต้น มีการแตกกอ เฉลี่ย 9 กอ ต่อต้น มีความสูงเฉลี่ย 141 เซนติเมตร สีของลำต้นเป็นสีม่วง มีปล้องสีม่วง ส่วนเขี้ยวใบก็เป็นสีม่วงเช่นกัน รูปร่างของใบเป็นแบบใบแคบ  มีสีม่วงทั้งกาบใบและตัวใบ มีเส้นกลางใบเป็นสีม่วง ลักษณะช่อดอกเป็นแบบรวง ดอกเดี่ยว สมบูรณ์เพศ กลีบดอกรองมีสีม่วง และกลีบดอกมีสีม่วงเช่นกัน เกสรตัวผู้สีเหลือง เกสรตัวเมียสีม่วง

ลักษณะของเมล็ดมีเปลือกสีม่วง เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วง เมล็ดเรียวยาว ขนาดเมล็ดกว้าง 0.33 เซนติเมตร ยาว 0.97 เซนติเมตร ส่วนจำนวนเมล็ดต่อรวงเฉลี่ย 120 เมล็ด อายุการออกดอก 86 วัน มีระยะเวลาการบานดอกจากกอแรกถึงการบาน 90 เปอร์เซ็นต์ นาน 15 วัน

ผู้สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยข้าวก่ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ โทร.0-5394-4045