ผักอินทรีย์ส่งนอก วราภรณ์-บุญชัย การพีระยศ แนะทำไม่ยากแต่ต้องซื่อสัตย์

แปลงปลูกผัก

ผักอินทรีย์ หรือ ผักที่ปลอดสารเคมี กำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ กระแสการบริโภคผักปลอดสารเคมี ในทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ในต่างประเทศเขามองว่าสุขอนามัยประชากรของเขาต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อาหาร พืชผัก สินค้าอุปโภคบริโภคจะต้องไร้สารพิษ ดังนั้น การผลิตพืชผักและสินค้าเกษตรของไทยจำเป็นจะต้องขานรับกระแสนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลก ผักอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ

คุณบุญชัย การพีระยศ

คุณวราภรณ์ กับ คุณบุญชัย การพีระยศ สองคู่ทุกข์คู่ยาก ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ผู้ซึ่งปลูกผักอินทรีย์ส่งบริษัทที่จัดส่งพืชผักไปต่างประเทศ กล่าวว่า การทำผักอินทรีย์ไม่ยากแต่ต้องซื่อสัตย์กับตนเอง ต้องมีความอดทนให้มากๆ รักที่จะทำผักอินทรีย์ต้องไม่โกหกและต้องไม่ขอผลัดผ่อนกับตนเองเป็นอันขาด หากขอผลัดผ่อนกับตนเอง มีข้อแม้กับตนเองได้ ครั้งที่ 1 ก็จะมีครั้งที่ 2 ที่ 3 ตามมา

ข้อแม้ที่ขอผลัดผ่อนก็คือ ขอใช้สารเคมีเพียงครั้งเดียว หากใจอ่อนก็หมายถึงความล้มเหลวของการทำผักอินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว และยิ่งทำผักอินทรีย์ส่งต่างประเทศยิ่งแล้วใหญ่ ในต่างประเทศเขาเข้มงวดกับเรื่องของสารเคมีมาก ถ้าไม่ทำตามกฎข้อบังคับของเขา โอกาสที่จะเสียตลาดลูกค้าต่างประเทศมีสูงมาก ดังนั้น ทำผักอินทรีย์จึงต้องซื่อสัตย์กับตนเอง

คุณวราภรณ์ การพีระยศ

คุณวราภรณ์ เล่าถึงความเป็นมาก่อนที่จะก้าวมาสู่การปลูกผักปลอดสารเคมีจริงๆ จังๆ ว่า เดิมทีเป็นชาวอำเภอดำเนินสะดวก มีอาชีพปลูกผักมาก่อน แต่เป็นการปลูกผักใช้สารเคมีเต็มรูปแบบ ต่อมาย้ายถิ่นที่ทำกินมาปลูกผักที่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อแห่งนี้

“มาอยู่ที่นี่ครั้งแรกก็ยังปลูกผักที่ใช้เคมีก่อน ในปีนั้นเองสุขภาพร่างกายเราทั้งสองไม่ดี ไปตรวจเลือดพบว่าเลือดมีสีน้ำเงินเป็นอันตราย สาเหตุมาจากได้รับสารเคมี เข้าไปในร่างกายมากนั่นเอง”

คุณวราภรณ์ กล่าวว่า พอทราบว่าในร่างกายมีสารพิษก็ตกใจ คราวนั้นตัดสินใจเลยว่าจะเลิกปลูกผัก แต่มาติดตรงที่ว่าเรามีอาชีพปลูกผัก ถ้าไม่ให้ปลูกผักแล้วจะปลูกอะไร ปลูกผักไม่กี่เดือนก็มีรายได้ ปลูกพืชอื่นใช้เวลานานกว่าจะได้เงินในระยะเวลาสั้นๆ จะเอาค่าใช้จ่ายที่ไหนมาหมุนในครอบครัว พอดีกับที่ทาง อาจารย์ปัญญา พวงสวัสดิ์ แนะนำให้รู้จักกับบริษัทที่รับซื้อพืชผักอินทรีย์จากเกษตรกร เพื่อนำส่งไปยังประเทศสิงคโปร์เร าสองคนได้รับทราบถึงวิธีการปลูกผักอินทรีย์อย่างละเอียด ก็เห็นว่าทำไม่ยาก จึงตัดสินใจหันมาปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมีเลย

ช่วยกันทำความสะอาดและนำผักบรรจุถุงส่งบริษัท

ทางบริษัทส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูพื้นที่แปลงปลูกผักของเรา เอาผัก เอาดิน เอาน้ำ ไปตรวจ แล้วก็แนะนำให้เริ่มทำแปลงปลูกผักอินทรีย์

คุณวราภรณ์ กล่าวอีกว่า บริษัทแนะนำให้พักแปลงปลูกผัก 3 ปี ระยะเวลา 3 ปี เราก็ยังปลูกผักเช่นเดิมแต่เขาจะยังไม่รับซื้อผักจากเรา ซึ่งเราจะต้องงดใช้สารเคมีในแปลงผักของเราสิ้นเชิง บริษัทเขาจะส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจทุกปี

จนกระทั่งปีที่ 3 แปลงปลูกผักของเราผ่านการตรวจสอบจากบริษัท จึงเริ่มปลูกผักอินทรีย์อย่างจริงจังเพื่อส่งบริษัท ถึงตอนนี้บริษัทจะเข้ามารับซื้อผลผลิตพืชผักถึงไร่เลย นัดหมายวันเวลาการเก็บผัก ถึงเวลาบริษัทก็จะเอารถห้องเย็นมารับผักที่เก็บจากแปลงไปสดๆ

ทำความสะอาดผัก

บริษัทจะกำหนดชนิดผักให้ปลูก แต่เราก็ต้องเลือกผักที่เหมาะสมกับพื้นที่และฤดูกาลด้วย ต้องดูว่าฤดูนี้ ช่วงนี้ ต้องปลูกผักอะไร บริษัทกำหนดให้ปลูกผัก 17 ชนิด ต่อฤดูกาล เมื่อเราแจ้งความประสงค์ชนิดของผักที่จะปลูก บริษัทก็จะกำหนดแผนการปลูกให้มา ถึงตอนนี้เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปลูกผักให้ได้โดยไม่ใช้สารเคมีเลย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากทางบริษัทเขาตรวจพบว่าเราแอบใช้สารเคมี เป็นการผิดเงื่อนไขต่อกัน บริษัทมีสิทธิ์ยกเลิกรับซื้อผัก หมายถึง เราเสียโอกาสและเสียตลาดรับซื้อที่ดีไป ฉะนั้น ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและซื่อสัตย์ต่อบริษัทที่รับซื้อผลผลิตด้วย

คุณวราภรณ์ บอกว่า ในเนื้อที่ทั้งหมด 17 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็นปลูกลิ้นจี่ 11 ไร่ ปลูกผัก 6 ไร่ สมาชิกในครัวเรือนมี 4-5 คน ก็มาช่วยกันทำงาน การปลูกผักอินทรีย์นั้นเริ่มต้นจากการไถแปลงปลูกก่อน ในพื้นที่ 6 ไร่ไถครั้งแรกหว่านปุ๋ยหมักให้ทั่วแปลง ประมาณ 100 ตัน แล้วไถกลบด้วยผาล 3 ไถแปรด้วยผาล 7 จากนั้นก็ตีร่องปลูกผัก

แปลงปลูกผัก

เริ่มจากผักกวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ข้าวโพดหวาน คะน้า และผักกาดหอม พอเข้าเดือนพฤศจิกายน ตลาดต้องการผักสลัด ก็ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักสลัดจากทางเชียงใหม่มาทดลองปลูก ปรากฏว่าพื้นที่ในเขตบ้านอ่างหิน สามารถปลูกผักสลัดจากทางเหนือได้ผลผลิตดี ถึงตอนนี้มีเพื่อนบ้านมาดูงานก็แนะนำให้เขาทำผักอินทรีย์บ้าง มีหลายๆ แปลงที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักอินทรีย์กับเรา

คุณวราภรณ์ บอกว่า ปัญหาแมลงศัตรูผักจะใช้เชื้อชีวภัณฑ์ ใช้สารสมุนไพรตะไคร้หอม สาบเสือ เสือหมอบ ใบน้อยหน่าเหล่านี้มาไล่แมลง นอกจากนี้ ยังทำน้ำส้มควันไม้ใช้เองอีกด้วย

“การทำผักอินทรีย์ต้องขยัน อย่าขี้เกียจ ถ้าเราฉีดสารสมุนไพรวันนี้ ตรวจดูวันรุ่งขึ้น ยังพบว่ามีแมลงศัตรูผักอยู่อีกก็ต้องฉีดซ้ำ ซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าแมลงศัตรูผักจะหนีไป ตะไคร้หอมจะทิ้งไม่ได้เลยควรปลูกไว้รอบๆ แปลง พบแมลงมาลงผักก็เดินเอาไม้ตีกอตะไคร้หอมให้กลิ่นน้ำมันหอมระเหยออกมา จะช่วยไล่แมลงได้อีกทางหนึ่ง”

นอกจากนี้ ตัวห้ำ ตัวเบียน แมงง่าม ยังช่วยกำจัดแมลงศัตรูผักได้ กบ เขียด คางคก ก็ช่วยกำจัดแมลงได้ดี เราต้องรักมันอย่าไปรังเกียจมัน วิธีการนี้จะต่างจากการใช้สารเคมี

ผักในแปลงปลูก

“แรกๆ ใจไม่ค่อยดี เพราะเราเคยทำผักเคมีมาก่อน พอผักโตขึ้นมาได้ประมาณ 1 ฟุต ถ้าใช้สารเคมีก็แป๊บเดียวแมลงหายผักยังสวยเหมือนเดิม แต่พอมาทำแนวอินทรีย์ ผักโต 1 ฟุต แมลงมากินใบผักเป็นรูๆ มันทำให้เราใจไม่ค่อยดี ไปติดต่อให้บริษัทเข้ามาดู เขาก็แนะนำให้ใช้สารสมุนไพร และเชื้อชีวภัณฑ์ต่างๆ”

คุณวราภรณ์ บอกด้วยว่า ตอนแรกยังไม่รู้จุด แต่พอทำไปและได้รับคำแนะนำจากบริษัท ทดลองทำเองดูบ้าง ก็ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเองได้ ในช่วงแรกทำผักได้ครึ่งทิ้งครึ่ง แต่ยังพอมีกำไร ซึ่งการปลูกผักอินทรีย์หากเสียครึ่งหนึ่งยังได้กำไรแม้ไม่มากนัก แต่สามารถเรียกราคาได้เอง หากทำเคมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อให้ราคาเท่าไรก็เท่านั้น ทำผักอินทรีย์ต้องทำสัญญากับผู้รับซื้อ

“ผักที่ไร่ วิธีเก็บและส่งให้ลูกค้าอาจจะไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งที่อื่นเขาอาจต้องพิถีพิถันสักหน่อย แต่กับของที่นี่ทำผักส่งประเทศสิงคโปร์ บางคนส่งออกไปเป็นผัก GAP เน้นความสะอาด แต่ถ้าเป็นผักอินทรีย์มีดินติดไปบ้าง เป็นการยืนยันว่าผักเราปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีจริงๆ ไม่มีการปรุงแต่งสารอะไรเพิ่มเติม เพราะเขาจะตรวจวิเคราะห์ดินที่ติดอยู่กับผัก”

คุณวราภรณ์ บอกด้วยว่า หลังจาก 3 ปี ถ้าเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายได้ มีความตั้งใจทำผักอินทรีย์จริงๆ เราก็จะประสบความสำเร็จ หลักสำคัญคือ ขอให้เราเรียนรู้อย่างจริงจังในเรื่องของแมลงศัตรูผัก ต้องเรียนรู้วงจรพืชที่ปลูก วงจรชีวิตแมลงศัตรูผัก ต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะกำจัดมันได้ รุ่นปู่ย่าของเราท่านก็ปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี เขายังปลูกกันได้ แถมได้ผักสวยอีกด้วย เราจึงต้องหันกลับไปยังจุดนั้นให้ได้

ยิ่งปัจจุบันมีเชื้อชีวภัณฑ์คุณภาพดีเทียบเท่าเคมีตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ เราต้องขวนขวายเรียนรู้ให้ได้ แล้วนำกลับมาพิจารณาในพื้นที่ของเราว่าจะใช้อย่างไหนถึงจะดี