“เก๊กฮวย” พืชทางเลือก สรรพคุณมาก สร้างรายได้เป็นอย่างดีให้เกษตรกร

ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม หากใครเดินทางมาท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ถ้ามีโอกาสเชิญเที่ยวชมแปลงเก๊กฮวยบ้านอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังชูช่อดอกสวยงาม

คุณภูสิทธิ อินเหลือละ หรือ คุณขาว บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 2 บ้านอมลอง ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง ซึ่งปลูกประมาณ 1 ไร่และ คุณจรินทร์ทิพย์ ศรีวรรณะ หรือ คุณนก บ้านเลขที่ 88 หมู่บ้านเดียวกัน ปลูกประมาณ 3 งาน ผู้ปลูกดอกเก๊กฮวย ให้ข้อมูลว่า การปลูกดอกเก๊กฮวยของเกษตรกรบ้านอมลองนั้น จะเริ่มปลูกโดยถือฤกษ์วันพืชมงคลของทุกปี เป็นวันเริ่มต้นปลูก และจะเริ่มเก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน การปลูกจะใช้หน่อที่แตกจากต้นเดิมมาปลูก เมื่อเก็บดอกสดแล้วจะนำไปอบด้วยเตาฟืนแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม

ขณะนี้ทางสถาบันตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (IQS) ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กำลังทำงานวิจัยในส่วนของการใช้เตาอบแบบใช้แก๊สและไฟฟ้าอยู่ ต่อไปคงมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่นี้

หลังอบ จากดอกเก๊กฮวยสด 7-8 กิโลกรัม จะได้เก๊กฮวยแห้ง ประมาณ 1 กิโลกรัม โดยจะมีผู้ซื้อมารับถึงที่ ในราคากิโลกรัมละ 1,600 บาท ใน 1 ไร่ ปีที่แล้ว คุณขาว บอกว่า เก๊กฮวยงามมาก ได้ผลผลิตเก๊กฮวยแห้ง จำนวน 300 กิโลกรัม แต่ปีนี้ผลผลิตอาจจะได้น้อยกว่า สังเกตจากการเจริญเติบโต ไม่งามเหมือนปีที่แล้ว ส่วนคุณนกจะมีญาตินำไปขายให้ที่ตลาดต้นลำไยในตัวเมืองเชียงใหม่

ดอกเก๊กฮวย
ดอกเก๊กฮวย

มาดูข้อมูลทางวิชาการกันครับ เก๊กฮวย มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักที่ใช้เป็นยา ได้แก่ ดอกเก๊กฮวยสีขาว และดอกเก๊กฮวยสีเหลือง สำหรับสายพันธุ์อื่น ก็เช่น ดอกเก๊กฮวยป่า โดยคุณสมบัติเด่นของเก๊กฮวยก็คือ มีกลิ่นฉุน มีรสขมและรสหวาน มีฤทธิ์เป็นยาเย็น เก๊กฮวยเป็นพืชดั้งเดิมของประเทศจีนและญี่ปุ่น แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไปทั่วในประเทศกัมพูชา ลาว รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งจะเพาะปลูกได้ดีในพื้นที่สูงของประเทศ โดยมีการจำหน่ายเป็นดอกสด สำหรับดอกเก๊กฮวยที่นำมาใช้ควรเป็นดอกสีขาวหรือดอกสีเหลือง และไม่ใช่สายพันธุ์ที่เก็บมาจากในป่า เพราะอาจเป็นคนละชนิดกัน

ดอกเก๊กฮวย มีสารพวกฟลาโวนอยด์ สารไครแซนทีมิน สารอะดีนีน สตาไคดวีน โคลีน กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ช่วยขยายหลอดเลือด ลดการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

ประโยชน์ของน้ำเก๊กฮวย ช่วยดับกระหาย เพิ่มความสดชื่น ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

เก๊กฮวย สรรพคุณทางยาช่วยขับเหงื่อ จากงานวิจัย พบว่า สารสกัดจากดอกเก๊กฮวยมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดต่างๆ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว ช่วยป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ช่วยป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดตีบ

นอกจากนี้ ยังช่วยบำรุงโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (เก๊กฮวยดอกเหลือง) ช่วยแก้อาการตาบวมแดง ปวดตา มองเห็นไม่ชัด ตาเบลอ ตามัว แก้อาการตาอักเสบ ด้วยการใช้ดอกสดตำแล้วนำมาประคบภายนอกดวงตา ช่วยแก้อาการปวดศีรษะเนื่องจากการกำเริบของธาตุในตับ ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย (เก๊กฮวยดอกเหลือง)

 

วิธีทำน้ำเก๊กฮวย

สูตรการทำน้ำเก๊กฮวย อย่างแรกให้เตรียมดอกเก๊กฮวยที่ล้างให้สะอาด นำไปผึ่งไว้ก่อนบนตะแกรง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ หรือจะใช้แบบสำเร็จรูปเลยก็ได้ ใช้หม้อสแตนเลส ใส่น้ำประมาณ 3 ลิตร ตั้งบนไฟแรง ขณะรอน้ำเดือดให้ล้างใบเตยหอม ประมาณ 5 ใบ ที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาตัดเป็นท่อนสั้นๆ (ประมาณ 3 ท่อน) เมื่อน้ำเดือดให้ใส่ใบเตยลงไป แล้วปิดฝาหม้อทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที (ตรงนี้จะช่วยทำให้น้ำเก๊กฮวยหอมขึ้น)

ดอกเก๊กฮวยที่อบแล้ว
ดอกเก๊กฮวยที่อบแล้ว

เมื่อน้ำใบเตยเดือด ถ้าต้องการให้น้ำเก๊กฮวยมีสีเหลืองน่าดื่มก็ทุบเมล็ดพุดจีน (มีขายตามเยาวราช) ห่อใส่ผ้าขาวบางลงไปชงจนได้สีตามต้องการ ซึ่งตอนนี้ให้เปิดฝาหม้อทิ้งไว้ (ไม่ควรปิดฝาหม้อ เพราะเมล็ดพุดจะมีกลิ่น) ให้ตักใบเตยทิ้งไปและเอาห่อเมล็ดพุดออกจากหม้อ ใส่น้ำตาลทราย (ไม่ฟอกสี) ประมาณ 200 กรัม ลงในหม้อ แล้วคนน้ำตาลให้ละลาย เมื่อได้ความหวานที่ต้องการแล้วให้ปิดไฟหม้อ ใส่ดอกเก๊กฮวยที่เตรียมไว้ ประมาณ 30 กรัม ใส่ลงไปในหม้อ แล้วใช้ทัพพีคนเบาๆ ประมาณ 1 รอบ เพื่อให้ดอกเก๊กฮวยกระจายทั่วหม้อ แล้วรีบปิดฝา ตั้งไว้จนเย็นแล้วกรองเอากากของดอกเก๊กฮวยออก ก็จะได้น้ำเก๊กฮวยที่มีสีน่าดื่ม เสร็จแล้ววิธีการทำน้ำเก๊กฮวย จากนั้นก็นำมากรอกใส่ขวด แช่เย็นไว้ดื่ม

เตาอบดอกเก๊กฮวย ภูมิปัญญาชาวบ้าน
เตาอบดอกเก๊กฮวย ภูมิปัญญาชาวบ้าน

คำแนะนำ

สูตรต้มน้ำเก๊กฮวย เมล็ดพุด 1-2 เมล็ด จะให้น้ำสีเหลืองกำลังดี ถ้า 3 เมล็ด จะออกสีเหลืองมาก วิธีทำน้ำเก๊กฮวยแบบถูกวิธีห้ามเคี่ยวดอกเก๊กฮวย เพราะจะทำให้น้ำมีรสขมได้ การกรองดอกเก๊กฮวยออกห้ามบี้เด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำมีรสขมได้ ถ้าต้มน้ำดอกเก๊กฮวยแล้วเปรี้ยว สาเหตุอาจมาจากการใส่ดอกเก๊กฮวยมากเกินไป หรือการใช้เวลาต้มนานจนเกินไป การชงเก๊กฮวยแบบชงชาจะให้รสชาติที่ดีกว่าการนำมาต้มในน้ำเดือดนานๆ ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย มีอาการท้องเสียง่าย ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร การดื่มชา เก๊กฮวยอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น

คุณรัชนีวรรณ เป็งพรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร
คุณรัชนีวรรณ เป็งพรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร

การปลูกดอกเก๊กฮวย ถือเป็นพืชทางเลือกที่สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับหมู่บ้าน ช่วยให้เศรษฐกิจของหมู่บ้านหมุนเวียน มีการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ บ้านอมลอง ยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดี ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ โทร. (089) 557-2965