โรงเรียนโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง นาผือ สอนเด็กเลี้ยงผึ้ง ทางเลือกสร้างอนาคต

ไม่น่าเป็นเรื่องแปลก หากโรงเรียนหลายแห่งเปิดหลักสูตรเกษตรกรรม เพื่อสอนนักเรียน โดยมีเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของอาชีพ ไว้รองรับนักเรียนที่มีโอกาสศึกษาต่อไม่มากนัก

ที่โรงเรียนบ้านโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง หมู่ที่ 9 บ้านโคกสวาสดิ์ ตำบลนาผือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองและเขียนขึ้นโดยความเห็นจากครูหลายท่านของโรงเรียน เป็นหลักสูตรการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีเพียงไม่กี่โรงเรียนในประเทศที่มีหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งสอน

เท่าที่ทราบ โรงเรียนบ้านโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง มีหลักสูตรนี้ขึ้น ก็เพราะ ดร.สมพงษ์ สุรารักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งที่ผ่านมา ดร.สมพงษ์ เคยริเริ่มหลักสูตรนี้ เมื่อครั้งยังสอนอยู่สถานศึกษาแห่งอื่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อหวังให้เป็นต้นแบบและสานต่อเจตนารมณ์ให้เด็กนักเรียนมีทางเลือกในสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง ในปี พ.ศ. 2548 จึงนำแนวคิดนี้มาดำเนินการอีกครั้ง โดย ดร.สมพงษ์ บอกว่า แม้จะเคยเริ่มดำเนินการในโรงเรียนแห่งอื่นมาก่อน แต่เมื่อย้ายไปยังโรงเรียนอื่น ก็จะถ่ายทอดให้กับครูที่โรงเรียนเดิมสานต่อ เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเด็ก ครอบครัว และชุมชน

แท้ที่จริง โรงเรียนบ้านโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง มีกิจกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจหลายชนิดนอกเหนือจากการเลี้ยงผึ้ง เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกผักสวนครัวปลอดสาร การปลูกไม้ผล โดยตั้งเป้าเพิ่มกิจกรรมทางการเกษตรอีก 3 ชนิด คือ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ และการเลี้ยงจิ้งหรีดหรือกุ้ง

สำหรับการเลี้ยงผึ้ง เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียน นำเข้ามาริเริ่มในปี พ.ศ. 2548 โดยศึกษาข้อมูลนานเกือบ 1 ปี จึงเริ่มลงมือเลี้ยงผึ้งจริงจังในปี พ.ศ. 2549 โดย ดร.สมพงษ์ บอกว่า พื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องศึกษาสภาพพื้นที่ให้ดีก่อน โดยเฉพาะแหล่งอาหารของผึ้ง เพราะหากไม่มีแหล่งอาหาร การดูแลผึ้งค่อนข้างยุ่งยาก อาจต้องเคลื่อนย้ายผึ้งไปที่ที่ใกล้แหล่งอาหาร หรือต้องทำอาหารให้กับผึ้งเอง

“สภาพพื้นที่เท่าที่ศึกษา พบว่า พื้นที่ในจังหวัดอำนาจเจริญ เหมาะกับการเลี้ยงผึ้ง เพราะมีแหล่งพืชอาหารที่สำคัญของผึ้ง เช่น ดอกกระถินทุ่ง ดอกหญ้า ดอกข้าว และดอกไม้นานาชนิด ซึ่งให้เกสรที่เป็นอาหารสำคัญของตัวอ่อนผึ้ง มีดอกสาบเสือ ดอกนุ่น ดอกมะม่วง ดอกลำไย และดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดที่สามารถให้น้ำหวาน หรือ น้ำผึ้งได้”

ในโครงการจัดการเรียนการสอนการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง ได้จัดทำเป็นหลักสูตรสาระเพิ่มเติม ส่งเสริมให้ครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง มีการสอดแทรกคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี และมีน้ำใจ โดยประยุกต์ใช้คุณธรรมจากการปฏิบัติงานของนักเรียน และสังคมชีวิตภายในรังผึ้ง ให้เกิดขึ้นแก่นักเรียน และเน้นให้สัมพันธ์กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ขั้นตอนและเทคนิคในการเลี้ยงผึ้งพันธุ์

  1. ซื้อพันธุ์ผึ้งและกล่องเลี้ยง ราคาประมาณ 2,500 บาท ต่อ 1 กล่อง (รัง)

2. ดำเนินการเลี้ยงผึ้ง เพื่อเพิ่มประชากรผึ้งงานให้มีจำนวนมากๆ เพื่อพร้อมเก็บน้ำหวาน

3. ย้ายผึ้ง เพื่อเก็บน้ำหวานตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป โดยเก็บน้ำหวานจากดอกสาบเสือ ดอกนุ่น และดอกมะม่วง (ระยะนี้จะทำการสลัดน้ำผึ้ง โดยใช้ถังสลัดน้ำผึ้ง 3-4 ครั้ง)

4. ย้ายผึ้ง เพื่อเก็บน้ำหวานดอกลำไยที่จังหวัดลำพูน ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนเมษายน ซึ่งกลุ่มเยาวชนคนรักษ์ผึ้งโคกสวาสดิ์เป็นตัวแทนเดินทางไปพัก เพื่อสลัดน้ำผึ้งที่จังหวัดลำพูน ประมาณ 40-45 วัน

5. ย้ายผึ้งและนำผึ้งกลับจังหวัดอำนาจเจริญ และนำผึ้งเก็บน้ำหวานจากดอกไม้ป่านานาพันธุ์ในช่วงเดือนเมษายน ภายในจังหวัดอำนาจเจริญ

6. เตรียมเลี้ยงผึ้ง เพื่อเพิ่มประชากรและขยายพันธุ์ เพื่อเลี้ยงในรอบปีต่อไป

ขั้นตอนการสลัดน้ำผึ้ง การกรอง การบ่ม และการบรรจุน้ำผึ้ง

  1. การเตรียมสลัดน้ำผึ้ง -ตรวจสภาพคอนน้ำผึ้งภายในรังที่ปิดฝาหลอดรวงมาตรฐาน (มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์)

-เตรียมอุปกรณ์สลัดน้ำผึ้ง เช่น ถังสลัดน้ำผึ้ง แปรงปัดผึ้ง มีดปาดรวงผึ้ง ถังบรรจุน้ำผึ้ง เป็นต้น

2. ขั้นตอนการสลัดน้ำผึ้ง การกรอง การบ่ม และการบรรจุน้ำผึ้ง

-นำคอนน้ำผึ้งมาตรฐานออกจากรัง

-ใช้มีดปาดไขเปิดรวงน้ำผึ้งออก

-นำคอนน้ำผึ้งเข้าถังสลัด และหมุนเหวี่ยงเพื่อสลัดน้ำผึ้ง

-กรองน้ำผึ้ง โดยใช้ถังกรองที่สะอาด

-บ่มน้ำผึ้ง เพื่อไล่ความชื้นโดยใช้หลอดไฟ ประมาณ 7 วัน

-บรรจุน้ำผึ้ง ติดสลาก คิดคำนวณต้นทุน และจำหน่าย

ในการจำหน่าย ดร.สมพงษ์ บอกว่า เพราะความจริงจังในการเลี้ยงผึ้ง เพื่อเก็บน้ำผึ้งขาย ทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้ง ได้รับเลือกเป็น “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์” และของฝากที่มีคุณค่าจากจังหวัดอำนาจเจริญ จัดหน่ายที่โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ ภายในจังหวัดอำนาจเจริญ ราคาจำหน่ายน้ำผึ้ง ประมาณ 250-300 บาท ต่อ 1 ขวด หรือ 1 กิโลกรัม

“โครงการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น นักเรียนได้ปฏิบัติจริง สามารถคิดวิเคราะห์ มีความสุขในการร่วมกิจกรรม มีรายได้ระหว่างเรียน นักเรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ มีการขยายเครือข่ายสู่โรงเรียนต่างๆ กลุ่มเยาวชนคนรักษ์ผึ้งโคกสวาสดิ์ และกลุ่มเกษตรกรกว้างขวาง เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชุมชน คณะครูและนักเรียนโรงเรียนต่างๆ”

เด็กชายชิติพัทธ์ ปัสสา หรือ น้องเสก เล่าว่า เริ่มเลี้ยงผึ้งตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เริ่มแรกกลัวผึ้งต่อย แต่ตอนนี้ไม่กังวลแล้ว เพราะรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้ผึ้งมาต่อย โดยการให้น้ำหวานกับผึ้ง จากนั้นนำที่พ่นควันมาพ่นใส่ผึ้ง เพื่อให้ผึ้งดุน้อยลง และกรณีที่อาหารของผึ้งไม่เพียงพอ ก็สามารถทำขึ้นเองได้ โดยการนำน้ำผสมน้ำตาลให้กลายเป็นน้ำหวาน เทลงไปในถาด ควรมีกิ่งไม้วางพาดไว้ เพื่อให้ผึ้งเกาะกิ่งไว้กินน้ำหวาน ไม่อย่างนั้นผึ้งอาจจะจมลงไปที่น้ำหวานก็ได้

เด็กหญิงอรสา สุขปลั่ง หรือ น้องแพน บอกว่า จากการเลี้ยงผึ้ง ทำให้เราได้รู้หลายอย่าง เช่น รู้จักนางพญาผึ้ง ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีเพียง 1 ตัวต่อรัง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝูง ในแต่ละวันจะต้องดูแลผึ้ง โดยการเช็คว่าไข่ผึ้งอยู่ดีหรือไม่ โดยสังเกตจากไข่ที่อยู่ในคอนสีขาวๆ ซึ่งระยะจากไข่ก็จะเติบโตเป็นตัวหนอน จากนั้นจึงเติบโตเป็นผึ้ง นอกจากนี้ ยังต้องสังเกตอาหารของผึ้ง เช่น ดอกไม้ ว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ ต้องผสมน้ำหวานให้ โดยเฉพาะฤดูฝนที่ออกไปหาอาหารเองได้น้อยครั้งมาก จึงต้องหมั่นสังเกตให้มาก โดยทั้งหมดที่ทำได้และเป็นความรู้ ก็ได้มาจากตำราที่ครูเขียนขึ้นเป็นตำราเรียน

ด้าน เด็กชายนฤเทพ เรืองวงศ์ หรือ น้องเต้ย กล่าวว่า ครอบครัวทำการเกษตร ได้แก่ ทำนา ปลูกผัก ในเวลาว่างจะออกไปช่วยพ่อแม่ดำกล้าในนา และเกี่ยวข้าวด้วยตัวเอง แม้ว่าจะร้อนหรือเหนื่อย แต่ก็พร้อมช่วยเหลือพ่อแม่ให้งานเสร็จสมบูรณ์ และคิดว่า หากไม่ได้มีความรู้ทางด้านการเกษตรติดตัวไว้เลย อนาคตอาจลำบากได้

สำหรับ การเลี้ยงผึ้งของโรงเรียนโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มเยาวชนคนรักษ์ผึ้งโคกสวาสดิ์ และกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงผึ้งอำนาจเจริญ เพื่อพัฒนาเทคนิคการเลี้ยง การขยายพันธุ์ผึ้ง และการเก็บน้ำผึ้ง ได้อย่างมีประสิทธิภาพระดับประเทศ มีเครือข่ายการจำหน่ายน้ำผึ้งบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผึ้งส่งจำหน่ายออกไปยังต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2560 ได้น้ำผึ้งรวมประมาณ 150 ถัง ถังละ 300 ขวด (กิโลกรัม) มีการจำหน่ายพันธุ์ผึ้งให้เกษตรกรและโรงเรียนต่างๆ ปีละ 150-200 กล่อง (ราคา 2,500-3,000 บาท ต่อกล่อง) และน้ำผึ้งบริสุทธิ์ของโรงเรียนและเครือข่าย ได้รับการคัดเลือกเป็น “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เป็นของฝากที่มีคุณค่าจากจังหวัดอำนาจเจริญ

หากสนใจเข้าเยี่ยมชมหรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง โรงเรียนโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง ยินดีต้อนรับ ติดต่อได้ที่ ดร.สมพงษ์ สุรารักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง โทรศัพท์ 081-760-4604 หรือประสานงานไปที่ โรงเรียนบ้านโคกสวาสดิ์หนองสองห้องดอนแดง หมู่ที่ 9 บ้านโคกสวาสดิ์ ตำบลนาผือ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ได้ในวันเวลาราชการ