เกษตรกรสุพรรณฯ เลี้ยงโคเนื้อส่งขาย จัดการฟาร์มแบบมีระบบ สร้างรายได้ตลอดปี

ปัจจุบันการเลี้ยงโคเนื้อเป็นที่สนใจของใครหลายๆ คน เพราะได้มีการนำมาปรับเปลี่ยนการเลี้ยงให้ง่ายต่อการจัดการมากขึ้น คือการเลี้ยงแบบยืนโรงโดยที่ไม่ต้องปล่อยโคให้ออกไปอยู่ในทุ่งกว้างเหมือนเช่นสมัยก่อนที่ทำกันมา จึงทำให้ผู้เลี้ยงมีเวลาว่างไปประกอบสัมมาอาชีพอื่นได้ ส่งผลให้การเลี้ยงโคสมัยนี้ทำเป็นอาชีพเสริมได้อย่างไม่มีอุปสรรคอีกด้วย

ซึ่งโคที่เลี้ยงเกษตรกรจะเลือกสายพันธุ์ในแบบที่คิดว่าเหมาะกับเขาเองเป็นหลัก เพราะบางพื้นที่สามารถเลี้ยงโคได้แตกต่างสายพันธุ์กันออกไป ดังนั้น การเลือกโคให้เหมาะสมกับผู้เลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของเกษตรกรไม่น้อยทีเดียว

คุณไสว สร้อยระย้า

คุณไสว สร้อยระย้า อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 2 อยู่ตำบลหัวนา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี มีการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงโคเนื้อให้เข้ากับเขามากขึ้น โดยสมัยก่อนนั้นเลี้ยงแบบปล่อยไล่ทุ่งทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอไปดำเนินงานด้านอื่น ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบยืนโรงโดยสร้างเป็นโคขุนเพื่อส่งขายในระบบสหกรณ์ จึงทำให้มีรายได้แน่นอนและเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคง

คุณไสว เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเลี้ยงโคเนื้อแบบยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน เน้นแบบเลี้ยงปล่อยท้องไร่ท้องนาเป็นหลัก พร้อมทั้งสร้างการตลาดแบบซื้อมาขายไป ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของการเลี้ยงที่เป็นระบบเหมือนเช่นปัจจุบัน ต่อมาได้มีคนที่รู้จักได้แนะนำให้มาเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน เพื่อสร้างเป็นโคขุนเข้าระบบสหกรณ์มีการตลาดที่แน่นอน ทำให้เวลาต่อมาเขาได้ปรับเปลี่ยนและเลี้ยงเป็นระบบยืนโรงแทนการเลี้ยงแบบเก่าที่ทำมา

แปลงหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกไว้

“ช่วงนั้นก็จะเน้นแบบซื้อมาขายไปเป็นหลัก พอเลี้ยงโตได้หน่อยใครสนใจซื้อก็ขายทันที พอได้มารู้จักโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน เห็นว่าคนที่เป็นสมาชิกในระบบ เมื่อขุนโคจนได้น้ำหนักที่ได้มาตรฐานแล้ว สามารถส่งขายทำตลาดได้แน่นอน ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการตลาด จึงทำให้ได้ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงแบบยืนโรง ไม่ปล่อยแบบไล่ทุ่งเหมือนเคย ทดลองเลี้ยงมาเรื่อยๆ ก็ประสบผลสำเร็จ เลยเลี้ยงแบบนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา” คุณไสว เล่าถึงที่มา

ในช่วงแรกที่ตกลงปลงใจจะเลี้ยงเป็นโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนและโคเนื้อลูกผสมอื่นๆ คุณไสว บอกว่า ได้หาซื้อโคแม่พันธุ์เข้ามาภายในฟาร์มด้วยบางส่วน และอีกส่วนเกิดจากการผสมเทียมเองภายในฟาร์ม

เมื่อโคตัวเมียที่ผ่านการผสมเทียมตั้งท้องได้ 9 เดือนออกลูกมาแล้ว ช่วงแรกจะปล่อยให้ลูกโคอยู่กับแม่โคจนได้อายุ 7-8 เดือน จากนั้นนำลูกโคแยกออกจากแม่และมาเลี้ยงด้วยหญ้าหมัก พร้อมทั้งโรยอาหารข้นที่มีโปรตีน 12 เปอร์เซ็นต์ผสมลงไปด้วยเล็กน้อย อาหารใน 1 วัน โคกินอยู่ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อตัว เลี้ยงอยู่แบบนี้จนลูกโคได้อายุ 18 เดือน จะทำการขุนเพื่อสร้างเป็นโคเนื้อให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนด จะใช้เวลาอีกประมาณ 8-10 เดือน

พื้นที่โรงเรือน

“พอโคที่เลี้ยงได้อายุตามที่กำหนดพร้อมขุน ช่วงระยะขุนจะอัดอาหารให้กินอย่างเต็มที่ พอขนาดเริ่มอ้วนตัวใหญ่ขึ้น อาหารจากที่เคยเลี้ยงอยู่ช่วงแรก 15 กิโลกรัม ต่อตัว ก็จะลดลงมาเหลือ ประมาณ 8-9 กิโลกรัม ต่อตัว จะกินไม่มากเหมือนช่วงแรกก่อนที่จะเริ่มขุน การสร้างโคขุนส่วนใหญ่เน้นเป็นโคตัวผู้ ต้องทำการตอนให้เรียบร้อย จากนั้นฉีดยาบำรุงเข้าไป พร้อมทั้งฉีดยาถ่ายพยาธิ ก่อนที่จะขุน ส่วนวัคซีนอื่นๆ ก็ทำให้ปีละ 2 ครั้ง ช่วยให้โคไม่เกิดโรคมีสุขภาพที่ดี” คุณไสว บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อส่งขายโคขุน คุณไสว บอกว่า มีการวางแผนการส่งโคเนื้อขายเป็นระบบที่ดี โดยจะแจ้งให้ทางผู้รับซื้อทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มขุน เพื่อเป็นการวางแผนการตลาดที่ชัดเจน ว่าแต่ละรุ่นจะมีโคเนื้อส่งขายกี่ตัว ซึ่งน้ำหนักเมื่อหลังขุนตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 460 กิโลกรัม

“โคที่ผ่านการขุนสวนฟาร์มผมทั้งหมด น้ำหนักที่ได้ส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้ว ก็จะได้เกิน 600 กิโลกรัมขึ้นไป ได้ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กำหนด โดยแต่ละตัวก็จะได้ราคาที่ไม่เท่ากัน อย่างช่วงไหนที่เราส่งขายโคขุนตัวนั้นมีเนื้อที่ดีราคาก็จะได้สูงขึ้น โดยเฉลี่ยต่อตัวจะขายได้อยู่ที่ 60,000-65,000 บาท และบางช่วงก็ขายได้ไปถึง 70,000 บาท ต่อตัวขึ้นก็มี ก็ถือว่าพอมาเลี้ยงด้วยระบบนี้ทำให้เรามีรายได้ค่อนข้างชัดเจน ส่วนขี้ก็นำไปทำเป็นปุ๋ยคอกใส่ในแปลงหญ้าเนเปียร์ที่ปลูก ก็ทำให้ประหยัดต้นทุนในเรื่องของการซื้อปุ๋ยมาใส่ได้ดียิ่งขึ้น” คุณไสว บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำปศุสัตว์ เพื่อเป็นอาชีพทำเงินอย่างมั่นคงนั้น คุณไสว แนะนำว่า สิ่งแรกคือให้ทำการศึกษาในเรื่องของการเลี้ยงโคให้ละเอียดเสียก่อน จากนั้นให้เลือกไปถึงสายพันธุ์ว่าต้องการเลี้ยงแบบไหน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ก็จะช่วยให้การเลี้ยงโคเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข เกิดเป็นรายได้ที่มั่นคงต่อไป

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณไสว สร้อยระย้า หมายเลขโทรศัพท์ (089) 800-9034