ตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมือง โมเดลกรมปศุสัตว์ คุณภาพดี ราคาถูกกว่าท้องตลาดถึง 4 เท่า

ตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ เป็น 1 ใน 113 ผลงาน วิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมคุณภาพ ที่นำเข้าร่วมประกวดในงานการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช. 1 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ

ตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ เป็นผลงานการวิจัยของศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ในสังกัดสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ โดยคณะผู้วิจัยประกอบด้วย คุณอำนวย เลี้ยวธารากุล คุณดรุณี โสภา คุณเจนรงค์ คำมงคุณ คุณซิมโอน ปัญญา และ คุณประเสริฐ อยู่สอน

คุณดรุณี โสภา และ คุณเจนรงค์ คำมงคุณ นำผลงานมาร่วมประกวดในงานการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2560 ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คุณเจนรงค์ คำมงคุณ หนึ่งในคณะผู้ประดิษฐ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการวิจัยพัฒนาจนได้ตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ว่า สืบเนื่องจากที่กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการวิจัยพัฒนาจนได้สายพันธุ์ไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ที่มีศักยภาพของสายพันธุ์สูงขึ้นมากกว่าเดิม และมีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรขึ้น เพื่อดำเนินการผลิตสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่สนใจ

“แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบในการส่งเสริมให้เกษตรกรเครือข่ายเพาะขยายพันธุ์ลูกไก่ คือการที่จะผลิตลูกไก่พื้นเมืองระบบฟาร์มให้ได้ผลสำเร็จคือ ตู้ฟักไข่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ แต่ตู้ฟักไข่ในระดับคุณภาพที่มีจำหน่ายในท้องตลาดนั้นจะพบว่า มีราคาแพงมาก ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงการใช้ตู้ฟักไข่ที่ดีมีคุณภาพ ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน จึงทำให้สามารถเลือกซื้อได้แต่ตู้ฟักไข่ที่มีราคาถูก คุณภาพต่ำ ดังนั้น กรมปศุสัตว์ โดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ จึงได้มีการนำองค์ความรู้ที่ครบถ้วนในด้านตู้ฟักไข่และไก่พื้นเมืองมาวิจัยและพัฒนา จนสามารถสร้างตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ ได้เป็นผลสำเร็จ”

การดำเนินงานพัฒนาตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์นี้ มีผลทำให้ได้ตู้ฟักไข่ที่มีประสิทธิภาพการฟักในระดับเดียว ตู้ฟักไข่มาตรฐานที่เหมาะสำหรับการฟักไข่ไก่พื้นเมืองทั้งพันธุ์แท้และลูกผสม และยังเหมาะสมกับสภาพเมืองไทย มีความทนทาน แข็งแรง มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 30 ปี

แต่ที่สำคัญมีราคาในการผลิตถูกกว่าที่จำหน่ายในท้องตลาดถึง 4 เท่า ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองกรมปศุสัตว์ เป็นของที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด รวมทั้งอุปกรณ์ที่ไม่มีวางขายในท้องตลาด อาทิ ชั้นวางถาดไข่ ถาดลูกไก่เกิด ใบพัดลม ฯลฯ ล้วนเกิดจากการประดิษฐ์ โดยใช้แรงงานของคนในชุมชน

ส่วนต่างๆ ของตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์

นอกจากนี้ ขนาดความจุของตู้ฟักไข่ มีหลายขนาด ตั้งแต่ 500 ฟอง ถึง 8,000 ฟอง และมีตู้ฟักไข่ถึง 3 แบบ ได้แก่ ตู้ฟักไข่ ตู้เกิดลูกไก่ และตู้ฟัก-ตู้เกิด ทำให้เกษตรกรรายย่อยและขนาดกลาง สามารถเลือกนำไปใช้ได้ตามความต้องการหรือขนาดฟาร์ม ทำให้การลงทุนไม่สิ้นเปลืองและมีความเหมาะสม

พร้อมกันนี้ยังเป็นตู้ฟักไข่ที่สร้างมาสำหรับฟักไข่ไก่พื้นเมืองเมืองไทย ซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ของประเทศไทย ทำให้มีความเหมาะสมมากกว่าการใช้ตู้ฟักไข่ไก่ไข่หรือไก่เนื้อ ซึ่งเป็นพันธุ์ไก่ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทุกปี

สำหรับตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ในส่วนของโครงสร้างของตู้ คณะผู้วิจัยได้ใช้เหล็กกล่องกันสนิม ขณะที่ผนังตู้ฟักไข่มี 2 ชั้น ทำด้วยไม้โพเมกาเคลือบขาวผิวเรียบ ส่วนโครงของชั้นวางไข่ฟักและถาดเกิดลูกไก่ ทำด้วยเหล็กกล่องกันสนิม ชั้นวางทำด้วยสังกะสีแข็งกันสนิม เพื่อให้เบา ส่วนถาดฟักไข่เป็นถาดพลาสติกสำเร็จ และถาดเกิดลูกไก่ใช้เหล็กบางแข็งชุบซิงค์กันสนิม

พร้อมกันนี้คณะผู้ประดิษฐ์ยังมีการออกแบบใบพัดลมที่สามารถทำให้การระบาย การหมุนเวียนอากาศ การกระจายอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ให้สม่ำเสมอในทุกจุดของตู้ฟักไข่มากที่สุด โดยใบพัดทั้ง 4 ใบ จะต้องมีความสมดุลและมีน้ำหนักเท่ากัน

“ส่วนระบบควบคุมอุณหภูมิ เราใช้ระบบดิจิตอล ทำให้ต้องมีแผงวงจรควบคุมการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและตัวสั่งการ (เซ็นเซอร์) ที่สมดุลกัน และมีประสิทธิภาพ โดยสามารถตั้งสั่งการให้อุณหภูมิในตู้ฟักไข่เปลี่ยนแปลงได้ในระดับไม่เกิน 0.3 องศาฟาเรนไฮต์” คุณเจนรงค์ กล่าว

การมีตู้ฟักไข่ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพแก่เกษตรกรไทยในการผลิตไก่พื้นเมืองเพื่อการค้าให้สามารถส่งตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทำให้เกิดอาชีพที่ต่อเนื่องไปอีก ไม่ว่าเครือข่ายไก่ขุน เครือข่ายโรงเชือด เครือข่ายผู้จำหน่ายไก่สด เครือข่ายร้านอาหาร ส่งผลให้มีการสร้างศักยภาพไก่พื้นเมืองเป็นอย่างมากในการแข่งขันของตลาดทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การมีอาชีพที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตู้ฟักไข่ไก่พื้นเมืองโมเดลกรมปศุสัตว์ ไปยังเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อผลิตตู้ฟักไข่จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจให้สามารถนำไปใช้ได้เพียงพอกับความต้องการ

ซึ่งผู้สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. (02) 653-4452 ในวันและเวลาราชการ