ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
แทบจะไม่น่าเชื่อว่าพืชที่อยู่ในตระกูลเฟินอย่าง “ผักกูด”จะสามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ด้วยการนำยอดอ่อน ช่ออ่อน มาทำแกงกับปลาเนื้ออ่อนน้ำจืด เช่นปลาช่อนหรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงกะทิกับปลาย่าง ลวกกะทิ และที่ดูน่าอัศจรรย์ไปกว่านั้นคือ ยังมีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ความดันโลหิตสูง
โดยธรรมชาติของผักกูดที่มีลักษณะเหมือนเฟินคือชอบขึ้นอยู่ที่ริมน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง มีใบเป็นแผงรูปขนนกคู่ขนานกัน ขณะที่ใบยังอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้นหอย ตรงส่วนยอดอ่อน คือส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหาร มีสปอร์ซึ่งอยู่ด้านหลังใบที่แก่จัดทำให้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยการแตกกอใหม่
นอกจากนั้น ยังเป็นผักที่บ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสภาวะแวดล้อม กล่าวคือ บริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นหรือแตกต้นใหม่เด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นผักที่มีสารเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กในตัวสูง ดังนั้น เมื่อรับประทานแล้วจึงได้ประโยชน์มากมายดังที่กล่าวข้างต้น
ปัจจุบัน ความนิยมรับประทานผักกูดยังมีอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผักชนิดนี้จะเจริญเติบโตดีและสมบูรณ์เฉพาะบริเวณที่ชื้นริมน้ำ อีกทั้งแหล่งปลูกควรเป็นดินทรายถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงด้านการขนส่งที่จะต้องเก็บความชื้นอย่างดีเพื่อให้ผักมีสภาพสมบูรณ์สด ใหม่ เมื่อถึงมือลูกค้า ฉะนั้น น้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยรับประทานผักชนิดนี้เหมือนเช่นผักอื่น จึงทำให้มักไม่ค่อยพบตามตลาดทั่วไป
อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะริมแม่น้ำเพชรบุรีเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ชาวบ้านหันมายึดอาชีพปลูกผักกูดจำหน่าย อาจเป็นเพราะความที่อยู่ใกล้แม่น้ำเพชรบุรีแล้วยังมีคุณสมบัติของดินที่เหมาะสม จึงทำให้สามารถปลูกผักกูดได้เป็นอย่างดี
อย่างกรณีของสามี-ภรรยาคู่นี้ คือ คุณพูนผล ศรีสุขแก้ว และคุณธนพร (ภรรยา) อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 6 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โทรศัพท์ 081-433-8310 อดีตเคยปลูกมะนาวสร้างรายได้ จนเวลาต่อมาเส้นทางการปลูกมะนาวดูจะไม่ราบรื่น เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทั้งสองไม่อาจแบกรับภาระเหล่านั้นได้อีกต่อไป จนต้องเปลี่ยนมาเริ่มชีวิตเกษตรกรรมใหม่ด้วยการปลูกผักกูด
จุดเริ่มต้นปลูก
คุณพูนผล ผู้เป็นสามีบอกว่า ความจริงตอนแรกปลูกมะนาวเป็นรายได้ ต่อมาภายหลังมีปัญหาการปลูกหลายอย่างทั้งต้นทุน ค่าแรง และโรค จึงเลิกปลูกมะนาวแล้วไม่นานพบว่าเพื่อนบ้านมีการปลูกผักกูดกันเลยโค่นมะนาวแล้วหันมาปลูกผักกูดเป็นรายได้หลัก
“เริ่มมาทำเกษตรด้วยการปลูกมะนาว ช่วงแรกถือเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ดี พอต่อมาจำนวนคนปลูกมากขึ้น การแข่งขันสูง ต้นทุนค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตลอด ค่าแรงเพิ่ม การใช้ปุ๋ยเคมีต้องเพิ่มตามจึงมีผลทำให้ดินเสีย ที่สำคัญสุขภาพไม่ปลอดภัย แล้วพอนำไปขายมีกำไรเล็กน้อย ไม่คุ้ม ทำไม่ไหว”
คุณธนพร บอกถึงความเป็นมาที่นำมาสู่การปลูกผักกูดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เมื่อ 7 ปีก่อนว่า เธอและครอบครัวชอบรับประทานผักกูด เวลาต้องการบริโภคจะต้องไปหาซื้อตามตลาด ต่อมาเห็นว่าถ้าปลูกเองแทนการซื้อจะประหยัดค่าใช้จ่าย จึงตั้งใจปลูกผักชนิดนี้ไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือน
“เห็นว่าเพื่อนบ้านปลูกกันไม่ยาก เลยหามาปลูกไว้ โดยเรียนรู้วิธีการปลูกและการดูแลจากเพื่อนบ้านที่ปลูกแล้วประสบความสำเร็จมาก่อน พอนานไปผักกูดมีการแตกพันธุ์ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้กินไม่ทันเลยเก็บไปขายตามร้านอาหาร และตลาดนัด”
เธอบอกว่า สมัยก่อนมีชาวบ้านไปเก็บผักชนิดนี้ที่ขึ้นตามริมน้ำแล้วนำไปขายที่ตลาดสด ราคากำละ 5 บาท เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีชื่อพันธุ์
ภายหลังที่คุณพูนผลได้พาเดินชมแปลงปลูกผักกูดเขาเล่าว่าได้ช่วยกับภรรยาปลูกผักกูดในพื้นที่ 5 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ พร้อมกับปลูกพืชชนิดอื่น อาทิ เงาะโรงเรียน,ทุเรียน,กล้วยเล็บมือนาง และปาล์มน้ำมัน จำนวน 300 กว่าต้น ซึ่งปาล์มที่ปลูกมีสองรุ่น รุ่นแรกมีอายุปีกว่า อีกรุ่นได้ 6 เดือน เขาบอกว่าคงต้องรออีกสัก 2 ปี จึงจะมีรายได้จากปาล์ม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าราคาดีแค่ไหน
“กล้วยเล็บมือนาง ไม่ได้มีประโยชน์แค่การบังร่มเงาให้แก่ผักกูดเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้โดยนำผลผลิตไปขาย กิโลกรัมละ 8-10 บาท ถึงแม้ราคาขายดูจะไม่มากนัก แต่ยังถือว่านำไปเป็นค่าน้ำได้
เงาะโรงเรียนปลูกไว้ ประมาณ 30 ต้น เมื่อก่อนคิดว่าจะปลูกเงาะเป็นหลัก แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเลยโค่นไปหลายต้น ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้จากเงาะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนการเก็บผักกูดขายมีรายได้ทุกวัน” คุณพูนผล บอก
จากการลองชิมเงาะโรงเรียนพบว่า มีเปลือกบาง และรสชาติหวานใช้ได้ แต่น่าสังเกตว่าขนาดจะไม่ใหญ่ เนื่องจากเป็นการปลูกไปตามธรรมชาติ
“เมื่อมาทำผักกูดกลับพบว่า ไม่มีความยุ่งยากเหมือนการปลูกมะนาวเลย ตั้งแต่เริ่มทำแปลงก็ไม่ต้องปรับดินมากนัก เพียงแค่ถากถางหญ้าและวัชพืชอื่นออกให้หมดก่อนแล้วจึงนำต้นมาปลูก พอปลูกจำนวนตามที่ต้องการแล้วจากนั้นได้นำกล้วยเล็บมือนางมาลงเป็นแถวแนว แต่ไม่แน่นมากเพื่อให้ใบกล้วยบังแสงให้แก่ต้นผักกูดบ้าง” เจ้าของสวนให้รายละเอียดเพิ่ม
การใช้ปุ๋ย
ด้านการดูแลบำรุงรักษาคุณธนพร บอกว่า เนื่องจากมีการปลูกผักกูดจำนวนมาก จึงมีการใช้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง ครั้งละหนึ่งกระสอบ (50 กิโลกรัม) นอกจากนั้น ยังใช้ปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ ขี้วัว จะใส่ครั้งละ 10 กว่าตัน โดยเทใส่ในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้พืชชนิดอื่นได้ประโยชน์ด้วย ใช้วิธีหว่านแล้วพ่นน้ำตาม
“เนื่องจากเป็นผักที่ต้องใช้ยอดขาย ดังนั้น ถ้าช่วงใดที่ยอดแตกช้าจะเน้นใช้ปุ๋ยยูเรียเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ยอดแตกออกมา พอเวลา 7 วัน ให้หลังยอดจะแตกออกมาทันที”
ส่วนเคมีเธอเปิดเผยว่า อาจต้องใช้บ้างกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันเชื้อราหรือป้องกันแมลงและหนอน เช่น ไตรโคเดอร์ม่า ใช้กันเชื้อราขี้ไก่ตามรากและบิวเวอเรีย แต่ทั้งนี้ยาที่ใช้เป็นการทำเองตามแนวทางการแนะนำของเกษตรอำเภอ
ศัตรูพืชที่ทำให้เกิดความเสียหาย
คุณธนพร บอกว่า ตั้งแต่ปลูกผักกูดมา แมลงศัตรูพืชที่พบแล้วมักสร้างความเสียหาย เช่น เพลี้ยไฟ ซึ่งจะเจอเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ได้แก้ไขปัญหาด้วยการใช้ยาแลนเนท เป็นการผสมใช้แบบอ่อนมากในอัตราส่วน น้ำ 200 ลิตร ต่อ ยา 2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 10-20 ซีซี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าการใช้พ่นในถั่วหรือแตง
“อย่างบิวเวอเรีย ผสมกับน้ำ ในอัตรา 4 ถุง ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเพลี้ยไฟและหนอน ส่วนไตรโคเดอร์ม่า ผสมกับน้ำ ในอัตรา 4 ถุง ต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา เมื่อมีการฉีดยาป้องกันเพลี้ยในแถวไหนกลุ่มไหนแล้วจะยังไม่เก็บทันที จะต้องปล่อยทิ้งไว้สัก 4 วัน จึงจะเก็บ และการฉีดพ่นยาจะทำปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น แต่ถ้าหากไม่เกิดการแพร่ระบาดจะไม่ฉีดยาเลย”
ระบบน้ำใช้สปริงเกลอร์ โดยวางระยะห่างกว้าง 4 ยาว 4 เมตร ปล่อยน้ำวันเว้นวัน ครั้งละ 1 ชั่วโมง เปิดครั้งหนึ่ง จำนวน 30 หัว แต่ละแปลงจะเปิดน้ำทิ้งไว้สัก 1 ชั่วโมง แล้วย้ายไปทีละแปลงวนไปจนครบ
การเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย
คุณธนพร ให้รายละเอียดการทำงานว่า โดยปกติเธอและสามีจะทำงานเป็นหลักเพียงสองคนเท่านั้น ปกติถ้าใช้เวลาเก็บ 1 ชั่วโมง ได้ผักกูด 10 กิโลกรัม วันใดต้องเก็บถึง 70 กิโลกรัม จะเริ่มตั้งแต่เช้า แต่ถ้าเก็บสัก 30 กิโลกรัม จะเริ่มเก็บในช่วงบ่ายไปจนถึงสักสี่โมงเย็น หรือหากลูกค้าต้องการทันที ก็สามารถเก็บให้ได้ แต่ควรมีสปริงเกลอร์ฉีดพ่นให้น้ำตลอด
“หลังจากเก็บจากต้นแล้ว ให้มัดเป็นกอแล้วนำไปแช่น้ำทันที แช่สักครู่ ประมาณ 5 นาที ห้ามแช่นานเกินไป เพราะผักจะสุกมีสีแดง จากนั้นให้เก็บขึ้นมาวางเรียงกัน ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดคลุมผักกูดที่วางเรียงกันไว้รอลูกค้ามารับ แต่ถ้าวางไว้โดยไม่คลุมผ้าผักจะเหี่ยวแล้วขายไม่ได้”
เธออธิบายต่อว่า แต่ละต้นที่เก็บยอดอ่อนที่ใช้งานออกไปแล้ว ยอดที่อยู่ติดกันซึ่งมีลักษณะโค้งงอจะเป็นยอดที่จะสามารถเก็บได้ในครั้งต่อไปอีกราว 3-4 วัน ดังนั้น ผักกูด แต่ละยอดในแต่ละต้นจะเก็บเว้นระยะเวลา 3-4 วัน แต่ไม่ควรเลยวันวันที่ 5 เพราะจะบาน
“แต่ละต้นจะมีใบ จำนวน 5 ใบ ถ้าพบใบแก่หลายใบ เช่น มีจำนวนถึง 10 ใบ ควรตัดหรือหักทิ้งเสีย โดยไม่ต้องขนไปทิ้งที่อื่น แต่ให้ทิ้งไว้ที่บริเวณนั้นเพื่อใช้คลุมความชื้นและเป็นปุ๋ย การตัดใบแก่ออกเพื่อปล่อยให้ยอดอ่อนที่กำลังโตเจริญได้อย่างรวดเร็ว มีบางคนไม่ยอมหักใบแก่ทิ้ง จึงทำให้ยอดแตกช้าและมีขนาดเล็ก”
คุณธนพร บอกต่ออีกว่า ผักกูดขยายพันธุ์ด้วยการดึงต้นอ่อนที่เธอเรียกว่าลูกที่แทงขึ้นมาจากพื้นข้างต้นแม่ออกด้วยความระมัดระวัง แล้วสามารถนำต้นอ่อนไปปลูกได้เลย ผักกูดเป็นพืชที่ตายยาก ที่สำคัญขอให้มีน้ำแล้วอย่าไปโดนแดดจัด
นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมด้วยว่าควรมีการดูแลเอาใจใส่บริเวณที่ปลูกต้องคอยหมั่นเดินดูแล้วดึงเศษวัชพืชทิ้ง แต่ห้ามใช้มีดฟันเพราะอาจไปโดนต้นอ่อนที่กำลังแตกออกมา ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งสามารถเก็บยอดไปขายได้กินเวลาประมาณไม่เกิน 6 เดือน
เธอบอกว่า ผักชนิดนี้สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญควรให้น้ำอย่างเต็มที่และควรหาร่มเงาด้วย ส่วนความสมบูรณ์ของดินที่มีความเหมาะนั้นควรเป็นบริเวณพื้นที่เป็นดินทรายสัก 70 เปอร์เซ็นต์ และช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มีผักกูดมากเมื่อผักกูดถูกฝนจะแตกยอดอ่อนกันอย่างคับคั่ง เพราะเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูงมากซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผักชนิดนี้
เก็บแล้วนำไปขายใคร ที่ไหนบ้าง
เจ้าของสวนผักกูดอธิบายถึงวิธีการเก็บการเก็บผักกูดไปขายว่า เพียงแค่เด็ดยอดที่มีความยาวจากปลายถึงตำแหน่งที่จะตัด ประมาณ 30-40 เซนติเมตร จะเก็บทุกวัน และภายในอาทิตย์หนึ่งต้องมีผักกูดส่งให้ลูกค้า ประมาณ 250 กิโลกรัม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละประมาณ 30 กิโลกรัม
“ราคาจำหน่ายจากสวนไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อย่างปีหนึ่งๆ ราคาจะทรงเท่าเดิม ประมาณ 40-50 บาท ต่อกิโลกรัม แต่อาจมีการปรับขึ้นบ้างในช่วงอากาศหนาว เพราะผักจะแตกยอดช้ามาก ส่วนราคาจำหน่ายของแม่ค้า ประมาณ 80-100 บาท ต่อกิโลกรัม”
สำหรับตลาดจำหน่ายผักกูดของคุณธนพรมีด้วยกันจำนวน 3 แหล่ง คือ ร้านอาหารในรีสอร์ต แม่ค้าในตลาดสด และแม่ค้าจากกรุงเทพฯ ซึ่งรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 250 กิโลกรัม หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน และจะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท
“อย่างเมื่อก่อน ยังมีผลผลิตน้อยไม่กล้ารับมากก็แค่ส่งละแวกแถวแก่งกระจานเท่านั้น แต่ภายหลังที่ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกแล้วสามารถเพิ่มจำนวนต้นขึ้นมาอีก จึงเริ่มรับยอดสั่งจากแม่ค้าด้านนอก ถ้าคราวใดที่แม่ค้าต้องการจำนวนมากและเกินขีดกำลังการผลิตที่ทำได้ อาจต้องร่วมกับชาวบ้านที่ปลูกรายอื่นด้วย”
ปัจจุบัน คุณธนพรไม่ได้เป็นเพียงผู้ปลูกผักกูดรายหนึ่งในอีกกว่าสิบรายในพื้นที่แก่งกระจานเท่านั้น เธอยังทำหน้าที่เป็นหมอดินอาสา แล้วยังเป็นเกษตรกรที่ขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ปี 2554 ซึ่งเป็นการรับรองโดยสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน
เจ้าของสวนผักกูดเปิดเผยอาหารที่ร้านในรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีนำไปใช้ผักกูดปรุงเป็นเมนูยอดฮิตของลูกค้าทำ ให้ติดใจสั่งกันเป็นประจำ เช่น แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ยำผักกูด หรือแม้แต่รับประทานดิบคู่กับน้ำพริกชนิดต่างๆ
“อย่างผักกูด 1 กิโลกรัม สามารถนำไปทำอาหารขายได้หลายประเภท เช่น ผัดน้ำมันหอย ราคาจานละ 100 บาท ยำผักกูด จานละ 150 บาท หรืออย่างแกงส้มผักกูด หม้อละ 150 บาท”
เป็นอย่างไร…แค่เมนูตัวอย่าง ก็ทำให้น้ำลายไหลแล้ว อยากจะบอกว่าเมนูเด็ดอย่างนี้ถ้าจะเอาสเต๊กมาแลกคงไม่ยอมแน่
ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า เจ้าผักชนิดนี้ให้ประโยชน์ทั้งคนปลูกและคนกิน แต่ดูเหมือนแผงผักตามตลาดจะหาผักกูดเจอได้น้อยมาก ดังนั้นหากใครสนใจต้องการปลูกเพื่อให้แพร่ขยายทั่วไป ลองโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ คุณธนพร ได้ที่ 081-433-8310 เธอบอกว่ายินดีให้คำแนะนำการปลูกสำหรับผู้ที่สนใจจริง