เลี้ยงกบ สร้างรายได้ ปีละแสน ที่สกลนคร

ที่บ้านน้อยจอมศรี อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำการเกษตร ทำนา ทำไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจาก “เขื่อนน้ำอูน” สำหรับทำการเกษตร ฉะนั้น ผู้ที่เดินทางไปจังหวัดสกลนคร จะพบพื้นที่เขียวชะอุ่มไปด้วยข้าวนาปรัง พืชฤดูแล้ง ตลอดจนบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงกบ ห่างตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 12 กิโลกรัม มีหมู่บ้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของเมืองสกลนคร คือ บ้านน้อยจอมศรี ต.ฮางโฮง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่มีกลุ่มอาชีพหลากหลาย อาทิ กลุ่มทำหมอนขิด กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเลี้ยงปลา และกลุ่มเลี้ยงกบ

โดยเฉพาะกลุ่มเลี้ยงกบ ที่มีมากที่สุดของจังหวัดสกลนคร กว่า 10 ราย

คุณรัตนา ศรีบุรมย์ และคุณกมลชัย ศรีบุรมย์ อยู่บ้านเลขที่ 218 ตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สองสามีภรรยา เป็นหนึ่งในกลุ่มเลี้ยงกบ ที่กบพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ กว่า 3,000 ตัว โดยคุณรัตนา เล่าว่า ก่อนเลี้ยงกบเป็นอาชีพ ได้ทำนาและทำไร่มาก่อน รวมทั้งเป็นลูกจ้างกรรมกรในตัวเมือง

“นอกจากทำนาปลูกข้าวแล้ว ชาวบ้านแห่งนี้ยังมีอาชีพเสริมคือการการเกษตรปลูกพืชฤดูแล้งเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนเลี้ยงกบ ขายพันธุ์กบเป็นส่วนน้อย เน้นขายตัวอ่อนของกบหรือฮวก (ลูกอ๊อด) เป็นส่วนใหญ่ โกยเงินเป็นล่ำเป็นสันเรียกกันว่า “เถ้าแก่น้อย” ในหมู่บ้าน”

คุณกมลชัย กล่าวอีกว่า จากที่เห็นเพื่อนบ้านทำนาและเลี้ยงปลา กบเสริมแล้วทำให้มีรายได้ จึงศึกษาและนำกบมาทดลองเลี้ยงจนเกิดความชำนาญ จากแต่ก่อนเลี้ยงเพียงไม่กี่ร้อยตัว ก็เพิ่มจำนวนเลี้ยงขึ้นมาเป็นหลายพันตัว จากเดิมไม่มีคนรู้จัก ก็มีลูกค้ามาซื้อกบถึงบ้าน บรรดาเพื่อนบ้านที่เลี้ยงกบต่างมีรายได้ต่อปีหลายแสนบาท บางรายตั้งเป้าทำกำไรจากกบตัวละ 1 บาท หากขายได้ปีละ 1 ล้านตัว ก็มีรายได้ 1 ล้านบาท

“เมื่อ  5 ปีก่อน เริ่มเลี้ยง และนำเงินทุนที่มีอยู่ไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบเหลืองหัวเขียว และกบพื้นบ้าน ประมาณ 20-30 ตัว พ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบกิโลกรัมละ 50-70 บาท ตัวขนาด 2 นิ้ว 1 กิโลกรัม ได้ประมาณ 40 ตัว ลงทุนลงแรงเลี้ยงกบในที่นาตัวเอง โดยใช้ท่อปูนชีเมนต์ร่วมกับภรรยาเพียง 2 คน”

คุณกมลชัย เล่าว่า การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เพื่อผลิตตัวอ่อนหรือลูกอ๊อด มีขั้นตอนการเลี้ยงยุ่งยากกว่าเลี้ยงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น ใจไม่สู้ เลี้ยงไม่ได้ไปไม่รอด ปัจจุบัน ตนมีกบพ่อพันธ์ จำนวน 2,000 ตัว แม่พันธุ์ 2,000 ตัวเศษ โดยกบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เหล่านี้ จะถูกนำมาเลี้ยงไว้ที่ท่อซีเมนต์ กว่า 30  ท่อ แต่ละท่อจะมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปล่อยเลี้ยงประมาณ 50-60 ตัว

ส่วนการผสมพันธุ์นั้น เริ่มจากใช้คันนาดินที่เป็นบ่อกั้นไว้ให้แล้ว นำตาข่ายไนล่อนพลาสติก ภาษาอีสานเรียก “ดาง” หรือ “ผ้าแหยง” รูถี่ มาขึงกางตาข่าย กว้าง 1.20 เมตร ความยาวแล้วแต่ขนาดคันนาเป็นมาตรฐาน ใช้ไม้ไผ่สูงขนาดเท่ากับตาข่ายค้ำยัน กั้นเพื่อขึงตาข่ายให้ตึง ป้องกันกบกระโดดหนีระยะห่าง 2 เมตร ต่อเสา และควรกั้นไว้หลายๆ บ่อเพื่อคัดแยกขนาดของกบและลูกอ๊อดออกจากกัน

“กบพันธุ์ไม่แข็งแรงเหมือนกบนาจะกระโดดเฉพาะช่วงผสมพันธุ์กันและมีฝนตก และควรเตรียมบ่อผสมพันธุ์ไว้ ตามต้องการแต่ควรเว้นระยะเนื่องจากการจำหน่ายต้องไม่ขาดช่วงหากทำพร้อมกันจะทำให้กบไข่มากทำให้ขายไม่ทัน”

วิธีการ คือ นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ ที่คัดแยกจากท่อที่เลี้ยงไว้ 4 ท่อ และตัวเมีย 4 ท่อ รวม 8 ท่อ นำตัวผู้และตัวเมียอย่างละ 200 ตัว รวม 400 ตัว ผสมเยอะไม่ได้ กบจะกระโดดหนีใส่ตาข่ายจนบาดเจ็บปากแดง

วิธีคัดแยกกบมาผสมกัน สังเกตกบตัวผู้จะคางย่นพอง ควรให้ผสมพันธุ์กันในช่วงเย็น ถ้าฝนไม่ตกให้เปิดน้ำแทนฝนจะผสมพันธุ์กันดี พอรุ่งเช้าให้แยกตัวผู้ตัวเมียกลับท่อ ถ้าแดดร้อนจัดลูกอ๊อดจะขยายพันธุ์รวดเร็ว ถ้าไม่มีแดดต้องรอข้ามคืน ตกเย็นในวันเดียวกันจะเห็นลูกอ๊อดลอยน้ำในบ่อผสม ช่วงนี้ลูกอ๊อดจะกินคราบไข่ในบ่อผสมก่อน 2 วัน ถึงจะให้อาหารเป็นหัวอาหารเมล็ดที่ใช้เลี้ยงปลา แล้วนำไปลงบ่ออนุบาลและอีก 5 วัน ก็นำลูกออ๊ดออกจากบ่ออนุบาลไปลงที่บ่อดินที่เตรียมไว้

นอกจากนี้ ควรห้สังเกตปริมาณลูกกบว่าในบ่อมีลูกอ๊อดมากน้อยหรือไม่ หากให้อาหารเยอะไปลูกอ๊อดจะตาย แรกๆ ลูกอ๊อดอยู่ในน้ำใส ข้อควรระวังยิ่งควรปรับสภาพน้ำให้เขียวขุ่น โดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่รดใส่แปลงพืชผักผสมกับกากน้ำตาลเทใส่บ่อเพื่อสร้างอุณหภูมิปรับน้ำให้เขียว เพื่อให้ลูกอ๊อดอำพรางตัวไม่ให้เห็นกัน ถ้าอยู่ในน้ำใสตัวใหญ่จะกินตัวเล็ก เป็นธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ ระยะเวลาหลังผสมพันธุ์กันเสร็จ 25 วัน ลูกอ๊อดจะโตเต็มที่จะขายได้ ตัวใหญ่และได้น้ำหนัก ดีนับร้อยกิโล ขึ้นไป

คุณรัตนา บอกว่า สิ่งที่ต้องทำและหมั่นเอาใจใส่ คือ เมื่อลูกอ๊อดโตได้ 5 วัน ให้รีบเอาออกจากบ่อผสมพันธุ์ นำพักไว้ในบ่อดินที่เตรียมไว้ หลังคัดเกรดเสร็จก็ควรจะกระจายลงไปในบ่อที่ว่างอีก จากนั้น ต้องคัดตัวใหญ่แยกออกจากตัวเล็กที่ไม่สมบูรณ์ ไม่อย่างนั้นลูกอ๊อดกินกันเองไม่เหลือผลผลิตตามเป้า และควรให้หัวอาหารเช้าเย็นวันละ 2 กระสอบ

“การเลี้ยงกบนั้น ไม่ได้ศึกษาจากที่ใด อาศัยประสบการณ์ลองผิดลองถูกเมื่อมีปัญหาก็จะไปสอบถามคนที่เลี้ยงมาก่อน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำเป็นอย่างดี ปัจจุบัน กบของตัวเองที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หนึ่งตัวจะสามารถผสมเพาะได้ ถึง 10-12 ครั้ง/ตัว หลังจากนั้นก็จะนำออกมาจำหน่ายเพราะกบเรียกกันว่าโทรมมากแล้ว จากนั้นจะคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใหม่ มาทดแทน ฤดูกาลของลูกอ๊อดผลผลิตจะเริ่มออกในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม แต่จะออกเยอะในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เนื่องจากมีอากาศเย็นและมีฝนตกลูกอ๊อดไม่ค่อยตาย ต้นฤดูที่ผสมใหม่ๆ จะทำเงินให้สูงตกกิโลกรัมละ 200-250 บาท”

คุณรัตนา บอกอีกว่า ทุกวันนี้สามารถขายได้วันละ 30-50  กิโลกรัม โดยได้ใช้วิธีเพาะพันธุ์แบบให้เป็นเว้นระยะไม่ทำครั้งเดียว เพราะถือว่าทำได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง จะอยู่ที่วันละ 4,500-6,000 บาท ซึ่งหากหักค่าใช้จ่ายจากพวกหัวอาหารแล้วก็มีกำไรมากกว่าครึ่งของรายได้

การเลี้ยงกบหากมองดูจริงแล้วไม่ยากอย่างที่คิด ปัญหาอยู่ที่ความขยันขันแข็ง ทำแล้วเลี้ยงแล้วต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ ไม่ปล่อยเป็นกบ “เทวดาเลี้ยง” และคนเลี้ยงกบต้องรู้จักศึกษาอ่านหนังสือหาความรู้และสังเกตกบว่าเป็นอย่างไร และควรปรับเปลี่ยนไปตามนั้นเพราะประสบการณ์จะทำให้เราได้เรียนรู้ดีกว่าการอ่านแล้วมาลองทำ เพราะอาจทำให้เสียเวลาได้ สุดท้ายก็เสียเงิน ล้มเหลว ไม่ประสบผลสำเร็จ

ผู้สนใจท่านใดอยากได้รายละเอียดหรือติดต่อสอบถามข้อมูล ได้ที่คุณรัตนา ศรีบุรมย์ โทร 088-5160013 ได้ทุกวัน