ขึ้นฉ่าย “ไฮโดรโพนิกส์” สร้างรายได้เสริมชาวสวนยาง

ช่วงที่ยางพาราราคาตกต่ำต่อเนื่อง เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ต่างหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ทดแทน ในจำนวนนั้นการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับการยืนยันจาก “พิโชติ ผุดผ่อง” ผู้ประกอบการและเกษตรกร ผู้นำเครือข่ายปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ว่าสามารถสร้างรายได้ดีกว่าการปลูกยาง และประสบความสำเร็จงดงาม ถึงขั้นที่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ “เทสโก้ โลตัส” เลือกให้เป็นคู่ค้ารายใหญ่

“พิโชติ” เล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนจบทางด้านเกษตรกรรม แต่ไม่มีความคิดจะทำสวนยาง เพราะเห็นว่าราคายางตกต่ำ หลังจบการศึกษาจึงประกอบอาชีพด้านการเกษตรโดยเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ และที่นี่เองที่ทำให้ได้มีโอกาสสะสมองค์ความรู้ด้านการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตเป็นพนักงานบริษัท 5 ปีเต็ม

ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาศึกษาข้อมูลความต้องการของตลาดไปด้วยพร้อม ๆ กัน พบว่า ขึ้นฉ่ายไฮโดรโพนิกส์ มีราคาดี ขณะที่รอบการปลูกใช้เวลาไม่นาน นอกจากนั้น การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ยังใช้อุปกรณ์ปลูกที่ยกสูงจากพื้น ทำให้การป้องกันโรคพืชทำได้ง่าย เพราะการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ไม่ต้องใช้ดิน แต่พืชจะถูกหล่อเลี้ยงโดยน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ อีกทั้งยังช่วยประหยัดพื้นที่ในการปลูก และไม่ปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ในดิน

“ผมเริ่มปลูกผักไฮโดรโพนิกส์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เริ่มแรกมีเพียงไม่กี่โต๊ะ เงินทุนประมาณหลักแสนบาท ช่วงนั้นเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะคนยังไม่ค่อยรู้จักผักไฮโดรโพนิกส์ โดยเดิมเลือกปลูกเป็นผักไฮโดรฯจำพวกผักสลัด แต่เปลี่ยนมาเป็นขึ้นฉ่ายเพราะราคาสูง และตลาดล่างนิยมซื้อด้วย”

ส่วนช่องทางการจำหน่ายเริ่มจากฝากขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำใน จ.สงขลา จากนั้นมีโอกาสได้พูดคุยกับทางเทสโก้ โลตัส จึงได้ปลูกส่งให้กับทางเทสโก้ โลตัสส่วนกลาง นำไปกระจายทั่วประเทศ ซึ่งทางเทสโก้ โลตัส ประกันราคาให้ 75 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นกำไรประมาณเกือบ 50%

“พิโชติ” บอกว่า การประกันราคาทำให้ผู้ประกอบการอย่างตนสามารถคำนวณต้นทุนและวางแผนการผลิตแต่ละรอบได้ จึงดีกว่าการส่งตลาดที่ราคาไม่นิ่ง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายกำลังการผลิตเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบันมี 70 โต๊ะ ตอนนี้ผลิตได้อาทิตย์ละกว่า 600 กิโลกรัม แต่อนาคตวางแผนไว้ว่าจะผลิตให้ได้อาทิตย์ละ 1 ตัน

สำหรับรายได้ที่ได้เฉลี่ยต่อโต๊ะขนาด 2×7 เมตร จะตกประมาณ 3 พันบาท เทียบกับต้นทุนการผลิตประกอบด้วย ค่าน้ำ และค่าปุ๋ยอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อโต๊ะ ใช้เวลาปลูก 35-40 วัน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วสามารถปลูกต่อได้เลย

ปัจจุบันจึงได้ตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ให้ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย โดยร่วมมือกับทาง จ.สงขลา อบรมให้ความรู้ชาวบ้าน เป้าหมายเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตมากพอต่อความต้องการของเทสโก้ โลตัส และถือเป็นการสร้างให้ชุมชนเป็นแหล่งปลูกไฮโดรโพนิกส์ จนเป็นที่รู้จักไปยังคู่ค้ารายอื่น ๆ

โดยจังหวัดจะส่งเกษตรกรชาวสวนยางที่ผ่านการคัดเลือกแล้วว่ามีรายได้น้อย คือมีพื้นที่สวนไม่เกิน 5 ไร่ หรือเป็นลูกจ้างกรีดยาง แต่มีความขยัน รับผิดชอบ สามารถทำงานกลุ่มได้ มาเรียนรู้วิธีปลูกผักไฮโดรโพนิกส์

วันนี้ทุกคนสามารถปลูกผักเพื่อส่งให้กับเทสโก้ โลตัส ทำให้มีรายได้เสริมจากการทำสวนยาง สภาพคล่องในครอบครัวก็ดีขึ้น ไม่เป็นหนี้นอกระบบ

โดยตนจะช่วยดูแล และให้คำปรึกษากับชาวบ้านในทุกขั้นตอน และชาวบ้านสามารถให้ตนไปติดตั้งระบบการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ให้ได้ โดยราคาอยู่ที่โต๊ะละ 35,000 บาท รวมชุดอุปกรณ์ถาวร สอนปลูก แนะนำช่องทางการตลาด และดูแลคุณภาพให้ สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี ตอนนี้มีสมาชิก 22 รายแล้ว

“ผมเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองในด้านเกษตร เพราะโตมาก็เห็นพระองค์ท่านอยู่กับการเกษตรมาตลอด พระองค์ท่านเห็นความสำคัญว่าสังคมเกษตรต้องมาก่อน ต้องทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง เวลาผมเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่มาเรียนรู้ ผมมักจะบอกเสมอว่า อย่าท้อ ถ้าท้อแล้วจะถอย ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงทดลอง เก็บข้อมูล พิสูจน์แล้วทุกอย่าง เกษตรกรของพระราชา จะต้องพึ่งพาตัวเองได้”

“สลิลลา สีหพันธุ์” รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ “เทสโก้ โลตัส” กล่าวว่า การได้มาเป็นคู่ค้ากับเกษตรกรโดยตรงเป็นหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายประชารัฐ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยโครงการรับซื้อขึ้นฉ่ายกางมุ้งจากกลุ่มเกษตรกรบ้านคลองหอยโข่ง เป็นหนึ่งใน 22 โครงการ “เทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ” ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน

“ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรนำโดยคุณพิโชติ ผุดผ่อง ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในโมเดล “ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์” (Young Smart Farmer) เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ และขยายองค์ความรู้สู่ชาวสวนยางให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพนอกเหนือไปจากกรีดยาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนในยามที่ราคายางตกต่ำ สามารถส่งผักขายเทสโก้ โลตัส ได้ถึง 500-1,000 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถส่งสินค้าให้คู่ค้าได้สม่ำเสมอ ได้ปริมาณตามต้องการ ดังนั้นหากผู้ประกอบการในพื้นที่มีการรวมกลุ่มกัน ก็จะทำให้การค้าส่ง เป็นไปได้โดยง่าย”

เทสโก้ โลตัส จึงร่วมมือกับ จ.สงขลา นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด คุณทรงพล สวาสดิ์ธรรม หานวัตกรรมเพิ่มผลผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตได้ไม่ตามเป้า เป็นเพราะสภาพฝนในภาคใต้ ทำให้ปริมาณขึ้นฉ่ายที่ปลูกไม่สม่ำเสมอ จึงแนะนำให้ปลูกผักไฮโดรโพนิกส์แบบกางมุ้ง เพราะนอกจากสามารถเพิ่มผลผลิตคุณภาพให้ผู้บริโภคแล้ว ยังได้เพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย

ในอนาคตเทสโก้ โลตัส มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการรับซื้อผักปลอดภัยในภาคใต้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแค่ขึ้นฉ่าย แต่ผักประเภทอื่น ๆ ก็ยังเป็นที่ต้องการด้วย โดยจะใช้แนวทางประชารัฐซึ่งเป็นการร่วมมือกับทั้งรัฐและชุมชนต่อไป

และจะใช้การตลาดเป็นตัวนำ เพราะพิสูจน์แล้วว่าเป็นรูปแบบที่สร้างความสำเร็จ โดยมีเทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยวางแผนประเภทและปริมาณผักที่ต้องการส่งเสริมให้ปลูก รวมทั้งวางแผนการจัดส่ง ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารต้นทุนได้ดี มีกำไร และเติบโตอย่างต่อเนื่อง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของพ่อหลวงอันที่รักของคนไทยทั้งชาติ