ไก่งวงราคางาม เลี้ยงแบบพึ่งธรรมชาติ ทำตลาดเจ๋งจนไก่โตไม่ทัน

ไก่งวงปัจจุบันเป็นหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงอย่างแน่นอน เหมือนสัตว์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ อยู่ที่เราจะมีแนวทางและวิธีการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง คือ เลี้ยงเพื่อการจำหน่ายตัวลูกไก่งวง และเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเนื้อไก่งวง

คุณธนศักดิ์ คำด่าง

คุณธนศักดิ์ คำด่าง เป็นหนึ่งในเกษตรที่หันมาให้ความสนใจเพาะเลี้ยงไก่งวงเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการทำเกษตรผสมผสาน ที่บ้านเลขที่ 209 หมู่ที่ 4 บ้านโคกก่อง ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

คุณธนศักดิ์ เล่าให้ว่าว่า เดิมประกอบอาชีพรับราชการครู ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ตนมีความรู้สึกว่าไม่ไม่ชอบอาชีพข้าราชการ จึงตัดสินใจลาออกและไปศึกษาด้านกฎหมายต่อแต่ก็ยังไม่ชอบ จนสุดท้ายตัดสินใจไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นศึกษาเรื่องเกี่ยวกับดินเป็นหลัก ตลอดระยะเวลาที่อยู่ญี่ปุ่นได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น เห็นความแตกกต่างของกลุ่ม คือ คนทำงานภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรที่ประกอบชีพเพาะปลูก

“คนที่ทำงานภาคอุตสาหกรรม ต้องทำงานหนัก ตื่นเช้าแต่กลับบ้านดึก ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ผิดกับภาคการเกษตรที่เป็นเจ้านายของตัวเอง มีรายได้ อยากทำงานเวลาไหนก็ได้ มีความเป็นอิสรภาพที่สูง จึงตั้งปฏิธานให้กับตัวเองว่า จะทำอาชีพที่ไม่ออกไปหาเงิน จะให้เงินเดินเข้ามาหา และไม่ทำงานกินเงินเดือนเหมือนที่เคยทำมา”

ไก่งวงพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ (Beltsvill Small White)

หลังจากเรียนจบ คุณธนศักดิ์ หันมาให้ความสำคัญและหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเริ่มนำวัวเข้ามาเลี้ยงบน พื้นที่ 70 ไร่ มีวัวกว่า 200 ตัว แต่ด้วยปัญหาตลาดไม่มีแหล่งรับชื้อ ทำให้ต้องหยุดเลี้ยง และกลับมาคิดถึงแนวทางการทำการเกษตรที่ผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ  40 20 30 10 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

การทำการเกษตรของคุณธนศักดิ์ เริ่มจากการขุดบ่อเลี้ยงปลา และนำสัตว์ปีก เช่น เป็ด และไก่ไข่มาเลี้ยงโดยสร้างโรงเรือนให้อยู่เหนือบ่อเลี้ยงปลา ส่วนพื้นที่อื่นๆ ลงไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว สมุนไพร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน  แต่ด้วยการทำเกษตรนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้ หากไม่มีใจรักจะไม่สามารถไปถึงฝั่งได้ เพราะเนื่องจากว่าการทำเกษตรนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสภาพภูมิอากาศ สภาพสังคม และทุน ในการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ

ลูกไก่งวงช่วงอนุบาล

“เป็ด ไก่ไข่ ที่เลี้ยงต้องอาศัยและพึ่งพาปัจจัยภายนอกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อาทิ รำ ข้าว อาหารสัตว์ ฉะนั้นอะไรที่เราตัดสินใจทำแล้วต้องพึ่งปัจจัยภายนอกมากเกินไปจะไปไม่รอด จึงต้องหยุด จากนั้นมาก่อนจะทำอะไรจะยึดหลักวิชาการเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกัน โดยการเริ่มทำการศึกษาวิจัยและทดลองก่อนจะลงทุนทำ ซึ่งในนั้นได้ทำการศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์อยู่หลายอย่าง ไปทุกพื้นที่ ทุกภาค แต่ก็ยังไม่ถูกใจ จนกระทั่งได้ไปชิมต้มเส้นเนื้อไก่งวง สร้างความประทับใจ กลับมาจึงคิดจะหาไก่งวงมาเลี้ยงดูบ้าง”

การเพาะเลี้ยงไก่งวงของคุณธนศักดิ์ เริ่มจากการเลี้ยงไว้บริโภคเองในครอบครัว พร้อมกับทำการศึกษาวิจัยการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มนำไก่งวงมาเลี้ยงและทำการวิจัย ซึ่งทำให้พบว่าการเลี้ยงไก่งวงนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถพึ่งตนเองได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ พึ่งพาปัจจัยภายนอกเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับเป็ดและไก่ไข่ที่เคยเลี้ยงมา แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีผลเสีย เนื่องจากเป็นสัตว์ปีกที่ไข่ไม่เป็นที่ ไข่แล้วไม่สามารถกกให้ออกมาเป็นตัวได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีปัญหาเยียบกันตายทำให้เปอร์เซ็นต์รอดน้อยและที่สำคัญไม่มีตลาดรองรับ

โรงเรือนยกสูง มีลมพัดผ่าน

“การเลี้ยงไก่งวงมีความท้าท้าย แต่ด้วยเสน่ห์เนื้อที่มีรสชาติอร่อย ในบรรดาสัตว์ปีก ไม่มีเนื้อสัตว์ไหนที่เทียบได้ อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขด้านเวลามากำหนดว่าต้องการตอนไหน ยิ่งแก่ยิ่งอร่อย จากนั้นเป็นต้นมาจึงพัฒนาการเลี้ยงทำในรูปแบบเชิงพาณิชย์ผสมผสานกับการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ผลิตส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและเวียดนาม”

สำหรับไก่งวงที่นำมาเลี้ยงจะมี 2 ชนิด คือ หนึ่ง พันธุ์อเมริกันบรอนช์ (American  Bronze) เป็นไก่งวงพันธุ์หนัก ขนสีบรอนช์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตาสีน้ำตาล  จะงอยปากสีเทาอ่อน สอง พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์ (Beltsvill Small White) ซึ่งมีขนาดตัวปานกลาง และขนาดเล็ก ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน  มีการเจริญเติบโตในระยะเล็กจนกระทั่งถึงโตเต็มวัยเร็วมาก หน้าอกกว้าง และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติของผู้บริโภค

ไข่ไก่งวงที่เก็บมาพร้อมใส่ตู้ฟัก

“การเลี้ยงไก่งวงทั้งสองชนิดจะดูตามความเหมาะสมของปริมาณและพื้นที่ ถ้าเลี้ยงมากต้องทำเป็นโรงเรือนที่แข็งแรงมั่นคง คอกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งหลังคามุงสังกะสี กระเบื้อง หรือหญ้าคา ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อย่าให้อับชื้น ทำความสะอาดได้ง่าย แต่ละอาทิตย์จะต้องทำความสะอาดคอกเปลี่ยนวัสดุรองพื้น ใช้ปูนขาวโรยฆ่าเชื้อ ล้างอุปกรณ์ ให้น้ำ อาหาร ซึ่งจะทำในช่วงที่ปล่อยไก่งวงเดินออกกำลังกาย ดังนั้น โรงเรือนจะมีลักษณะล้อมด้วยตาข่ายหรือรั้วไม้กว้างๆ แล้วมีโรงเรือนที่มีหลังคาอยู่ บริเวณกลางคอก หรือด้านข้างไว้สำหรับให้ไก่งวงหลบแดดหลบฝน

และสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ไก่งวงในโรงเรือนคือ ทำคอนให้ไก่งวง เพราะนิสัยของไก่งวงชอบนอนที่สูงเนื่องจากไก่งวงมีพันธุกรรมของไก่ป่า จึงมีร่างกายที่แข็งแรงและทนโรค ลักษณะของคอนนอนจะต้องเป็นไม้กลมไม่มีเหลี่ยม เช่น ไม้ไผ่ อีกทั้งภายในโรงเรือนจะหากล่องหรือโอ่งดินเผาขนาดเล็กไว้สำหรับให้ไก่งวงวางไข่ ซึ่งไก่งวงที่สามารถวางไข่ได้จะมีอายุ 7-8 เดือน โดยจะมีปริมาณไข่ต่อแม่ต่อปี ประมาณ  57-97 ตัว ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์”

ในหนึ่งโรงเรือนขนาดพื้นที่ 3 x 6 คุณธนศักดิ์จะปล่อยไก่งวงประมาณ 150 ตัว มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่หากเป็นโรงเรือนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะมีอัตราการปล่อยตัวผู้และตัวเมีย 1:7 ซึ่งการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นดูได้จากนิสัยของไก่ เลือกไก่ที่มีลักษณะที่มีนิสัยเป็นมิตรไมตรี มีเยื่อใย เพราะเวลาที่ไก่งวงกกไข่สามารถเข้าไปใกล้ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ไก่งวงวางไข่จำเป็นต้องเก็บไข่ออกมาใส่ตู้ฟักไข่ที่ใช้อยู่ทั่วไป ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจนกว่าจะฟักออกเป็นตัว ก่อนนำไปอนุบาลจนแข็งแรงและไปปล่อยให้แม่เลี้ยงได้

สำหรับอาหารเลี้ยงไก่งวง เกษตรกรที่นี่จะผสมเอง โดยใช้หญ้า หยวกกล้วย ผักบุ้ง ที่มีอยู่ในพื้นที่ อย่างละ 1 ส่วน เป็นส่วนผสมหลัก และนำไปผสมกับมันสำปะหลังป่น 1 ส่วน รำ 4 ส่วน และ ปลาป่นอีก 1 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อใช้เป็นอาหารข้นสำหรับไก่งวง นอกจากนี้ ได้นำพืชสมุนไพรต่างๆ ที่ปลูกในสวน เช่น เหงือกปลาหมอ ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ไพล มาบดและผสมในอาหาร เพื่อบำรุงและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้อาหารข้นวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า และให้เศษหญ้า เศษผัก เป็นอาหารเสริมในช่วงบ่าย

สำหรับใครที่สนใจในอาชีพเพาะเลี้ยงไก่งวง อยากศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อสอบได้ที่คุณธนศักดิ์ คำด่าง โทรศัพท์ (089) 863-6513