ตัวอย่าง “เลี้ยงวัวทุนน้อย” แต่ครบวงจร รายย่อยทำได้ ไม่มีจน

เลี้ยงวัวขุนเป็นคนแรกของหมู่บ้าน

คุณสังวน ดาปาน ที่บ้านเลขที่ 6 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองลาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

คุณสังวน เล่าว่า ทำวัวขุนมานานกว่า 25 ปีแล้ว และเป็นคนแรกของหมู่บ้านแห่งนี้ที่เริ่มเลี้ยงวัวขุน

คุณสังวน ดาปาน

“สมัยแรกๆ ที่ผมเริ่มเลี้ยงวัวขุนผมซื้อวัวตัวละ 3,000-4,000 บาท มาเข้าขุน ตอนนั้น วัวยังราคาถูกมาก ไม่เหมือนตอนนี้ ที่ราคาตัวละเกือบ 20,000 บาท สมัยก่อนผมขุนครั้งละประมาณ 30 ตัว เพราะยังมีเรี่ยวแรง มีช่องทางหาทุนก็ขุนได้ครั้งละหลายตัว” คุณสังวน เริ่มเล่า

จากวันนั้นจนวันนี้ที่คุณสังวนเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำวัวขุนมาค่อนชีวิตวันนี้ คุณสังวนจึงมีวัวเลี้ยงเอาไว้แค่ 8 ตัว

“ผมเลี้ยงวัวแม่พันธุ์เอาไว้ 4 ตัว อีก 4 ตัวเป็นวัวที่กำลังขุนอยู่ ก็ทำตามกำลังทุนและกำลังกายที่เรามี ที่ผ่านมาไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่เคยเลิกเลี้ยงวัวแม้ว่าแม่บ้านผมจะขอให้เลิกเลี้ยงหลายครั้ง ผมก็ยังดื้อ” คุณสังวน เล่าไปยิ้มไป

ทุนน้อยขุนวัวเล็กเน้นชาร์โรเล่ส์

มาดูในส่วนของวัวขุนกันก่อน ตอนนี้คุณสังวนมีวัวขุนอยู่ 4 ตัว ที่เน้นวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์เป็นหลัก คุณ สังวน เล่าว่า เขาเลือกวัวลูกผสมชาร์โรเล่ส์มาเข้าขุน และเลือกเฉพาะวัวไซซ์เล็ก สายเลือดไม่สูงมากนักมาเข้าขุน เพราะวัวลูกผสมสายเลือดไม่สูงจะสู้เรื่องราคาได้ หากเป็นวัวลูกผสมสายเลือดสูงราคาก็สูง ต้นทุนยิ่งสูงตามไปด้วย

คอกที่สร้างแบบง่ายๆ เลี้ยงรวมกันทั้งวัวขุนและแม่พันธุ์

“วัวที่ผมจะเอามาเข้าขุนส่วนใหญ่ใช้วัวในพื้นที่เป็นหลักเพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งไม่เพิ่มต้นทุน ส่วนพันธุ์วัวถ้าลูกผสมชาร์โรเลส์หาไม่ได้จริงๆ ผมก็เลือกลูกผสมบราห์มัน แต่วัวหยาวผมไม่เอาเลยเพราะมันขุนไม่ขึ้น”

หลักการเลือกวัวมาเข้าขุนของคุณสังวนคือ จับวัวเล็ก วัวรุ่นมาเข้าขุนโดยดูที่ราคาด้วย หากราคาอยู่ในช่วง 10,000 ต้นๆ ไม่เกิน 20,000 บาท ก็พิจารณาไว้ก่อน หลังจากนั้นก็มาดูในเรื่องของโครงร่างประกอบกัน เลือกวัวที่มีสันหลังยาว กล้ามเนื้อคอยาว สะโพกใหญ่เป็นหลัก เพราะวัวโครงร่างแบบนี้สามารถเพิ่มน้ำหนักได้ดีเมื่อมาเข้าขุน

เทคนิคการขุนวัว

เมื่อวัวที่ซื้อไว้เดินทางมาถึงคอก คุณสังวนจะถ่ายพยาธิ ฉีดยาบำรุง และฉีดยาคุมกำเนิด หลังจากนั้นจะนำไปแยกขุนคอก

“ประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกผมว่าถ้าเราขังรวมทั้งหมดวัวจะอ้วนแค่บางตัว บางตัวที่ไม่ได้เป็นใหญ่ในคอกมักไม่ค่อยได้กิน เลยทำให้วัวน้ำหนักขึ้นไม่เท่ากัน ยุ่งยากเวลาที่จะจับขาย ผมจึงขุนแบบเลือกดูว่าตัวไหนตัวใหญ่ใกล้เคียงกัน ความดุใกล้กันก็จะขังรวมกัน 2 ตัว ส่วนตัวไหนดุมากหรือตัวเล็กตัวใหญ่มากก็ขังเดี่ยวดีกว่า ส่วนอาหารที่ใช้ขุนวัวเป็นอาหารข้น โปรตีน 16% เป็นอาหารข้นที่หาได้ในพื้นที่โดยจะให้วันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น”

ต้นกล้วย…อาหารหยาบ

หากวันไหนมีหญ้าสดหรือต้นข้าวโพด ก็จะให้หญ้าสดหรือต้นข้าวโพดสับในช่วงบ่าย ประมาณตัวละ 20 กิโลกรัม แล้วงดอาหารข้นในตอนเย็น บางวันมีต้นกล้วยหั่นเป็นอาหารเสริม แต่ที่ให้ตลอดคือ ฟางราดกากน้ำตาล และน้ำเกลือ ใส่แยกไว้ต่างหากอีกรางโดยจะให้ฟางติดรางไว้ตลอดเวลา เพื่อให้วัวมีอาหารกินหลากหลาย

วัวขุนที่มีทั้งแยกขังเดี่ยวและขังเป็นคู่

การขุนวัวแต่ละคอก คุณสังวนใช้เวลาขุนประมาณ 6 เดือน เพื่อให้มีน้ำหนัก 400 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนใหญ่คุณสังวนจะขุนวัวไม่ถึง 6 เดือน เพราะเมื่อวัวเริ่มอ้วนเริ่มสะสมไขมันก็จะมีคนมาซื้อไปขุนต่อ โดยอัดอาหารเต็มที่ ขุนต่ออีกประมาณ 1 เดือน ก็ขายได้

เลี้ยงแม่พันธุ์ สร้างฝูงลูกผสมชาร์โรเล่ส์ ตัวผู้เข้าขุน

เท่าที่ตระเวนจรร่อนไปในวงการวัวขุนรายย่อยในบ้านเรา มักจะได้ยินเสียงบ่นว่า วัวลูกผสมยุโรป ลูกผสมชาร์โรเล่ส์มีไม่พอกับความต้องการ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ลูกผสมชาร์โรเล่ส์ราคาดั่งทองเป็นที่ต้องการไปทั่ว คุณสังวนคิดเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้น จึงได้สร้างฝูงแม่พันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์เอาไว้แล้ว

“ผมมีวัวแม่พันธุ์อยู่ 4 ตัวคัดเลือกเก็บเอาไว้ขยายพันธุ์โดยเป็นแม่พันธุ์ลูกผสมชาร์โรเล่ส์เป็นหลักและมีแม่พันธุ์ลูกผสมบราห์มันรวมอยู่ด้วย เรื่องสายเลือดชาร์โรเล่ส์ผมว่าเกือบๆ 50% แล้วใส่น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เลือด 100 ไปผสมลูกที่ออกมาถ้าเป็นตัวเมียเราก็เก็บไว้ใช้ทำแม่พันธุ์ ขยายฝูง แต่หากออกมาเป็นตัวผู้เราก็เอาเข้าขุน”

แม่พันธุ์ที่ให้ลูกถี่
เลี้ยงลูกดี มีน้ำนมมาก

“ที่ผมเลือกใช้แม่พันธุ์ลูกผสมสายเลือดไม่สูงมากเพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมสังเกตว่าแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดสูงๆ จะให้ลูกห่างทำให้เราเสียเวลาคอย” คุณสังวน เล่าต่อ

หลักการเลือกวัวมาใช้เป็นแม่พันธุ์ของคุณสังวนน่าสนใจมากครับ “ผมเลือกวัวที่จะเก็บเอาไว้ใช้ทำแม่พันธุ์โดยดูจากการให้ลูกเป็นหลัก ผมไม่ได้เน้นว่าวัวแม่พันธุ์ของผมจะต้องให้ลูกตัวใหญ่ ให้ลูกลักษณะดีเด่นสวยงาม แต่ผมเน้นวัวแม่พันธุ์ที่ให้ลูกถี่ เลี้ยงลูกดี มีน้ำนมมาก วัวแบบนี้จึงน่าจะใช้เป็นแม่พันธุ์ แม่พันธุ์ที่ผมเก็บเอาไว้ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ให้ลูกได้เข้าขุนแล้วและให้ลูกตัวเมียมาขยายฝูงให้ผมแล้วหลายตัว”

ปลูกหญ้า ทำหญ้าหมัก อย่างง่าย

คุณสังวนสร้างแปลงหญ้าเอาไว้ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีกเพื่อรองรับการขยายฝูงแม่พันธุ์

“ผมปลูกหญ้าพันธุ์จัมโบ้เอาไว้ 1 ไร่ โดยปลูกเป็นแถวยาวประมาณ 40 เมตร ระหว่างแถวห่างกันประมาณ 1.5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 6 แถว”

ในส่วนของหญ้าจัมโบ้ เป็นหญ้าในกลุ่มหญ้าซอกัม (Sorghum almum) เป็นหญ้าอายุสองปี แหล่งดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เรานำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เป็นหญ้ากอสูง ต้นสูงประมาณ 1.6 เมตร ลักษณะใบคล้ายต้นอ้อ ชอบที่ดอน ดินสมบูรณ์ ติดเมล็ดดีมาก แต่ไม่ทนต่อการแทะเล็ม หญ้าที่ปลูกเอาไว้ในพื้นที่ 1 ไร่ของคุณสังวนจะนำมาทำเป็นหญ้าหมัก โดยคุณสังวนอธิบายวิธีทำหญ้าหมักอย่างง่ายแบบนี้ครับ

1. นำหญ้ามาหั่นโดยเครื่องสับให้มีขนาด 1-2 นิ้ว อัดหญ้าสดที่หั่นแล้วลงในถุงพลาสติกที่อยู่ในกล่องไม้ที่ทำเป็นแบบ อัดหญ้าให้แน่นโดยใช้เท้าย่ำ

2. เมื่ออัดหญ้าสดเต็มแบบกล่องไม้แล้ว ให้รวบปากถุงถอดแบบออก แล้วใช้เชือกฟางรัดปากถุงให้แน่น

3. เก็บไว้ในที่ร่ม หลังจากนั้น 21 วัน หญ้าสดจะเปลี่ยนเป็นหญ้าหมัก

หญ้าหมักสดที่คุณสังวนทำไว้

ก่อนจาก ฝากถึงมือใหม่ คุณสังวน บอกว่า หญ้าที่ปลูกเอาไว้ 1 ไร่ จะสามารถตัดมาทำหญ้าหมักได้ประมาณ 60 ถุงดำ หลังหมักหญ้าจนได้ที่จะสามารถนำมาเลี้ยงวัวที่มีรวม 8 ตัว ได้ประมาณ 8-10 วัน ส่วนวิธีการดูหญ้าหมักที่ดีสังเกตได้จาก มีกลิ่นหอมเปรี้ยว ไม่เน่าเหม็น หญ้าไม่เป็นเมือก ไม่เละ มีสีเขียวอมเหลือง ไม่มีเชื้อรา

สำหรับใครที่สนใจในการเลี้ยงวัว คุณสังวนมีคำแนะนำมาฝาก

“ผมคิดว่าราคาวัวในบ้านเราน่าจะดีไปอีกหลายปีเพราะวัวหมดจริงๆ ที่ผ่านมาแม่พันธุ์ก็ถูกนำมาขุน เอามาเชือดจนใกล้จะหมด ผลิตลูกไม่ทัน และเมื่อวัวราคาดีก็จะมีคนหน้าใหม่สนใจในอาชีพนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมจะแนะนำก็คือ คนเลี้ยงวัวจะต้องเป็นคนขยันและมีใจรักจึงจะเลี้ยงวัวได้ตลอดรอดฝั่ง หากเลี้ยงวัวตามกระแสเดี๋ยวเหนื่อยก็จะเบื่อหน่ายเลิกไป นอกจากนั้น เรายังต้องวางแผนการเลี้ยงวัวของเราให้ดี หากใครที่คิดจะทำวัวขุนแนะนำว่าทางที่ดีควรสร้างฝูงวัวแม่พันธุ์ของเราเอง ไม่ต้องรอหาซื้อวัวจากตลาด ทำต้นทุนของเราให้ต่ำ เราถึงจะไปรอดได้”

เป็นข้อคิดและตัวอย่างดี ที่เก็บไปใช้ต่อได้ เกษตรกรท่านใดใครสนใจอยากพูดอยากคุย ติดต่อคุณสังวน ได้ที่ โทร. 081-745-4694

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564