เลี้ยงสัตว์ สไตล์ต้นไผ่ฟาร์ม “เน้นสวยและแปลก”

“ดั้งเดิมนั้น ผมเลี้ยงวัวพื้นเมือง โดยจะขายใน 2 แบบ คือ ขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อโดยทั่วไป และอีกส่วนขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปเลี้ยงเป็นวัวลาน  อันเป็นกีฬาพื้นบ้านที่นิยมกันในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี”

“แต่ต่อมาต้องประสบปัญหาพื้นที่เลี้ยงวัวน้อยลง ทำให้เรามีปัญหาการขาดแคลนอาหาร ไม่สามารถไล่ต้อนให้ออกไปหากินหญ้าได้เหมือนเดิม จึงตัดสินใจเลิกเลี้ยง และเปลี่ยนมาเป็นเลี้ยงวัวพันธุ์แทน เพราะสามารถเลี้ยงอยู่กับบ้านได้ ไม่ต้องไปไล่ทุ่งเหมือนกับแต่ก่อน ทำมาจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว”

นายสุริยา พุ่มดอกไม้ หรือไผ่ เป็นเจ้าของ ต้นไผ่ฟาร์ม  ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 4/4 หมู่ที่ 2 ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร. 084-008-6625  บอกเล่าเรื่องราวของการประกอบอาชีพในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงลักษณะโดยทั่วไปของฟาร์มแห่งนี้ไม่แตกต่างจากฟาร์มเลี้ยงวัวเนื้อของเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่กันโดยทั่วไปในทุกภาคของประเทศ

โดยเน้นการอาศัยพื้นที่บริเวณบ้านแหล่งที่ตั้งของคอกเลี้ยงที่มีลักษณะสร้างแบบง่ายๆ ด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และมีการใช้ประโยชน์จากหญ้าอาหารสัตว์ที่มีอยู่รอบๆ เช่น ตามทุ่งหญ้าสาธารณะหรือในไร่นาของเพื่อนเกษตรกร

แต่หากมองให้ลึกเข้าไป โดยเฉพาะในมุมมองต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของแล้ว ต้องถือว่า เป็นอีกหนึ่งฟาร์มที่มีความน่าสนใจ

ทั้งนี้เพราะผู้เป็นเจ้าของ ต้นไผ่ฟาร์ม ได้มุ่งมั่นที่จะเลือกเลี้ยงในรูปแบบของการทำให้เกิดมูลค่าของตัวสัตว์ที่มากขึ้น

การทำให้เกิดมูลค่าของสัตว์ที่เลี้ยง เจ้าของฟาร์มบอกว่า ความหมายคือ สามารถขายได้ราคาสูงกว่าปกติของท้องตลาด

เป็นการสร้างตลาดที่อาศัยความพึ่งพอใจของผู้ซื้อเป็นหลัก เรียกว่า หากถูกใจอยากได้แล้ว ราคาเท่าไรไม่เกี่ยง หากผู้ซื้อเกิดความพึ่งพอใจ ก็พร้อมที่จะควักเงินออกมาจากกระเป๋า เพื่อจ่ายค่าตัววัว 1 ตัว ด้วยเงินในจำนวนหลักแสนบาท หรืออาจจะถึงหลักล้านบาท

และนั่นคือ สิ่งที่คุณไผ่ได้ทำในวันนี้ และต่อไปในอนาคต ด้วยการเลือกเลี้ยงสัตว์ที่เน้นความสวยงามของตัวสัตว์ ความแปลกประหลาดของตัวสัตว์

นับเป็นอีกหนึ่งมุมมองในการสร้างรายได้จากอาชีพที่แตกต่างจากสิ่งเป็นอยู่โดยทั่วไปในอาชีพการเลี้ยงสัตว์

“ที่เป็นหลักของผมตอนนี้คือ วัวเนื้อสายพันธุ์อินดูบราซิล และที่กำลังจะเริ่มต้น คือ การเลี้ยงม้าแคระและควายแคระ”

พันธุ์สัตว์ทั้ง 3 ชนิด เจ้าของต้นไผ่ฟาร์มบอกว่า ในเรื่องตลาดนั้น ไม่เป็นห่วงเพราะมีความต้องการสูงมาก

“อย่างควายแคระ ตอนนี้มีคนมาติดต่อขอซื้อตลอด บางคนบอกมาเลยว่า นายอยากได้ ให้ราคาควายแคระคู่นี้ถึง 5.5 แสนบาท” คุณไผ่ กล่าว

 

ทำไมต้อง ฮินดูบราซิล

วันนี้ที่ต้นไผ่ฟาร์ม รายได้หลักจะมาจากการจำหน่าย วัวพันธุ์อินดูบราซิล จำนวนประมาณ 10 กว่าตัว

สำหรับวัวพันธุ์อินดูบราซิล เป็นโคเนื้อที่นำเข้าสายพันธุ์มาจากต่างประเทศ ประมาณปี พ.ศ. 2525 มีทั้งจากฟิลิปปินส์, อเมริกา, คอสตาริกา, เม็กซิโก และบราซิล โดยประเทศไทยมีการนำเข้าวัวพันธุ์นี้ครั้งแรกอยู่ในช่วงประมาณ ปี 2525

โดยนับตั้งแต่มีการนำเข้ามานั้น จะมีชื่อเรียกกันในกลุ่มเกษตรกรผู้สนใจว่า วัวงาม

ด้วยเป็นโคที่จัดอยู่ในกลุ่มวัวเนื้อที่เน้นถึงความสวยงาม ซึ่งแตกต่างจากวัวเนื้อสายพันธุ์ที่เลี้ยงกันโดยทั่วไปในประเทศ เช่น พันธุ์บราห์มัน พันธุ์กำแพงแสน ที่จะเน้นถึงผลตอบแทนของอัตราการให้เนื้อเป็นหลัก

ด้วยลักษณะที่แตกต่างถึงเป้าหมายในการนำมาเลี้ยง จึงทำให้เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับและส่งเสริมให้เลี้ยงจากนักวิชาการและหน่วยข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ด้วยใจรักของผู้เลี้ยงที่มีต่อวัวสายพันธุ์นี้ จึงมีการเลี้ยงกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แต่ตอนนี้ไม่มีการนำเข้าแล้วครับ เพราะทางราชการไม่อนุญาต แต่ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เกษตรกรที่เลี้ยงวัวพันธุ์อินดูบราซิลก็มีการคัดและพัฒนาสายพันธุ์กันมาตลอด จนวันนี้กล่าวได้ว่าเป็นวัวอินดูบราซิลสายพันธุ์ไทยไปแล้ว และที่สำคัญมีความสวยงามมากกว่าพันธุ์ของต่างประเทศอีกด้วย”

“ในบ้านเรามีกลุ่มคนที่เลี้ยงอินดูบราซิลอยู่ โดยกระจายกันทั้งในภาคกลาง ภาคอีสาน และแต่ละปีจะมีการจัดประกวดโคอินดูบราซิลกันโดยตลอด”

จากคำบอกเล่าของคุณไผ่ จึงได้สรุปว่า เป็นการเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของคนที่ชอบเท่านั้น หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับกลุ่มคนที่ชอบเลี้ยงม้า

“ความสวยของวัวพันธุ์นี้เราจะดูกันที่ ลักษณะดี โครงสร้างต้องสูงใหญ่ ใบหูต้องยาว มีลักษณะกำบิดหยิกมีก้อย หน้าต้องโหนก เป็นหลัก”

“เดิมนั้นผมก็เลี้ยงวัวเนื้อพันธุ์ชาโรเล่ส์กับบราห์มัน แต่ประสบปัญหาว่า มีบางช่วงราคาตกต่ำ ไม่สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เราต้องการ จึงเปลี่ยนมาเป็นวัวพันธุ์อินดูบราซิล เพราะผมดูในแง่ของผลตอบแทนแล้วดีกว่ามาก ยิ่งสามารถผสมพันธุ์แล้วได้ลูกที่สวยๆ มีลักษณะสวยตรงกับความต้องการ เราสามารถเรียกราคาได้ตามที่เราต้องการเลย อย่างที่ฟาร์มของผมจะขายในราคา ตัวละ 50,000 บาทขึ้นไป ต่ำกว่านี้ไม่ขาย”

“ในขณะที่หากเลี้ยงวัวเนื้อทั่วไป ราคาต้องขึ้นอยู่กับพ่อค้า จะให้เราเท่าไรก็ได้ ถ้าน้อยเราก็ไม่คุ้ม เหมือนกับเป็นการขาดทุน ผมคิดของผมแบบนี้”

“แต่สำหรับที่ฟาร์มผมทุกวันนี้วัวอินดูบราซิลที่เลี้ยงยังสามารถจำหน่ายเป็นเนื้อได้ด้วย โดยเฉพาะตัวที่ออกมาลักษณะไม่ได้ ความสวยไม่ถึง จะคัดออกมาเลี้ยงขุน พอได้ขนาดที่พ่อค้าต้องการก็จะขายให้กับพ่อค้าไป พ่อค้าก็จะตีราคาให้เหมือนกับการซื้อวัวเนื้อโดยทั่วไป ตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ขึ้นไป ในขณะที่ตัวสวยๆ คัดไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และหากมีคนสนใจอยากได้ ผมก็จะแบ่งขายให้”

ดังนั้น ตอนนี้สำหรับต้นไผ่ฟาร์มแล้ว รายได้จึงเกิดขึ้นแบบกินรวบ 2 ต่อ คือ ขายได้ทั้งเป็นวัวเนื้อและขายในรูปแบบของวัวสวยงาม

เป็นแหล่งผลิตควายแคระและม้าแคระ

“พอดีว่ามีคนมาบอกที่จังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ดมีควายแคระ เจ้าของจะขาย ผมเลยเดินทางไปซื้อ ซึ่งพ่อแม่ของควายแคระคู่นี้ก็มีลักษณะแคระเช่นกัน”

สำหรับควายแคระของต้นไผ่ฟาร์ม มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับควายปกติ เพียงแต่ย่อส่วนลงมาจนมีลักษณะแคระ ความสูงเต็มที่ตอนนี้ประมาณ 1 เมตร

“ปกติจะเห็นควายแคระที่มีลักษณะฟันเหยินและขาหน้าโกร่ง แต่ของผมไม่เป็นแบบนั้น มีลักษณะเหมือนควายปกติทุกอย่าง อีกทั้งยังมีนิสัยขี้เล่น และแข็งแรง” เจ้าของฟาร์มกล่าว

ควายแคระที่มีอยู่ในฟาร์มตอนนี้ มีจำนวน 1 คู่ โดยเพศผู้ ซึ่งเป็นควายเผือก ชื่อฝอยทอง อายุประมาณ 2 ปีกว่า ในขณะที่เพศเมีย ชื่อเปียกปูน อายุ 3 ปีกว่า และพร้อมที่จะรับการผสมพันธุ์แล้ว

การเลี้ยงดูเจ้าของฟาร์มบอกว่า เลี้ยงง่าย โดยในช่วงกลางวันจะปล่อยให้ลงน้ำเล่นโคลน ส่วนกลางคืนจะนำเข้าคอกและให้หญ้าอัดแห้ง ฟาง เพิ่ม ส่วนการดูแลด้านสุขภาพ จะมีการให้วัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญในควายปีละ 2 ครั้ง

ทั้งนี้เป้าหมายที่คุณไผ่วางไว้ในอนาคตคือ การผสมพันธุ์ควายที่เลี้ยงให้มีจำนวนลูกเพิ่มมากขึ้น และจะเปิดจำหน่ายสายพันธุ์ควายแคระให้กับผู้สนใจได้นำไปเลี้ยง

ส่วนการเลี้ยงม้าแคระนั้น คุณไผ่ บอกว่า เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเพราะไปเจอคนที่จังหวัดสระบุรี สนใจอยากจะเลี้ยงควายแคระ และจะเอาม้าแคระที่เขามีอยู่มาแลก

“ก็คุยกัน ผมเองก็อยากจะได้ม้าแคระมาเลี้ยง เลยเอาควายแคระตัวเมียไปแลก ได้ม้าแคระพันธุ์ไทยมาเลี้ยงตัวหนึ่ง ซึ่งผมก็ตั้งเป้าหมายเหมือนกับควายแคระที่จะเพิ่มจำนวนและผสมพันธุ์ ผลิตลูกม้าแคระจำหน่าย”

ความแปลกและหายากของควายแคระและม้าแคระ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ที่จะเกิดขึ้นในฟาร์มแห่งนี้

“ถ้าอยากจะเลี้ยงหรือทำฟาร์มแบบผม อยากแนะนำว่า ให้ถามตัวเองก่อนว่า ชอบไหม รักที่จะเลี้ยงไหม เพราะหลายคนโดดเข้ามาทำ เพราะเห็นคนอื่นทำแล้วขายได้ราคา ได้เงินดีก็โดดเข้ามาทำ แต่ความจริงนั้นจะมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่ต้องสู้ต้องแก้ปัญหา ดังนั้น หากไม่รักไม่ชอบจริงอย่าเข้ามา” คุณไผ่ กล่าวในที่สุด