ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | พิชิต ไทยยืนวงษ์ |
เผยแพร่ |
ในห้องมีตู้ปลาหลายใบ ผมเลือกนั่งลงหน้าตู้ปลาใบโปรด เป็นตู้ขนาด 48 นิ้ว ข้างในมีปลาหมอทะเลสาบมาลาวีกลุ่มเอ็มบูน่าสีสดๆ ว่ายไปมาหลายสิบตัว พื้นตู้นั้นปูด้วยทรายละเอียด มีหินก้อนน้อยใหญ่วางทับซ้อนกันเป็นกลุ่มเป็นกอง ปลาหลายตัวเข้าจับจองตามซอกโพลงหิน ปลาบางคู่บ้างก็ว่ายคลอเคล้าเกี้ยวพาราสี บ้างก็โรมรันต่อสู้กันเองเป็นที่ชุลมุน แต่โดยรวมตู้นี้สวย ดูสนุก สีสันที่หลากหลายของปลาหลากสายพันธุ์ เมื่อรวมเข้ากับสีสว่างๆ ของผืนทราย สีที่ทั้งเข้มทั้งอ่อนของโขดหิน แสงและเงาที่ทอดตกลงตามพื้น กลายเป็นความงามสุดพิเศษ เป็นเอกลักษณ์ เป็นความยุ่งเหยิงวุ่นวายอันแสนสงบ เป็นความสว่างท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัวของฤดูกาล เป็นความกระจัดกระจายขัดแย้งที่รวมเป็นหนึ่งเดียว
ผมมองภาพปลาในตู้ใบนี้แล้วนึกถึงภาพเขียนยุคอิมเพรสชันนิสม์ ที่ศิลปินใช้วิธีการแต้มสีหรือป้ายด้วยแปรงหยาบๆ ด้วยสีสดแบบไม่ต้องผสม ปล่อยให้ภาพนั้นกลมกลืนกันไปเองด้วยการมองแบบองค์รวม
ตู้ปลาของผมสุกสว่าง ฝูงปลาหมอสีกลุ่มเอ็มบูน่าที่สดฉูดฉาดหลากสีว่ายพล่านสลับกันไปมา ทรายละเอียดที่ปูพื้นดูเนียนนวลตัดกับสีของปลาได้อย่างมีเสน่ห์ลงตัว ผมนั่งดูปลาเพลิดเพลิน
ปลาหมอสีทะเลสาบมาลาวีขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องความสดสวยของสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาหมอกลุ่มเอ็มบูน่า (Mbuna) คำว่า mbuna นี้เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวพื้นเมืองรอบทะเลสาบ ใช้เรียกหมู่ปลาที่อาศัยตามกลุ่มกองหินริมฝั่งน้ำ ออกเสียงจริง ๆ ว่า “อึมบูน่า” โดยคำว่า “อึม” นั้นสั้นและเบามากจนหากฟังผิวเผินเหมือนจะได้ยินเพียง “บูน่า” เท่านั้น
เอ็มบูน่าเป็นปลาหมอสี (cichlid) ขนาดเล็ก มีขนาดราว ๆ 10-12 ซ.ม. โดยเฉลี่ย รูปร่างค่อนข้างกลมป้อม ลำตัวยาว ส่วนหัวสั้น จะงอยปากสั้น ครีบสั้นไม่ยาวสลวยอย่างปลาหมอสีทะเลสาบมาลาวีกลุ่มอื่นที่นิยมเลี้ยงกัน พวกมันมีมากมายหลายร้อยสายพันธุ์ เป็นประชากรหลักของปลาในทะเลสาบ ด้วยรูปร่างเล็กจึงเหมาะกับการหากินบริเวณกลุ่มกองหินที่มีซอกโพลงร่องหลืบ เอ็มบูน่าส่วนใหญ่เป็นปลากินพืช อาหารของพวกมันคือตะไคร่น้ำที่เกาะสะสมตัวตามผิวของแผ่นหิน แต่ก็มีไม่น้อยที่กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น พวกตัวอ่อนแมลงน้ำ ตัวอ่อนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พึ่งพาแหล่งตะไคร่นั้นเป็นอาหารและบ้านกำบังภัย
เอ็มบูน่ามีริมฝีปากหนาเพื่อใช้ลดแรงกระแทกขณะจิกกินอาหาร ฟันของมันมีเอกลักษณ์ คือแทนที่จะมีรูปปลายแหลมอย่างปลาชนิดอื่นส่วนใหญ่ กลับเป็นฟันรูปกรวย ส่วนปลายแยกเป็นสองหรือสามแฉก แนวของฟันเรียงเป็นหลายๆ แถว เห็นแล้วนึกถึงกระดาษทรายผิวหยาบคมใช้ขัดไม้ เอ็มบูน่าใช้ประโยชน์จากรูปแบบของฟันแสนวิเศษนี้ขูดตะไคร่ที่เกาะฝังแน่นออกมากินอย่างง่ายดาย ส่วนเอ็มบูน่าที่กินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหารจะมีรูปฟันคล้ายเขี้ยว คือเป็นรูปกรวยปลายแหลมโค้ง ใช้สำหรับจับเหยื่อไม่ให้ดิ้นหลุด ทั้งสองกลุ่มหากินร่วมกัน หากมองผิวเผินพวกมันดูแทบไม่ต่างกันเลยทั้งขนาด รูปร่างและความสดสวยงามของสีสัน
ตามปรกติปลาหมอสีทั่วไปจะมีสีสวยเฉพาะตัวผู้ แต่เอ็มบูน่ากลับมีความงามของสองเพศไม่แตกต่างกัน ซ้ำจะยิ่งแปลกเด่นไปกว่าปลาหมอสีแหล่งน้ำอื่น ๆ ตรงที่บางพันธุ์ปลาเพศผู้มีสีหนึ่งแต่เพศเมียกลับมีอีกสีหนึ่ง เช่น ปลาหมอลิลลี่ (Pseudotropheus lombardoi) ตัวผู้สีเหลืองลำตัวลายสีน้ำตาลเป็นบั้งจางๆ ส่วนตัวเมียมีสีฟ้ามีลายเข้มตามลำตัว ปลาหมออีสเทิร์นบลู (Melanochromis johannii) ตัวผู้สีฟ้ามีลายน้ำเงินเข้มพาดเป็นเส้นหนา ๆ ตามแนวยาว ตัวเมียมีสีเหลืองสด อาจมีลายจางๆ ปลาหมอโซลอสอาย (Pseudotropheus saulosi) ตัวผู้สีน้ำเงินเข้ม มีลายดำตัดเป็นบั้งตามลำตัวส่วนตัวเมียมีสีเหลืองสดทั้งตัวและครีบทุกครีบ
ความโดดเด่นที่แทบจะไม่มีปลาน้ำจืดใดมาทาบเทียบกับปลาหมอสีกลุ่มเอ็มบูน่าก็คือความสวยสดของสีสันที่ดูคล้ายปลาทะเล ปลาหมอกล้วยหอม (Labidochromis caeruleus) มีสีเหลืองสดตลอดตัวตัดด้วยแถบสีดำสนิทตามแนวครีบหลังขลิบด้วยสีขาวสะอาดตาอีกชั้นหนึ่ง ปลาหมอเดมาสันอาย (Pseudotropheus demasoni) มีสีฟ้าสว่างตาตัดฉับสลับขวางด้วยสีน้ำเงินเข้มข้นเกือบดำดูสวยจัด ปลาหมอซีบร้าบลู (Pseudotropheus callainos) มีสีฟ้าอมน้ำเงินเย็นตา ปลาหมอซีบร้าเรด (Ps. Estherae) มีสีส้มสดในตัวเมียและสีส้มเหลือบขาวในตัวผู้ ปลาหมอเอ็มบูน่าบางพันธุ์ผ่าเหล่าเป็นปลาเผือกที่ขาวบริสุทธิ์ได้อย่างน่าทึ่ง เช่นปลาหมอโซโคลอฟอาย (Ps. Socolofi) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “ปลาหมอกล้วยเผือก” จนได้รับความนิยมมากกว่าสีสันแบบในธรรมชาติคือสีฟ้าและมีขลิบดำที่ครีบหลัง
รูปร่างของเอ็มบูน่าดูผิวเผินคล้ายกัน แต่เมื่อศึกษาลงไปให้ชัดจะพบว่าพวกมันมีความแตกต่างกันทางสรีระตามแต่รูปแบบของการดำรงชีวิต เช่นปลาหมอปากโลมา (Labeotropheus spp.) จะมีลำตัวยาว มีเนื้อตำแหน่งเหนือริมฝีปากบนยาวยื่นออกมาชัดเจน ปลาหมอโทรฟีออพ (Pseudotropheus tropheops) มีลำตัวสั้นป้อมหน้าหักสั้น ปลาหมอลาโบรซัส (Melanochromis labrosus) มีริมฝีปากทั้งบนล่างหนาเตอะไว้ป้องกันการกระแทกเวลาไล่จับเหยื่อตามซอกโพลงหิน
ในวงการปลาสวยงาม ปลาหมอสีกลุ่มเอ็มบูน่าได้รับความนิยมมานานหลายสิบปีแล้ว แทบทุกร้านขายปลาหากมีปลาหมอสีจำหน่าย มักต้องมีเอ็มบูน่าร่วมอยู่ในจำนวนนั้นด้วยเสมอ เนื่องจากมันเป็นปลาที่สวยงามมากๆ แต่ราคาค่อนข้างถูก อาจเป็นเพราะพวกมันเพาะพันธุ์ไม่ยากนัก
ทว่าการเลี้ยงเอ็มบูน่ากลับไม่ง่ายเลย นักเลี้ยงปลามือใหม่มักเจอปัญหาปลาไล่กัดกันเองจนตายเป็นประจำ สาเหตุก็มาจากขนาดของตู้เลี้ยงและปริมาณกับชนิดของปลาไม่เหมาะสม ถึงเอ็มบูน่าจะเป็นกลุ่มปลาหมอสีขนาดเล็ก แต่เอาเข้าจริงพวกมันกลับต้องการพื้นที่มาก เนื่องมาจากความก้าวร้าวดุร้ายหวงถิ่น ตู้ที่เหมาะสมควรมีขนาด 120 ซ.ม. เป็นอย่างน้อย หรือจะให้ดีควรเป็น 150 ซ.ม. ไปเลยยิ่งดี แล้วเลี้ยงเอ็มบูน่าให้ได้อย่างน้อย 15 – 20 ตัว การเลี้ยงก็จะง่ายขึ้น ความก้าวร้าวลดน้อยลงจนถึงในระดับควบคุมได้
การจัดตู้ไม่มีความซับซ้อน แนวคิดหลักคือเลียนแบบธรรมชาติของมัน ใต้ทะเลสาบมาลาวีบริเวณน้ำตื้นที่พวกเอ็มบูน่าชอบอยู่อาศัยจะประกอบไปด้วยกองหินเรียงซ้อนสลับมีทั้งก้อนเล็กๆ ไปจนก้อนใหญ่มหึมา ในตู้เลี้ยงอาจเลียนแบบโดยใช้ทรายทะเลมาปูรองพื้น แล้วจัดวางหินคละแบบคละขนาดตามแนวกลางไปจนถึงด้านหลัง เมื่อหินซ้อนทับกันจะเกิดเป็นซอกหลืบให้ปลาเข้าไปซุกอาศัย ควรเว้นจังหวะกลุ่มกองหินอย่าให้ยาวติดพรืดไปหมดเพราะจะดูทึบอึดอัด และควรเว้นพื้นที่ด้านหน้าให้โล่งเพื่อปลาจะได้ออกมาว่าย กระจกด้านหลังตู้ควรเป็นสีทึบเพื่อให้สีของปลาในตู้โดดเด่น อาจใช้สติกเกอร์ดำ หรือฉากที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เป็นรูปทรงและความหนาคล้ายหินที่ซ้อนต่อกัน เมื่อมองจากหน้าตู้ก็จะได้เห็นความเป็นธรรมชาติของปลาได้มากยิ่งขึ้น
เอ็มบูน่าชอบคุ้ยทราย การวางหินขนาดใหญ่ต้องมีความระมัดระวัง เพราะเมื่อทรายถูกขุดอาจทำให้ฐานของหินที่วางจัดประดับเกิดเสียสมดุล เอียงตัวหรือล้มกระแทกลงมาทำให้กระจกตู้ร้าวแตก นักเลี้ยงบางคนใช้แผ่นกรองใต้กรวดที่ทำจากพลาสติกมาวางรองก่อนจะปูทรายและจัดวางหินประดับอีกที ก็นับเป็นความรอบคอบที่น่าชื่นชม