คณะอุตสาหกรรมเกษตร มก. ครีเอต ยกงานวิจัยมาเปิดตลาด อัพราคามันสำปะหลังไทย

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเป็นสถาบันชั้นนำในด้านการผลิตบัณฑิตและสร้างสรรค์ผลงานด้านอุตสาหกรรมเกษตร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ปัจจุบันคณะมีภาควิชาทั้งสิ้น 6 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร

ด้วยความเพียบพร้อมของภาควิชาที่เมื่อประสานการทำงานร่วมกันแล้ว ผลที่ออกมาเรียกได้ว่า เป็นงานระดับแถวหน้า

รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ระบุว่า บริษัทที่เกี่ยวกับกลุ่มอาหารทั่วประเทศ จดทะเบียนมีมากกว่า 8,000 ราย ในจำนวนนี้ 1,800 รายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่ม มูลค่าส่งออกประมาณ 102 พันล้านบาท แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มีงานวิจัยและโครงการที่ทำร่วมกับหลายหน่วยงานจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและได้รับความนิยมไม่น้อย เช่น โครงการแปรรูปมันสำปะหลังแปรรูปสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มประจำปี 2561 เป็นรูปแบบที่ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประสานความร่วมมือมาให้นักวิจัยของคณะอุตสาหกรรมเกษตรทำงาน ต้องยอมรับว่า ระยะเวลาเพียง 1 ปี ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ แต่ที่โครงการนี้มีสมบูรณ์ก็เพราะคณะอุตสาหกรรมมีงานวิจัยที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้าและสะสมองค์ความรู้ไว้แล้ว จึงนำมาต่อยอดและพัฒนาได้รวดเร็ว

ด้าน รศ.ปรารถนา ปรารถนาดี หัวหน้าโครงการแปรรูปมันสำปะหลังแปรรูปสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มประจำปี 2561 กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการแปรรูปมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรและชุมชน ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งปี พ.ศ. 2559 ได้โจทย์มาว่า ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ 4 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ละ 3 รสชาติ และให้อบรมความรู้ให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 1,600 ราย ให้เกษตรกรนำมันสำปะหลังพันธุ์กินได้มา เพื่อจัดจำหน่ายภายในชุมชนหรือขยายตลาด เป็นการพยุงราคามันสำปะหลังให้ดี และปีนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องการยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังสู่อุตสาหกรรมอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น

“ที่ผ่านมา คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับการกินมันสำปะหลัง จึงผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงเทคโนโลยีการแปรรูปมันสำปะหลัง จากเดิมเรามีวิธีการแปรรูปง่ายๆ ทำได้ในอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือในครัวเรือน แต่ถ้ามีใครต้องการทำในระดับอุตสาหกรรม ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตรก็มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ในการปรับปรุงเทคโนโลยีให้เหมาะสม ให้เข้ากับตัวระดับอุตสาหกรรมของเขาได้ และพัฒนาศักยภาพทางการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่าย โดยมีเป้าหมายคือ เอาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้ววางขายจริงในตลาด”

โครงการแปรรูปมันสำปะหลังแปรรูปสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มประจำปี 2561 มีผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร

โครงการเดิมที่ได้รับโจทย์มาดำเนินการในปี พ.ศ. 2559 ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาคือ วาฟเฟิลมินิ มันอบกรอบแผ่นสี่เหลี่ยมราดซอส ไอศกรีมเคลือบรสชาติ

แต่สำหรับปีนี้ นำผลิตภัณฑ์เดิมมามีส่วนในการปรับปรุงและพัฒนาต่อยอด โดยยังคงใช้แบรนด์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนจะออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์

ผลิตภัณฑ์ที่ได้ ประกอบด้วย วาฟเฟิลอบกรอบ แบรนด์ WCASSA SWEET” มี 2 รส คือ มัทฉะชาเขียวญี่ปุ่น และบลูเบอร์รี่ และมันสำปะหลังอบกรอบ แบรนด์ “AMADE” มี 3 รส คือ รสธรรมชาติ ช็อกโกแลต และสตรอเบอรี่ ที่วางแผนจะเปิดตลาดโมเดิร์นเทรด และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอบกรอบ แบรนด์ “Cassy Chips” ผลิตและจำหน่ายโดย ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านฉาง จังหวัดระยอง รวมถึงเฟรนช์ฟรายทอด

โดยทุกแบรนด์มีผู้ประกอบการ 4 ราย ให้ความร่วมมือในการผลิตและจัดจำหน่าย ได้แก่ บริษัท พลวรรธน์ ฟู้ดส์ จำกัด ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านฉาง จังหวัดระยอง คลัสเตอร์มันสำปะหลังกำแพงเพชร และ หจก.อนันตรา ฟู้ด แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง ร่วมกับ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ Tesco Lotus

“จากงานวิจัยนี้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หัวมันสำปะหลังสด ซึ่งราคากิโลกรัมละ 2-3 บาท สามารถผลิตเป็นฟลาวมันสำปะหลัง มีราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท จากนั้นนำฟลาวมันสำปะหลังมาผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อผลิตเป็นวาฟเฟิลอบกรอบ ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท”

รศ.ปรารถนา บอกด้วยว่า มันสำปะหลังในประเทศไทย มี 2 พันธุ์ คือ ขมกับหวาน ส่วนใหญ่พันธุ์ที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์คือ พันธุ์หวาน แต่สำหรับฟลาวมันสำปะหลังที่นำมาผลิต นำมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจปนมากับพันธุ์ขม แต่โรงงานอุตสาหกรรมมีการกำจัดสารไซยาไนด์ออกให้เหลือในจำนวนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่หากเกษตรกรต้องการผลิตผลิตภัณฑ์เอง ควรเลือกใช้มันสำปะหลังพันธุ์หวาน ที่ไม่มีสารไซยาไนด์เจือปน

สำหรับมันสำปะหลังอบกรอบ มุ่งพัฒนาให้เป็นขนมขบเคี้ยวสำหรับผู้รับสุขภาพ เพื่อทดแทนหรือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชอบมันฝรั่งทอด แต่รักสุขภาพ ก็สามารถกินมันสำปะหลังแผ่นอบกรอบได้ เพราะใช้กระบวนการอบแทนการทอด มีปริมาณน้ำมันต่ำ นอกจากนี้ เนื่องจากใช้มันสำปะหลังที่กินได้เป็นส่วนประกอบหลัก จึงเป็นการช่วยเกษตรกร และปราศจากสารกลูเต็น เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้แป้งสาลี โดยมันสำปะหลังอบกรอบ ใช้มันสำปะหลังสด หรือเป็นแป้งฟลาวมันสำปะหลัง ในการผลิต

ส่วนมันสำปะหลังทอดกรอบ มี 3 รสชาติ คือ ดั้งเดิม สมุนไพร และน้ำพริกเผา

ทั้ง 3 รสชาติ มีศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นผู้ผลิต ซึ่งระยะแรกคณะอุตสาหกรรมเกษตรเข้าไปให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมหรือแข่งขันในระดับอุตสาหกรรมได้

ที่ผ่านมา ที่วิจัย คณะอุตสาหกรรมเกษตร เข้าไปสำรวจปัญหาพบว่า ผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพ แต่ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากวัตถุดิบในพื้นที่ที่นำมาใช้ โดยแนวทางแก้ปัญหา ได้นำสารบางชนิดที่ใช้ในธุรกิจอาหารอยู่แล้วเข้าไปปรับ และควบคุมเวลา อุณหภูมิ กระบวนการทอด เพื่อให้ได้คุณภาพที่สม่ำเสมอมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เฟรนช์ฟรายจากมันสำปะหลัง ที่มีหลายหน่วยงานสนใจนำไปผลิต เช่น ศพก.บ้านฉาง จังหวัดระยอง หรือกลุ่มคลัสเตอร์จากจังหวัดกำแพงเพชร อย่างไรก็ตาม คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้ศึกษาและพัฒนาเฟรนช์ฟราย พบว่า แม้จะมีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจ แต่ปัจจัยที่ต้องทำให้เกิดความแน่ใจคือ การกำจัดสารไซยาไนด์หรือลดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลังให้ได้ต่ำกว่ามาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ผลิตภัณฑ์ทุกตัว มีวางจำหน่ายแล้วผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ www.cassasweet.com หรือทาง Facebook CassaSweet.KU หรือไลน์ที่ @cassasweet

ทั้งยังมีจำหน่ายในงานเกษตรแฟร์ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มกราคม-2 กุมภาพันธ์นี้ ที่บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน