เกษตรกรไร่อ้อยบุรีรัมย์ ลดต้นทุนการผลิต สร้างสรรค์นวัตกรรม ป้องกันเเรงงานขาดเเคลน

ปัจจุบัน การปลูกอ้อยเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากในหมู่เกษตรกรที่กำลังเริ่มต้นใหม่ ถือเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจไม่แพ้กัน หากมีการจัดการที่ดีและละต้นทุนการผลิต การปลูกอ้อยของเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ นั้นถือว่าสร้างรายได้เป็นลำดับต้นๆ ของจังหวัดไร่ ซึ่งอ้อย 700 ไร่ ของ คุณทองแดง แดนดี เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เริ่มต้นปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด จนสุดท้ายผันตัวเองเข้ามาอยู่ในพืชเศรษฐกิจอย่างอ้อย ที่ทำรายได้จนมีที่ดินทำกิน 700 ไร่ มาถึงทุกวันนี้

คุณวิไลลักษร์ พุฒนอก นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ของอำเภอหนองกี่นี้ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรจึงยึดอาชีพชาวไร่เป็นหลัก ทั้งนี้ ไร่อ้อยของ คุณทองแดง แดนดี ซึ่งเป็นที่ดินอยู่บนเนินเขา ทำให้เธอเลือกที่จะมาปลูกอ้อยเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากสภาพพื้นที่การทำการเกษตร อย่างการปลูกอ้อยของตำบลหนองกี่ ห่างจากโรงงานผลิตน้ำตาลเพียงแค่ 2 กิโลเมตร จึงอำนวยความสะดวกในด้านการขนส่งอีกด้วย

“สำหรับไร่อ้อยของคุณทองแดง เป็นไร่ที่มีการแบ่งพื้นที่ปลูกอยู่ 3 ส่วน ซึ่งส่วนแรกเป็นไร่มันสำปะหลังควบคู่ไปกับไร่นาข้าว จำนวน 300 ไร่ และ ไร่อ้อย 700 ไร่ ประสบการณ์ในการเป็นชาวไร่ชาวสวนจึงได้คิดค้นเครื่องจักรขึ้นมาเอง ทางสำนักงานเกษตรอำเภอก็เห็นว่ามีความสามารถ จึงได้ส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561” คุณวิไลลักษร์ พุฒนอก กล่าว

อ้อย 700 ไร่

มีวิธีการดูแลอย่างไร

คุณทองแดง แดนดี เจ้าของไร่ทองแดง เผยว่า สำหรับอ้อยที่ปลูกอยู่ ณ ตอนนี้เลือกที่จะปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และพันธุ์ยักษ์เขียว ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน อย่างเช่น พันธุ์ขอนแก่น 3 จะมีน้ำหนักที่เบากว่าพันธุ์ยักษ์เขียว ซึ่งอ้อยพันธุ์ยักษ์เขียวมีลำต้นที่ใหญ่กว่าและให้น้ำหนักดีกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3 ส่วนเรื่องความหวานนั้นทั้ง 2 สายพันธุ์นี้เรียกได้ว่า มีความหวานที่สูสีกันเลยทีเดียว นอกจากอ้อย 2 สายพันธุ์นี้แล้ว ยังได้มีการปลูกพันธุ์อื่นๆ อีก 2-4 สายพันธุ์ ถือว่าเป็นไร่ที่สร้างตัวเลือกได้อย่างหลากหลาย

“สำหรับวิธีการดูแลอ้อย 700 ไร่นั้น จะต้องดูแลอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจไร่อ้อยเดินก้าวไปข้างหน้า โดยที่ไม่ต้องกังวลถึงปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น มีการดูแลไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็จะใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือนวัตกรรมที่ผลิตคิดค้นขึ้นมาเอง ประกอบกับประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่ นำมาต่อยอดธุรกิจมาจนถึงทุกวันนี้” คุณทองแดง กล่าว

นอกจากนี้ คุณทองแดง ยังได้บอกความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการระบบการให้น้ำในไร่อ้อยที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ไม่ควรพลาด และในส่วนของการจัดการกับระบบดินนั้น ทางไร่ของเธอก็มีวิธีการที่ไม่ว่าจะเจอดินปลูกสภาพแบบใด ก็มีการจัดการดินที่ดีเหมาะสมกับการปลูกอยู่เสมอ เช่น การระเบิดดิน เพื่อทำให้ลึกง่ายต่อการปลูกอ้อย และทั้งหมดนี้ก็เป็นการทำงานที่ใช้ระบบนวัตกรรมเครื่องยนต์และเครื่องกลต่างๆ ที่คิดค้นผลิตขึ้นมาเอง โดยแทบจะไม่ใช้แรงงานคนสักเท่าไร

หลังจากปลูกอ้อยจนได้ผลผลิตที่พร้อมส่งขายให้กับโรงงานแล้ว มาถึงขั้นตอนของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในขั้นตอนนี้มีการใช้เครื่องตัดอ้อยที่จะคู่ไปกับรถบรรทุก ทั้งนี้ รถบรรทุก 1 คัน สามารถขนอ้อยได้ทั้งหมด 25 ตัน

การปลูกอ้อยนั้นก็สามารถปลูกได้เลย เพราะอ้อยเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก เพียงแต่ต้องใส่ใจในการดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนใหญ่แล้วการปลูกอ้อยก็จะเริ่มปลูกในช่วงของเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าปลายฝน ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคและแมลงต่างๆ ที่เป็นปัญหาเข้ามาคุกคามในไร่อ้อย เช่น หนอน หรือแมลงอื่นๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็มีวิธีแก้ซึ่งจะแก้อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเกษตรกรว่าจะเลือกใช้วิธีไหน อาจจะใช้วิธีการพ่นยาหรือใช้วิธีอื่นๆ ตามความเหมาะสม

ขายอ้อยให้ได้ราคาดี

ต้องผลิตแบบลดต้นทุน

ในเรื่องของตลาดอ้อยนั้น ในทุกวันนี้ คุณทองแดง บอกว่า ถือว่ายังเป็นพืชที่น่าปลูกถึงแม้ราคาอาจจะหลุดลอย ยังไม่ตอบโจทย์เกษตรกรมากนักก็ตาม แต่ก็ยังคงต้องปลูก เพราะว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปทำพืชอย่างอื่นที่ตามกระแสได้ ถึงแม้ราคาในบางช่วงอาจจะไม่ค่อยดี แต่รัฐบาลก็ยังเข้ามาสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ และถ้าหากว่าต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น แน่นอนอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อให้เหมาะสมกับอาชีพนั้นๆ เท่ากับว่าเป็นการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

“ฉะนั้นเรามีที่ดินอยู่แล้ว มีเครื่องไม้เครื่องมือครบถ้วน เราก็สมควรที่จะปลูกอ้อยเหมือนเดิมถึงแม้ราคาอาจจะต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มาก็ตาม แต่จะต้องยืนหยัดยืนอยู่บนเส้นทางเกษตรกรไร่อ้อยต่อไป เพียงแต่เราก็มีการลดต้นทุนมากขึ้น สมัยนี้อะไรที่ทำเพื่อลดต้นทุนการผลิตเราก็ต้องทำ อย่างเช่น ที่ไร่ของเรามีการผลิตต้นพันธุ์อ้อยเอง ไม่ได้ซื้อเข้ามาจากที่อื่น มีการใช้ต้นพันธุ์เดิม ไม่มีการเผา จึงทำให้อ้อยก็ไม่ต้องซื้อต้นพันธุ์เข้ามาใหม่ สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ดี แม้บางช่วงราคาอ้อยตกลงมาอยู่ที่ 700 บาท ต่อตัน ก็ยังพอประคองตัวอยู่ได้” คุณทองแดง กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาหลักๆ ของสภาพพื้นที่ถือเป็นปัญหาที่แก้แล้วไม่ขาดอย่างปัญหาภัยแล้ง เพราะถ้าแล้งเมื่อไรก็ไม่มีระบบชลประทาน คือพูดง่ายๆ ว่า แล้งเมื่อไรก็แล้งขาดไปเลย แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหามากนักสำหรับเกษตรกรไร่อ้อยอย่างเธอ  เพราะได้วางแผนสลับเวียนไปเรื่อยๆ ทั้งพื้นที่การปลูกไปจนถึงขั้นของการจัดการบริหาร จนสามารถบรรลุผลสำเร็จในด้านการเกษตร ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรต้นแบบที่คิดค้นเครื่องไม้เครื่องมือมาใช้ในทางการทำเกษตร จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานจากทางภาครัฐและเกษตรกรที่ปลูกอ้อย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณทองแดง แดนดี หมายเลขโทรศัพท์ (081) 966-0363