แรบบิทสเนล กระต่ายน้อยในตู้ปลา

ในตู้ปลานอกจากปลาที่เลี้ยงเป็นพระเอกนางเอกแหวกว่ายสยายครีบกันงามสง่าแล้ว หลายคนยังนิยมเอาสัตว์น้ำอื่นๆ มาเลี้ยงปะปนไปด้วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตู้ใบโปรด อย่างเช่นกุ้งแคระ กุ้งเครฟิช ปูตัวจิ๋ว และหอยเปลือกสวยชนิดต่างๆ สัตว์น้ำพวกนี้นอกจากเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้วยังช่วยทำหน้าที่ด้านความสะอาด อาทิ กินเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกกรวดพื้นตู้ กินตะไคร่น้ำบนใบไม้หรือก้อนหิน บางทีก็มีหน้าที่เป็นสัปเหร่อคอยจัดการกับซากปลาตายที่อาจไปแอบตายซุกซ่อนตามซอกหลืบที่เรามองไม่เห็น เป็นการช่วยไม่ให้น้ำเน่าเสียเร็วเกินไป

สมัยผมยังเด็กเมื่อสักสามสิบปีก่อนเคยซื้อหอยชนิดหนึ่งมาเลี้ยง ชื่อว่าหอยเชอรี่ เปลือกของมันมีสีหวานจับใจดูคล้ายผลไม้สดฉ่ำ ปล่อยให้มันคืบคลานไปตามพื้นตู้เพื่อกินเศษอาหารตกหล่นที่ปลากินไม่หมด ดูเพลินเสียยิ่งกว่าปลาเสียอีกในตอนนั้น ผ่านมาอีกไม่เท่าไหร่หอยเชอรี่กลายเป็นหอยปิศาจรุกรานไปทั่วแหล่งน้ำเมืองไทย ไปไหนก็เจอหอยเชอรี่ไข่เกาะเป็นพวงสีชมพูสด ชาวบ้านรำคาญหนักเข้าเลยจับมาทำเป็นเมนูอาหารสำราญกันไปถ้วนหน้าเพราะมีเหลือเฟือ

หอยในธรรมชาติเป็นสัตว์กินซาก คล้ายกับหนอนในระบบนิเวศบนบก ทำให้เกิดสภาวะสมดุล ไม่ทำให้น้ำเน่าเสียเนื่องมาจากการตายของสัตว์และพืช หอยยังช่วยควบคุมปริมาณตะไคร่น้ำไม่ให้เติบโตเร็วเกินไป และในห่วงโซ่อาหาร หอยก็เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีให้กับสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์

หอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวของมันอ่อนนิ่ม สามารถปกป้องตัวเองได้ด้วยเปลือกแข็งๆ ตัวเปลือกนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้หอยหลายชนิดที่มีเปลือกสวยกลายมาเป็นอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลา ทั้งแบบตายแล้วคือเปลือกเปล่าๆ และแบบยังมีชีวิตที่คลานไปมาเก็บทำความสะอาดเป็นแม่บ้านประจำตู้ ดูสวยงามแถมยังทำประโยชน์ได้อีกโสดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ไปตามร้านขายปลามักเห็นมีหอยขายด้วย ที่ยอดนิยมก็ได้แก่ หอยเขา (Horn Snail) หอยแอปเปิ้ล หอยกินหอย (เอาไว้กำจัดหอยที่ไม่พึงประสงค์) หอยเขาแกะ ฯลฯ และอีกหนึ่งชนิดที่อยากจะขอกล่าวต่อไปนี้ เนื่องจากมีเอกลักษณ์โดดเด่นและน่าสนใจมาก นั่นคือหอยกระต่าย หรือแรบบิทสเนล

หน้าตาของแรบบิทสเนลดูคล้ายกระต่ายสมชื่อ มันมีอวัยวะที่คล้ายเขาเป็นก้านอ่อน ๆ ยื่นยาวออกมาเหนือตา ดูคล้ายหูของกระต่าย ตาของมันเล็กๆ กลมๆ ส่วนปากเป็นอวัยวะยืดหดได้ดูหนาๆ ย่นๆ ที่สำคัญจุดเด่นของเจ้าหอยชนิดนี้แทนที่จะอยู่ตรงสีสันลวดลายของเปลือกอย่างหอยทั่วๆ ไป กลับไปโดดเด่นอยู่ที่สีของเนื้อที่มีทั้งชนิดสีเหลืองสด ชนิดสีส้ม ชนิดสีดำลายจุดเหลือง ชนิดสีดำลายจุดขาว ฯลฯ  รูปร่างของเปลือกก็ดูแปลก คล้ายไอติมโคน มีทั้งสีดำ สีน้ำตาลเข้ม สีเทา พื้นผิวมีลวดลายคล้ายลายประดับนูนต่ำของสถาปัตยกรรมบาหลี บางสายพันธุ์ดูคล้ายมีฟองน้ำหุ้มซึ่งเกิดจากหินปูนเคลือบเกาะเอาไว้

แรบบิทสเนลหรือหอยกระต่าย มีถิ่นอาศัยอยู่ในทะเลสาบต่างๆ บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย เกาะนี้มีความสำคัญต่อนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา นักชีววิทยา และอีกหลายๆ วิทยารวมทั้งนักมีนวิทยาด้วย เนื่องจากเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตที่รูปแบบแตกต่างไปจากดินแดนอื่น จัดได้ว่าเกาะสุลาเวสีเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปออสเตรเลีย สัตว์น้ำขึ้นชื่อที่กล่าวถึงกันอย่างมากมายได้แก่ปลาสวยงาม กุ้งแคระสุลาเวสี และหอยสุลาเวสี ซึ่งก็รวมถึงเจ้ากระต่ายน้อยตัวนี้ไปด้วยครับ

หอยแรบบิทสเนลกระจายพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำตื้นของทะเลสาบต่าง ๆ บนเกาะสุลาเวสี โดยเฉพาะทะเลสาบมาตาโน จัดอยู่ในสกุล Tylomenia มีชนิดพันธุ์มากมายทั้งที่ค้นพบและถูกบันทึกในอนุกรมวิธานกับสายพันธุ์แปลกใหม่ที่ยังตกสำรวจอีกนับไม่ถ้วน วงการสัตว์น้ำสวยงามเพิ่งเข้าถึงโลกลี้ลับแห่งเกาะสุลาเวสีได้ไม่ถึงสิบปี มันจึงยังใหม่มาก มีอะไรให้เรียนรู้อย่างสนุกสนานตื่นเต้นอีกมากมายมหาศาล

หอยแรบบิทสเนลเมื่อเทียบกับหอยสวยงามชนิดอื่นที่นิยมเลี้ยงกันจะดูใหญ่กว่า มันสามารถโตเต็มที่ได้ถึง 3 นิ้ว เปลือกไอติมโคนที่ดูใหญ่และหนักทำให้การเคลื่อนตัวของเจ้ากระต่ายน้อยอืดอาดยืดยาด ไม่สมชื่อกระต่ายก็ตรงนี้แหละ นิสัยรักสงบของมันบางทีก็ดูซุกซนบ้าง เช่นชอบปีนป่ายไปตามขอนไม้หรือข้างตู้กระจก แต่ด้วยเปลือกเจ้ากรรมอันหนักหน่วงเราจึงมักเห็นมันไปได้ไม่สูงนัก คอยจะร่วงตกลงมาบนพื้นเสียทุกครั้ง

การเลี้ยงหอยแรบบิทสเนลนั้นง่ายมาก มันรักสงบ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครยกเว้นต้นไม้บางอย่าง เช่นต้นเฟินรากดำ เจ้ากระต่ายน้อยจะออกอาการลิงโลดเมื่อเห็นต้นไม้ชนิดนี้และจะตรงเข้าไปกัดแทะอย่างเมามัน ส่วนต้นไม้ชนิดอื่นดูมันไม่ค่อยให้ความสนใจมากเท่าไหร่ อาหารที่มันชอบก็มักเป็นเศษอาหารตกหล่นตามพื้น ตะไคร่น้ำ และซากสัตว์ตาย หากมีตัวอะไรสักอย่างตายในตู้ ไม่กี่นาทีหอยกระต่ายน้อยของเราก็จะคลานกระดุบๆ มาแทะกินเป็นเจ้าแรก

บางท่านนิยมเสริมอาหารด้วยอาหารสำเร็จรูปชนิดจม ซึ่งมันก็ไม่ปฏิเสธ ทว่าปริมาณการให้ต้องระมัดระวัง เนื่องจากหอยนั้นกินอาหารช้า ค่อยเป็นค่อยไป กินได้เรื่อยๆ ทั้งวัน เพราะฉะนั้นการให้อาหารที่มากเกินไปในคราวเดียวอาจทำให้น้ำเสีย และเมื่อน้ำเสียเกิดก๊าซแอมโมเนีย ไนไตรท์ในระดับค่อนข้างสูง สิ่งมีชีวิตที่เราเลี้ยงไว้แม้กระทั่งหอยจอมอึดก็อาจตายได้ภายในเวลาไม่นานเช่นกัน

สภาพน้ำที่จะเลี้ยงหอยแรบบิทไม่ควรเป็นกรด ค่าpHควรจะอยู่ประมาณ 7.0-8.5 หากเอาไปเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำหรือตู้ที่ต้องคุมค่าpHไม่ให้เกิน 6.5 จะสังเกตเห็นเปลือกหอยนั้นเริ่มกร่อน ผุเป็นหลุม ดูแล้วเหวอ อุณหภูมิไม่ควรสูงเกิน 28 องศาเซลเซียส และหากเลี้ยงรวมกับปลาอื่นก็ไม่ควรเป็นปลาที่มีอุปนิสัยดุร้าย หรือชอบจิกแทะด้วยจะงอยปากคมๆ

หอยเป็นสัตว์น้ำที่แพร่พันธุ์เร็วมากถ้ามีอาหารสมบูรณ์ ตู้ปลาที่ไม่ได้เลี้ยงหอย แต่ชอบให้อาหารปริมาณมากๆ หลายๆ มื้อ ปลากินไม่หมด ไม่นานเท่าไหร่จะพบว่าเกิดหอยขึ้นเป็นสิบๆ ร้อยๆ ตัว พวกมันมาในรูปของไข่ที่ติดมาพร้อมกับวัสดุตกแต่งตู้ปลาบางอย่าง เช่น ขอนไม้ ต้นไม้น้ำ เมื่อเจออาหารตกค้างในตู้อย่างอุดมสมบูรณ์จึงปรีเปรมออกลูกออกหลานกันจ้าละหวั่น

หอยที่เอามาเลี้ยงเพื่อทำประโยชน์หลายชนิดก็สามารถแพร่พันธุ์ได้ทีละมากๆ แม้ไม่เท่าหอยกลุ่มแรก แต่กับหอยแรบบิทสเนลนี่คนละเรื่องเลยครับ มันเพาะพันธุ์ช้าและค่อนข้างยาก ให้ลูกน้อยมากแค่ครั้งละเพียงตัวเดียว ลูกหอยที่ออกมาจากท้องแม่จะมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่ ไม่กี่นาทีต่อมามันก็จะเจาะเยื่อนั้นออกมาดูโลกภายนอก ลูกหอยแรบบิทสเนลเกิดใหม่น่ารักมาก ตัวเล็กไม่ถึงเซ็นแต่มีรูปร่างและสีของเนื้อเหมือนพ่อแม่ทุกอย่าง ยกเว้นแต่ส่วนเปลือกรูปไอติมโคนที่ดูป้อมสั้นกว่าเท่านั้น ผมเคยลองเพาะพันธุ์หอยชนิดนี้เล่นๆ ได้ลูกมาสองตัวดีใจแทบตาย

เห็นร้านขายปลาสวยงามหลายร้านนิยมเอาหอยแรบบิทสเนลมาขายมากขึ้นในระยะนี้ ใช้ชื่อว่า “หอยสุลาเวสี” โดยมากจะเห็นเป็นชนิดเนื้อเหลืองกับเนื้อส้ม ซึ่งดูสวยอ่อนหวานมากที่สุด นานๆ ครั้งจะเจอชนิดเนื้อลาย คือตัวสีดำมีจุดขาวหรือจุดเหลืองกระจาย ถ้าเจอก็รีบซื้อทันที เพราะเป็นของแปลกหายาก ใครสนใจหาอะไรมาเลี้ยงในตู้นอกจากปลาและกุ้ง จะลองดูหอยกระต่ายน้อยสักตัวสองตัวก็ไม่เลวนะครับ น่ารักดี