Young smart farmer บุรีรัมย์ ปลูกเมล่อนเน้นคุณภาพ ตลาดมีความต้องการ ผลผลิตมีไม่พอจำหน่าย

คุณปรีชา นาจรูญ เกษตรอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในส่วนของโครงการปลูกผักปลอดภัยปลอดสารพิษ ก็ได้มีการดำเนินการมาหลายปีแล้ว แต่ที่หลักๆ มีการจัดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีกลุ่มวิสาหกิจรวมทั้งหมดภายในอำเภอ 360 กว่ากลุ่มที่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ส่วนเรื่องผักปลอดภัยไร้สารพิษนั้นมีอยู่ทุกตำบลที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอได้ส่งเสริมอยู่ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งก็ได้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และแหล่งน้ำทั่วไปนั้น ก็ยังคงต้องพึ่งแหล่งน้ำจากธรรมชาติ

คุณสุระเทพ สุระสัจจะ เจ้าของสวนเมล่อน

“สำหรับไร่เพื่อนคุณได้คิดริเริ่มเรื่องการปลูกพืชที่ปลอดภัยจากสารพิษ โดยมี คุณสุระเทพ สุระสัจจะ เป็นผู้ดูแลกิจการและยังเป็น Young smart farmer ของจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นตัวแทนระดับประเทศที่ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถนำนวัตกรรมจากต่างประเทศมาบริหารภายในโรงเรือง ถือเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงที่กล้านำเทคโนโลยีด้านการเกษตร นวัตกรรม ที่เกี่ยวกับการให้น้ำ และการพิสูจน์โรคแมลงต่างๆ เพราะฉะนั้นในส่วนตรงนี้ก็เชื่อได้ว่า การทำงานของ Young smart farmer ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษไม่น้อยกว่า 10 ราย แต่ก่อนที่จะผ่านเข้ามาสู่ตรงนี้ เขาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จนได้รับมาตรฐานต่างๆ จากนั้นการรับสมาชิกเข้ากลุ่ม ผู้เป็นสมาชิกต้องทำให้ได้ตามข้อกำหนด ถึงจะเข้าเป็นสมาชิกได้ ทำให้การันตีได้ว่าพืชผักและผลผลิตมีความปลอดภัย ทั้งนี้ เรื่องของการตลาดก็ไม่เป็นปัญหา เพราะว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และศูนย์กลางแห่งการตลาด” คุณปรีชา กล่าว

คุณสุระเทพ สุระสัจจะ เจ้าของสวนเม่ล่อนไร้สารพิษ ไร่เพื่อนคุณ ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำอาชีพนี้ ซึ่งเริ่มต้นมาจากคุณพ่อที่เห็นถึงความทุกข์ยากของเกษตรกรในเรื่องของการใช้ยาฆ่าแมลง การให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ การโดนกดราคาจากกลไกการตลาด และเมื่อคุณพ่อเกษียณ ก็เลยเกิดความคิดที่อยากจะสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและให้ความรู้ในการเพาะปลูกที่ถูกต้อง ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้ผ่านทางศูนย์การเรียนรู้ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่จะเน้นในด้านความปลอดภัยของเกษตรกรสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

โรงเรือนปลูกเมล่อน

“สำหรับการเริ่มต้นการปลูกเมล่อน ก็เริ่มจากความชอบของคุณพ่อที่ชอบทานเมล่อน และแตงโม แต่ไม่มีความมั่นใจที่จะไปทานที่อื่น เมื่อถึงเวลาเกษียณจึงออกมาปลูกเมล่อนและแตงโม ทั้งนี้ก็มีครูมาสอนเพิ่มเติมในเรื่องการปลูก ก็ได้มีการลองผิดลองถูก ล้มบ้าง เสียหายบ้าง จนสามารถพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้ ได้ศึกษาวิธีการต่างๆ จาก 3 อาจารย์ ซึ่งอาจารย์ท่านแรกนั้นก็คือผู้ที่มีประสบการณ์หรือผู้ที่ผ่านการปลูกเมล่อนมาก่อน ต่อด้วยอาจารย์ที่ชื่อว่า Google และสุดท้ายก็เป็นตัวของเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่โดยส่วนใหญ่แล้วมีการทำไร่ทำนามาก่อน บางครั้งเกษตรกรจะเอาปูนเคี้ยวหมากมายับยั้งแบคทีเรียตอนที่ตัดกิ่งเมล่อนในช่วงหน้าฝน แต่ก็มีการบอกเกษตรกรว่าถ้าเกษตรกรผสมไตรโคเดอร์ม่าไปด้วย จะได้มีการยับยั้งแบคทีเรีย เห็นได้เลยว่าที่ผ่านมาเรามีการทำงานร่วมกันกับเกษตรกรถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” คุณสุระเทพ กล่าว

ในส่วนของการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ มีการนำระบบโซล่าเซลล์ในการสูบน้ำจากบ่อพักน้ำของทางสวน ใช้เนื้อที่สำหรับพักน้ำประมาณ 2 ไร่ ลึก 8 เมตร ซึ่งจะใช้โซล่าเซลล์ในการสูบน้ำมาใช้เพื่อการเกษตร ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ยังสามารถสกัดสารพิษที่ปนเปื้อนจากแหล่งน้ำอื่นอีกด้วย ในส่วนของเทคโนโลยีตัวที่สองนั้นก็คือ ตู้ควบคุมน้ำอัตโนมัติที่เข้ามาดูแลการให้น้ำ ซึ่งจะมีระบบน้ำหมอกที่จะนำมาใช้ในช่วงที่อากาศร้อนและระบบตั้งเวลาที่จะให้น้ำกับพืชแบบอัตโนมัติ

ต้นเมล่อนระยะแรก

ในการเพาะปลูกภายในโรงเรือนจะไม่มีการปลูกพืชซ้ำ แต่จะสลับหมุนเวียนปลูกเมล่อนควบคู่ไปกับการปลูกผัก ตัวอย่างเช่น รอบนี้ปลูกเมล่อน รอบต่อไปจะปลูกถั่วฝักยาวสลับกันไปเพื่อหลอกโรคหลอกแมลง ถือเป็นเรื่องที่ดีมีผลผลิตที่หลากหลาย ที่มีถึง 10 กว่าชนิดในเรื่องการทำตลาด ต่อมาทางสวนได้มีการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป ทั้งนี้ ก็มีหน่วยงานจากทางภาครัฐอย่างเกษตรอำเภอ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งห้องแล็บไว้ตรวจสอบพืชผักปลอดสารพิษ

“ต้องบอกก่อนว่าเมล็ดเมล่อนมีมูลค่าที่แพงมาก จึงไม่สามารถที่จะหยอดลงปลูกได้เลย ซึ่งต้องใช้วิธีการเพาะลงถาดในโรงเพาะ โดยการหยอด 1 เมล็ดต่อ 1 หลุม ข้อดีในการทำวิธีนี้คือจะสามารถคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ได้ ใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน จากนั้นก็เอาลงดินในช่วงเวลาเย็นเพราะว่าช่วงเช้ารากจะไม่เดิน เนื่องจากต้องเจอกับแดดเที่ยงทำให้ต้นตายได้ แต่ถ้าหากว่าเป็นช่วงเย็นรากก็จะฟื้นตัว” คุณสุระเทพ กล่าว

ต้นเมล่อน

ในช่วงแรกที่เตรียมแปลงจะใส่ปุ๋ยคอกลงไปผสมด้วย จากนั้นเมื่อปลูกกล้ายืนต้นได้สักระยะ จะให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ต่อด้วยรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า 5 นาที ประมาณ 08.00 น. และช่วงเที่ยง 5 นาที และเมื่ออายุต้นเมล่อนถึง 10 วันขึ้นไป จะทำวิธีการพันยอดเพราะเมล่อนเป็นพืชที่โตไว หลังจากที่พันยอดเสร็จก็ถึงเวลาตัดแต่งแขนง ตัดแต่งใบ พร้อมกับนับเวลาผสมเกสรประมาณ 30 วัน ก็จะเริ่มใช้น้ำหมักกล้วยมาฉีดเพื่อเร่งฮอร์โมน ก่อนที่จะมีการติดดอก

ซึ่งต่อมาก็จะเป็นขั้นตอนในการผสมเกสรก็จะนับวันผสมเกสรออกเป็น 5 รอบ เมื่อทำตรงนี้เรียบร้อยแล้ว ควรให้ปุ๋ยสูตร 15-15-21 จากนั้นก็ทิ้งระยะเวลาไว้สักพักก่อนที่จะกลับมาเน้นที่ทำความหวานใส่ปุ๋ยตัวท้ายสูง

“ต้องยอมรับว่าเมล่อนยังไม่สามารถที่จะปลูกแบบอินทรีย์ แต่จะปลูกแบบไร้สารพิษได้ พยายามจะหาปุ๋ยหลายๆ แบบมาใช้แต่ต้องให้เหมาะสม ต่อมาระยะผสมเกสรจนถึงเก็บเกี่ยวได้ติดผลนั้นประมาณ 60-75 วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาหรือฤดูกาล เพราะว่าเมล่อนช่วงหน้าร้อนจะสุกไวช่วงหน้าหนาวจะสุกช้าและผลเล็ก เมล่อนต่อต้นสามารถไว้ได้แค่ 1 ผล และ 1 โรงเรือน ปลูกอยู่ที่ 320 ต้น สำหรับขนาดโรงเรือน 6×20 เมตร ส่วนโรงเรือนขนาด 8×20 เมตร จะมีประมาณ 500 กว่าต้น นอกจากนี้ทางไร่จะมีกระบวนการสุ่มเช็ค โดยการตัดออกมาลองก่อนเพื่อความชัวร์ในเรื่องของความหวานก่อนที่จะนำไปจัดจำหน่าย” คุณสุระเทพ กล่าว

ต้นเมล่อนเริ่มออกดอก

ในเรื่องของตลาดสำหรับจำหน่ายเมล่อน คุณสุระเทพ บอกว่า จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตลาดที่วางจำหน่ายซึ่งราคาของแต่ละตลาดก็จะมีความแตกต่างกันไป ตลาดแรกจะเป็นตลาดที่จะจัดจำหน่ายอยู่หน้าร้าน สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ผ่านไปผ่านมาสามารถแวะซื้อได้ และไม่เพียงเท่านี้ยังมีตลาดโมเดิร์นเทรดที่จำหน่ายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า ต่อมาตลาดที่สามจะอยู่ในส่วนของโรงพยาบาล เนื่องจากว่ามีการเน้นปลูกแบบไม่ใช้ยาฆ่าแมลงร้อยเปอร์เซ็นต์ การที่เอาผลผลิตไปจำหน่ายในโรงพยาบาลเพื่อให้คนป่วยได้รับประทานอันนี้คือตอบโจทย์ในเรื่องของอาหารปลอดภัย และตลาดสุดท้ายก็เป็นตลาดที่ขายผ่านออนไลน์

ผักปลอดสารพิษ

“อย่างในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลูกค้าก็จะสั่งจองเข้ามา และทางสวนก็จะส่งผ่านทางขนส่งไปให้ได้ทานถึงที่ ซึ่งเมล่อนก็มีทั้งเกรด A B C ราคาก็จะแตกต่างกันไปอย่างหน้าร้านก็จะตกอยู่ที่ 110-120 ต่อกิโลกรัม และถ้าราคาตามห้างราคาจะอยู่ที่ 139-189 ต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ความต้องการของผู้บริโภคก็ถือว่ายังให้ความสนใจที่จะรับประทานพืชผลไม้เมล่อน   เนื่องจากเป็นผลไม้ปลอดสารพิษจึงสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกเพศและทุกวัย” คุณสุระเทพ กล่าว

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุระเทพ สุระสัจจะ หมายเลขโทรศัพท์ (089) 924-9927