ซุ้มกิตติพงษ์ ไก่ชน คนขอนแก่น จับไก่พม่ามาทำแชมป์

ถ้าเอ่ยชื่อ กิตติพงษ์ เต็มยงค์ ชาวขอนแก่น โดยเฉพาะคนในเขตอำเภอเมือง จะคุ้นชื่อแน่นอน แม้จะไม่ได้เป็นคนดังระดับซุปเปอร์สตาร์ แต่ก็ทำงานในวงการข้าราชการการเมืองมาเกือบทุกระดับ ตั้งแต่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไล่ตำแหน่งหน้าที่ก้าวขึ้นไปตามลำดับ

มีโอกาสได้จับเข่าคุย ทำให้รู้ลึกซึ้งว่า คุณกิตติพงษ์ ไม่ใช่ข้าราชการการเมืองที่มุ่งหวังแต่ประโยชน์ทางตำแหน่งหน้าที่ แต่เพราะมีพื้นฐานทางด้านเกษตร และเห็นว่า เกษตร คือตัวบ่งชี้ความสุขของประชาชน

พื้นฐานที่บ่มเพาะให้คุณกิตติพงษ์เจริญรอยตามคือ คุณพ่อ ที่เคยทำงานในสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่นมาก่อน และคุณแม่ที่เคยทำสวนมะลิซ้อน ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่นรายแรก แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้ทำแล้วทั้งสองท่าน แต่ก็สืบทอดมาทางพันธุกรรมให้กับคุณกิตติพงษ์เต็มสายเลือด

ปี 2535 คุณกิตติพงษ์ กลับจากต่างประเทศ คุณพ่อชวนลงทุนนำเข้าโคสายเลือดนอก เพื่อมาเพาะเลี้ยงในไทย ขายเป็นพ่อพันธุ์และขุนเนื้อขาย การนำเข้าในยุคนั้น เรียกได้ว่า เป็นกลุ่มแรกๆ ที่นำเข้าโคพ่อพันธุ์ฮินดูบราซิล จนเป็นที่ฮือฮาในวงกว้างระดับประเทศ แต่ท้ายที่สุดโคสายพันธุ์นี้ก็ไม่ได้ช่วยฟื้นตลาดเนื้อโคในเมืองไทย ทำให้คุณกิตติพงษ์ต้องเลิกเลี้ยงไปในที่สุด

จบจากวงการโคเนื้อ ก็หันหน้าเข้าวงการม้าแข่ง หวังตีตลาดให้จังหวัดขอนแก่นเป็นที่รู้จักในวงการม้าแข่ง แต่ทำได้ไม่นานก็เลิก

คุณกิตติพงษ์ บอกว่า วงการม้าแข่ง ไม่ได้รับการยอมรับเป็นที่เปิดเผยจากกลุ่มคนส่วนใหญ่ มีเพียงกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่สนใจ ทำให้ไม่สามารถผลักดันให้เป็นม้าแข่งอาชีพหรืออาชีพม้าแข่ง สร้างรายได้เข้าจังหวัด เมื่อติดขัดในหลายระบบ ทำให้ต้องยกเลิกการเลี้ยงม้าเพื่อแข่งและการแข่งม้าของจังหวัดขอนแก่น

ไก่ชน หน้าไม่สวย แต่ใจสู้

เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ไม่ได้วางมือจากการเกษตร แม้จะยุติการทำม้าแข่งไปแล้วก็ตาม คุณกิตติพงษ์หันมาจับสัตว์เล็กกว่า จัดอยู่ในกลุ่มของปศุสัตว์ตามเดิมคือ ไก่ชน

“ที่ผมเลือกไก่ เพราะเป็นสัตว์เล็ก คนเข้าถึงได้มาก แต่เน้นไปที่ไก่ชน เพราะเป็นกีฬาพื้นบ้านของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ”

คุณกิตติพงษ์ เลือกเลี้ยงไก่ชน เพื่อเพาะเป็นไก่กีฬาเท่านั้น ไม่ได้เลือกเลี้ยงเพื่อเพาะเป็นไก่สวยงาม หรือเก็บอนุรักษ์สายพันธุ์ ดังนั้น เมื่อมีเป้าหมายเลี้ยงเพื่อไก่กีฬา จึงทำสนามและฟูมฟักให้เกิดไก่กีฬาคุณภาพ

การซ้อมบินหลุมหรือบินท่อ

ในระยะแรกเริ่ม ใช้วิธีพุ่งเข้าหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากสนามแข่งต่างๆ ซื้อตัวไก่คุณภาพที่ได้แชมป์ในสนาม เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้นิ่ง ตามภาษาวงการไก่ชน ที่เรียกชื่อเหล่าตามชื่อซุ้มที่มาของไก่ตัวนั้นๆ กระทั่งปัจจุบัน คุณกิตติพงษ์ พัฒนาสายพันธุ์ไก่ชนในซุ้มของตนเองให้ได้สายเลือดนิ่งมานานเป็นเวลา 14 ปีแล้ว และยังคงพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นไก่กีฬาที่ดีต่อเนื่องต่อไปอีก

ด้วยประสบการณ์ที่มีคุณพ่อทำงานเกี่ยวข้องกับงานด้านปศุสัตว์มานาน ทำให้การซึมซับในวัยเด็กเก็บสะสมมาถึงปัจจุบัน การทำงานในแวดวงการเมือง จึงไม่ได้เปลี่ยนคุณกิตติพงษ์ไปแม้แต่น้อย

“พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงไก่ชนมีหลายแห่ง” คุณกิตติพงษ์ บอก

ซุ้มกิตติพงษ์แท้จริงแล้วมีเพียงแห่งเดียว แต่สถานที่ที่ทำเป็นโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ชนของซุ้ม แบ่งเลี้ยงออกไปยังหลายแห่งในพื้นที่อำเภอเมือง และมีคนดูแลแต่ละโรงเรือนในทุกวัน การดูแลไก่ชนต้นตอเริ่มจากคุณกิตติพงษ์ เป็นผู้ตัดสินใจว่า ไก่ตัวใดควรซ้อมเพื่อลงสนามให้เป็นไก่กีฬา ไก่ตัวใดไม่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมาะกับการเป็นไก่กีฬาก็จะขายเป็นไก่เนื้อ ส่วนแม่พันธุ์ไก่จะทำลายทิ้ง ไม่มีการขายออก เพราะต้องการรักษาสายพันธุ์ที่พัฒนาภายในซุ้มไว้ไม่ให้แพร่กระจายออกไปที่อื่น

การซ้อมวิ่งลู่

ในการดูแลทุกวัน คุณกิตติพงษ์ บอกว่า ไก่ต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง นำออกมาวิ่งลู่ เพื่อออกกำลังกายวันละหลายชั่วโมง และซ้อมบินหลุมหรือบินท่อ เป็นการซ้อมให้ไก่กระโดดได้สูง เป็นผลไปถึงการกระโดดตีของไก่เมื่อลงสนาม การอาบน้ำ ให้วิตามินบำรุง หรือแม้กระทั่งการให้ยาสมุนไพรกินและทาลำตัว ซึ่งเป็นความเชื่อว่าทำให้ไก่มีสุขภาพดี เช่นเดียวกับซุ้มอื่น แต่ทั้งนี้ คุณกิตติพงษ์ บอกว่า แต่ละซุ้มมีสูตรการซ้อมไก่ที่ไม่เหมือนกัน

สายพันธุ์ไก่ของซุ้มกิตติพงษ์คือ สายพันธุ์พม่า

“จริงๆ ผมชอบไก่ไทย แต่ที่เลือกสายพันธุ์พม่า เพราะไก่พม่าชนหัวล่างเก่ง ตีแป๊บเดียวก็แตกแล้ว ความคมของไก่พม่าสุดยอดกว่าพันธุ์อื่น ลีลาก็สวย และเอาตัวรอดเก่ง เมื่อไรที่กระโดด เมื่อนั้นคู่ต่อสู้ก็ถูกตีเจ็บแน่นอน”

ไก่ชนจากซุ้มกิตติพงษ์ เมื่อลงสนามแล้วได้แชมป์เกือบทุกตัวแทบไม่ได้กลับมาที่ซุ้ม เพราะจะมีแมวมองมาจ้องขอซื้อหลังจากชนะสนามนั้นๆ แต่การซื้อขายก็เป็นไปตามราคาประสบการณ์ของไก่แต่ละตัว โดยเริ่มจากหลักพัน หลักหมื่น ไปถึงหลักแสนบาท
ไก่ที่ฟักภายในซุ้ม จะเริ่มถูกนำมาลองเชิงเมื่ออายุได้ 8 เดือน

หากลองเชิงกับไก่ในซุ้มด้วยกัน แล้วเห็นแววว่า เป็นไก่กีฬาที่ดีได้ ก็จะถูกคัดออกมาต่างหาก เพื่อเริ่มซ้อมและลงสนาม

คุณกิตติพงษ์ บอกว่า แม้ว่าพ่อแม่พันธุ์จะชนะสนามราคาแพง ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกไก่ที่ได้จากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นๆ จะเก่งเหมือนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพราะในจำนวนไข่ 10 ฟอง ฟักมา อาจได้ลูกไก่เก่งเหมือนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 2-3 ตัวเท่านั้น

ไก่ที่ถูกซ้อมเพื่อเตรียมลงสนาม จะบำรุงหนักมากกว่าไก่ที่ต้องดูแลปกติทุกวัน เพื่อให้ไก่เกิดความคึก กระชุ่มกระชวย พร้อมชนเมื่อลงสนาม

ไก่ชนะ จะถูกตามซื้อหลังจากการแข่งขัน
ไก่แพ้ จะถูกขายไปทำสายพันธุ์ทันที

“กรณีไก่แพ้ บางทีต้องดูก่อนว่า เป็นที่ไก่ หรือเป็นที่คนเลี้ยงไก่ ในบางครั้งไก่แพ้เพราะถูกวางยา ซึ่งเป็นที่คนเลี้ยงไก่ แต่ถ้าไก่ป่วย สภาพไม่พร้อม ก็ถือว่าเป็นที่ไก่ ต้องมาพิจารณา ไม่ใช่ว่าจะขายไก่แพ้ออกจากซุ้มไปทุกตัว”

สำหรับคุณภาพของไก่ที่ออกจากซุ้มกิตติพงษ์ไป ถามว่ามีรับประกันคุณภาพระดับไหน คุณกิตติพงษ์ ตอบว่า 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ซื้อก็ต้องเชื่อซุ้มด้วย เช่น กรณีซื้อไก่ชนะสนามหลักพัน แต่เอาไก่ไปลงชนในสนามหลักแสน เปอร์เซ็นต์แพ้ก็สูง หรือซื้อไก่เก่งไปแล้ว แต่ไม่ดูแล ไม่ซ้อม ไก่ก็ไม่พัฒนาขึ้น เมื่อเอาไปลงชนในสนามไก่แพ้ ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดของซุ้ม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่พบกรณีนี้เกิดขึ้น เพราะคนในวงการไก่ชนด้วยกัน ก็จะทราบดีว่า ควรปฏิบัติเช่นไร

โรงเรือน แยกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์
ยาบำรุงอัดเม็ดจากสมุนไพร หาซื้อได้ทั่วไป

แม้ว่าไก่ชนจากซุ้มกิตติพงษ์จะขายออกเมื่อไก่ผ่านการชนในสนาม แต่คุณกิตติพงษ์ ก็เห็นใจผู้ที่รักกีฬาชนไก่ แต่มีทุนทรัพย์น้อย หากต้องการซื้อลูกไก่จากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีคุณภาพ ชนะมาหลายสนาม คุณกิตติพงษ์ก็ยินดีขายลูกไก่ให้ในราคาคู่ละ 1,500-3,000 บาท แต่การรับประกันว่าจะเก่งเหมือนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์หรือไม่นั้น คงไม่สามารถรับประกันได้ ขึ้นกับผู้เลี้ยงเองที่ต้องซ้อมไก่ให้ได้คุณภาพ

ซุ้มกิตติพงษ์ เป็นชื่อเรียกติดปากของผู้ที่อยู่ในแวดวงไก่ชน แต่ชื่อซุ้มที่ถูกต้องคือ ซุ้มไก่ กิตติพงษ์ เต็มยงค์ หากจะแวะเข้าไปชมไก่ ก็ไม่ขัดความต้องการ ติดต่อขอแวะเข้ามาชมได้ที่ โทร. (064) 464-1595 ส่วนซุ้มตั้งอยู่ที่ เลขที่ 189 บ้านราชการ หมู่ที่ 15 ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น