เลี้ยงปลาให้สวยในตู้เล็กได้ ด้วยชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำ

ในการเลี้ยงปลาทะเล การจัดกระแสน้ำภายในตู้เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ กระแสน้ำจะช่วยลดการสะสมของเศษตะกอน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกไนไตรท์และไนเตรท และยังก่อให้เกิดภาวะตู้ล่ม (old tank syndrome) ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร

การสร้างกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลา จะช่วยลดการสะสมของตะกอนขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ปะการังสามารถจับกินสิ่งมีชีวิตได้ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในตู้เลี้ยงปลา

ด้วยเหตุนี้อาจารย์พีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเหตุผลและความเป็นไปได้ในการสร้างอุปกรณ์สร้างกระแสคลื่นมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการทำให้เกิดกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลาทะเล โดยเฉพาะตู้ปลาทะเลขนาดเล็ก ที่มีขนาดความจุของน้ำไม่เกิน 35 ลิตร โดยกำหนดเป้าหมายให้ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ ไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเติม แต่อาศัยปริมาณน้ำจากช่องกรอง หรือ ปั๊มน้ำขนาดเล็กแทน

 

อาจารย์พีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ และเครื่องกำเนิดคลื่นตู้ปลา

“ปัญหาของการเลี้ยงปลา คือ การสะสมของตะกอน มูลปลา เศษอาหารที่เหลือ ตกตะกอนนอนก้นด้านล่างของตู้ การสะสมของตะกอนทำให้เกิดพิษต่อตัวปลา ซึ่งโดยทั่วไปการจัดการไม่ให้เกิดการตกตะกอนนอนก้นตู้ คือ การทำกระแสคลื่นเพื่อไม่ให้ตะกอนนอนก้น แต่ตะกอนตกไปกับส่วนที่กรองน้ำ และหากซื้อเครื่องทำกระแสคลื่นมาใช้กับตู้ปลาที่มีขนาดความจุน้อยกว่า 35 ลิตร ความแรงของคลื่นจะทำให้น้ำในตู้ปลาหกหรือล้นออกมา”

ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแท็งก์ขนาดพอเหมาะ สามารถใช้ใส่ใยกรองหรือไบโอบอลได้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการบำบัดน้ำต่อเข้ากับท่อนำเข้าแท็งก์ และมีท่อสำหรับปล่อยน้ำออกตามแรงดึงดูดของโลก เมื่อเปิดระบบทำงานท่อนำเข้าน้ำจะทำหน้าที่ในการเติมน้ำให้กับแท็งก์ เมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์สูงระดับหนึ่ง จะเกิดแรงดันให้น้ำไหลออกไปให้ท่อปล่อยน้ำออก ซึ่งน้ำที่ออกมาทางท่อนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ก่อให้เกิดกระแสคลื่นในระบบ

ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลภายในอาคารบ้านเรือนได้ โดยชุดกำเนิดคลื่นนี้ นอกจากจะทำให้เกิดกระแสคลื่นภายในตู้เลี้ยงปลาทะเลแล้ว ยังช่วยในการเติมออกซิเจนในระบบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับใส่อุปกรณ์ในการบำบัดน้ำ หรือ ใช้สำหรับการกักปลาที่นำเข้ามาใหม่ได้อีกด้วย

สอบถามได้ที่ อาจารย์พีระ อารีศรีสม ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 02-5798574-5 ในวันและเวลาราชการ