ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
กลุ่มนักนิยมเลี้ยง “นกยูง” ต้องเคยได้ยินชื่อของ “ชมรมรักษ์นกยูง” ที่มีผู้เลี้ยงนกยูงและผู้สนใจ รวมตัวกันเป็นกลุ่มไว้สำหรับซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน บอกเล่าประสบการณ์ และเป็นฐานความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนกยูง โดยมี คุณสันติศักดิ์ ถนอมสิงห์ เป็นผู้ริเริ่มในช่วงแรก และคอยดูแล ประสาน ให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในชมรมดำเนินไปด้วยดี

แม้ว่าคุณสันติศักดิ์ จะเป็นผู้ริเริ่มในช่วงแรก แต่ก็ไม่ได้ตั้งตัวเป็นประธานหรือหัวหน้า เพราะเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงให้ชมรมรักษ์นกยูงบริหารจัดการและดูแลซึ่งกันและกันเอง มีเพียงแอดมินคอยดูแลตัดทอนเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับนกยูงออก
เมื่อ 8-9 ปีก่อน คุณสันติศักดิ์ เป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง เมื่อมองเห็นช่องทางการเกษตรที่ทำเงินมากกว่า เช่น การเพาะนกยูง จึงเลิกเลี้ยงกุ้ง แล้วหันมาเพาะเลี้ยงนกยูงเต็มตัว
“เริ่มต้นก็อยากเลี้ยง ชอบสัตว์ปีก พอเลี้ยงแล้วมีลูก ก็ขายและทำตลาด ในยุคก่อนนกยูงราคาเริ่มต้นตัวละ 1,500 บาท คนซื้อก็น้อย เพราะตลาดยังไม่กว้าง จึงเริ่มรวมกลุ่มก่อตั้งชมรมรักษ์นกยูงขึ้น มีสมาชิกจำนวนมาก เริ่มมีคนรู้จักมากเพิ่มขึ้น มีทั้งคนที่ต้องการขายและต้องการซื้อ คนที่เลี้ยงอยู่แล้วก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ เพิ่มมูลค่าให้กับนกยูง”
คุณสันติศักดิ์ เลี้ยงนกยูงไทย และนกยูงอินเดีย

เขาอธิบายว่า นกยูงไทย จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ป่าคุ้มครอง การเลี้ยงจึงจำเป็นต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ว่ามีนกยูงในครอบครอง ซึ่งต้องมีเอกสารอนุญาตเลี้ยง อนุญาตเพาะพันธุ์ และอนุญาตจำหน่าย ส่วนนกยูงอินเดีย มีหลายสี และไม่ต้องมีเอกสารอนุญาตใดๆ ทำให้มีผู้นิยมเลี้ยงนกยูงอินเดียแพร่หลายกว่านกยูงไทย
คุณสันติศักดิ์ เล่าว่า เดิมนกยูงอินเดียมีเพียงสีธรรมดาและสีขาว เมื่อนำมาพัฒนาให้เกิดสีแปลกจากเดิม เกิดเป็นสีด่าง จากสีด่างเริ่มด่างมากขึ้นกระทั่งเป็นนกยูงอินเดียสีขาว และสีแปลกที่ไม่พบในต่างประเทศคือ สีคามิโอ้ในเพศเมีย จึงถือว่าเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่สามารถเพาะนกยูงอินเดีย สีคามิโอ้เพศเมียได้

ราว 5 ปีก่อน ที่สามารถผลิตนกยูงอินเดียด่าง ราคานกยูงด่าง จะซื้อขายอยู่ที่ราคาตัวละ 3,500 บาท ในนกยูงอายุไม่เกิน 2 เดือน แต่ปัจจุบันเริ่มมีหลายฟาร์มผลิตได้ ทำให้ราคานกยูงลดลง แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัตว์ปีกที่มีมูลค่าซื้อขายสูงอยู่
คุณสันติศักดิ์ ให้ความรู้ว่า นกยูงอินเดียและนกยูงไทย มีความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะตามสายพันธุ์ แต่เพราะนกยูงอินเดียไม่ต้องขออนุญาตใดๆ ทั้งยังมีหลายสี ทำให้ความนิยมในการเลี้ยงนกยูงอินเดียมากกว่านกยูงไทย โดยประเมินจากผู้เลี้ยงในชมรมรักษ์นกยูงที่มีประมาณ 5,000 คน มีการเลี้ยงนกยูงไทยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่มีการเลี้ยงนกยูงอินเดียมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์
วัยที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ในนกยูงอินเดียคือ อายุไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในนกยูงไทยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงจะสมบูรณ์มากพอสำหรับการผสมพันธุ์

ในการผสมพันธุ์นกยูง คุณสันติศักดิ์ จะปล่อยให้นกยูงผสมเอง โดยปล่อยให้นกยูงเพศผู้อยู่กับนกยูงเพศเมีย สัดส่วน 1:2 เพื่อให้ได้ไข่ที่ดี หากนกยูงเพศเมียมากกว่า 2 ตัว นกยูงเพศผู้จะเลือกผสม โอกาสที่ได้ไข่สมบูรณ์จะลดลง
“นกยูงเลือกคู่ก็มี บางครั้งเพศผู้ไม่ยอมผสม เพราะชอบเพศเมียกรงอื่น หรือบางครั้งเพศเมียไม่ยอมให้ผสม เพราะไม่ชอบเพศผู้ ไม่ว่าจะกรณีใด ก็ต้องแยกนกยูงออกจากกันให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ นกยูงจะตีกันจนเกิดความเสียหายได้”

ขนาดกรงที่เหมาะสมสำหรับนกยูง คุณสันติศักดิ์ แนะนำว่า ควรทำกรงขนาด 4×4 เมตร ความสูง 2.50-3 เมตร คอนนอนสูงจากพื้น 1.20 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้หางนกยูงเสียหาย เนื่องจากขนาดความยาวเฉลี่ยของหางคือ 1 เมตร ทั้งนี้ ขนาดกรงดังกล่าว เหมาะสำหรับนกยูงเพศผู้และเมีย รวม 3 ตัว
คุณสันติศักดิ์ แนะนำว่า ท่านใดที่ต้องการเลี้ยงนกยูง ควรมีพื้นที่เลี้ยงที่อยู่ห่างจากชุมชนสักหน่อย เนื่องจากนกยูงเป็นสัตว์ป่า ตามสัญชาตญาณเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะร้องหาคู่ทั้งเพศผู้และเพศเมีย แม้ว่าจะเลี้ยงรวมในกรงเดียวกัน นกยูงก็จะยังคงร้องหาคู่และมีเสียงร้องดัง อาจรบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้

พื้นที่ตั้งของกรง ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้ แต่ต้องไม่มีลมพัดแรง สภาพอากาศรอบกรงมีส่วนช่วยให้นกยูงผสมพันธุ์และไข่ได้ดี
อาหารของนกยูง ไม่ได้มีอาหารเฉพาะของนกยูง การเลี้ยงนกยูงทำโดยให้อาหารไก่ ชนิดของอาหารก็ขึ้นกับอายุของนกยูง เช่น อาหารไก่เล็ก ก็เหมาะสำหรับนกยูงเล็ก อาหารไก่โต ก็เหมาะสำหรับนกยูงโต นกยูงแต่ละตัวจะกินอาหารไม่มาก ประมาณ 1 กำมือ ต่อวัน ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารเวลาใดก็ได้ในตอนกลางวัน และควรให้ก่อน 17.00 น. เพราะหลังจากนั้น นกยูงจะเริ่มเข้านอน และไม่กินอาหาร
มูลของนกยูง มีลักษณะเหมือนมูลไก่ ขนาดใหญ่กว่า แต่ถ่ายไม่บ่อยเท่าไก่ แม้จะไม่มากเท่าไก่ แต่การทำความสะอาดพื้นกรงก็จำเป็น คุณสันติศักดิ์ บอกว่า ความสะอาดสำคัญที่สุดสำหรับการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นพื้นกรงที่ต้องใช้จุลินทรีย์ฉีดพื้น เพื่อให้เกิดการย่อยสลายและดับกลิ่น ภาชนะที่ใส่น้ำและอาหารต้องสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำและอาหารทุกวัน

ฤดูผสมพันธุ์ของนกยูงอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงมีนาคมของทุกปี สังเกตได้จากหางนกยูง หากเต็มหางและรำแพนสวย จะอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน นกยูงจะผลัดขนและสลัดหางทิ้ง
การผสมพันธุ์ในแต่ละปี จะสามารถผสมได้ 2-4 ครั้ง ขึ้นกับความสมบูรณ์ของนกยูง และการผสมแต่ละครั้งหากเพศผู้และเพศเมียสมบูรณ์เต็มที่ อัตราการมีเชื้อในไข่ก็จะสูงตามลำดับ
เมื่อนกยูงไข่ออกมา ทางฟาร์มจะเก็บไข่เข้าตู้ฟัก ระยะเวลา 28 วัน ไข่จะฟักเป็นตัว จากนั้นจะนำไปอนุบาลโดยการกกไฟเช่นเดียวกับการอนุบาลลูกไก่ โดยคุณสันติศักดิ์ ให้เหตุผลของการเก็บไข่เข้าตู้ฟัก ก็เพื่อให้นกยูงได้ไข่อย่างสม่ำเสมอ ไม่กังวลกับการดูแลไข่จนอาจไม่ให้ไข่

การดูเพศนกยูง หากจะให้ชัดเจนเรื่องเพศต้องรอให้นกยูงมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป หากต่ำกว่านั้น ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่ามีประสบการณ์ในการเลี้ยงและดูเพศนกยูงมากเพียงใด เพราะนกยูงยิ่งเล็ก ความชัดเจนในเพศยิ่งน้อย
อาการป่วยของนกยูง เหมือนสัตว์ปีกทั่วไป คุณสันติศักดิ์ จะจริงจังกับการดูแลนกยูงมาก โดยทุกวันจะต้องเดินดูทุกกรง สังเกตนกยูงทุกตัว หากพบว่าตาไม่สดใส ยืนนิ่ง ซึม เดินเซ ช้ากว่าฝูง หรือถ่ายเหลว เป็นมูก มูลมีสีขาวมาก ต้องแยกออกแล้วให้ยาตามอาการ
ขนของนกยูง เป็นขนที่มีความมันเงาตามธรรมชาติของตัวมันเอง ยิ่งนกยูงที่มีความสมบูรณ์มากเท่าใด ขนของนกยูงจะมีความสวยงามเป็นมันเงามากเท่านั้น

เมื่อถามถึงตลาดนกยูง คุณสันติศักดิ์ บอกว่า นกยูงเป็นสัตว์ปีกที่เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นที่และมีใจรัก และคนไทยเก่ง เมื่อนำเข้ามาแล้วพัฒนาสายพันธุ์ให้เกิดสีที่แปลกตาขึ้น ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านสนใจติดต่อเข้ามาซื้อนกยูงอินเดียจากไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา ลาว ที่ต่างเข้ามาซื้อนกยูงอินเดียจากประเทศไทยไปเลี้ยงและจำหน่ายต่อ ซึ่งคุณสันติศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศของประเทศเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับการเพาะขยายพันธุ์นกยูง จึงจำเป็นต้องซื้อจากประเทศไทย

ราคาของนกยูงอินเดีย ในสีทั่วไปที่สามารถผสมและเพาะพันธุ์ได้ จะเริ่มต้นที่ราคาคู่ละ 4,000 บาท ในนกยูงอินเดียอายุ 2 เดือน ยกเว้นสีคามิโอ้แบล็คโชว์เดอร์ ซึ่งเป็นสีที่คุณสันติศักดิ์ ใช้เวลานานประมาณ 2 ปี ในการพัฒนาจนได้สีคามิโอ้แบล็คโชว์เดอร์ในเพศเมีย อายุ 2 เดือน ราคาเริ่มต้นอยู่ที่คู่ละ 20,000 บาท
สำหรับความต้องการนกยูงในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ คุณสันติศักดิ์ ยืนยันว่า การผลิตนกยูงเพื่อจำหน่ายยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สนใจและคนรักนกยูง เพราะการพัฒนานกยูงไม่ได้หยุดนิ่ง ทั้งสีของนกยูงอินเดีย จะมีความแตกต่างและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา สนใจขอเข้าชมฟาร์ม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยติดต่อสอบถามก่อนได้ที่ คุณสันติศักดิ์ ถนอมสิงห์ โทรศัพท์ (091) 514-5655







