ที่มา | สัตว์เลี้ยงสวยงาม |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิต เมืองสุข |
เผยแพร่ |
หลายคนเลือกเลี้ยงนก เพราะเห็นว่าสีสันหรือเสียงของนก สร้างความจำเริญ เพลิดเพลินตาและใจ หรือบางรายเลี้ยงไว้เพื่อการแข่งขัน ส่วนจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นเพื่อนเล่น มีน้อย เนื่องจากนกเป็นสัตว์ปีก ที่เกือบทุกชนิดบอบบาง แต่อีกเหตุผลของการเลี้ยงนกที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ นกเป็นสัญลักษณ์ของความอิสระเสรี ซึ่งเหตุผลนี้เป็นเหตุผลของนักเล่นนก ที่ฝากหัวใจให้กับสัตว์ปีกชนิดนี้มาตั้งแต่เด็ก
เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่เด็กทำได้คือ การจับนกกระจอก นกพิราบ นกเอี้ยง ตามสวนเล็กๆ ละแวกบ้านมาเลี้ยง สิ่งที่ได้รับคือความเข้าใจในพฤติกรรมของนก สร้างเป็นประสบการณ์ให้กับ คุณไวพจน์ ทองไสย หนุ่มใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ฟาร์มนกเล็กๆ จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาด้วยความตั้งใจของคุณไวพจน์ หลังจากความผันผวนทางอาชีพการงาน ประจวบเหมาะกับภาระทางบ้านที่ตั้งใจว่าจะกลับคืนสู่ถิ่นเกิดในช่วงเวลาเดียวกัน
คุณไวพจน์ เป็นชาวจังหวัดกระบี่โดยกำเนิด ประสบการณ์การเลี้ยงนกถูกสร้างขึ้นเองตามวัย จากวัยเด็กที่เคยจับนกในละแวกบ้านมาเลี้ยงเล่น ต้องปล่อยไป เพราะเติบโตก้าวสู่วัยศึกษาเล่าเรียน คุณไวพจน์ต้องย้ายตัวเองมาเรียนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเริ่มสะสมนกจริงจังอีกครั้งหลังจากวัยเด็ก โดยเริ่มจากนกเลิฟเบิร์ด (Lovebird) ซึ่งคุณไวพจน์พบในตลาดนัดจตุจักรและทราบทันทีว่า นกเลิฟเบิร์ดเป็นนกในดวงใจ ที่ควรสะสมและแสวงหา
ประสบการณ์การเลี้ยงนกทั่วไปที่มีอยู่ คุณไวพจน์ บอกว่า ไม่เพียงพอ จึงศึกษาเพิ่มเติมผ่านอินเตอร์เน็ตและทางเว็บไซต์เบิร์ดเลิฟเวอร์ (www.birdlover.com) ซึ่งจัดว่าเป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูล ตลาดค้าขายนกทางเว็บไซต์ ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น
เริ่มจากนกเลิฟเบิร์ด 20 คู่ นกค็อกกะเทล (Cockatiel) 5 คู่ นกทั้งสองชนิดเริ่มซื้อจากลูกป้อน นำกลับมาเลี้ยงเอง ป้อนเอง จนกระทั่งถึงวัยผสมพันธุ์ จึงเพาะพันธุ์นก เมื่อได้ลูกนกก็เริ่มนำออกจำหน่าย ผ่านช่องทางจำหน่ายทางอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์เบิร์ดเลิฟเวอร์ นัดรับส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการเพาะขาย คุณไวพจน์ มองว่า เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยหารายได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงและดูแลนก
“หลังเรียนจบระดับอาชีวศึกษา ผมเข้าศึกษาต่อในกรุงเทพฯ ก็ยังเพาะนกเลิฟเบิร์ดและนกค็อกกะเทลขายตามเดิม เพราะผมเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา ช่วงเวลากลางวันก็ฝากพี่สาวให้ช่วยสอดส่องดูแลนก เพราะการเลี้ยงนกไม่จำเป็นต้องอยู่กับเขาตลอดทั้งวัน ให้อาหารและน้ำไว้ เขาก็อยู่ได้”
“ราคานกเลิฟเบิร์ดในยุค 20 ปีก่อน ราคาแพง อย่างต่ำตัวละ 3,000 บาท และแพงที่สุดตัวละหลายแสนบาท แต่ปัจจุบันราคาถูกลง เหลือเพียงตัวละประมาณ 1,000 บาท”
คุณไวพจน์ เล่าให้ฟังว่า ขณะที่นกเลิฟเบิร์ดและนกค็อกกะเทลกำลังติดตลาด ก็มีความจำเป็นต้องปิดกิจการลง เนื่องจากเริ่มทำงานในตำแหน่งงานที่รับผิดชอบสูง ทำให้มีเวลาให้กับสัตว์เลี้ยงแสนรักน้อยลง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาดหนัก จึงตัดสินใจขายเหมายกฟาร์ม
“นกที่ผมเลี้ยงคือ เลิฟเบิร์ดและค็อกกะเทล จัดอยู่ในกลุ่มของนกปากขอ ซึ่งโรคไข้หวัดนกจะระบาดเฉพาะกับนกในกลุ่มนกปากตรงทั้งหมด อีกทั้งนกปากขอที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์มปิด จึงไม่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดนกอย่างแน่นอน แต่เพื่อความสบายใจของเพื่อนบ้าน รวมทั้งเวลาที่มีให้น้อยลง จึงตัดสินใจขายให้กับผู้สนใจในราคาถูกยกฟาร์ม”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ห่างหายการเลี้ยงและเพาะพันธุ์นกจำหน่าย คุณไวพจน์ยังคงเกาะติดกระแสการเลี้ยงนกอย่างต่อเนื่อง ไม่ปล่อยให้ห่างหายไปตามกาลเวลา แม้ช่วงที่ทิ้งห่างไปจะเนิ่นนานไม่น้อยกว่า 10 ปี กระทั่งเหตุการณ์ผันผวนให้คุณไวพจน์เริ่มทำฟาร์มนกอีกครั้ง
ปี 2554 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คุณไวพจน์มีส่วนได้รับผลกระทบ ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งใจหันหน้ากลับมาตุภูมิ เพื่อประกอบอาชีพส่วนตัวที่ร่ำเรียนเพิ่มคือ การเปิดร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ จึงนำทุนที่มีอยู่เริ่มทำฟาร์มนกอย่างจริงจัง และครั้งนี้ คุณไวพจน์ สะสมนกกลุ่มปากขอไว้หลายชนิด เช่น เลิฟเบิร์ด ค็อกกะเทล ซันคอนัวร์ (Sun conure) เรดโนรี (Red lory) ริงเน็ก (Ring-necked) และนกหงส์หยกอังกฤษ รวมถึงสัตว์ปีกอีกหลายชนิด ได้แก่ นกยูง ไก่ดำมองโกล ไก่ดำญี่ปุ่น และไก่งวง ซึ่งมีมากกว่าสัตว์ปีกชนิดอื่น โดยเฉพาะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีราว 50 ตัว
คุณไวพจน์ อธิบายถึงการดูแลนกในฟาร์มว่า น้ำและอาหารเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะนกในกลุ่มนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำทุกวัน เนื่องจากมีนิสัยชอบเล่นน้ำ และคาบอาหารมากินกับน้ำ ทำให้น้ำเสียง่าย หากไม่เปลี่ยนน้ำทุกวันจะทำให้น้ำเสีย เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และในทุกสัปดาห์ต้องนำวิตามินบี 12 ละลายกับน้ำให้นกกิน เพื่อเสริมสร้างภูมิให้กับนก และหมั่นสังเกตพฤติกรรม เพื่อให้ยาตามอาการ
การสังเกตนกป่วย ดูได้จากนกทำขนพอง อยู่ตามมุมกรง นิ่งคล้ายหลับ ซึ่งหากพบว่าป่วยควรแยกกรง ให้ยาตามอาการ หากไม่กินอาหารต้องป้อนอาหารหรืออาหารเสริมด้วยกระบอกฉีดยา หรือ ไซริงจ์ (syringe)
การผสมพันธุ์ คุณไวพจน์ แนะว่า
– เลิฟเบิร์ด ค็อกกะเทล และริงเน็ก ผู้เลี้ยงต้องเรียนรู้หลักการผสมสี ต้องการให้ลูกนกมีสีอะไร ให้จับคู่นกตามเฉดสีนั้นๆ เพื่อให้ผสมกันแล้วได้ลูกนกตามสีที่ต้องการ
– ซันคอนัวร์ และเรดโนรี สังเกตเพศไม่ได้ ทำให้การจับคู่ทำได้ยาก วิธีผสมพันธุ์ภายในฟาร์ม จึงใช้วิธีปล่อยให้นกเลือกคู่เอง โดยการปล่อยรวม เมื่อสังเกตเห็นว่านกจับคู่ ป้อนอาหารให้กัน คลอเคลีย ก็ปล่อยให้จับคู่กันไป เพราะนกกลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยนคู่ เมื่อถึงฤดูวางไข่ เพศเมียจะวางไข่และกกไข่อยู่ในกล่อง ส่วนเพศผู้จะเฝ้าหน้ากล่องและมีหน้าที่หาอาหารมาป้อน
ในแต่ละปีนกจะมีช่วงฤดูวางไข่ที่ไม่เหมือนกัน เช่น เลิฟเบิร์ดจะวางไข่ปีละ 3-4 ครั้ง ริงเน็ก วางไข่ปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น
รอบการวางไข่จะมากขึ้นน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง หากผู้เลี้ยงช่วยนำลูกนกมาเลี้ยงโดยการป้อนอาหาร จะทำให้แม่นกสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ตามเดิม และเริ่มจับคู่เพื่อวางไข่ได้อีก
การนำลูกนกออกมาจากแม่นก เพื่อช่วยเลี้ยง ส่วนหนึ่งช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกนก อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายลูกป้อนได้ ตั้งแต่ลูกนกอายุได้ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการนกเชื่อง เนื่องจากเมื่อลูกนกลืมตาได้ก็จะเห็นคนป้อน เกิดความคุ้นเคย นกกลุ่มปากขอมีความฉลาด เข้าใจในสิ่งที่ผู้เลี้ยงพูดคุยด้วย
การดูแลลูกนก หรือลูกป้อน เริ่มทำได้ตั้งแต่ฟักออกจากไข่ โดยนำอาหารนกผงมาละลายน้ำให้เหลว ให้อาหารผ่านไซริงจ์แล้วพักไว้ 4-6 ชั่วโมง จากนั้นป้อนอาหารใหม่ เมื่อเริ่มโตก็เริ่มห่างมื้ออาหารได้นานขึ้น แต่ถ้าไม่มั่นใจสามารถสังเกตได้จากการร้องของนก เพราะนกกลุ่มนี้เมื่อหิวจะร้อง
จำนวนนกทั้งหมดในฟาร์มทุกสายพันธุ์มีประมาณ 100 คู่ ไม่ขลิบปีกทุกตัว คุณไวพจน์ บอกว่า ความเชื่อว่านกพูดได้ต้องขูดลิ้นนั้น สำหรับเขาเห็นว่า การพูดได้หรือไม่ของนกขึ้นกับกล้ามเนื้อปาก และนกกลุ่มปากขออาจพูดไม่ได้ทุกชนิดมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องขูดลิ้นหรือขลิบปีกไม่ให้นกบินหนี
“ที่ฟาร์มของผมเคยเปิดกรงไว้ เลิฟเบิร์ดบินออกไป แต่พอผมส่งเสียงเรียก เขาก็บินกลับมา ผมเชื่อว่าเป็นเพราะความเชื่อง ความคุ้นเคยที่มีต่อกันมากกว่า”
ปัจจุบัน คุณไวพจน์จำหน่ายนกผ่านอินเตอร์เน็ต นัดรับ และส่งทางรถโดยสารให้ปลายทาง โดยจะเน้นส่งในเวลากลางคืน เพราะนกจะหลับสะดวกต่อผู้โดยสารอื่น แต่ปลายทางการขนส่งจะไม่ไกลนัก เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดสงขลา หรือภาคกลางที่ไกลกว่าจังหวัดนครสวรรค์ หากไกลกว่านั้น คุณไวพจน์ขอไม่บริการส่งนก เพราะจะทำให้นกเกิดปัญหา หงอย ซึม และอาจตายได้
การซื้อขายของฟาร์มนกที่นี่ คุณไวพจน์ ระบุว่า หากไม่ใช่คนในพื้นที่ที่สามารถเดินทางมาดูด้วยตนเองได้ที่ฟาร์ม ก็จะส่งภาพลูกนกในทุกมุมที่ต้องการให้จนกว่าลูกค้าจะพอใจ เมื่อตกลงราคาแล้ว โอนเงิน พร้อมจัดส่งได้ทันที แต่หากเป็นไปได้ในลูกค้าทุกรายที่ต้องการซื้อลูกป้อน คุณไวพจน์จะขอให้มาที่ฟาร์ม เพื่อสอนวิธีการป้อนให้ก่อน
“ตลาดใหญ่สำหรับนกกลุ่มปากขอขณะนี้คือ มาเลเซีย ซึ่งจะส่งต่อไปยัง สิงคโปร์ ฟิลิปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้ความต้องการนกกลุ่มปากขอส่งไปยังต่างประเทศสูงมาก”
อย่างไรก็ตาม หากผู้สนใจเลี้ยงนกสวยงามในกลุ่มปากขอ ต้องการสอบถาม ปรึกษา หรือไขข้อข้องใจ คุณไวพจน์พร้อมให้ข้อมูลในฐานะคนรักนกได้อย่างไม่กังขา หรือสนใจเข้าชมฟาร์ม ศึกษาการเลี้ยงนกกลุ่มปากขอ ได้ที่ พจน์กระบี่ฟาร์ม เลขที่ 92 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ หรือโทรศัพท์สอบถาม (089) 410-4445 และ (087) 278-4445 Facebook : พจน์กระบี่ฟาร์ม