ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยี ม.ราชภัฏอุดรธานี หารายได้เสริม ขยายพันธุ์แมงป่องขุนขาย สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน

เรื่องของสัตว์เลี้ยง ใครชื่นชอบอะไรก็มักขวนขวายวนเวียนอยู่กับสิ่งนั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความชอบ ความรัก ที่เชื่อว่า เรื่องของสัตว์เลี้ยงไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ

เช่น สัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์มีพิษ ตามตำราเรียนของไทย หากพบควรระวังไม่ให้ถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย เพราะอาจเป็นอันตรายได้ สัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มมีพิษอันพึงระวัง มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันแทบไม่ได้เห็นกันแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่เขตเมือง นั่นคือ แมงป่อง

ที่จังหวัดอุดรธานี แมงป่อง ไม่ได้เป็นสัตว์มีพิษที่น่ารังเกียจ แต่กลับเป็นสัตว์ที่มีค่าในทางเศรษฐกิจ สามารถเพาะขายได้ราคา ทั้งจากคนที่ชื่นชอบ รักและนิยมเลี้ยงแมงป่องไว้เป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และอีกมุมของกลุ่มผู้ที่นิยมกินแมลงทอด

ในกลุ่มของแมลงทอด แมงป่องจัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่นำมาทอดรวมกับกลุ่มแมลงต่างๆ ได้เช่นกัน

คุณดนัย ศิริบุรี กับแมงป่องช้าง พร้อมขาย

คุณดนัย ศิริบุรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาและประชาสัมพันธ์ สาขาธุรกิจการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้หลงใหลแมงป่อง แต่มองเห็นอนาคตของสัตว์ชนิดนี้ ถึงขั้นรวบรวมไว้กว่า 20 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ทางการค้า สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดได้ดีที่สุด เพราะมีรูปร่างใหญ่ น้ำหนักดี คือ แมงป่องช้าง สายพันธุ์นี้มีเลี้ยงไว้มากที่สุด

“ผมเริ่มเก็บสะสม เลี้ยง ขยายพันธุ์ และขาย มานานประมาณ 2 ปีแล้ว เริ่มจากที่ผมเห็นพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดอุดรธานี ขายแมลงทอดเป็นจิ้งหรีด ตั๊กแตน และแมลงอื่นๆ ตอนแรกก็เฉยๆ กระทั่งมีโอกาสไปถนนข้าวสาร ในกรุงเทพฯ เห็นรถเข็นขายแมลงทอด มีแมงป่องรวมอยู่ในแมลงทอดด้วย ราคาขายตัวละ 100 บาท ทำให้ผมรู้สึกว่า ทำไมแมงป่องในกรุงเทพฯ ขายได้และราคาดี แต่ทำไมจังหวัดอุดรธานี จึงไม่มีแมงป่องขายบ้าง ทั้งที่ขายได้ราคาดีแบบนี้”

แมงป่องทะเลทราย

คุณดนัย กลับมาเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับแมงป่อง รู้ว่าแมงป่องที่ทอดกินเป็นอาหารขายส่วนใหญ่คือ แมงป่องช้าง เพราะขนาดกำลังดี และเป็นแมงป่องที่มีพิษระดับ 1 ซึ่งในระดับพิษของแมลงทั้งหมดมี 2 ระดับ คือ 1-5 นั่นหมายถึง แมงป่องช้างพิษน้อยมาก หากถูกต่อยก็จะรู้สึกเหมือนถูกผึ้งต่อย ไม่อันตรายหรือรุนแรง

Lychas scutilus แมงป่องบ้านหางยาว
Rhopalurus junceus
แมงป่องช้าง อายุ 1 วัน Heterometrus

จากนั้น เริ่มซื้อตามเว็บไซต์ ราคาซื้อขายในเว็บไซต์ตัวละ 50 บาท นำมาเลี้ยง และศึกษาไปถึงเรื่องของการพัฒนาอาชีพเลี้ยงแมงป่องช้าง ให้เป็นอาชีพใหม่ เพราะการเลี้ยงแมงป่องใช้พื้นที่น้อย เมื่อซื้อขายราคาสูง เมื่อเทียบกับแมลงชนิดอื่นๆ เช่น จิ้งหรีด ราคากิโลกรัมละ 80 บาท (จำนวน 3,000 ตัว ต่อกิโลกรัม) ในขณะที่ แมงป่องช้างราคาขายเป็นตัว ตัวละ 50-100 บาท

คุณดนัย บอกว่า ที่ผ่านมาเคยมีการเก็บข้อมูลและวิจัยเกี่ยวกับแมงป่องช้าง พบว่า แมงป่องช้างตามธรรมชาติเมื่อตัวเต็มวัย น้ำหนักจะอยู่ที่ 12-15 กรัม ต่อตัว เมื่อคุณดนัยนำมาเลี้ยงแล้วให้อาหารเต็มที่ พบว่าแมงป่องช้างสามารถเจริญเติบโตเมื่อตัวเต็มวัย น้ำหนักได้มากถึง 35 กรัม ต่อตัว

โรงเรือนเลี้ยงแมงป่องช้าง

“ผมลองเลี้ยง มีบ้างระหว่างที่เลี้ยงใหม่ๆ แมงป่องกัดกันเอง ตายระหว่างเลี้ยง แต่ทั้งหมดก็เป็นประสบการณ์ ทำให้ทุกวันนี้ มีลูกค้าประจำจากจีนและเวียดนาม มาติดต่อซื้อในราคาตัวละ 50 บาท ผมขายแมงป่องช้างให้กับลูกค้าได้ 300-500 ตัว ต่อเดือน จำนวนนี้เป็นจำนวนที่ผมจำกัดไว้เอง ที่จริงตลาดจีนและตลาดเวียดนามยังต้องการอีกมาก เฉพาะทัวร์จีนที่เข้ามาในประเทศเรา ความต้องการสูงถึงเดือนละ 5,000 ตัว”

ลูกแมงป่องอยู่บนหลังแม่

การที่คุณดนัยจำกัดการขายแมงป่องช้างไว้ที่ 300-500 ตัว ต่อเดือน ไม่ใช่เพราะผลิตแมงป่องช้างไม่ทัน แต่เพราะต้องการจำกัดให้มีแมงป่องออกสู่ตลาดได้ทุกเดือน เนื่องจากธรรมชาติของแมงป่องจะจำศีลในฤดูร้อนและฤดูหนาว ไม่ขยายพันธุ์ ยกเว้นฤดูฝนที่จะออกจากรังเพื่อผสมพันธุ์ ทำให้มีแมงป่องจำนวนมากในฤดูฝน แต่คุณดนัยเห็นว่า หากปล่อยขายหมดในฤดูฝน ตลอดปีจะมีขายแมงป่องช้างแค่ฤดูเดียว ส่งผลให้รายได้ไม่สม่ำเสมอ คุณดนัย จึงรับซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่อุดรธานี นำมาขุนและพักไว้ เพื่อรอการขายตลาดจีนและเวียดนามในทุกเดือน

หนอนแมลงหวี่ ออกจากปากแมงป่อง

คุณดนัย อธิบายการเลี้ยงแมงป่องว่า เป็นแมงที่เลี้ยงดูง่าย ไม่ต้องใส่ใจในการดูแลมาก และขายได้ราคามากกว่าแมลงชนิดอื่น แต่แนะนำว่า ไม่ควรเลี้ยงแมงป่องขยายพันธุ์ขายเพียงชนิดเดียว เพราะแมงป่องผสมพันธุ์และให้ลูกได้เพียงปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น และอาหารของแมงป่องเป็นอาหารสด เช่น จิ้งหรีด หนอนนก ลูกกบ ที่ผ่านมาพบว่า จิ้งหรีดเป็นอาหารที่ดีที่สุดของแมงป่อง ดังนั้น หากเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดอยู่แล้วต้องการเลี้ยงแมงป่องเพิ่มจะช่วยลดต้นทุนเรื่องอาหารของแมงป่องได้ โดยเกษตรกรสามารถนำจิ้งหรีดตายมาให้แมงป่องกิน ไม่ต้องซื้ออาหาร และสามารถขายได้ปีละครั้งเป็นเงินก้อน เหมือนโบนัสประจำปี แทบไม่มีต้นทุนอะไร

คุณดนัย โชว์แมงป่องช้าง

แมงป่อง เป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์ไม่บ่อยนัก เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 1 ปีเป็นต้นไป การดูเพศแมงป่อง ให้สังเกตลักษณะ เพศเมียจะตัวป้อมๆ กลมๆ ส่วนเพศผู้ลักษณะรูปร่างยาว การผสมพันธุ์ในแมงป่อง ทำโดยแมงป่องเพศผู้และเมียใช้ก้ามคีบกัน หมุนตัวเป็นวงกลมไปมาคล้ายการเต้นระบำ ประมาณ 20 นาที จากนั้นตัวผู้จะวางอสุจิลักษณะเป็นก้านหรือแท่งกับพื้น แล้วหมุนตัวเมียไปทับกับอสุจิที่วางไว้ จากนั้นตัวผู้จะหมดแรง ตัวเมียจะกินตัวผู้

สำหรับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี มีขนาดใหญ่ หากผู้เลี้ยงต้องการเก็บพ่อพันธุ์ไว้ ควรเฝ้าดูหากมีการผสมพันธุ์ รอกระทั่งมีการผสมพันธุ์เสร็จ ให้รีบจับแมงป่องเพศผู้ออก ป้องกันไม่ให้เพศเมียกิน หลังการผสมพันธุ์อสุจิจะอยู่ในแมงป่องเพศเมียนานถึง 3 ปี ผสมเพียงครั้งเดียว สามารถให้ลูกได้ต่อเนื่องทุกปี เพราะมีอสุจิเก็บอยู่ในแมงป่องเพศเมียอยู่แล้ว

ชั่งน้ำหนักก่อนขาย

หลังจับเพศผู้ออกเมื่อผสมพันธุ์แล้วเสร็จ ให้สังเกตแมงป่องเพศเมีย ไม่นานจะมีลูกแมงป่องตัวเล็กๆ เกาะอยู่ที่หลังแมงป่อง ระหว่างนี้ห้ามกวนแม่แมงป่อง เพราะอาจจะทำให้ลูกแมงป่องตกจากหลังแม่ และลูกแมงป่องตัวใดตกจากหลังแม่แมงป่อง จะถูกแม่แมงป่องกิน เพราะธรรมชาติของแมงป่องหากลูกตกจากหลัง ถือว่าเป็นตัวล่อศัตรูเข้ามาหาต้องกำจัดทิ้ง ดังนั้น การให้อาหารทำได้เพียงใส่น้ำในถาดตื้นๆ และทิ้งอาหารไว้ 2-3 ชิ้น

หลังลูกแมงป่องขึ้นไปอยู่ที่หลังแม่แมงป่อง 20 วัน ลูกแมงป่องจะลงจากหลัง ถึงเวลานั้นควรจับแม่แมงป่องออก แล้วนำลูกแมงป่องไปอนุบาล โดยเลี้ยงในกะละมัง นำขันใส่ดินไว้ นำไข่จิ้งหรีดไปวาง และมีถาดใส่น้ำตื้นๆ ไว้

Mastigoproctus sp. แมงป่องแส้ ไม่มีพิษ

จำนวนลูกแมงป่องต่อกะละมังขนาด 24 นิ้ว หลังลงจากหลังแม่แมงป่อง สามารถเลี้ยงรวมกันได้มากถึง 200-300 ตัว เมื่อเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ต้องลดจำนวนลง โดยขยายไปเลี้ยงอีกกะละมัง ในระยะแรกหลังลงจากหลังแม่แมงป่อง แมงป่องจะมีน้ำหนัก 5-10 กรัม เลี้ยงรวมไว้ในกะละมังจนกว่าแมงป่องจะมีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม หรือสังเกตจากแมงป่องเริ่มใช้ก้ามหนีบกันไปมา เหมือนต่อสู้กัน หากทิ้งไว้จะทำให้แมงป่องกัดกัน เกิดการสูญเสีย ควรแยกออกไปเลี้ยงเดี่ยวดีที่สุด

การให้อาหารแมงป่อง ใน 1 สัปดาห์จะให้อาหารเพียงครั้งเดียว และให้เป็นจิ้งหรีด 2-3 ตัว เท่านั้น

ส่วนน้ำไม่ควรขาด แต่ควรให้น้ำในถาดตื้นๆ น้ำในถาดที่ให้ไม่ควรสูงท่วมหลังแมงป่อง เพราะอาจทำให้แมงป่องจมน้ำตาย

ภายในกล่องเลี้ยง ไม่ควรให้มีความชื้นมาก ควรให้สะอาดและแห้ง เพราะหากปล่อยให้กล่องเลี้ยงมีความชื้น ตามความเข้าใจว่าแมงป่องชอบความชื้นเป็นความเข้าใจที่ผิด และความชื้นเป็นอันตรายต่อตัวแมงป่อง โดยหากให้อาหารแมงป่องแล้วกินไม่หมด จะทำให้แมลงหวี่เข้าไปตอมอาหารที่เหลือ จากนั้นแมลงหวี่จะวางไข่ ไข่ของแมลงหวี่จะเข้าไปที่ผิวหนังของแมงป่องและเข้าไปอาศัยอยู่ในตัวของแมงป่อง เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนแมลงหวี่จะกินอวัยวะภายในของแมงป่องจนแมงป่องตาย แล้วคลานออกมาทางปากของแมงป่อง ทำให้เกิดการสูญเสียโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

คุณดนัย เลี้ยงแมงป่องมาประมาณ 2 ปี เห็นว่าเป็นการเลี้ยงสัตว์ที่นำรายได้ที่ดีอาชีพหนึ่ง จึงต้องการส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งเป็นอาหารหลักของแมงป่องอยู่แล้ว เลี้ยงแมงป่องเป็นรายได้เสริมอีกทาง จึงร่วมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (กก.ตชด.) 24 จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และมีกิจกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็น 1 ในหลายกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้ เปิดโอกาสให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้สนใจเข้าเรียนรู้

ซึ่งหากท่านใดสนใจ คุณดนัย ยินดีให้คำแนะนำ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณดนัย ศิริบุรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาและประชาสัมพันธ์ สาขาธุรกิจการเกษตร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หรือเฟซบุ๊ก Danai Siriburee และเพจฟาร์มเลี้ยงแมงป่อง