“ป่าก๋อย” ไก่ชนพันธุ์ดุ สัตว์เลี้ยงยอดนิยม เมืองลับแล

ไม้ผล ที่ทำเงินและโดดเด่นของจังหวัดอุตรดิตถ์หรือเมืองลับแล จะเป็นอะไรไปเสียไม่ได้ นอกจากทุเรียนพันธุ์ดี หลงลับแล และหลินลับแล รวมถึง ลองกอง ผลไม้ที่แปรเปลี่ยนจากสวนลางสาดเดิม เพราะมูลค่าการซื้อขายสูง จนทำให้พื้นที่การปลูกลองกองมากกว่าลางสาด ซึ่งอดีตเป็นผลไม้ขึ้นชื่อและเป็นหนึ่งในผลไม้ประจำจังหวัด

คุณวันเพ็ญ มีทอง กับพ่อพันธุ์ไก่ชนป่าก๋อย

นอกเหนือจากทุเรียนและลองกองแล้ว สัตว์เลี้ยงพื้นถิ่นที่อาจไม่ขึ้นชื่อนัก แต่เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม และทำรายได้ให้กับผู้เลี้ยงอย่างน่าเอาแบบอย่าง คือ ไก่ชนสายพันธุ์ดีที่มีชื่อเรียกว่า “ป่าก๋อย”

แรกได้ยินชื่อ ป่าก๋อย เหมือนไม่คุ้นหู เพราะเข้าใจว่าเป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่ง แต่แท้ที่จริงเป็นชื่อเรียกไก่ชนไทยสายพันธุ์หนึ่ง

ตู้ฟัก

จริงแล้วไก่ชนป่าก๋อย เป็นไก่ที่มีแหล่งกำเนิดที่จังหวัดลำพูน บ้างเรียกว่า ไก่ป่าก๋อย หรือ ไก่เหล่าป่าก๋อย

คุณวันเพ็ญ มีทอง สาวใหญ่วัย 46 ปี เจ้าของโรงเรือนเลี้ยงไก่ชนป่าก๋อย ผู้มีพื้นเพเป็นชาวอุตรดิตถ์โดยกำเนิด และยึดอาชีพเกษตรกรรมมานับตั้งแต่จำความได้ โดยปลูกทุเรียน ลางสาด ลองกอง เงาะ เป็นหลัก ส่วนไก่ชนป่าก๋อย ถือเป็นอาชีพเสริมเพิ่มมาภายหลัง แม้ปัจจุบันไก่ชนป่าก๋อยจะเป็นอาชีพเสริมที่เพิ่มรายได้อย่างมากมาย

ไข่ไก่ชนป่าก๋อย เหมือนไข่ไก่ทั่วไป

คุณวันเพ็ญ เล่าว่า บริเวณสวนและพื้นที่อยู่อาศัยประสบปัญหาดินสไลด์เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในปี 2549 ปัญหาดินสไลด์รุนแรงขึ้น ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของเธอ ราว 100 ไร่ เสียหายมากกว่าครึ่ง ไม้ผลยืนต้นหลายชนิดที่อยู่ระหว่างให้ผลผลิตตามฤดู ต้องตัดทิ้ง และเริ่มต้นปลูกใหม่ ซึ่งกว่าจะให้ผลผลิตได้ตามเดิม ต้องใช้เวลามากพอสมควร ทำให้รายได้ที่ควรได้ชะงัก ทั้งยังต้องลงทุนใหม่ เปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด

กรงอนุบาล

หากตัดรายได้จากการปลูกไม้ผลจำหน่ายของคุณวันเพ็ญออก การเลี้ยงไก่ชนป่าก๋อยขาย ก็ถือเป็นรายได้หลักที่มากโขไม่แพ้กัน

“หลังจากประสบปัญหาดินสไลด์ ทำให้ต้องคิดหาอะไรทำเพิ่มรายได้ จึงเริ่มต้นที่ซื้อไก่ชนจากซุ้มที่รู้จักมาเลี้ยง เพราะเห็นว่ารับซื้อคืนในรุ่นลูก เป็นการประกันรายได้ที่แน่นอน อย่างน้อยก็ทำให้ต้นทุนไม่จมหาย ซึ่งไก่ชนที่ซื้อมาเป็นไก่ชนสายพันธุ์พม่า จำนวน 4 ตัว ราคาตัวละ 20,000 บาท แบ่งเป็นพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 3 ตัว”

บริเวณที่ออกไข่และฟักไข่ ใต้โรงเรือน

เฉพาะส่วนของไก่ชนสายพันธุ์พม่าชุดแรก คุณวันเพ็ญ ขายได้ราคาลูกไก่ อายุ 5 เดือน เพศผู้ ราคาตัวละ 500 บาท ส่วนเพศเมีย ราคาตัวละ 300 บาท

แต่นี่คือพระรอง ส่วนพระเอกของสัตว์เลี้ยงสวยงามอยู่ที่ “ป่าก๋อย”

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

เมื่อถามถึงป่าก๋อย คุณวันเพ็ญ บอกว่า ป่าก๋อย เป็นไก่ชนพันธุ์ไทย ดุและโหดเมื่อลงสนามชนไก่ ลักษณะพิเศษที่เด่นกว่าไก่ชนสายพันธุ์อื่น คือ จิกไม่ปล่อย เหนียว ลักษณะโครงสร้างเหมาะสำหรับเป็นไก่ชน และลูกไก่ชนป่าก๋อยการันตีรับซื้อคืนจากแหล่งซื้อในราคาตัวละ 1,500 บาท เมื่ออายุได้ 5 เดือน หากเทียบกับไก่ชนสายพันธุ์พม่าที่เลี้ยงก่อนหน้า ได้ราคามากกว่าถึง 3 เท่า

โรงเรือน

“ไก่ชนสายพันธุ์พม่า กับ ไก่ชนป่าก๋อย เคยตีกัน ป่าก๋อยจิกไม่ปล่อย ไก่พม่าต้องยอม เพราะป่าก๋อยแข็งแรงกว่า”

ก่อนแหล่งซื้อจะมารับซื้อคืน คุณวันเพ็ญ จะคัดลูกไก่ไว้คร่าวๆ เพื่อสะดวกต่อการคัดซื้อคืน โดยการคัดลูกไก่ ใช้วิธีปล่อยให้ลูกไก่อายุประมาณ 4 เดือน อยู่ตามธรรมชาติ สังเกตดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หากแข็งแรงพอ ลูกไก่ตัวนั้นก็จะถูกคัดแยกไว้ รอจับขายกลับแหล่งซื้อ เพื่อนำไปคัดอีกรอบ สำหรับนำไปฝึกซ้อมเป็นไก่ชน และเพิ่มราคาค่าตัวสูงขึ้นด้วย ส่วนลูกไก่ที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง จะถูกแยกไว้ เพื่อขายเป็นไก่เชือดต่อไป อย่างไรก็ตาม ราคาขายไก่เชือดที่คัดแยกไว้ต่างหาก ก็ช่วยให้คุณวันเพ็ญมีรายได้ เนื่องจากราคาไก่เชือดในตลาดคิดราคากิโลกรัมละ 90 บาท โดยทั่วไปน้ำหนักไก่เชือดจะอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัมครึ่ง คิดเป็นราคาขาย 135-150 บาท ต่อตัว

ยกใต้ถุนสูง

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ คุณวันเพ็ญ แนะวิธีสังเกตว่า ควรดูที่แข้ง ต้องมีร่องลึก ตรง ไม่ไขว้ ส่วนหัวของลูกไก่ต้องสัมพันธ์กับลำคอและลำตัว ปลายปีกต้องมีกลีบดอกขึ้น จุดสังเกตเพียงไม่กี่อย่างก็เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้แล้ว

ให้อาหารวันละครั้ง

คุณวันเพ็ญ บอกด้วยว่า แท้จริงแล้วการดูแลไก่ชนป่าก๋อย กับการเลี้ยงไก่ทั่วไปไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ราคาไก่ชนป่าก๋อยได้ราคาสูงกว่า การดูแลให้ไข่ฟักเป็นตัวและอยู่รอดถึง 5 เดือน จึงเป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น

ถึงอย่างนั้น จากการสังเกตบริเวณโรงเรือนพบว่า โรงเรือนมีโครงสร้างเป็นปูนซีเมนต์และไม้เนื้อแข็ง ใต้ถุนสูง ส่วนฐานและผนังใช้ไม้ไผ่ตีห่าง ผนังโดยรอบใช้ตะแกรงลวดซี่เล็กตีปิดรอบ และมีซาแรนคลุมรอบอีกชั้น ซึ่งแม้จะดูไม่แตกต่างจากโรงเรือนทั่วไป แต่ก็ไม่พบว่ามีกลิ่นอับชื้นบริเวณโรงเรือนแม้แต่น้อย นอกจากนี้ ยังแบ่งล็อกขนาดใหญ่ไว้ สำหรับเป็นที่นอน โดยไม่จำกัดจำนวนไก่ต่อล็อก เพราะส่วนใหญ่การดูแลไก่ชนป่าก๋อยของคุณวันเพ็ญ ใช้วิธีเลี้ยงปล่อย คือปล่อยให้วิ่งเล่นตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาให้อาหาร คุณวันเพ็ญจะนำอาหารไก่ใส่ในภาชนะ และส่งเสียงเรียก

ส่วนหัวไม่ใหญ่เกินไป ต้องได้ส่วนกับลำคอ

ปัญหาในการเลี้ยงไก่ชนป่าก๋อย คือ ไก่ชนิดนี้ไม่ฟักไข่เอง และจะจิกไข่ให้แตกเพื่อกิน ดังนั้น การฟักไข่เพื่อให้ได้ลูกไก่ก่อนนำไปขายเป็นรายได้ จำเป็นต้องหาแหล่งฟักแทนแม่ไก่ และผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตช่วงเวลาออกไข่ หากพบว่าแม่ไก่ออกไข่แล้ว ควรรีบเก็บไข่ทันที

ที่นี่ คุณวันเพ็ญ เลือกแม่ไก่ชนสายพันธุ์พม่าฟักไข่แทนแม่ไก่ชนป่าก๋อย หรือหากมีไข่จำนวนมาก จะใช้ตู้ฟัก ซึ่งตู้ฟักมีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถทำงานได้ หากอุณหภูมิภายนอกตู้สูงกว่าภายในตู้ โดยอุณหภูมิที่ใช้สำหรับฟักไข่ อยู่ที่ 37.5-38.5 องศาเซลเซียส จึงจำเป็นต้องให้แม่ไก่ชนพม่าฟักไข่ทั้งหมดในฤดูร้อน ส่วนฤดูหนาวและฤดูฝนที่อุณหภูมิภายนอกตู้ไม่สูงมาก ตู้ฟักจะทำงานได้ตามปกติ

โดยปกติ ไข่ไก่ที่ได้ต่อแม่ไก่ 1 ตัว จะได้ประมาณ 8-12 ฟอง นำเข้าตู้ฟักสัปดาห์ละ 60-120 ฟอง จากนั้นเว้นตู้ว่าง 1 สัปดาห์ แล้วจึงให้ตู้ฟักทำงานต่อ ซึ่งการทำงานลักษณะนี้จะช่วยให้ลูกไก่ฟักออกมาเป็นชุด สะดวกต่อการเช็คอายุและทำวัคซีน

หลังไข่ฟักในช่วงสัปดาห์แรก การดูแลไม่ยากนัก โดยเวลากลางวันเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติภายในกรงอนุบาล ให้อาหารแรกเกิดที่ทำจากหัวอาหาร มีผ้านุ่มๆ ไว้นอน และให้วิตามินผสมกับน้ำกิน ส่วนเวลากลางคืน จะเก็บลูกไก่เข้ากล่อง หรือลัง ขนาด 40×80 เซนติเมตร ใช้ผ้าคลุมด้านบนของกล่องไม่ให้ลมผ่าน ในลัง 1 ลัง จะเก็บลูกไก่เข้าพักได้ประมาณ 50-60 ตัว

ปัจจุบัน คุณวันเพ็ญ มีรายได้จากการจำหน่ายไก่ชนเป็นตัว อยู่ที่ 7,000-8,000 บาท ไม่นับรวมไก่ตกเกรด ที่จำหน่ายเป็นไก่เชือด ราคาขายเป็นกิโลกรัมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการขายทั้งหมดมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน จึงไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่น้อย

ที่ผ่านมาการเลี้ยงไก่ชนป่าก๋อยไม่ประสบปัญหารุนแรง ยกเว้น กรณีไข้หวัดนกระบาด ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงไก่จำเป็นต้องระมัดระวังความสะอาดมากขึ้น แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องทำลายสัตว์ปีกทิ้ง เนื่องจากการเลี้ยงไก่ชนป่าก๋อย เลี้ยงในระบบฟาร์มปิด และยังมีการสุ่มตรวจทุก 3-4 เดือน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์มีไก่เขียวพาลีหางดำเป็นไก่พื้นเมือง ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยมาก และผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อความสวยงาม ไม่ได้ขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย ทำให้จำนวนไก่พื้นเมืองไม่เพิ่มมากขึ้น

แม้ไก่ชนป่าก๋อย จะไม่ถูกยกระดับให้เป็นไก่ประจำถิ่น แต่ก็เป็นไก่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่งในพื้นที่อุตรดิตถ์ และยังขยายวงกว้างไปถึงพื้นถิ่นที่มีสนามชนไก่ในหลายแห่ง หากสนใจศึกษาวิธีการเลี้ยงไก่ชนปล่อยธรรมชาติ คุณวันเพ็ญ ยินดีให้คำปรึกษา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณวันเพ็ญ มีทอง เลขที่ 27 หมู่ที่ 1 ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ (081) 041-9807

………………………………………………………………………………………………………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่