หนุ่มนักวิ่ง ทำฟาร์มปลากัดรอบบ้าน ใช้พื้นที่บ้านให้เกิดประโยชน์ ทำเงินหลักหมื่น

ในอดีตผู้หลักผู้ใหญ่มักจะบอกว่า ปลากัดเป็นปลาที่ตายยาก มีความอดทนสูง อดอาหารได้นาน ไม่ต้องใช้เครื่องทำออกซิเจนในน้ำ เท่ากับว่า จะเลี้ยงอย่างไรก็รอด ไม่ใช่ความคิดที่ผิด เพราะปลากัดเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเช่นนั้นจริงๆ แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุด เพื่อให้ปลากัดมีชีวิตรอด ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ปลาเจริญเติบโตแล้ว แต่เป็นปลาเล็กแรกเกิดถึง 10 วัน

คุณทศพล กิ่งมะลิ

“ระยะนั้น เป็นระยะที่อันตรายที่สุด ถ้าอนุบาลให้รอดก็รอด แต่ถ้าอนุบาลไม่ดี ก็ตายยกครอก” คุณทศพล กล่าว

คุณทศพล กิ่งมะลิ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างเต็มที่ จนต้องกลับมาดูแลคุณย่าที่อายุมาก ในอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จึงต้องหาอาชีพที่ลงตัวทำสร้างรายได้ให้กับตนเอง แนวคิดของคุณทศพล คือควรทำสิ่งที่เราถนัด ชอบ จึงจะง่ายและดำเนินไปด้วยดี ซึ่งสิ่งที่คุณทศพลคิดขณะนั้น คือ อยากเลี้ยงปลากัด

“ตอนเด็กๆ ผมเลยเพาะ เลี้ยง มันง่ายครับ เลยนำเงินราว 10,000 บาท ประมูลปลากัดแฟนซีมา ตั้งใจจะเพาะเลี้ยงแล้วขาย ผสมได้ เพาะง่าย ได้ลูกปลา แต่พอเป็นลูกปลาแล้ว ทำให้ลูกปลารอดไม่ได้ แม้จะพยายามหลายวิธีตามที่ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ตายเกือบหมด”

3 ปีทีเดียว ที่คุณทศพล ลองผิดลองถูก เพื่อให้ลูกปลากัดที่เลี้ยงไว้มีอัตรารอดให้มากที่สุด รายได้พอมีเข้ามา ไม่พอกับรายจ่ายสักเท่าไร แต่คุณทศพลไม่ท้อ ยังคงตั้งใจศึกษาหาเทคนิคการอนุบาลลูกปลากัดให้รอดให้ได้มากที่สุด และสุดท้าย ก็พบเทคนิคที่จริงๆ แล้วคุณทศพลบอกว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก

จากปลากัดแฟนซี คุณทศพล เปลี่ยนมาเพาะเลี้ยงปลากัดป่า เพราะความหลากหลายและเล็งเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สายพันธุ์ เนื่องจากปลากัดป่าจะมีลักษณะเฉพาะตัวตามถิ่นกำเนิดแต่ละภูมิภาคของประเทศ และมีความโดดเด่นจนผู้เลี้ยงหลงรัก

เทคนิคที่คุณทศพล เอ่ยถึง คืออาหารของลูกปลาแรกเกิดถึง 10 วัน

ฟาร์มปลากัดรอบบ้าน

เราให้คุณทศพล เล่าถึงเทคนิคที่ว่า

เขาตอบว่า คนที่เพาะปลากัดส่วนใหญ่ จะใช้ลูกไรแดง ซึ่งจำเป็นต้องมีแหล่งผลิตลูกไรแดงใกล้เคียง เนื่องจากต้องใช้จำนวนมาก หรือบางรายนำอาร์ทีเมีย หรือไรน้ำเค็ม มาใช้เป็นอาหารสำหรับลูกปลากัด ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับบางฟาร์ม แต่สำหรับเขาแล้ว การทดสอบใช้ลูกไรและอาร์ทีเมีย ไม่ได้ผล ลูกปลากัดยังคงสูญเสียจำนวนมาก กระทั่งพบว่า การให้ พารามีเซียม (Paramecium) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก พบได้ตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไป มองด้วยตาเปล่าสังเกตได้ไม่ชัดว่ามีรูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไร แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงลูกปลา

“พารามีเซียม เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารให้กับลูกปลาแรกเกิดถึง 4 วัน จากนั้นเริ่มให้อาร์ทีเมียสลับกับไรแดง กระทั่งลูกปลาอายุ 7-10 วัน เริ่มแข็งแรง ก็สามารถให้ไรแดงอย่างเดียวได้ การให้อาหารลูกปลาเช่นนี้ จะทำให้ลูกปลาแข็งแรง อัตรารอดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะการอนุบาลลูกปลากัดตั้งแต่แรกเกิดถึง 10 วัน เป็นช่วงที่ยากที่สุด หากมีชีวิตถึง 10 วันแล้ว อัตรารอดค่อนข้างสูงทีเดียว”

คุณทศพล บอกว่า พารามีเซียม หาไม่ยาก สามารถเพาะเลี้ยงเองได้ ซึ่งเขาเองก็เพาะเลี้ยงไว้สำหรับใช้เป็นอาหารกับลูกปลากัด โดยการนำน้ำเลี้ยงปลาเก่าที่มีขี้ปลา ใส่นมลงไป แล้วปิดฝาทิ้งตากแดดไว้ 3-4 วัน จะเกิดพารามีเซียมขึ้นมา นำมาให้เป็นอาหารลูกปลาได้

เลี้ยงขึ้นโหล

การให้อาหารปลา ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากให้มากเกิดความจำเป็น ปลาจะท้องอืด อาหารไม่ย่อย ตาย หรือให้อาหารมากเกินไป ปลากินอาหารไม่หมด ทำให้น้ำเสีย เกิดเชื้อโรค ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปลาตายได้เช่นกัน ดังนั้น ควรให้อาหารปลาวันละครั้ง ให้ครั้งละไม่มากนัก หมั่นสังเกตปลาแต่ละตัวจะกินอาหารไม่เท่ากัน ให้ทดลองให้ปริมาณน้อยในระยะแรก หากกินหมดลองเพิ่มปริมาณดู หากเหลือให้ลดปริมาณลง เพียงเท่านี้ ปัญหาเรื่องอาหารเหลือ น้ำเสีย ก็หมดไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนน้ำสำหรับปลากัดก็เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับคุณทศพลแล้ว จะเปลี่ยนน้ำให้ปลากัดสัปดาห์ละครั้ง โดยการเปลี่ยนน้ำเป็นการเปลี่ยนแบบดูดเฉพาะขี้ปลาและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในโหลออกก่อน แล้วเติมน้ำเข้าไปสำหรับปลาเล็ก ส่วนปลาใหญ่จะเปลี่ยนน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำโดยการแยกปลาออกมาก่อน แล้วจึงเปลี่ยนน้ำให้

ในการผสมพันธุ์ปลา ควรทำให้สภาพแวดล้อมการผสมพันธุ์เป็นธรรมชาติมากที่สุด

ใช้จอกสร้างธรรมชาติในบ่อปลา

คุณทศพล ใช้กะละมังใบใหญ่ เพราะต้องการพื้นที่กว้าง หรือใช้ลังโฟมขนาดใหญ่ก็ได้ ใส่น้ำสูงประมาณ 1-1 1/2 นิ้ว ใช้น้ำหมักใบหูกวาง และใส่ยาทีซีมัยซิน เพื่อกระตุ้นให้ปลาตื่นตัวในการก่อหวอด ควรใส่ใบตองฉีกฝอยลงไป ทำให้สถานที่รก หากมีผักบุ้งไทยควรใส่ลงไปด้วยเพื่อให้บ่อมีความรกและเป็นธรรมชาติจริงๆ จากนั้นใส่นำปลากัดทั้งเพศผู้และเพศเมียใส่ไว้ตั้งแต่ 17.00 น.ของวัน แล้วนำภาชนะมาปิดไว้ ทิ้งไว้จนกว่าจะถึง 20.00-21.00 น.ของวันรุ่งขึ้น จึงแง้มดู จะเห็นไข่ในหวอด ถ้าเห็นก็ให้ตักปลาเพศเมียออก ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลลูก

บ่ออนุบาลลูกปลากัด

หลังจากพบไข่ในหวอด 1 วัน ลูกปลาจะออกจากไข่ ให้ปิดภาชนะไว้อย่างนั้น 3-4 วัน ไม่ควรเปิดดู มิฉะนั้นพ่อปลาอาจจะกินลูกปลา แต่ให้หยอดพารามีเซียมไว้เป็นอาหารมื้อแรกที่ลูกปลาออกจากหวอด แต่ควรทำแบบเบามือที่สุด เพื่อไม่ให้พ่อปลาตกใจ หลังจาก 3-4 วันแล้ว ค่อยให้ไรแดงเป็นอาหารกับพ่อปลา และให้อาร์ทีเมียกับลูกปลา ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนลูกปลามีอายุ 7-14 วัน ให้เริ่มให้ไรแดงเป็นอาหารกับลูกปลาได้

พารามีเซียม

เมื่อลูกปลามีอายุ 14 วัน ให้แยกพ่อปลาออก เลี้ยงลูกในบ่อเดิมต่อไป หรือจะเปลี่ยนมาเลี้ยงในอ่างปูนก็ทำได้ แนะนำว่าให้ถ่ายปลามาเลี้ยงในอ่างปูนจะดีกว่า เพราะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และเพื่อให้ลูกปลาโตเร็ว เลี้ยงรวมเช่นนี้จนลูกปลาอายุ 3-4 เดือน ให้เริ่มแยกเลี้ยง 1 ตัว ต่อถัง โดยคัดฟอร์มปลาแต่ละตัวตามแต่ความสวย

สภาพในบ่ออนุบาลลูกปลา

เมื่อปลาขึ้นถังเลี้ยงถังละตัว ก็เริ่มเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง สลับนำปลาขึ้นโหล เพื่อดูฟอร์มปลาว่าดีหรือไม่ ใช้ได้หรือไม่ ลองให้ปลาได้พองครีบ จะได้รู้ลักษณะและฟอร์มปลาแต่ละตัวได้ชัดเจน หากพบว่าปลาตัวใดสวย ก็สามารถถ่ายรูป โพสต๋ลงเฟซบุ๊กขายได้ การคัดฟอร์มลูกปลาทำได้ไม่ยาก เพราะพ่อแม่พันธุ์ที่นำมาเป็นตัวที่มีฟอร์มดีอยู่แล้ว เมื่อได้ลูกปลา ฟอร์มลูกปลาจะออกชัดเจน

ปลากัดแต่ละครอกจำนวนไม่เท่ากัน บางครอก 100-400 ตัว หรือซึ่งแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศที่ปลาผสมพันธุ์ ซึ่งปลาจะผสมพันธุ์ได้ดีในฤดูฝน ส่วนฤดูหนาวกับฤดูร้อน ปลาจะผสมได้ลูกปริมาณน้อย หรืออาจไม่ผสมเลยก็มี

สภาพตามธรรมชาติ ในบ่ออนุบาลลูกปลากัด

ปัจจุบันคุณทศพล ใช้พื้นที่บริเวณบ้านและรอบบ้านเป็นฟาร์มปลากัดป่าเล็กๆ ของเขา พื้นที่ส่วนใดว่างก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด พ่อแม่พันธุ์ปลามีมากราว 20 คู่ และไม่ได้จำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ จำหน่ายเฉพาะลูกปลาเท่านั้น

พ่อพันธุ์ปลากัดป่ามหาชัย

ปลากัดป่าที่ฟาร์มเล็กๆ รอบบ้านของคุณทศพล มีปลากัดป่าเกือบครบทุกสายพันธุ์ แต่ที่โดดเด่นของฟาร์มเล็กๆ แห่งนี้ คือ ปลากัดป่ามหาชัย และปลากัดป่ากีตาร์ ด้วยความชอบส่วนตัวของคุณทศพลในเรื่องสี รูปทรง ลักษณะเด่น และฟอร์มของปลา 2 สายพันธุ์นี้

รายได้จากการจำหน่ายปลากัดป่าต่อเดือนสูงถึงหลักหมื่น เป็นอาชีพหลักของคุณทศพลไปโดยปริยาย อีกทั้งการเลี้ยงปลากัด ใช้พื้นที่ไม่มากและต้นทุนไม่สูง แต่สิ่งที่จำเป็นคือความใส่ใจมากกว่า

พ่อพันธุ์สวยๆ อีกตัว

สำหรับราคาจำหน่ายปลากัด เริ่มต้นตัวละ 300 บาท ขึ้นอยู่กับฟอร์มปลาว่าสวยมากน้อย ซึ่งลูกค้าจะดูรูปปลาทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊กของคุณทศพล หรือสนใจเข้าไปดูที่ฟาร์มเล็กๆ รอบบ้าน คุณทศพลก็ยินดี แต่ขอให้ติดต่อมาก่อนที่ คุณทศพล กิ่งมะลิ หมู่ที่ 13 ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์ (092) 325-6395 หรือติดตามได้ที่หน้าเฟซบุ๊ก Tossapon Tk

ความสวยของปลากัดป่า ที่ไม่เหมือนใคร
ลูกเพาะ ปลากัดป่ากีตาร์หางโพ
ปลากัดป่าแก้มแดงเบญจรงค์

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2563