หนุ่มบางบ่อ ใช้เวลาว่างเพาะอ้นขาย สัตว์ฟันแทะ ทำเงิน ตลาดต้องการสูง

ที่ผ่านมาอดีตถึงปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงเล่นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสัตว์ป่า ที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้มีพฤติกรรมอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์บก หรือสัตว์น้ำ ต่างก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์หลายสิบปี และ “อ้น” ก็เช่นกัน

คุณอภิชาติ กรุดศาสตร์

ที่ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มี คุณอภิชาติ กรุดศาสตร์ หนุ่มบางบ่อโดยสายเลือด เลี้ยง “อ้น” ไว้จำนวนหนึ่ง จะเรียกได้ว่ามากเทียบเท่าฟาร์มขนาดใหญ่เลยก็ว่าได้

อ้น ในภาษาเหนือมักถูกเรียกว่า “ตุ่น” ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แต่เป็นสัตว์ที่อยู่คนละอันดับกัน ซึ่งอ้นทั้งหมดที่พบในประเทศไทยมีสถานะทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 แต่ก็เป็นที่นิยมกินของผู้คนที่อยู่ใกล้ป่าหรือสังคมในชนบท โดยเชื่อว่าเป็นยาบำรุงพละกำลัง

แต่นั่นก็หมายความว่า “อ้น” ยังคงเป็นสัตว์ฟันแทะ ที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 แต่ก็ยังถูกนำไปบริโภค และนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้เลี้ยงและเพาะอ้นจำหน่ายไม่มากนัก แต่ระยะหลังมีเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่หากไม่ได้คลุกคลีในกลุ่มผู้สนใจเลี้ยงหรือเพาะอ้น ก็แทบไม่ทราบได้ว่า มีแหล่งเพาะเลี้ยงที่ใดบ้าง เพราะอ้น ยังถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีผู้สนใจเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

พ่อพันธุ์ น้ำหนักไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม

เพราะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ป่า พฤติกรรมการดำรงชีวิตและลักษณะนิสัยก็ยังคงไว้ตามเดิม ทำให้อ้นในยุคแรกๆ เป็นอ้นที่เรียกกันติดปากว่า อ้นป่า เมื่อซื้อไปก็ไม่ได้มีความเชื่อง นำมาจับเล่นไม่ได้ นอกเสียจากเลี้ยงมาตั้งแต่เล็กและเชื่องมือจริงๆ แต่ปัจจุบัน ฟาร์มอ้นเกิดขึ้นจำนวนมาก แหล่งที่มาของอ้นไม่ได้นำออกจากป่าแล้ว กลับเป็นอ้นเลี้ยงที่มีความคุ้นเคยกับผู้เลี้ยง นำมาปล่อยเล่นภายในสถานที่ปิด จับอุ้มเล่นได้เสมือนแมวเชื่องๆ ตัวหนึ่ง

อาหารของอ้น

คุณอภิชาติ ไม่ได้เพาะเลี้ยงอ้นเป็นอาชีพหลัก เพราะเขามีสวนผสมผสานและเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ 80 ไร่อยู่แล้ว การเลือกเลี้ยงอ้น เป็นเพราะมีความชอบส่วนตัว จึงพยายามหามาเลี้ยง โดยศึกษาข้อมูลก่อนเริ่มเลี้ยง ทำให้เลือกซื้ออ้นเพาะมาเลี้ยง เพราะเห็นว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดีได้

“ผมคิดแค่อยากเลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น ไม่ได้คิดเพาะขาย แต่อ้นจะขายเป็นคู่ เมื่อซื้อมาแล้ว เพิ่มจำนวนขึ้นตามที่เลี้ยง ก็อยากลองเพาะเอง ต้องไปหาเพศผู้และเพศเมียจากแหล่งอื่นมาผสม เพื่อไม่ให้สายเลือดชิด เริ่มมีมากขึ้น คนรู้จักเห็นความน่ารัก จึงขอซื้อ ผมก็ขาย”

ภายในโรงเรือนเลี้ยงอ้น

จากการขายในระยะเริ่มแรก ก็เริ่มมองเห็นเม็ดเงินที่เป็นรายได้จากการเลี้ยงอ้น จึงเริ่มเพาะจริงจัง และเริ่มคัดสายพันธุ์เพื่อให้ได้อ้นที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักดี สวย และนิสัยดี เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงจริงจัง

อ้น เริ่มผสมพันธุ์ได้ เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 10 เดือน ยิ่งอายุมากขึ้นจะทำให้อ้นมีความสมบูรณ์ในเพศสูงทั้งเพศผู้และเพศเมีย และจะทำให้ได้ลูกอ้นที่มีความสมบูรณ์ดีด้วยเช่นกัน

การผสมพันธุ์ ควรนำเพศผู้ไปใส่ในที่บ่อที่อยู่ของเพศเมีย พื้นที่สำหรับผสมพันธุ์ควรมีรัศมีวงกลมของพื้นที่ 90-100 เซนติเมตร หรือมากกว่ายิ่งดี เพราะเมื่อเพศเมียได้รับการผสมแล้ว จะไม่ยอมให้เพศผู้ไปผสมซ้ำอีก และจะไล่กัดเพศผู้ จึงต้องนำเพศผู้ออก หากไม่สังเกตปล่อยไว้ อาจจะทำให้เพศเมียกัดเพศผู้ตาย

สภาพแวดล้อมภายนอกบริเวณโรงเรือน

จะสังเกตได้อย่างไรว่ามีการผสมพันธุ์แล้ว คุณอภิชาติ บอกว่า ให้สังเกตที่อวัยวะเพศของเพศเมีย จะมีลักษณะสีขาวคล้ายแท่งติดอยู่ หากพบ หมายถึงเพศเมียได้รับการผสมเรียบร้อยแล้ว ให้นำเพศผู้ออกได้ แต่ถ้ายังไม่พบหมายถึงยังไม่ได้รับการผสม แต่บางกรณีอาจพบได้ว่า เพศเมียหลอกตา โดยการสร้างแท่งน้ำเชื้อขึ้นเองทั้งที่ยังไม่ได้รับการผสมก็ได้

โรงเรือน ถูกดัดแปลงมาจากโรงเก็บของเดิมภายในสวน

“ทุกๆ ขั้นตอนของการเลี้ยงอ้น ไม่ยาก สิ่งที่ยากมีเพียงลูกอ้นที่คลอดออกมาแล้วรอดหรือไม่ โดยส่วนใหญ่พบว่าจำนวนรอดครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ราคาซื้อขายอ้นสูง เพราะอัตราการรอดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับแม่อ้น หากแม่อ้นคลอดแล้วไม่ยอมเลี้ยงลูกเลย ก็จะทำให้ลูกตายทั้งหมด หากจะนำลูกอ้นมาป้อนนม เลี้ยงแบบลูกป้อนเหมือนสัตว์อื่นไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เฉพาะการกินนม แต่จะรวมถึงการเลี้ยงลูกอ้นในช่วงแรกเกิดถึง 20 วัน ที่ต้องมีการกระตุ้นการขับถ่ายและอื่นๆ ในรูปแบบของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่คนไม่สามารถเข้าไปจัดการได้”

ชุดนี้ เพิ่งแยกจากแม่ได้ไม่นาน อายุประมาณ 30 วัน

หลังอ้นเพศเมียได้รับการผสมแล้ว ให้สังเกตแม่พันธุ์ จะเริ่มกินเก่ง น้ำหนักขึ้น นมตั้งเต้าเป็นสีชมพู นับจากวันที่ผสมไปประมาณ 45 วัน อ้นจะคลอด ก่อนคลอดควรหาเปลือกข้าวโพดแห้งฉีกหรือหญ้าแฝก นำไปรองก้นบ่อ เมื่ออ้นคลอดปล่อยให้แม่อ้นเลี้ยงลูกตามธรรมชาติ แม่อ้นจะให้ลูก 1-8 ตัว ขึ้นกับความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

ทิ้งไว้ให้แม่อ้นเลี้ยงลูกเองประมาณ 25 วัน ลูกอ้นจะลืมตา แล้วเริ่มกินอาหารเองได้ ให้แยกลูกอ้นออกมาเลี้ยงรวมกันไว้ในบ่อซีเมนต์เดียวกัน จนกว่าจะอายุ 3-4 เดือน จึงแยกออกไปเลี้ยงวงบ่อซีเมนต์ละตัว

อาหารแต่ละวัน กินเพียงเท่านี้ก็พอ

อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงอ้น มีเพียงวงบ่อซีเมนต์ 2 วง วางซ้อนกันแนวตั้ง ฝาบ่อซีเมนต์ใช้รองพื้นด้านล่าง ยากันแนวให้เรียบร้อย ป้องกันมด ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษอื่นเข้าไปก่อกวนอ้น ด้านบนใช้ผ้ามุ้งปิดป้องกันยุง ไม่ควรปล่อยให้อ้นถูกยุงกัด เพราะผิวหนังอ้นจะเป็นตุ่ม ผื่น หนอง เกิดบาดแผล อาจจะทำให้ติดเชื้อแล้วป่วยได้

ภายในวงบ่อซีเมนต์ ไม่จำเป็นต้องใส่วัสดุหรือภาชนะใดไว้

การเลี้ยงอ้น ให้แยกอ้นอยู่วงบ่อละ 1 ตัวเท่านั้น

อาหาร เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ ไผ่ ในทุกวันอ้นจะกินข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือมันสำปะหลัง หรือมันเทศ ในปริมาณไม่มากนัก เช่น ข้าวโพด 1 ฝัก สามารถให้อาหารอ้นได้ 2-3 ตัว ส่วนไผ่มีให้ไว้เป็นอาหารให้อ้นกัดกินเข้าไปช่วยในระบบย่อยอาหาร ส่วนอ้อยเป็นพืชที่สัตว์ฟันแทะชอบ และถือเป็นพืชที่นอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำให้กับอ้น เพราะอ้นเป็นสัตว์กินน้ำน้อย น้ำจากฝักอ้อยวันละนิดหน่อย ก็ทำให้อ้นอยู่ได้แล้ว นอกจากนี้ ยังให้อาหารเป็นผักหรือผลไม้อื่นเสริมได้อีก

อ้นในวัยสมบูรณ์ เจริญเติบโตเต็มที่ อาจจะมีขนาดเกินกว่า 5 กิโลกรัมก็ได้ ขึ้นกับอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ความสนใจ

ปัจจุบัน คุณอภิชาติ มีอ้นในโรงเลี้ยง ประมาณ 60 ตัว เน้นเพาะเพื่อเก็บทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ แต่ทุกครั้งที่เพาะก็จะมีลูกอ้นให้ได้แบ่งขายออกเสมอ

คุณอภิชาติ บอกว่า อ้นนิยมขายเป็นคู่ อายุที่พร้อมขายอยู่ที่ 3-4 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงว่าต้องการอายุอ้นที่เท่าไร ซึ่งอ้นที่แบ่งขายออกไปส่วนใหญ่ลูกค้าซื้อไปเลี้ยง และมีบางรายต้องการเพาะขาย ก็เริ่มขอซื้อเฉพาะพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ เพื่อไปพัฒนาสายพันธุ์อ้นให้ดีขึ้น

ราคาอ้นในปัจจุบัน อยู่ที่ราคาคู่ละ 4,000 บาท แต่ถ้าเป็นอ้นที่มีสีแปลกกว่าทั่วไป เช่น สีขาว หรือมีสีขาวเฉพาะบริเวณใบหน้า เป็นอ้นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ซึ่งเริ่มมีผู้นำเข้ามาเพาะเลี้ยงแล้ว จะมีราคาแพงกว่า คู่ละหลักหมื่นทีเดียว อย่างไรก็ตาม หากมีผู้สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ คุณอภิชาติ กรุดศาสตร์ หมู่ที่ 9 ตำบลเปร็ง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ หรือโทรศัพท์สอบถามกันก่อนได้ที่ (099) 181-0774