แห่งแรกของชุมพร ศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พ

หลังจากที่ คุณฉลอง และ คุณจันทร์ธิภา คงลิขิต สองสามี-ภรรยา ประสบความสำเร็จจากธุรกิจการทำบ้านรังนกนางแอ่น ในนาม บริษัท ตี๋บ้านนก 2005 จำกัด มานานกว่า 15 ปี จนทำให้ชาวชุมพร ตลอดจนบุคคลทั่วประเทศเป็นที่ทราบว่า หากต้องการสร้างบ้านรังนก ต้องใช้บริการของบริษัท ตี๋บ้านนก 2005 จำกัด เท่านั้น

คุณฉลอง คงลิขิต

วันนี้ คุณฉลอง หรือ เฮียตี๋ ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกการสร้างบ้านรังนกนางแอ่นเจ้าแรกๆ ของจังหวัดชุมพร ได้มีการแตกไลน์ธุรกิจ ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พแห่งแรกของจังหวัดชุมพร และอาจถือเป็นแห่งแรกของภาคใต้ตอนบนด้วย

บนพื้นที่ ขนาด 50 ตารางวา ในซอยกองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ 1 จังหวัดชุมพร (กองร้อย อส.จ.ชุมพร) หมู่ที่ 5 ตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เฮียตี๋ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการก่อสร้างที่เคยประสบความสำเร็จจากการก่อสร้างบ้านรังนก มาสร้างศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พด้วยงบประมาณจำนวน 6 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่า ชุมพร โค่ย ฟาร์ม แอนด์ คาเฟ่ (Chumphon Koi Farm & Cafe) ซึ่งคำว่า โค่ย (Koi) เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ปลาคาร์พ

ด้านหน้า

“ผมเลี้ยงปลาคาร์พมานานนับสิบปี เมื่อลูกชายคนเล็ก คือ น้องจ๊อบ-คุณยศธร คงลิขิต เรียนจบปริญญาตรี จึงคิดจะสร้างบ่อปลาคาร์พให้เขาดูแล และเห็นที่ดินตรงข้ามบ้านพักมีความเหมาะสม จึงเริ่มก่อสร้างบ่อปลาคาร์พเป็นศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พในลักษณะเดียวกับที่เคยทำศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตนกนางแอ่น แต่ลูกชายบอกว่าเรามีรังนกแปะก๊วย มีติ่มซำ และกาแฟสดที่ร้านตี๋บ้านนกอยู่แล้ว น่าจะต่อยอดด้วยการเปิดเป็นร้านกาแฟให้ลูกค้าที่มาเลือกซื้อปลาคาร์พ ได้นั่งจิบกาแฟพร้อมกับรับประทานรังนกแปะก๊วยและติ่มซำไปด้วย จึงทำให้เกิด ชุมพร โค่ย ฟาร์ม แอนด์ คาเฟ่ ขึ้นมา” เฮียตี๋ เปิดเผยที่มาของศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พ

เฮียตี๋ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์เรียนรู้วงจรชีวิตปลาคาร์พ ชุมพร โค่ย ฟาร์ม แอนด์ คาเฟ่ จะนำเข้าเฉพาะปลาคาร์พจากฟาร์มดังๆ ของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น โดยจะมีปลาคาร์พหลากหลายสายพันธุ์ สนนราคาก็เริ่มตั้งแต่ตัวละ 1,000-2,000-3,000-5,000-7,000 บาท จนถึงราคาแพงสุดคือตัวละ 100,000 กว่าบาท

ด้านใน

นอกจากจะมีปลาคาร์พแล้ว ยังรับก่อสร้างบ่อปลาคาร์พทั้งสไตล์คลาสสิกแบบธรรมชาติและแบบโมเดิร์น ด้วยระบบที่ทันสมัย ผู้สนใจสร้างบ่อปลาคาร์พจะใช้เงินเริ่มต้นประมาณ 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อและสถานที่ และยังมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบ่อปลาคาร์พ เวชภัณฑ์ และยารักษาปลาคาร์พ ที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นด้วย ในศูนย์จะมีการติดตั้งป้ายระบุสายพันธุ์ของปลาคาร์พแต่ละชนิด วิธีการเลี้ยง และสาระน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวกับปลาคาร์พให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้ศึกษา

“หากปลาคาร์พที่เลี้ยงไว้ป่วย เราก็ยังรับรักษาปลาคาร์พด้วยผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องเป็นปลาคาร์พที่ยังพอรักษาได้เท่านั้น วิธีสังเกตปลาคาร์พที่ป่วยก็คือ ถ้าปลาคาร์พตัวไหนไม่ว่ายน้ำตามปกติ หลบไปอยู่มุมบ่อ หรือลอยอยู่บนผิวน้ำนานๆ ที่เรียกว่าปลาคาร์พแยกฝูง แสดงว่าปลาตัวนั้นเริ่มมีปัญหาแล้ว จากนั้นตัวปลาคาร์พจะเริ่มแดงและเริ่มเปื่อย ต้องรีบนำมารักษาทันที ศูนย์แห่งนี้ยังมีระบบไฟฟ้าสำรองคือ ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLAR CELL) ที่พร้อมจะทำงานทันทีที่กระแสไฟฟ้าปกติดับ เพราะปลาคาร์พจำเป็นต้องมีระบบกรองน้ำและระบบกำจัดมูลปลาที่ต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งใช้วันละประมาณ 1,000 วัตต์ จะขาดไฟฟ้าไม่ได้” เฮียตี๋ กล่าว

สวยงามทั้งนั้น

เฮียตี๋ กล่าวในตอนท้ายว่า ชุมพร โค่ย ฟาร์ม แอนด์ คาเฟ่ พร้อมต้อนรับผู้สนใจเลี้ยงปลาคาร์พทุกท่าน จะแวะเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อตัดสินใจก่อนโดยยังไม่ซื้อก็ได้ หรือผู้ที่ต้องการจะเข้ามานั่งจิบกาแฟ รับประทานอาหาร ติ่มซำ รังนกแปะก๊วย พร้อมกับชมปลาคาร์พไปด้วยก็ไม่ขัดข้อง และที่นี่ยังมีมุมสวยๆ ให้ถ่ายภาพเซลฟี่ ถ่ายภาพพรีเวดดิ้งให้ลูกค้าเก็บไปเป็นที่ระลึกด้วย

สนใจเยี่ยมชม ถามได้ที่โทรศัพท์ 083-180-6658

เหล่าปลางาม

……………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563