แฟนพันธุ์แท้ปลากัด โชว์ปลากัด ปลาไทยแท้

มีโอกาสได้พบและรับฟังข้อคิดเห็น รวมถึงความรู้เรื่อง “ปลากัด” จาก คุณชานนทร์ โควสุภัทร หรือน้องนนทร์ แฟนพันธุ์แท้ปลากัด ซุปเปอร์แฟน ปี 2560 แล้ว สร้างความอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับ “ปลากัด” ได้มากโข

คุณชานนทร์ โควสุภัทร หรือ น้องนนทร์ แฟนพันธุ์แท้ปลากัด ซุปเปอร์แฟน ปี 2560

น้องนนทร์ บอกว่า ปลากัด เป็นปลาที่กลุ่มนักเลี้ยงปลาวงกว้างไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการเก็บข้อมูลหรือการวิจัย เมื่อค้นงานวิจัยเก่าๆ จะพบว่า มีผลการศึกษาว่าปลากัดเป็นปลาไทยแท้ แต่คนไทยหลงลืมและมีการเก็บข้อมูลเพื่อวิจัยน้อยมาก

ภายในห้องวิจัย

สำหรับน้องนนทร์ แม้อายุยังน้อย จึงนึกสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงหลงใหลปลากัด ถึงขั้นทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลากัด ก็ทราบได้ว่า น้องนนทร์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.พิณทิพ รื่นวงษา อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทั้งหมดเป็นทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล (Thailand BETTA Project : TBP)

ปลากัด เป็น ปลาไทยแท้

ปลากัด เป็น ปลาน้ำจืด

ปลากัด ที่พบในต่างประเทศ จะพบในทุกประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้น ฟิลิปปินส์

ปลากัดโดยทั่วไป แบ่งเป็นกลุ่มก่อหวอดและกลุ่มอมไข่

ทั่วโลก มีปลากัด 73 สปีชีส์ ในประเทศไทย มี 12 สปีชีส์

น้องนนทร์ บอกว่า ปลากัดป่าเมื่ออยู่ในธรรมชาติจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ซีดๆ ช้อนขึ้นมาจะไม่รู้ว่านี่คือปลากัด แต่เมื่อนำไปใส่โหล ให้ขู่กับปลากัดอีกตัว สีที่ซีดๆ จะเข้มขึ้นเป็น เขียว แดง ส้ม หรือมากกว่านั้น และนี่คือเสน่ห์ของปลากัด

สำหรับปลากัดสวยงามในปัจจุบัน น้องนนทร์ อธิบายว่า เกิดจากภูมิปัญญาไทยของคนในอดีตที่เห็นปลากัดบางตัวมีลักษณะแตกต่าง เช่น หางยาวมาก หางบานกว่า เลือกเพื่อนำมาผสมแล้วเลือกลักษณะหางตามต้องการ นำลูกที่ได้มาผสมและไขว้กลับไม่ให้เลือดชิด ทำให้ได้ปลากัดสวยงาม ซึ่งปัจจุบันปลากัดสวยงาม เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว

“ปลากัดที่ช้อนได้จากธรรมชาติเหล่านี้ บางคนเรียกว่าปลากัดป่า ปลาป่า ปลากัดทุ่ง หรือปลากัดลูกทุ่ง ซึ่งจากการสำรวจและตรวจสอบจนถึงปัจจุบันโดยทีมวิจัย พบว่า ปลากัดป่ากลุ่มก่อหวอดที่พบในประเทศไทยมีอยู่อย่างน้อย 5 สปีชีส์ ที่ถูกค้นพบแล้ว ได้แก่ ปลากัดป่าภาคกลาง (Betta splendens), ปลากัดป่าภาคอีสาน (Betta smaragdina), ปลากัดป่าภาคใต้ (Betta imbellis) โดย 3 สปีชีส์แรกนี้เป็นผลงานวิจัยและตีพิมพ์โดยนักมีนวิทยาชาวต่างชาติ ส่วนอีก 2 สปีชีส์ล่าสุด ได้รับการพิสูจน์และยืนยัน ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) และ ปลากัดป่าทางตะวันออกของไทย (Betta siamorientails)”

  1.  ปลากัดป่าภาคกลาง เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และถูกนำไปผสมคัดเลือกพันธุ์จนเกิดเป็นปลากัดสวยงามรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการที่เป็นแหล่งกำเนิดของปลากัดก่อหวอดที่เป็นที่นิยม ทำให้นักมีนวิทยาชาวอังกฤษ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเปรียบเทียบลักษณะปลากัดป่าภาคกลางนี้กับปลากัดป่าสปีชีส์ต่างๆ ที่พบในประเทศอื่นๆ และค้นพบว่า เป็นปลากัดสปีชีส์ใหม่ จึงได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งความหมายของชื่อบ่งบอกลักษณะของปลากัดได้อย่างชัดเจนทั้งลักษณะและนิสัย

จากการเก็บตัวอย่างปลากัดโดยทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่กว่า 70 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2550-2555 พบว่า ปลากัดป่าภาคกลางกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคเหนือไล่ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่านภาคกลางมาจรดกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาครบางส่วน ภาคตะวันออกตอนล่าง (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน (ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา) นอกจากนี้ ยังพบได้ในประเทศพม่าและกัมพูชาบางส่วน

  1. ปลากัดป่าภาคอีสาน เป็นปลากัดป่าก่อหวอดในไทยสปีชีส์ที่ 2 ที่ถูกตีพิมพ์โดยชาวเยอรมัน โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta smaragdina จุดเด่นของปลากัดป่าภาคอีสาน บริเวณแก้มจะไม่เป็นขีดหรือแถบเหมือนปลากัดป่าชนิดอื่นๆ แต่จะเป็นเกล็ดวาวสีเขียวปกคลุมบริเวณล่างของส่วนหัว สีลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลแดงไล่ถึงสีน้ำตาลเข้ม ประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวมรกตทั้งตัว สำหรับสีของครีบต่างๆ นั้น สีบนส่วนรยางค์กระดูกที่ยื่นออกไปนั้นจะมีสีน้ำตาลแดงไล่ถึงสีน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับลำตัว โดยแผ่นเยื่อระหว่างรยางค์ดังกล่าวจะมีสีเหลือบเขียวหรือเขียวอมฟ้า

จากการสำรวจพบว่า ปลากัดป่าภาคอีสานมีการกระจายพันธุ์ในไทย พบเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น และพบได้ในทุกจังหวัด โดยถูกกั้นอาณาเขตด้านตะวันตกด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ ด้านทิศใต้โดยเทือกเขาตะนาวศรี และทิศตะวันออกโดยแม่น้ำโขง

  1. ปลากัดป่าภาคใต้ ถูกศึกษาและตีพิมพ์สปีชีส์ใหม่ในปี 2518 โดยชาวเยอรมันคนเดียวกับที่ศึกษาปลากัดป่าภาคอีสาน โดยให้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta imbellis และพบว่าปลากัดป่าภาคใต้แยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมเดียวกับปลากัดป่าภาคกลาง แต่เป็นคนละสปีชีส์กันจริง ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของแก้มของปลากัดป่าภาคใต้ที่มีขีดหรือแถบสีเขียว 2 ขีด และสีลำตัวที่ไม่แดงสดเท่าปลากัดป่าภาคกลาง โดยจะมีสีไล่จากน้ำตาลถึงดำทั้งพื้นลำตัว และรยางค์ของครีบประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวถึงสีเขียวอมฟ้า ซึ่งทำให้ปลากัดภาคใต้มีลักษณะทั่วไปที่แยกจากปลากัดป่าภาคกลางอย่างชัดเจน

แหล่งกระจายพันธุ์พบในบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและพังงาเป็นต้นไป จนถึงประเทศมาเลเซีย

  1. ปลากัดป่ามหาชัย Betta mahachaiensis พบได้ในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก จากข้อมูลพบว่า ปลากัดป่ามหาชัยนี้ถูกสำรวจพบและรู้จักมานานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมาตั้งแต่โบราณกาล จากการสำรวจของทีมวิจัยปลากัดป่ามหาชัย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน พบว่า หลักๆ แล้วแหล่งปลากัดป่ามหาชัยนั้น สามารถพบได้ส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และพบบ้างบางพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ เช่น แถบแสมดำ

ปลากัดป่ามหาชัย สามารถจำแนกออกจากปลากัดป่าสปีชีส์อื่นๆ ด้วยแก้มมีขีดสีเขียวอมฟ้าถึงสีเขียวชัดเจน 2 ขีด คล้ายกับปลากัดป่าภาคใต้ แต่ที่สำคัญทางผู้วิจัยพบว่า ปลากัดป่ามหาชัยนี้ เป็นปลากัดก่อหวอดในไทยชนิดเดียวที่มีเยื่อใต้แผ่นปิดเหงือกสีดำสนิทโดยไม่มีขีด หรือแถบสีแดงมาแซมอยู่เหมือนปลากัดป่าสปีชีส์อื่นๆ ในไทย ส่วนสีพื้นลำตัวของปลากัดป่ามหาชัย เมื่อขึ้นสีจะมีสีไล่จากสีน้ำตาลไปจนดำสนิท ประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า โดยเกล็ดวาวจะเรียงอย่างสม่ำเสมอเสมือนเมล็ดข้าวโพดเรียงบนฝัก สำหรับสีของครีบต่างๆ นั้น สีบนส่วนรยางค์กระดูกที่ยื่นออกไปจะมีสีน้ำตาลถึงสีดำสนิท โดยแผ่นเยื่อระหว่างรยางค์ดังกล่าวจะมีสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า ส่วนใหญ่จะพบจุดสีดำแซมอยู่ตามขอบของรยางค์กระดูกบนครีบหางหรือบนครีบก้นบ้างในบางตัว

 

 

นอกจากนี้ ปลากัดป่ามหาชัยมีช่วงหัวสั้น และยังมีส่วนด้านบนตัวตามแนวรอยต่อระหว่างหัวถึงตัวนูนสูงคล้ายลักษณะของคนหลังค่อม ครีบหูค่อนข้างใส ครีบตะเกียบมีน้ำตาลถึงดำ โดยมีขอบหน้าของตะเกียบสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า และส่วนใหญ่จะมีปลายสีขาว และมีลายขวางสีดำพาดกินพื้นที่อย่างน้อย 2 ใน 3 ของครีบหลังเหมือนกับปลากัดป่าก่อหวอดสปีชีส์อื่นๆ บางตัวอาจมีครีบหางกลม หรืออาจมีปลายแหลมเหมือนใบโพธิ์หรือกึ่งใบโพธิ์ ซึ่งรูปแบบกึ่งใบโพธิ์นี้ เป็นลักษณะที่พบมากที่สุดในปลากัดป่ามหาชัยที่ช้อนจากธรรมชาติในปัจจุบัน

น้องนนทร์ ออกภาคสนามช้อนปลากัด
  1.  ปลากัดป่าภาคตะวันออก Betta siamorientails ทางทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บตัวอย่างปลากัดป่ามาวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานวิทยา โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ จนพบว่าปลากัดป่าสปีชีส์ใหม่นี้มีวิวัฒนาการค่อนข้างใกล้เคียงกับปลากัดป่าภาคใต้ โดยพบว่า แตกต่างจากปลากัดป่าภาคกลางอย่างสิ้นเชิง ลักษณะภายนอกและสีลำตัวของปลากัดป่าสปีชีส์ใหม่นี้คล้ายคลึงกับปลากัดป่าภาคใต้อย่างมาก มีเพียงแค่สีของขีดบริเวณแก้มเท่านั้นที่เป็นสีแดงเหมือนอย่างปลากัดภาคกลาง จึงทำให้ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างปลากัดไปตรวจสอบดีเอ็นเอ จนพบว่าเป็นปลากัดป่าชนิดใหม่

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ให้โดยน้องนนทร์ แฟนพันธุ์แท้ปลากัด ซุปเปอร์แฟน ปี 2560 ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านแฟนเพจได้ที่ www.facebook.com/FanPlaagat น้องนนทร์ ยินดีนำความรู้ที่มีมาไขข้อข้องใจให้กับทุกท่านได้

ป่าจาก ในพื้นที่มหาชัย
ทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล (Thailand BETTA Project : TBP)
ปลากัดป่ามหาชัย