อดีตพนักงานบริษัท ใช้พื้นที่เล็กๆ เพาะปลาหางนกยูงส่งเกาหลี ทำรายได้หลายหมื่น

ไม่ว่าจะช่วงวิกฤตแล้ง หรือวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงเกษตรกรรม แต่อาชีพนี้ไม่เคยได้รับผลกระทบใดๆ ราคาซื้อขายยังคงที่นานและต่อเนื่อง

อาชีพที่ว่าคือ อาชีพเพาะปลาหางนกยูงขาย

คุณอิทธิศักดิ์ เทศบุตร

คุณอิทธิศักดิ์ เทศบุตร อดีตพนักงานพิสูจน์อักษร บริษัทผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดัง ทำงานเป็นพนักงานบริษัท รับเงินเดือนประจำมาต่อเนื่องหลายปี เขาเริ่มมองหางานพิเศษเสริมรายได้ตั้งแต่ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 โดยเริ่มต้นจากการทำแปลงกุหลาบตัดดอกที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในยุคนั้นรายได้แต่ละเดือนเป็นตัวเลข 6 หลัก แต่เมื่อกุหลาบจากตลาดจีนตีตลาดเมืองไทยได้ด้วยไซซ์ดอกขนาดใหญ่และราคาที่ถูกกว่า ทำให้ตลาดกุหลาบตัดดอกในเมืองไทยซบเซาลง เป็นเหตุให้คุณอิทธิศักดิ์ล้มเลิกการปลูกกุหลาบตัดดอกขายในที่สุด

และปลาหางนกยูง ไม่ได้เป็นปลาชนิดแรกที่เขาเริ่มเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

แพลตตินั่ม เรดเทล

คุณอิทธิศักดิ์ เริ่มต้นจับอาชีพเสริมต่อจากการปลูกกุหลาบตัดดอกด้วยการเลี้ยงและเพาะปลาเทวดา แต่ครั้งนั้นไม่ถึงกับขายเป็นล่ำเป็นสัน เพราะเป็นชนิดปลาที่ชอบ จึงเลี้ยงและศึกษาการเลี้ยงด้วยการเพาะ ขยายพันธุ์ จนทำให้คุณอิทธิศักดิ์ เป็นรายแรกๆ ที่เพาะปลาเทวดาตาแดงได้

ระหว่างนั้น ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ถึงตลาดปลาหางนกยูงที่มีความต้องการสูงจากประเทศเกาหลี ทำให้มองเห็นว่าเป็นรายได้ที่ดี จึงเริ่มเพาะปลาหางนกยูงเป็นต้นมา

เจแปนบลู

คุณอิทธิศักดิ์ เล่าว่า ปลาหางนกยูงมีหลากหลายสายพันธุ์มาก เขาเลือกเพาะเลี้ยงเฉพาะสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการและไปได้ดี ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่คุณอิทธิศักดิ์เลือกเพาะส่งออก มีเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ แพลตตินั่ม เรดเทล, มอสโคบลู และฮาล์ฟแบล็ก เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงมีจำกัด

การลงทุนสำหรับการเพาะเลี้ยงปลาหางนกยูงสูงเมื่อเริ่มแรก จากนั้นต้นทุนแต่ละเดือนไม่มากมาย ที่เห็นหลักๆ เป็นค่าน้ำประปา ค่าไฟสำหรับเปิดเครื่องทำออกซิเจน และค่าอาหารกุ้ง

บรรจุถุง ถุงละ 200 ตัว เตรียมขาย

คุณอิทธิศักดิ์ เล่าว่า เริ่มต้นการลงทุนเลี้ยงปลาหางนกยูงอาจจะสูง เนื่องจากต้องทำตู้กระจกเลี้ยง โดยใช้ขนาด 36×20 นิ้ว สูง 9 นิ้ว สำหรับเลี้ยงปลาหางนกยูง จำนวน 300 ตัว ซึ่งคุณอิทธิศักดิ์ มีจำนวน 300 ตู้ และใช้น้ำประปาเลี้ยง มีกรองด้านข้างตู้ และมีออกซิเจนทุกตู้

“การใช้น้ำในการเลี้ยงปลาหางนกยูง โดยทั่วไปอาจจะเห็นว่า ปลาหางนกยูงเลี้ยงง่าย เลี้ยงในอ่างบัว ตู้กระจก โหลทั่วๆ ไป ไม่ต้องมีออกซิเจนก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว ถ้ามีจะช่วยให้ปลาแข็งแรงมากกว่าและช่วยเรื่องความสะอาดอีกด้วย ซึ่งน้ำที่ใช้เลี้ยง แหล่งเพาะเลี้ยงบางแห่งอาจใช้น้ำกร่อย ซึ่งเมื่อลูกค้าซื้อไปเลี้ยงแล้วใช้น้ำประปา ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปลาหางนกยูงตาย แต่สำหรับที่นี่ ผมใช้น้ำประปาเลี้ยง และผ่านถังกรองน้ำขนาด 12 นิ้ว สูง 1.50 เมตร ใช้คาร์บอนเป็นตัวกรอง และต้องวัดค่าความเป็นกรดด่างน้ำ โดยให้มีค่าเป็นกลางมากที่สุด”

การล้างไรแดง เป็นอาหารสดให้ปลาหางนกยูง

ความสะอาด เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด คุณอิทธิศักดิ์ บอก

เพราะหากตู้เลี้ยงสกปรก จะทำให้น้ำสกปรก ทำให้ปลาป่วยเป็นโรคตามมา ดังนั้น จึงต้องทำความสะอาดตู้และเปลี่ยนน้ำภายในตู้ทุก 2 วัน โดยจะดูดขี้ปลาออก แล้วถ่ายน้ำออก 20 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเติมน้ำประปาสะอาดเข้าไปแทนที่

การผสมพันธุ์ปลา คัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรง สวย ให้ผสมกัน ก่อนแยกแม่ปลาหางนกยูงไปไว้ในกะละมัง แล้วนำเชือกฟางฉีกเป็นเส้นๆ ไว้ให้แม่พันธุ์และลูกปลาที่คลอดออกมาพรางตัว แต่ละครั้ง ปลาหางนกยูงจะให้ลูก 30-120 ตัว ต่อครอก ซึ่งแม่ปลาที่ให้ลูกห่างกัน 1-3 วัน สามารถจับลูกปลาเลี้ยงรวมกันได้ ไซซ์จะไม่แตกต่าง

ไรแดงตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

หลังจากแม่ปลาคลอดลูกปลาออกมาแล้ว ก็นับจำนวนลูกปลาขึ้นตู้ จำนวน 600 ตัว ต่อตู้ เลี้ยงลูกปลาในตู้นั้นไปประมาณ 1 เดือน จากนั้นเริ่มคัดแยกลูกปลาออก ให้เหลือตู้ละ 300 ตัว แล้วเลี้ยงต่อไปอีก 30-45 วัน จากนั้น เริ่มจับใส่ถุง ถุงละ 200 ตัว ส่งขาย เฉลี่ยอายุลูกปลา 2 ถึง 2 เดือนครึ่ง จึงจับขายได้

ในแต่ละวัน คุณอิทธิศักดิ์ ต้องออกไปช้อนไรแดง ในตอนเช้ามืด เพื่อนำกลับมาใช้เป็นอาหารสดเลี้ยงปลาหางนกยูง ปริมาณไรแดงที่ช้อนจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้วันละ 5-10 กิโลกรัม พอดีกับปริมาณที่ให้ปลาหางนกยูงกินในแต่ละวัน หากวันไหนได้ไรแดงมาจำนวนไม่เพียงพอ ก็จะเสริมด้วยอาหารกุ้งแทน

กะละมังที่ใช้เพาะปลาหางนกยูง

“ตอนเช้าประมาณตี 5 ผมจะให้อาหารกุ้งกับปลาไว้ก่อน จากนั้นออกไปช้อนไรแดง เมื่อกลับเข้ามาจะทำความสะอาดไรแดงให้เรียบร้อย ก่อนให้อาหารปลาอีกครั้งด้วยไรแดงที่ช้อนมาได้ ถ้าไรแดงในวันนั้นได้มาก ก็จะแบ่งให้ครบมื้อตามที่ปลาหางนกยูงควรได้ แต่ถ้าช้อนได้ไรแดงมาปริมาณน้อย ก็สลับอาหารกุ้งแทนให้ครบมื้อ ซึ่งโดยปกติจะให้อาหารกุ้ง 4-5 มื้อในแต่ละวัน ห่างกันมื้อละ 3-4 ชั่วโมง”

เมื่อถามว่า การให้อาหารปลาหางนกยูง จำเป็นต้องให้ปริมาณมากในแต่ละวันตามที่คุณอิทธิศักดิ์ให้หรือไม่ คุณอิทธิศักดิ์ บอกว่า ปลาหางนกยูงที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศเกาหลี เป็นปลานกยูงเกรดตลาดทั่วไป สำหรับเลี้ยงเล่น ไม่ใช่ปลาหางนกยูงคัดเกรดที่ต้องทำความสวยงามให้ครบเครื่องตามที่ปลาหางนกยูงควรจะเป็น ซึ่งปลาหางนกยูงที่ทำขายนี้ สามารถจับขายได้ทุกตัว ราคาตัวละ 3 บาท อาจจะมีคัดเสียออกบ้างเล็กน้อย เฉพาะปลาหางนกยูงที่สังเกตว่ามีความพิการมากจริงๆ

แม่พันธุ์ปลาหางนกยูง และเชือกฟางฉีกฝอย ในอ่างคลอด

การระวังเรื่องโรค ก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณอิทธิศักดิ์ บอกว่า ควรหมั่นสังเกตปลาในแต่ละตู้ด้วยว่า มีอาการป่วยหรือไม่ โดยสังเกตจากการว่ายของปลา ว่ายส่าย หางลู่ หางลีบ และพากันไปอออยู่ที่ออกซิเจน นั่นแสดงให้รู้ว่า ปลาเริ่มป่วย ควรรีบให้การรักษา โดยให้ยาปฏิชีวนะและฟอร์มาลินตามปริมาณที่เหมาะสม (ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงปลา) หากพบเร็วก็จะรักษาให้หายได้ แต่หากพบช้า โรคในปลาจะลุกลามอย่างรวดเร็วและจะสูญเสียปลาหมดทั้งตู้

เมื่อพูดถึงต้นทุนการเลี้ยงปลาในแต่ละเดือน มีเพียงอาหารกุ้งเดือนละ 1 กระสอบ ค่าน้ำและค่าไฟนิดหน่อย รวมถึงค่าแรงงานที่จ้างมาช่วยถ่ายน้ำปลา 2 วัน ต่อครั้งเท่านั้น ส่วนอื่นๆ คุณอิทธิศักดิ์ทำเองทั้งหมด

กำลังการผลิตปลาหางนกยูงส่งให้กับทางประเทศเกาหลี ได้จำนวน 3,000 ตัว ต่อ 1 สายพันธุ์ ต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งความต้องการนำเข้าของประเทศเกาหลีมีมากกว่า แต่เราไม่สามารถผลิตได้มาก เพราะพื้นที่และแรงงานมีจำกัด

สรุปจำนวนขายปลาหางนกยูง 5,000 ตัว ต่อ 1 สัปดาห์ ราคาขายตัวละ 3 บาท

ปลาหางนกยูงมีอายุ 1 ปีขึ้นไปต่อช่วงอายุขัย โดยแม่พันธุ์จะให้ลูกได้นานที่สุดและควรปลดระวางอยู่ที่อายุ 6-7 เดือน

หากท่านใดสนใจการเลี้ยงปลาหางนกยูง คุณอิทธิศักดิ์ สามารถให้คำแนะนำได้ โดยโทรศัพท์ติดต่อมาที่ (099) 665-5156 คุณอิทธิศักดิ์ เลี้ยงปลาหางนกยูงส่งออก อยู่ที่ ถนนโชคชัย 4 ซอย 36 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ.2564