ปลาสวยงาม เพาะง่าย ขายคล่อง ของเกษตรกรดีเด่น “มณฑา สร้อยแสง”

ตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาสวยงามส่งจำหน่ายยังต่างประเทศและส่งขายในตลาดปลาใหญ่ในเขตเมือง

แม้จะมีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามหลายฟาร์ม แต่การไม่เอ่ยถึง “มณฑา ฟาร์ม” คงไม่ได้ เพราะเจ้าของฟาร์มปลาสวยงามแห่งนี้ มีดีกรีถึงเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2555 ในสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ

คุณมณฑา สร้อยแสง เจ้าของมณฑา ฟาร์ม

เพราะการเริ่มต้นบุกเบิกสร้างฟาร์มปลาจากเล็กไปใหญ่อย่างมีระบบและได้คุณภาพมาตรฐานฟาร์ม จึงทำให้มณฑา ฟาร์ม ติดอันดับต้นๆ ของฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามส่งออกรายใหญ่

ชื่อฟาร์มตรงตามชื่อเจ้าของ

คุณมณฑา สร้อยแสง เจ้าของฟาร์ม เริ่มต้นทำฟาร์มปลาจากประสบการณ์แบบครูพักลักจำในวัย 20 ตอนปลาย หลังหน่ายจากอาชีพสาวโรงงาน และเก็บงำความรู้ที่ได้จากการช่วยพี่สะใภ้ทำฟาร์มปลาสวยงามมานาน

ด้วยเงินเพียง 15,000 บาท ที่ติดลบ เพราะเป็นเงินกู้ที่นำมาเป็นต้นทุนก้อนแรก คุณมณฑา ใช้สร้างล็อกได้ถึง 10 ล็อก และเงินอีกจำนวน 1 ใน 3 หมดไปกับการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นในการเลี้ยงปลา

คัดแยกปลาตามไซซ์
บ่อพักปลาจำหน่าย

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ปลา คุณมณฑาหาซื้อในละแวกไม่ไกลบ้าน เพราะราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาในกรุงเทพฯ ราคาสูง เริ่มสะสมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาเพิ่ม จากจำนวนไม่มาก กระทั่งพอมีเงินก้อนก็นำไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่ตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ให้ได้ตัวที่สวยถูกใจ

“เริ่มเลี้ยงปลาลักเล่ห์ดำอย่างเดียว เพราะเห็นว่าปลาลักเล่ห์ดำซื้อง่ายขายคล่อง หมดก่อนปลาสวยงามพันธุ์อื่น เมื่อฟาร์มเลี้ยงปลาเริ่มอยู่ตัว จึงให้สามีลาออกจากงานมาช่วย และเพิ่มพันธุ์ปลาขึ้นเป็น ปลาทองฮอลันดา ปลาทองเกล็ดแก้ว ปลาทองลูกโป่ง ปลาลักเล่ห์ 5 สี และริวกิ้น เป็นต้น จนถึงปัจจุบันมีบริษัทรับซื้อปลาทองส่งไปขายต่างประเทศเป็นลูกค้าประจำ 9 แห่ง มีแผงค้าส่งและปลีกในตลาดนัดจตุจักร ทำให้ต้องมีลูกฟาร์มอีกหลายแห่งรับปลาเล็กไปเลี้ยงลงบ่อดิน ไม่อย่างนั้นจะผลิตปลาส่งจำหน่ายไม่ทันตามความต้องการของลูกค้า”

“การทำฟาร์มปลาสวยงาม ไม่ใช่เรื่องยาก” คุณมณฑา บอก

คุณมณฑา อธิบายว่า การจัดโซนเลี้ยงปลามีความสำคัญสำหรับการทำฟาร์ม เพราะช่วยให้การบริหารจัดการง่าย มีระบบ เมื่อสัตว์เลี้ยงป่วยหรือเป็นโรคก็สามารถรักษาหรือป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสู่สัตว์เลี้ยงตัวอื่นในฟาร์ม แม้ว่าพื้นที่เลี้ยงมีจำกัดก็สามารถทำได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการวางผัง

ทุกวันเป็นวันทำงานของมณฑา ฟาร์ม คุณมณฑาและครอบครัวไม่เคยมีวันหยุด เพราะปลาเจริญเติบโตทุกวัน บริษัทรับซื้อปลาส่งจำหน่ายต่างประเทศ สั่งซื้อปลาสลับวัน และแต่ละครั้งของการสั่งซื้อปลาเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ตัว โดยรวมแล้วต่อเดือนมีลูกปลาจำหน่ายออกไปต่างประเทศประมาณ 200,000 ตัว และปลาทองฮอลันดาและปลาลักเล่ห์เป็นปลาที่ต่างประเทศต้องการเป็นอันดับต้นๆ

แพ็กใส่ถุง เตรียมส่งจำหน่าย

การผสมพันธุ์ทำได้เมื่อปลาอายุ 4 เดือนขึ้นไป ก่อนเพาะควรแยกปลาเพศผู้และเมียออกจากกัน สำรวจดูความพร้อมของเพศเมียโดยกดใต้ท้องเบาๆ หากท้องนุ่ม แสดงว่าพร้อมผสมพันธุ์ ส่วนเพศผู้ให้กดที่ใต้ท้อง หากมีน้ำสีขาวไหลออกมา แสดงว่าพร้อมผสมพันธุ์

บ่อผสมพันธุ์ ต้องเตรียมน้ำก่อนผสม 12 ชั่วโมง นำเชือกฟางฉีกฝอยมัดจุก (ลักษณะคล้ายพู่) ไปวางภายในบ่อและใช้หินทับไว้

หลังจากบ่อผสมพันธุ์พร้อม นำปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ อัตราส่วนระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมีย 10 : 15 ตัว ปล่อยรวมกันในบ่อผสมพันธุ์ ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วตักพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกทั้งหมด ให้สังเกตเชือกฟางจะมีไข่ปลาเกาะอยู่

หลังจากนั้น 3-5 วัน ไข่ปลาจะเริ่มเห็นเป็นจุดสีดำที่ไข่ หมายถึง ชีวิตใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น

ยาเหลืองผสมเกลือ ใส่ในถุงแพ็กปลา ช่วยลดการเกิดแอมโมเนียในน้ำ
หัววุ้น ได้ราคาดี

คุณมณฑา แนะว่า การใช้เชือกฟางฉีกฝอยแทนพืชน้ำ เป็นการช่วยลดโอกาสเกิดโรคในปลาได้มาก เพราะรากพืชเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

จากไข่ปลาจะเจริญเติบโตเป็นลูกปลา เมื่อลูกปลาอายุ 4-5 วัน เริ่มให้อาหารได้ โดยอาหารที่เร่งให้ลูกปลาโตเร็วที่สุดคือ ลูกไรเป็น ควรให้ลูกไรเป็นในตอนเช้า วันละครั้ง ส่วนลูกไรตายควรให้ในปลาอายุมาก เพราะปลาเด็กและปลารุ่นจะไม่กินลูกไรตาย และอาจทำให้น้ำเสีย ซึ่งจะยากต่อการเปลี่ยนน้ำในปลาเล็ก

เมื่อลูกปลาอายุ 14 วัน ฟาร์มจะเริ่มคัดปลา โดยดูจากหาง

หางแหลม คล้ายหางปลาทู คัดทิ้ง นำไปขายเป็นปลาเหยื่อหรือปล่อยทิ้งลงคลอง

หางพา ลักษณะหางบานออก นำไปเลี้ยงลงบ่อดิน เพื่อคัดไปจำหน่ายตามขนาดไซซ์

พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควรผสมไม่เกิน 10 คอก เพราะลูกปลาที่ได้จะไม่แข็งแรง

ลูกปลาอายุ 45 วัน ให้นำไปเลี้ยงในบ่อดิน ขนาด 200 ตารางเมตร ความลึก 1 เมตร จุลูกปลาได้ 5,000 ตัว

“หลังจากนำลูกปลาลงบ่อดิน เริ่มให้อาหารสำเร็จรูปได้ทันที ควรให้อาหารสำเร็จรูปวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ยกเว้นอากาศปิด ไม่ควรให้อาหารปลา เพราะจะทำให้ปลาตาย หลังจากเลี้ยงในบ่อดินได้ 3 เดือน ก็จับส่งขายได้”

คุณมณฑา เล่าว่า การจับปลาจากบ่อดินขึ้นมาคัด เพื่อแพ็กส่งจำหน่าย ใช้เนื้ออวนตาถี่ลาก เมื่อลากถึงฝั่งต้องใช้มือจับปลาขึ้น ไม่อย่างนั้นอาจทำให้ปลาบอบช้ำ จากนั้นเป็นขั้นตอนของการคัดไซซ์ แยกใส่ถุงแพ็ก ขณะคัดปลาต้องสังเกตลวดลายบนตัวปลา สี และหัวปลา (วุ้น) แยกออกต่างหาก เพราะปลาเหล่านี้จะขายได้ราคาสูงกว่า

แม้ มณฑา ฟาร์ม จะทำงานไม่มีวันหยุด แต่คุณมณฑาก็ไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เธอบอกว่า เธอมีความสุขกับการเลี้ยงปลาสวยงามจำหน่าย และการนำความรู้ที่มีมาก่อให้เกิดอาชีพ สร้างหลักประกันให้กับครอบครัว

ปัจจุบัน มณฑา ฟาร์ม มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ แม้จะเป็นอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแบบครอบครัว แต่ก็จัดอยู่ในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามระดับแนวหน้า ซึ่งหากไม่นัดหมาย คงหาตัวคุณมณฑาได้ยาก

ใครที่ชื่นชอบปลาสวยงามหรือปลาตู้ จะแวะเวียนไปเยี่ยมชมฟาร์มของคุณมณฑาได้ ไม่มีปัญหา แต่ขอให้นัดแนะก่อนล่วงหน้า ที่ มณฑา ฟาร์ม เลขที่ 167/2 หมู่ที่ 4 ตำบลปากแรต อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นี่เอง