พิราบแฟนซี ดีต่อใจ สวยงาม สร้างเงิน

ของสวยๆ งามๆ ถ้าใครอยากเชยชมก็ต้องรู้แหล่ง จึงจะเข้าถึงจะได้เห็นกับตา เพราะการได้ยินกับหูก็เป็นเพียงการมโนภาพเอาเองทั้งสิ้น อย่างนกสวยๆ ในกลุ่มนกพิราบแฟนซี ใครจะรู้ว่ามีหลายสายพันธุ์อยู่กลางเมือง ย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ ถ้าไม่ไปให้เห็นกับตาตนเอง

ทันทีที่เห็น รู้สึกได้ว่าร่างกายกระชุ่มกระชวยขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ได้มีความรู้สึกชอบนกมากเป็นพิเศษมากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น แต่ก็รู้สึกได้ว่า สิ่งที่เห็นตรงหน้า เรียกได้ว่า สวยจริงๆ ยิ่งมองให้ละเอียด โดยเฉพาะส่วนขนที่มีเรื่องของสีสัน รูปร่าง ความเงามัน ปรุงแต่งให้นกมีความสวยงามที่แตกต่างไปตามแต่ชนิดและสายพันธุ์

คุณนพดล เลาหประเสริฐศิริ เจ้าของนกพิราบแฟนซี กว่า 20 สายพันธุ์ กลางตลาดห้วยขวาง พาชมนกพิราบแฟนซี ที่ตัวเขาเองเลี้ยงไว้มาหลายสิบปี นับตั้งแต่นกพิราบแข่ง ที่เริ่มเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก ศึกษาเรื่องราวของนกพิราบมานานจนถ่องแท้ในเรื่องของการเลี้ยงนกพิราบแข่ง กระทั่งผันตัวเองมาเลี้ยงนกพิราบแฟนซี ลืมเรื่องราวของนกพิราบแข่งไปโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลเพียงแค่ พิราบแฟนซีมีความสวยงามที่น่าหลงใหลจนกลบความตื่นเต้นในการแข่งขันพิราบแข่งที่ผ่านมาหมด

คุณนพดล เลาหประเสริฐศิริ

“เหตุผลจริงๆ ก็เพราะภรรยาขอร้องให้เลิก เพราะการเลี้ยงนกพิราบแข่ง แม้จะมีความสุขตอนส่งนกไปแข่ง ได้รู้จักคน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องของค่าอาหาร ค่าซ้อม ค่าแข่ง รางวัลที่ได้ก็ไม่ได้เป็นเงินสดที่สร้างรายได้ให้ จึงตัดสินใจเลิกเลี้ยงไปในที่สุด”

ความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างคุณนพดลกับนกพิราบ ไม่ได้หมดเพียงนกพิราบแข่งเท่านั้น ไม่กี่ปีถัดมาคุณนพดล ไปเดินเล่นที่ตลาดนัดจตุจักร เห็นนกพิราบแฟนซี รู้สึกถูกใจ จึงซื้อมาเลี้ยง 2 คู่ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงนกพิราบของคุณนพดลอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นนกพิราบแฟนซี ซึ่งความสวยงามของนกพิราบเป็นสิ่งที่กระตุ้นความอยากเลี้ยงของคุณนพดลได้เป็นอย่างดี

นกพิราบแฟนซีสองคู่แรกที่ซื้อมา ก็จุดประกายให้คุณนพดลซื้อนกพิราบแฟนซีคู่ถัดไปและถัดไป จนเพิ่มจำนวนเป็นนกพิราบแฟนซีหลายคู่

“ยุคนั้นนกพิราบแฟนซีไม่ค่อยมีให้เห็น ทำให้น่าตื่นเต้นเมื่อเห็นนกสวยๆ ราคาก็ค่อนข้างสูง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคานกต่อคู่หลายหมื่นบาท แรกๆ ผมก็ซื้อเพราะเห็นว่าสวย อยากสะสม เพราะชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งศึกษาเห็นชัดว่านกพิราบแฟนซีมีมากมายหลายสายพันธุ์ ความสวยงามแตกต่างกันไป ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนและสายพันธุ์นกมากยิ่งขึ้น”

นกพิราบแฟนซี ที่คุณนพดลซื้อมาเลี้ยงระยะแรก เป็นนกพิราบแฟนซีที่เห็นในตลาดนัดจตุจักร แต่เมื่อได้ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งในประเทศไทยยังมีอีกหลายสายพันธุ์ของนกพิราบแฟนซีที่ยังไม่มีเลี้ยงในประเทศไทย หรือมีจำนวนน้อย คุณนพดลจึงตัดสินใจสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามา

มีข้อสงสัย ถึงเชื้อโรคบางชนิดที่แฝงมากับนกพิราบ ตามที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า นกพิราบจะมีเชื้อโรคที่สามารถแพร่มาสู่คนได้ คุณนพดลตอบข้อสงสัยนี้ว่า นกพิราบทั่วไปที่เห็นอาจจะมีเชื้อโรคติดมากับนกและอาจแพร่เชื้อสู่คนได้ หากสัมผัสใกล้ชิด แต่สำหรับนกพิราบแฟนซีที่เลี้ยงไว้ แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่เป็นการเลี้ยงในระบบปิด ไม่มีนกชนิดอื่นหรือนกพิราบที่ไม่ได้เลี้ยงเข้ามาข้องเกี่ยวกับนกพิราบแฟนซีที่เลี้ยงไว้ อีกทั้งนกพิราบแฟนซีที่เลี้ยงไว้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคเช่นเดียวกับสัตว์ปีกชนิดอื่น จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรคที่จะแพร่เชื้อไปสู่คนได้

โรคในนกพิราบแฟนซี อย่างที่กล่าวข้างต้น หากได้รับวัคซีนก็ไม่น่ากังวลเรื่องโรค โดยเฉพาะการเลี้ยงในระบบปิด แต่ไม่ได้หมายความว่า การได้รับวัคซีนและได้วิตามินแล้วจะไม่ป่วยหรือเป็นโรคเลย เพราะสภาพอากาศก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นกป่วยได้เช่นเดียวกัน

คุณนพดล จึงแนะวิธีสังเกตนกป่วยด้วยการดูจากมูลนกและลักษณะของนก นกป่วยจะพองขน ตัวฟู มูลจะเป็นสีเขียว ขาว หรือเหลือง สีมูลของนกทั้ง 3 สีนี้ แสดงให้เห็นว่านกมีปัญหาป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง ซึ่งเบื้องต้นหากพบว่านกถ่ายออกมาเป็นมูลสีใดสีหนึ่งของ 3 สีนี้ ควรดูอาการอย่างละเอียด จากนั้นพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อวิเคราะห์อาการอย่างละเอียด เพราะที่ผ่านมาเคยพบว่า นกพิราบแฟนซีป่วยอย่างไม่มีสาเหตุ แม้จะพาไปพบแพทย์ ได้ยารักษาตามอาการก็ตาม แต่ก็ยังผอมลงเรื่อยๆ และตายในที่สุด ดังนั้น เมื่อพบว่านกป่วยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

“สำหรับการเลี้ยงนกพิราบแฟนซี เหมือนกับการเลี้ยงไก่ เลี้ยงนกทั่วๆ ไป นกจะจับคู่กันเอง หรือหากจับคู่ให้เกือบทั้งหมดจะยินยอม น้อยคู่ที่จะไม่ยอมก็ต้องเปลี่ยนคู่ให้ใหม่ เมื่อนกผสมพันธุ์กันก็ปล่อยให้ผสมกันตามธรรมชาติ นกจะให้ไข่ จากนั้นจะฟักเป็นตัว ทุกๆ ขั้นตอน ควรปล่อยให้นกจัดการเอง”

ไข่ที่รอการฟัก

คุณนพดล แนะนำว่า หากแม่นกออกไข่มาฟองแรก ควรเก็บออกมา แล้วนำวัสดุที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงไข่นกไปใส่ไว้แทน เพื่อให้นกไข่ใบต่อไป ถ้าไม่เก็บไข่ออกมาก่อนจะทำให้ไข่ใบต่อไปออกมาช้า และไข่นกที่เก็บออกมาควรทำสัญลักษณ์ไว้ว่าเป็นลูกของพ่อและแม่สายพันธุ์ใด เมื่อรวมจำนวนไข่ได้ 10-20 ฟอง ก็นำเข้าตู้ฟัก เพื่อให้ลูกนกฟักออกมาพร้อมๆ กัน หรือในบางคนต้องการให้พ่อแม่นกฟักไข่เองก็ไม่ใช่เรื่องผิด นกสามารถฟักไข่เองได้ เมื่อเป็นตัวก็สามารถเลี้ยงเองได้เช่นกัน ซึ่งข้อดีของการนำเข้าตู้ฟัก จะช่วยให้ได้ลูกนกอายุเท่ากัน และโอกาสฟักเป็นตัวที่สมบูรณ์สูงกว่าให้พ่อแม่นกฟักเอง”

คุณนพดล เลี้ยงนกไว้กรงละคู่ และมีกรงใหญ่ที่เลี้ยงรวมไว้อีกต่างหาก สำหรับนกที่ยังไม่จับคู่ และที่ไม่ต้องการให้ฟักไข่ แม้จะมีที่ผสมกันเองบ้างในกรงใหญ่ แต่เมื่อได้ไข่ คุณนพดลจะเก็บออกไม่ให้ฟัก เพราะการปล่อยรวมแล้วมีการผสมพันธุ์จนได้ไข่นก หากนำไปฟัก โอกาสได้ลูกนกกลายพันธุ์มีสูง ไม่ใช่สายพันธุ์แท้ เท่ากับขายไม่ได้ราคา

ลูกนกอายุ 2 สัปดาห์

นกพิราบแฟนซี ในเพศเมียเริ่มผสมได้เมื่ออายุ 4 เดือนขึ้นไป แต่สำหรับเพศผู้ต้องรอให้อายุไม่น้อยกว่า 10 เดือน จึงให้ผสม เพราะถ้าอายุน้อยกว่านั้นนกเพศผู้อาจจะผลิตน้ำเชื้อไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์

การให้อาหารนกพิราบแฟนซี เป็นอาหารสัตว์ปีกทั่วไป อาหารนก หรืออาหารไก่ ก็ให้นกพิราบแฟนซีได้เช่นเดียวกัน ส่วนการป้องกันโรคที่พบได้ในการเลี้ยงไก่ โดยการใส่วิตามินลงในน้ำดื่มนั้น สำหรับนกพิราบแฟนซีที่ได้รับวัคซีน ไม่จำเป็นต้องให้วิตามินเสริมอีก หรือขึ้นกับผู้เลี้ยงหากต้องการเสริมให้กับนกก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ การให้วัคซีนกับนก ควรให้ปีละ 1-2 ครั้ง จึงถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ มั่นใจได้ว่าไม่เกิดปัญหาเรื่องโรคในสัตว์ปีกกับนก

สำหรับการให้อาหาร คุณนพดล บอกว่า ในทุกวันจะให้อาหารนกตอนเช้าเพียงครั้งเดียว และทิ้งไว้สักพัก จากนั้นต้องดูว่านกกินหมดหรือไม่ หากไม่หมดก็ต้องเอาอาหารออกจากกรงทุกวัน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นตัวล่อให้นกด้านนอกที่ไม่ได้เลี้ยงไว้เข้ามา โดยเฉพาะนกกระจอก ซึ่งถ้ามีนกภายนอกเข้ามา อาจจะเป็นตัวแพร่เชื้อโรคมาสู่นกพิราบแฟนซีที่เลี้ยงไว้ได้

Dutch Cropper

กรงเลี้ยงนกพิราบแฟนซี ควรมีขนาดใหญ่พอสมควร เนื่องจากนกพิราบแฟนซีแต่ละสายพันธุ์มีขนาดไม่เท่ากัน แต่มักมีขนาดใหญ่กว่านกพิราบทั่วไป ดังนั้น กรงก็ควรมีขนาดใหญ่มากกว่าพอสมควร เพื่อให้นกที่มีเดินไปมา มีรังนอนเผื่อผสมพันธุ์และกกไข่ แต่ที่สำคัญสำหรับกรงเลี้ยงนกพิราบแฟนซีคือ กรงมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โปร่ง และควรติดมุ้งลวดไว้ที่กรงนก ป้องกันไม่ให้ยุงเข้าไปกัดนก เพราะถ้านกถูกยุงกัดจะเกิดเป็นฝี

ฝีมี 2 ชนิดในนกพิราบแฟนซี คือ ฝีเปียก และฝีแห้ง หากเป็นฝีแห้งจะไม่มีผลอะไร เพราะฝีจะแห้งแล้วลอกออก ส่วนฝีเปียก บริเวณที่เป็นฝีจะเปียกฉ่ำอยู่ตลอดเวลา และเป็นจุดที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย หากเป็นฝีในจุดกึ่งกลางของร่างกายนก อาจทำให้นกตายได้

คุณนพดล บอกว่า นกพิราบแฟนซี มีอายุยาวถึง 15 ปี และมีการผลัดขนทุกวัน การผลัดขนแสดงให้เห็นว่านกเจริญเติบโตขึ้น ในนกพิราบแฟนซีเด็กอาจจะมีขนสีหนึ่ง และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นผลัดขนก็จะเปลี่ยนเป็นขนอีกสีหนึ่ง

“นกพิราบแฟนซี เป็นนกที่เลี้ยงง่าย แต่ขายได้และมีราคา โดยเฉพาะนกที่พบได้น้อยในประเทศไทย เมื่อเพาะได้จะขายได้ในราคาหลายหมื่นบาทต่อคู่ ซึ่งนกพิราบแฟนซีที่ผมเลี้ยงมีมากกว่า 200 ตัว กว่า 20 สายพันธุ์ มีหลายสายพันธุ์ที่ไม่พบว่ามีขายทั่วไป ถ้าใครชอบ อยากเลี้ยง ลองคุยกับผมดูก่อน ราคานกพิราบแฟนซีที่ผมขายอยู่เริ่มต้นราคาคู่ละ 2,500 บาท”

คุณนพดล บอกว่า แท้ที่จริงการเลี้ยงนกพิราบแฟนซี เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าจะเพาะขายหารายได้ แต่เมื่อการเลี้ยงนกพิราบแฟนซีไม่ใช่เรื่องยาก การเพาะ การดูแลก็ง่าย ถ้าขายก็ได้ราคาดี ดังนั้น หากใครสนใจเลี้ยงนกพิราบแฟนซี และอยากได้คำแนะนำ คุณนพดลยินดีให้คำแนะนำในการเลี้ยงนกพิราบแฟนซีทุกด้าน สามารถติดต่อได้ที่ คุณนพดล เลาหประเสริฐศิริ เจ้าของร้านรุ่งอรุณ กลางตลาดห้วยขวาง กรุงเทพฯ หรือโทรศัพท์ (02) 276-1013 หรือ (083) 199-9839

chinese tumbler ปั๊กกี้
Jacobin