“สมุดปกขาวพลังขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร” ครั้งแรกของประเทศไทย

มื่อนวัตกรรมมีบทบาทต่อธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตร ทำให้การที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำ “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem Development White Paper)” ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมครั้งสำคัญของสตาร์ทอัพการเกษตร ในการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก Deep Tech ที่เชื่อว่า ในอีก 3 ปี ข้างหน้า จะทำให้เกิด สตาร์ทอัพ Deep Tech ขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ราย

ในเรื่องนี้ ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีการทำสมุดปกขาว ด้านการเกษตรสำหรับสตาร์ทอัพมาก่อน ซึ่งการทำสมุดปกขาวในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญ ในการช่วยกำหนดทิศทางการทำงานด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ของหน่วยงานต่างๆ ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในอนาคต และสมุดปกขาวยังช่วยประเมินสถานการณ์

ปัจจุบันและการศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมของระบบนิเวศสตาร์ทอัพในช่วงเริ่มต้นด้านการเกษตรของประเทศไทย (Thailand AgTech Startup Ecosystem) ด้วย” โดย จากผลการสำรวจพบข้อมูลที่ได้จากการทำสมุดปกขาว ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตร จำนวน 53 ราย (กลุ่มเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์ม เซนเซอร์ และระบบ IoT มีจำนวนสูงสุด) ซึ่งมีอายุการ ดำเนินธุรกิจเฉลี่ยประมาณ 4.7 ปี แบ่งเป็นระยะเริ่มต้น (Seed State) ร้อยละ 52.5 ระยะทดสอบไอเดีย (Pre-seed) ร้อยละ 27.5 และระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth) ร้อยละ 20 และกระจายตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูล และสัมภาษณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตร ร่วมกับศึกษาข้อมูลจากการะดมทุนจำนวน 41 ราย พบว่า มีจำนวนเงินลงทุนสูงถึง 772 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 66.7 เป็นการลงทุนภายนอก ไม่ได้รับเงินลงทุนจากหน่วยงานร่วมลงทุนที่เป็น VC CVC หรือ Angel Investor สะท้อนให้เห็นว่าระบบนิเวศของประเทศไทยอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่ต้องอาศัยการผลักดันและร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มจำนวนและศักยภาพของสตาร์ทอัพให้มีความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ที่มีปริมาณเงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับในต่างประเทศที่มีการลงทุนในกลุ่มนี้สูงมาก

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทยในก้าวต่อไป คือต้องเร่งการพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep Tech ซึ่งมีความสลับซับซ้อน และต้องใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยขั้นสูง ผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมมาอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่ได้งาน SITE 2021 ระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2564 นี้ NIA วางเป้าหมายในการพลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเทคโนโลยี จากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีมาควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ และปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) ด้านเศรษฐกิจ จากการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นการเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง 3) ด้านการตลาด จากแบบเฉพาะกลุ่ม

โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ให้เข้าสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน โดยอาศัยเทคโนโลยีของ Blockchain 4) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดคล้องตามหลักการของ BCG model และ 5) ด้านการวางตำแหน่งให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร ขณะที่ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการ ด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมา NIA สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงประสานงานและขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่าน 3 เครื่องมือหลัก ได้แก่ 1) การระบุแนวโน้มนวัตกรรมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสตาร์ทอัพให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการ รวมถึงการจุดประกายไอเดียการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรไทย และการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่มูลค่า 2) การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมการเกษตร ผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้างสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เช่น Artificial Intelligent หรือ AI, Big data -IoT-Sensors, Robotics & Automation ร่วมกับการปรับผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจ และ 3) การสร้างและพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพเกษตร เพื่อสนับสนุนการออกสู่ตลาดต่างประเทศ หรือได้รับการลงทุน ได้แก่ การสร้างย่านนวัตกรรรมเกษตร และพื้นที่ทำงานที่มีลักษณะแบบ co-farming space สร้างให้เกิดกิจกรรมเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในระบบนิเวศให้ทำงานร่วมกัน

ศาสตราจารย์ ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า“มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ได้สร้างนักศึกษา และบุคลากรด้านการเกษตร ออกไปเป็นจำนวนมาก ที่ช่วยส่งเสริมภาคการเกษตรของประเทศไทย ให้ขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยภาคการเกษตรได้ ไทยจำเป็นที่จะต้อง สร้างบุคลากรด้านสตาร์ทอัพการเกษตรอยางเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมและเร่งสร้างศักยภาพด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และนวัตกรรมเกษตร ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความยั่งยืน”

“ โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีการร่วมดำเนินงานกับ NIA ในการศึกษาประเมินรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุน เพื่อจัดทำเป็น “สมุดปกขาวการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรของประเทศไทย” ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่พัฒนาย่านนวัตกรรมเกษตร-อาหาร เพื่อสร้างให้เกิดเป็นพื้นที่รังสรรค์นวัตกรรรมร่วมกันด้านการเกษตร (Co-farming Space) ในการบ่มเพาะ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และลงมือปฏิบัติ ที่มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และนวัตกรรมชั้นนำของไทย เพื่อหนุนเสริมศักยภาพของคนไทย และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศผ่านพ้นจากทุกวิกฤติ การสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง จะทำให้การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน”