สาวปทุมธานี ทำฟาร์มแพรี่ด็อกหรือ “กระรอกดิน” ขายผ่านช่องทางออนไลน์

คุณพิมพ์ภิฐสา จันยะนัย หรือ คุณเบล เจ้าของฟาร์ม prairie land ในพื้นที่หมู่บ้านพฤกษา 12 เทศบาลนครรังสิต คลองสาม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่มีความชื่นชอบแพรี่ด็อก จึงสานต่อความชอบของตนเอง หลังจากเรียนจบ ด้วยการมุ่งมั่นทำธุรกิจเกี่ยวกับแพรี่ด็อกแบบครบวงจร ขายผ่านช่องทางออนไลน์

คุณพิมพ์ภิฐสา จันยะนัย หรือ คุณเบล เจ้าของฟาร์ม prairie land

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงแพรี่ด็อกนั้น เริ่มขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว คุณเบลเริ่มเลี้ยงกระรอกสวนในประเทศไทยก่อน หลังจากนั้นมีคนรู้จักแนะนำให้เลี้ยงแพรี่ด็อก คุณเบลจึงเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ครั้งนั้นมา โดยเริ่มจากคนที่ไม่มีความรู้ด้านนี้เลย จึงค่อยๆ เรียนรู้ ศึกษา และต่อยอดเป็นธุรกิจอย่างจริงจังจนมาถึงปัจจุบันนี้

เป็นเวลากว่า 12 ปี ที่คุณเบลไม่หยุดเรียนรู้ และยังคงพัฒนาธุรกิจทำฟาร์มแพรี่ด็อกแบบครบวงจร จนเป็นที่รู้จักของวงการแพรี่ด็อก

ตัวอ้วนกลม

คุณเบล เล่าว่า การผสมพันธุ์แพรี่ด็อกในประเทศไทย เป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเป็นตัวกำหนดและเป็นตัวแปรสำคัญในการผสมพันธุ์ ทั้งในเรื่องของสภาพอากาศและฮอร์โมนของตัวแพรี่ด็อกเอง

“อากาศที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์คือ แบบร้อนแห้ง แต่อากาศในประเทศไทยเป็นแบบร้อนชื้น การผสมพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติจึงติดยากมาก แต่เราพยายามผสมพันธุ์ โดยใช้เครื่องอบ ไฟกก ช่วยในเรื่องของอุณหภูมิและจำลองบรรยากาศ เพราะสภาพอากาศในบ้านเราไม่เหมาะสม”

พร้อมจำหน่าย

การดูแลรักษาภายในฟาร์มจะมีการแยกออกเป็นพื้นที่ในการเลี้ยง กรณีที่เรามีแพรี่ด็อกที่ให้กำเนิดลูก แนะนำว่า ผู้เลี้ยงต้องดูว่าแพรี่ด็อกให้นมลูกหรือไม่ หากดูแล้วว่าไม่เลี้ยงลูก จำเป็นต้องนำลูกมาอนุบาลในตู้อบ โดยการจำลองไฟและอุณหภูมิที่ 37-38 องศาเซลเซียส ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ป้อนนมทุกๆ 2 ชั่วโมง จนกว่าจะมีอายุ 6 สัปดาห์

รีวิวจากลูกค้า

“สำหรับอาหารที่ให้ยังคงป้อนนม จนถึงอายุ 8 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะเริ่มให้เขากินหญ้าทิโมธีแบบป่นละเอียด พอฟันเขาเริ่มขึ้น ในส่วนของก้านที่มีความยาวขึ้นมานิดหนึ่ง ผสมกับอาหารเม็ดของกระต่าย ถ้าเลยวัย 2 เดือน เขาไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพอะไรแบบนี้ ก็สามารถจำหน่ายออกไปได้เลย”

Advertisement
อาหารสำหรับแพรี่ด็อก

นิสัยทั่วไปโดยรวมนั้น จะมีนิสัยที่ตื่นตัว ต้องใช้ระยะเวลาให้ปรับตัวให้คุ้นชินกับผู้เลี้ยงและสถานที่ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้รวดเร็ว ขี้อ้อน ลักษณะนิสัยคล้ายกับสุนัข แต่ไม่เชื่องกับคนแปลกหน้า หากนำมือไปจับอาจจะโดนกัดได้

ส่วนวิธีการเลี้ยงนั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด แพรี่ด็อกเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย แข็งแรง หากได้รับการดูแล เอาใจใส่จากผู้เลี้ยง ก็จะเชื่องพอสมควร

Advertisement

สถานที่ในการเลี้ยงนั้น ควรมีการแบ่งพื้นที่ในการเลี้ยงอย่างชัดเจน ควรเลี้ยงในกรง คอกที่มีพลาสติกรองพื้น เพื่อให้สามารถยืนได้อย่างสบายตัว

โรคที่ต้องระมัดระวังนั้นคือ โรคโปรโตซัว และอาการเนื้องอก ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายที่จะเจอบ่อย สามารถป้องกันได้โดยการดูแลอย่างใกล้ชิด หมั่นดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่แพรี่ด็อกอยู่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงอาหารที่ให้กินด้วย

“ต้องบอกว่าบ้านเราเนี่ยจะนิยมในเรื่องกระรอกสวน ก็จะให้กินเป็นเมล็ดพืช ผักผลไม้ได้ แล้วก็มีภาวะท้องเสีย พอท้องเสีย ในเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาดนั้นไม่พอเหมาะพอควรก็จะทำให้มีเชื้อโปรโตซัวติดตัวน้องเข้ามา ส่วนเรื่องเนื้องอก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการให้อาหารที่ค่อนข้างมีโปรตีนและไขมันสูง ก็อาจจะส่งผลให้น้องมีเนื้องอกเกิดขึ้นมาค่ะ ส่วนในเรื่องของอาหารนั้น แนะนำเลยว่า 90% ของชีวิตเขา กินเป็นหญ้าทีโมธี ตั้งแต่ช่วงวัยหลังจากหย่านม จนถึงตลอดชีวิตของเขาค่ะ”

สำหรับช่วงอายุที่เหมาะแก่การส่งขายภายในฟาร์มจะอยู่ที่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และจะไม่ให้เกินอายุ 1 ปี เพราะว่าจะมีช่วงเวลาอายุที่ค่อนข้างจำกัด เพราะหลังแพรี่ด็อกอายุ 2 ปีขึ้นไปแล้ว จะปิดช่วงเวลาของตนเอง จะไม่สามารถจดจำใครได้หลังจากนี้

“ต่อให้เราซื้อเขาไปเลี้ยง หรือเชื่องกับเราแล้ว เขาก็จะไม่ผูกพัน ไม่สนิทและไม่ค่อยเล่นกับเรา เท่ากับเจ้าของคนเดิม”

เมื่อสอบถามถึงราคาการขายของทางฟาร์มจะเริ่มที่ตัวละ 4,000-5,000 บาท จนถึงราคา 40,000-50,000 บาท ราคาขึ้นอยู่กับสีและชนิดของสายพันธุ์ที่ผู้เลี้ยงต้องการนั่นเอง

คุณเบล แนะนำสำหรับใครที่อยากเลี้ยงว่า ควรเริ่มจากความรักและความชอบ ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงแพรี่ด็อกอย่างจริงจัง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลี้ยง

สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงแพรี่ด็อก สามารถติดต่อ คุณพิมพ์ภิฐสา จันยะนัย หรือ คุณเบล เจ้าของฟาร์ม prairie land ในพื้นที่หมู่บ้านพฤกษา 12 เทศบาลนครรังสิต คลองสาม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี หรือติดต่อทางเพจเฟซบุ๊กจำหน่ายแพรี่ด็อก by prairie land  Line official. @kbo4214z และเบอร์โทรศัพท์ 062-443-5930

……………………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 8 กันยายน พ.ศ.2565.